WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, September 5, 2012

ศึกแตงโมสะเทือนกองทัพ

ที่มา Voice TV

 ใบตองแห้ง Baitonghaeng



ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


“รัฐบาลล้วงลูกกองทัพ” “การเมืองลุแก่อำนาจ” วิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ แหม Drama Addictซะเหลือเกิน กับกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่ง “เด้ง” พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อม พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดฯ และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการ

แม้กระทั่งสื่อ ซึ่งควรจะรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ควรทำการบ้านก่อนวิเคราะห์ หลายรายก็ยังมั่ว หรือจงใจมั่ว ขยายความว่ารัฐบาลกำลังจะเข้าไปล้วงโผทหาร ตีปี๊บว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกับ ผบ.เหล่าทัพ ปั้นให้คนอ่านรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังล้ำเส้น “อันตราย”

ขณะที่ฝ่ายมวลชนเสื้อแดง บางรายก็เชียร์ พล.อ.อ.สุกำพลทันที โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ว่าต้องอย่างนี้สิ รัฐมนตรีจากการเลือกตั้งต้องกล้าใช้อำนาจโยกย้ายทหาร (เออ แน่จริงทำไมไม่ย้ายประยุทธ์ จันทร์โอชา) เช่นเดียวกับเสื้อเหลืองบางส่วนก็ยกให้ พล.อ.เสถียรเป็นฮีโร่ผู้ปกป้องสถาบันกองทัพไปโน่น

ทั้งที่เพียงพลิกปูมหลัง อ่านข่าวย้อนหลังกันซักหน่อย ก็จะอ่านสถานการณ์ได้ง่ายๆ ว่ากรณีนี้แม้เป็น “การเมืองเข้ามาแทรกแซงทหาร” แต่ก็ถือเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ทหารสายการเมือง” กับ “ทหารสายการเมือง”

ถ้าความจำไม่สั้นคงจำกันได้ว่าปีที่แล้ว พล.อ.เสถียรก็เหาะข้ามมาจากประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย มาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหมในตอนนั้นจะเอา พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหมอาวุโสสูงสุด แต่สื่อก็ตีข่าวเซ็งแซ่ว่ามี “ใบสั่งจากดูไบ” เพราะภริยา พล.อ.เสถียรไม่ใช่ใครที่ไหน ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ นายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี เป็น “แดงตัวแม่” มีบทบาทสูงในการจัดเวทีเสื้อแดง เวทีหาเสียงในภาคอีสาน ต่อสายตรงถึงทักษิณ เดินเข้าเดินออกอยู่ในทำเนียบ

ก่อนหน้านี้ยังมีข่าวบางกระแสว่า หลังเกษียณ พล.อ.เสถียรจะได้คั่วเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยซ้ำ

ส่วน พล.อ.ชาตรี ทัตติ ก็ไม่ใช่ “สายอำมาตย์” แต่ใดมา ข่าวเซ็งแซ่ว่าเป็น “สายบิ๊กจิ๋ว” ต่างหาก

ขณะที่ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เพื่อนร่วมรุ่น ตท.11 ของ พล.อ.เสถียรที่ พล.อ.อ.สุกำพลจะดันมาเป็นปลัดกลาโหม ก็มาจากแม่ทัพภาคที่ 3 ทั้งตอนนี้และตอนขึ้นผู้ช่วย ก็มีข่าวว่าได้แรงดันจากก๊วน ส.ส.ภาคเหนือ โดยเฉพาะ “เจ๊ ด.” กับสามี

พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ เพราะถือว่าตำแหน่งปลัดกลาโหมเป็น “โควต้าการเมือง” ผบ.ทบ.โล่งอกด้วยซ้ำที่ พล.อ.ทนงศักดิ์ย้ายขึ้นมาเป็นปลัดกลาโหม ตัวเองจะได้ไม่ต้องเสียโควต้าให้ฝ่ายการเมืองเพิ่ม เพราะฝ่ายการเมืองก็เตรียมคนมาเสียบอยู่ยิกๆ ถ้า พล.อ.ทนงศักดิ์ขึ้นไม่ได้ โผทัพบกจะกระเพื่อมไปหมด

อ่านข่าวก็บอกอยู่ว่าถ้าลงมติในสภากลาโหม พล.อ.เสถียรมีแต่แพ้กับแพ้ แต่เจ้าตัวคงประเมินสถานการณ์ผิด คิดว่า “เข้าถึงดูไบ” ทั้งที่ “นายใหญ่” อาจคิดว่าก็ตอบแทนกันไปแล้ว ได้ตำแหน่งปลัดแล้ว จะเอาอะไรอีก พล.อ.ชาตรียังรอได้ กว่าจะเกษียณก็ปี 58

ผิดใดคงไม่เท่าการตัดสินใจเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ ส่งหนังสือถึง พล.อ.เปรม เล่นเกมแบบนี้เท่ากับฆ่าตัวตาย เสียความชอบธรรมในสายตามวลชนเสื้อแดง ทหารแตงโมด้วยกัน

ตำแหน่งรัฐมนตรีที่เคยเป็นข่าว คราวนี้หายต๋อม เก็บฉากเลย

ความเหมาะสมอยู่ที่ไหน

ถ้าเข้าใจตรงกันว่านี่เป็น “สงครามแตงโม” ก็ไม่ควรผลีผลามเลือกข้าง ต้องค่อยๆ พิจารณาว่า ใครมีเหตุผลกว่า

พล.อ.ชาตรีเป็น ตท.14 เหลืออายุราชการ 3 ปี แต่ขึ้นเร็ว ได้อัตราจอมพลในตำแหน่งรองปลัดกลาโหม ตามหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายก็เหมาะสมจะขึ้นปลัด แต่มีข้อท้วงติงเรื่องความเหมาะสม เพราะจะต้องบังคับบัญชานายทหารรุ่นพี่ทั้งสิ้น ขณะที่ในด้านการทำงาน หลายฝ่ายมองตรงกันว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ทำหน้าที่ได้ดีกว่า

พล.อ.ทนงศักดิ์เป็น ตท.11 เหลืออายุราชการ 1 ปี เพิ่งขึ้นจากแม่ทัพภาคที่ 3 มาเป็นพลเอกปีที่แล้ว ยังไม่ได้อัตราจอมพล พรวดจากผู้ช่วย ผบ.ทบ.ขึ้นเป็นปลัดกลาโหมทั้งที่อาวุโสลำดับที่ 44 แม้มีความสามารถ ลำดับรุ่นเป็นที่ยอมรับ แต่ก็เหาะข้ามเกิ๊น

พูดอย่างกลางๆ ไม่เข้าข้างใครนะครับ  ถ้ายังไม่ให้ พล.อ.ชาตรีเป็น ฝ่ายการเมืองก็น่าจะดันคนที่มีอาวุโสกว่านี้ อาทิเช่น เอา พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นปลัดกลาโหม เพราะเหลืออายุราชการตั้ง 2 ปี ฮิฮิ

ข่าววงในยังบอกว่า สาเหตุที่ พล.อ.เสถียรกามิกาเซ่ ไม่ใช่แค่เรื่อง พล.อ.ชาตรึคนเดียว แต่เพราะรัฐมนตรีสุกำพลดึงโผสำนักปลัดฯ ไปจัดการเองหมด แบบไม่ไว้หน้ากัน ทั้งที่ปกติรัฐมนตรีจะให้ปลัดจัดการ อยากได้ใครก็คุยกันถ้อยทีถ้อยอาศัย

แบบว่าตั้งแต่ พล.อ.อ.สุกำพลมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของอดีตนายกฯ ก็ไม่มีอะไรต้องเกรงใจ พล.อ.เสถียร ที่ถือว่ามาจากการเมืองเหมือนกัน แต่ห่างไกลจาก “ดูไบ” กว่า ขณะที่เรื่องการทำงาน พล.อ.อ.สุกำพลและเพื่อนพ้องก็มองว่า พล.อ.เสถียรบ่มิไก๊

ซึ่งต่างจาก ผบ.เหล่าทัพ ที่รัฐมนตรียังเกรงอกเกรงใจอยู่ ฝ่ายการเมืองขอแซะได้แค่บางตำแหน่ง

ถ้าพูดกันตามหลักการ ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ปลัดกระทรวงเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยรัฐมนตรีมีอำนาจตัดสินใจ แต่รัฐมนตรีก็ต้องมีเหตุผลในการปรับเปลี่ยน เช่น เลือกผู้ที่มีอาวุโสกว่าโดยความสามารถไม่ด้อยกว่ากันนัก หรือเลือกผู้ที่มีความสามารถกว่า แม้ด้อยอาวุโสแต่ก็ไม่มาก

งานนี้จึงกล่าวได้ว่ารัฐมนตรีล้วงลูก เอาไปทั้งลูก ทั้งยวง ไม่ใช่แค่แทรกแซง เพียงแต่ พล.อ.เสถียรไม่สามารถพูดเต็มปาก เพราะตัวเองก็มาจากการล้วงลูกเมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่ตำแหน่งแห่งที่มายังเหมาะสมกว่า พล.อ.ทนงศักดิ์

และที่สำคัญ พล.อ.เสถียรดันไปร้องเรียนองคมนตรีและประธานองคมนตรี ข้ามขั้น ข้ามไลน์ ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแย่งชิงตำแหน่ง

กรณีนี้ จึงเป็นสาเหตุให้ พล.อ.อ.สุกำพลสั่งย้ายได้ เพียงแต่ควรพูดให้ชัดเจนว่าการกระทำเช่นนี้ “มิบังควร” เพราะถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย เขาให้ไปฟ้องศาลปกครอง หรือจะร้องนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด อันที่จริงก็ไม่ผิด (สุกำพลไม่ควรตีขลุมว่าร้องนายกฯ เป็นความผิด)

แต่มิบังควรไปร้ององคมนตรี เพราะองคมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ หากมาชี้ขาดว่าให้เลือกคนนั้นไม่เอาคนนี้ ก็กระทบกระเทือนต่อองค์จอมทัพ ซึ่งทรงอยู่เบื้องสูง ต้องพ้นไปจากความขัดแย้ง เป็นที่เคารพเทิดทูนของนายทหารทุกคน (ขอโต้พวกชูพระราชอำนาจไปในตัว)

อีกประเด็นที่ พล.อ.อ.สุกำพลควรเคลียร์ให้ชัดคือ พล.อ.ชาตรีกับ พล.อ.พิณภาษณ์ ไปลงชื่อร่วมกับ พล.อ.เสถียรหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ได้ลงชื่อ ท่านก็ไม่ควรย้ายเขานะครับ

ในทางการเมือง ศึกครั้งนี้จะจบด้วยการเคลียร์กันหรือหักกัน เป็นเรื่องที่เจ้าของไร่แตงโมต้องจัดการเอง หากฝ่ายค้านฝ่ายแค้นไม่เข้ามากระชุ่นให้บานปลาย ผมไม่ได้บอกว่าห้ามวิจารณ์ เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ว่ารัฐมนตรีไม่ควรดันนายทหารที่อาวุโสลำดับที่ 44 ส่วนการที่รัฐมนตรีจะเลือกรองปลัดหรือไม่ ก็ควรเป็นอำนาจรัฐมนตรี (แต่ตอนนี้ให้อำนาจคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม) โดยต้องใช้อำนาจอย่างสมเหตุสมผล ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นวิจารณ์ได้ แต่อย่า Drama มาก อย่าทำให้มีพระเอกนางเอกตัวอิจฉาเหมือนละครหลังข่าว เพราะเรื่องจริงเรื่องนี้ไม่มีสีขาวสีดำ

นี่ผมกำลังเลี่ยน Drama เรื่องดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยาน ที่พวกนักอนุรักษ์ออกมาโวยวายไม่ดูตาม้าตาเรือว่า นักการเมืองกลั่นแกล้ง โห ก็อธิบดีดำรงค์นี่ไม่ใช่หรือที่สื่อตีข่าวกันให้เซ็งแซ่ตอนกลับมารับตำแหน่ง ว่าเป็นคนของ “ยุทธ ตู้เย็น” พวกพันธมิตรยังหาว่าท่านอธิบดีนี่แหละเอาเจ้าหน้าที่อุทยานไปซุ่ม ทั้งก่อน 19 ก.ย.และตอนม็อบค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง วันนี้พอทุบรีสอร์ทนายทุนสะใจคนกรุงคนชั้นกลางเข้าหน่อย กลายเป็นฮีโร่ถูกนักการเมืองกลั่นแกล้งไปซะแล้ว



การเมืองล้วงกองทัพ
กองทัพล้วงการเมือง

ความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกลาโหมสะท้อนปัญหาน่าถก ถึงระบบแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ตลอดจนข้าราชการ

ถ้าพูดโดยหลักประชาธิปไตย เราต้องการเห็นกองทัพเป็นอย่างไร แน่นอน เราต้องการเห็นกองทัพที่บังคับบัญชาโดยนายทหารอาชีพ ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่คิดทำปฏิวัติรัฐประหาร อ้างตนเป็น “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แล้วกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลที่มาจากประชาชนผู้เสียภาษี

แต่ขณะเดียวกัน เราก็คงไม่ต้องการเห็นนักการเมืองเข้าไปยุ่มย่ามกับการแต่งตั้งโยกย้าย ทำให้นายทหารต้องวิ่งเต้นเส้นสาย ข้ามหัว ข้ามห้วย ข้ามหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถ จนเละเทะเหมือนตำรวจ ที่สามารถถูกย้ายจาก สวป.บางรักไปเป็นสารวัตรจราจรแม่ฮ่องสอนชั่วพริบตา

ทหารยังดีกว่าตำรวจ ที่ยังรักษาระบบไว้ได้ในหน่วยคุมกำลัง นายทหารที่จะเป็น ผบ.กรมต้องเริ่มต้นรับราชการในกรมนั้น ไต่เต้าตั้งแต่ร้อยโท ผบ.หมวด ผบ.ร้อย เข้า ร.ร.เสธ พวกที่สอบได้คะแนนต่ำหรือทำงานไม่เข้าตา ก็จะถูกถีบออกมาหิ้วกระเป๋าเจมส์ บอนด์ อยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามกองบัญชาการต่างๆ พวกที่เหลือจะทยอยขึ้น ผบ.พัน รองผู้การ แล้วก็ผู้การกรม ซึ่งไม่ได้เป็นทุกคน แล้วแต่จังหวะ แล้วแต่นาย แล้วแต่เส้นสายเหมือนกัน แต่ยังไงๆ เขาก็ไม่เอาคนข้ามห้วย แบบเหาะจากทหารม้า พล.ม.2 ไปเป็นผู้การรบพิเศษลพบุรี เพราะถ้าเกิดสถานการณ์สู้รบ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความรู้จักคุ้นเคย รู้นิสัยใจคอ รู้ความสามารถของลูกน้องทุกคน เป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนถ้าเป็น ผบ.พล แม่ทัพภาค แม่ทัพน้อย อันนั้นค่อยข้ามกัน ซึ่งที่ผ่านมา 80 ปีหลังอภิวัฒน์ ก็ไม่ใช่นักการเมืองหรอก เส้นนาย สายทหาร เสียส่วนใหญ่ นักการเมืองเพิ่งมีหือมีอือสมัยน้าชาติ 2 ปีกว่าก็โดนรัฐประหาร สมัยชวน 1 ชวน 2 ก็เงียบกริบ สมัยบรรหารไม่ต้องพูดถึง มีแต่บิ๊กจิ๋วที่เป็น ผบ.ทบ.มาก่อน

จนถึงยุคทักษิณ รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจเต็ม ถึงเป็นเรื่อง เมื่อดันพี่ชาย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร มาเป็น ผบ.ทบ.ทั้งที่เป็นทหารช่าง อยู่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ข้ามห้วยข้ามหัวมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด มาเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.อยู่หนึ่งปี แบบที่ทุกคนรู้ว่านี่แหละ ผบ.คนต่อไป

ผลเป็นไงครับ กองทัพปั่นป่วนระส่ำระสาย จนปีต่อมา ทักษิณต้องดันก้น “บิ๊กตุ้ย” ไปเป็น ผบ.สส.แล้วเอา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “บิ๊กป้อม” นายทหารสายคอมมานด์ของแท้มาเป็น ผบ.ทบ. แต่ทักษิณก็ยังไม่วายดันเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ทั้งที่นายทหารรุ่นนี้ไม่ได้โดดเด่นมาก่อน

หลัง “บิ๊กป้อม” ก็ถึงยุค “บิ๊กบัง” คราวนี้ทักษิณเข็ดแล้ว ไม่ตัดสินใจโดยพลการ รับฟังทุกฝ่ายแล้วเลือก “บิ๊กบัง” มารัฐประหารตัวเอง (ฮาไม่ออก) โดยกรณีตั้งบิ๊กตุ้ยกับดันก้นเพื่อนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพไม่พอใจ ทักษิณ

บทเรียนของยุคทักษิณคือ นักการเมืองไม่ควรใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายจนเสียระบบ ข้ามไลน์ ข้ามห้วย ข้ามหัว แม้แน่นอนว่าอำนาจตัดสินใจเป็นของฝ่ายการเมือง แต่ก็ควรตัดสินใจจากแคนดิเดท 3-4 คนที่อยู่ในเกณฑ์ อยู่ในลำดับที่จะได้เลื่อนขั้น มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

ยกตัวอย่างการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนล่าสุด ฝ่ายการเมืองเลือก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ทั้งที่อาวุโสน้อยกว่า พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ก็ไม่เห็นมีใครติฉินนินทา เพราะคำว่า “ความเหมาะสม” แม้หามาตรฐานวัดได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เห็นกันทั้งสังคม

แต่ไอ้การที่เกรงอกเกรงใจกัน จนจะให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม แล้วให้ พล.ต.อ.ปานศิริมาเป็นเลขา สมช.นี่มันเว่อร์ครับ เกินความเหมาะสม สะท้อนทัศนะที่ต้องรักษาศักดิ์ศรีหน้าตากันในสังคมไทย ทั้งที่ควรชื่นชมว่า พล.ต.อ.ปานศิริก็เป็นคนดี มีผลงาน ไม่มีข้อบกพร่อง แต่ในจังหวะเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าให้ พล.ต.อ.อดุลย์เป็นเหมาะสมกว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ท่านสอบตก อกหัก เสียหน้า แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เมื่อรัฐบาลต้องตัดสินใจด้วยเหตุผลประกอบหลายด้าน ก็ต้องยอมรับกันและทำหน้าที่ต่อไปอย่างสุภาพบุรุษ

พูดง่ายๆ ว่าระบบฝรั่งเขาไม่มีปัญหาแบบนี้ มีแต่แบบไทยๆ นี่แหละ บางครั้งตัวเองไม่มีปัญหา คนอื่นดันมีปัญหา ลูกน้อง ลูกขุน ลูกคู่ ดันมีปัญหา

หลังรัฐประหาร กองทัพตัดช่องน้อยแต่พอตัว ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะกรรมการตามกฎหมายมี 7 คน คือ รมว. รมช. ปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. และ ผบ.ทร.โหวตกันเมื่อไหร่ รมว.กห.ก็แพ้วันยังค่ำถ้าทหารแพคกันแน่น

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคนทำงานด้วยกันทุกวัน ยังไงก็มีเรื่องต้องขออนุมัติ ของบ ขอเบิกจ่าย ผบ.เหล่าทัพจะมาตั้งป้อมกับรัฐมนตรีอยู่ได้ไง โดยเฉพาะเมื่อมองเห็นกันแล้วว่ารัฐบาลนี้อยู่นาน ใครทำรัฐประหารไม่มีสิทธิผุดเกิด ฉะนั้นในท้ายที่สุด ฝ่ายการเมืองก็ขอได้อยู่ดี แม้จะยังไม่สามารถเข้ามาล้วงทุกตำแหน่ง

จึงมีข่าวว่านายทหารบางคนที่อยากขึ้นคุมกำลัง บินไปพบ “นายใหญ่” ถึงฮ่องกงก็สัมฤทธิ์ผล เพียงแต่ตำแหน่งที่ได้นั้นยังเป็นตำแหน่งในไลน์ และอาวุโสถึง

นี่ถ้ารัฐบาลยังมั่นคงถึงเดือน ก.ย.ปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์อาจได้มาตามไลน์ คือมีอาวุโสสูงสุด อัตราจอมพล สมควรขึ้นปลัดกลาโหมต่อจาก พล.อ.ทนงศักดิ์ (ฮา)

ถ้าเป็นจริงก็สะใจดีนะครับ แม้ในหลักการไม่อยากเห็นการเมืองก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพ แต่ในระยะเฉพาะหน้า อย่าลืมว่ากองทัพก็มีความผิดติดตัว ฐานทำรัฐประหาร และปราบปรามประชาชน ซึ่งไม่สามารถบอกว่าทำตามคำสั่ง เพราะกองทัพก็เป็นคู่กรณีกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 19 กันยา 2549

ฉะนั้นหากฝ่ายการเมืองเข้าไป “ย่ำยี” กองทัพในช่วงนี้ ชั่วๆ ดีๆ ต่อให้ตัวบุคคลมีปัญหา มีผลประโยชน์ เล่นพรรคเล่นพวก ทำลายระบบ ทำลายความเข้มแข็งของสถาบันกองทัพ แต่ก็ถือว่าทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงข้างมาก ซึ่งต้องการเห็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจในกองทัพ จากผู้ที่เคยมีส่วนทำรัฐประหาร และปราบปรามประชาชน ทั้งยังต้องการหลักประกัน ว่ากองทัพจะไม่สามารถทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีก

ที่จริงยังไม่สะใจด้วยซ้ำ ยังถือว่ารัฐบาลแทบไม่ได้แตะต้องกองทัพ ถ้าให้สะใจต้องล้างบางให้หมด

ปฏิรูประบบ

พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมนอกจากไม่เป็นประชาธิปไตยในแง่ไม่ยอมให้รัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง เข้ามากลั่นกรองการแต่งตั้งโยกย้าย ยังมีปัญหาไม่เป็นประชาธิปไตยในกองทัพเองด้วย เพราะให้อำนาจกับ ผบ.เหล่าทัพรับผิดชอบแต่ผู้เดียว

ถ้าเทียบกับหน่วยราชการอื่นๆ เช่น ก.ต.ของศาล ก.ตร.ของตำรวจ ยังเป็นการตัดสินใจรวมหมู่ แต่ในกองทัพแล้วแต่ “นาย” ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มีเส้นสาย เด็กฝาก หรือเลือกที่รัก เฉพาะคนในสายตัวเอง

ไม่งั้นเราคงไม่ได้ยินคำว่า “บูรพาพยัคฆ์” “วงศ์เทวัญ”

มองเข้าไปในระบบทหารเอง อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรม “รุ่น เหล่า พี่ น้อง นาย” เอื้อต่อระบบเส้นสายไม่ต่างกับนักการเมือง แต่ทหารต้องการปกป้องระบบของตนเอง ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามายุ่ง

“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” วลีอมตะของบิ๊กเสื้อคับสะท้อนวัฒนธรรมกองทัพ ที่ทหารต้องรักกัน ปกป้องช่วยเหลือกัน ใครทำอะไรเอี้ยๆ ก็ต้องปกป้องกันไว้ก่อน

ไม่ได้บอกว่าแย่นะครับ ผมเคยสัมภาษณ์นายทหารมาไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นคนน่าคบ เปิดเผย ตรงไปตรงมา ใจกว้าง รักเพื่อน รักลูกน้อง ไม่สนใจเรื่องทำผิดเล็กๆ น้อยๆ นั่นคือบุคลิกของผู้บังคับบัญชาในสนามรบ ลูกน้องตัวเฮี้ยวๆ มักเป็นหน่วยกล้าตาย ฉะนั้นถ้ายามสงบมันไปพังป้อมตำรวจ ก็ต้องช่วยกันไว้ มันไปคุมผับ ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่

วัฒนธรรมทหารจะมีรุ่น มีนาย มีลูกน้อง ผูกพันกันไปจนวันตาย นายเป็นใหญ่ก็ฝากฝังลูกน้อง ถือเป็นประเพณี พูดไปแล้วทหารอาจจะดีกว่าตำรวจหรือข้าราชการสายอื่น ที่ “นาย” อย่าหันหลังเชียว หันเมื่อไหร่หลังเหวอะ แต่ทหารไม่มี ทหารมีแต่ช่วยกัน ฉะนั้นนายพลจึงล้นกองทัพ จบ จปร.ทำงานไปเรื่อยเปื่อยยังไงก็ได้เป็นนายพลก่อนเกษียณ ไม่นายช่วย ก็เพื่อนร่วมรุ่น

ทหารจัดโผกันที ต้องมีพี่คนนั้น พี่คนนี้ ฝากลูกน้อง เฮ้ย ไอ้นี่มันเด็กพี่ ช่วยหน่อย ความจริงพี่เกษียณไปแล้ว หมดอำนาจวาสนา ไม่สามารถให้คุณให้โทษอะไร แต่ทหารแม่-น่ารักตรงนี้ พี่ยังไงก็เป็นพี่ เคยช่วยเหลือเคยมีบุญคุณเคยมีน้ำใจ เด็กพี่ไม่ได้ขออะไรมาก แค่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อัตราพลเอก พลโท พลตรี ก็บานกันเข้าไป

แต่นักการเมืองอย่าขอนะ ไม่ได้เชียว เมริงแทรกแซงกองทัพ

กระทรวงกลาโหมจึงกลายเป็นกระทรวงที่มีซี 11 มากที่สุดในโลก (แค่พลตรีก็เท่ากับอธิบดีซี 10 พลโท พลเอก เท่ากับปลัดกระทรวงซี 11 ส่วนอัตราจอมพล เป็นซี 11 พิเศษรับเงินเดือนอีกอัตราหนึ่ง) ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ นายพล 90% หิ้วกระเป๋าเจมส์ บอนด์ นั่งโต๊ะตัวเดียวไม่มีลูกน้อง ไม่มีประเทศไหนในโลกเลี้ยงนายพลไว้มากขนาดนี้

นักการเมืองทุจริต สังคมด่ากันขรม แต่อย่าบอกนะว่าทหารไม่มีผลประโยชน์ ไม่ใช่แค่ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยหลายรายก็สร้างตัวจากรับเหมางานกองทัพ แต่เวลาพูดเรื่องผลประโยชน์ ทหารมักไม่ด่ากัน เพราะทัศนคติของทหารถือว่าพวกตัวเสี่ยงชีวิตป้องกันชาติและราชบัลลังก์ ได้สิ่งตอบแทนบ้างไม่เห็นเป็นไร ขณะที่นักการเมืองเป็นพ่อค้านักธุรกิจมาจากไหนไม่ทราบ

การทุจริตที่เลวร้ายที่สุดในทัศนะทหาร จึงเป็นแค่อมเบี้ยเลี้ยงลูกน้อง

ในขณะที่บอกว่านักการเมืองไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายใน กองทัพ กองทัพเองก็ต้องล้างระบบเพื่อนพ้องน้องนาย อาศัยว่ากล้ามใหญ่ ขยายยศตำแหน่งเอาเปรียบส่วนราชการอื่น

ในขณะที่บอกว่ารัฐมนตรีไม่ควรใช้อำนาจโดยพลการ กองทัพก็ไม่ควรให้ ผบ.เหล่าทัพตัดสินใจแต่ผู้เดียว แต่ควรมีประชาธิปไตยในกองทัพ มีระบบคณะกรรมการทุกระดับชั้น ที่มีตัวแทนจากการเลือกตั้งของทหารแซมบ้าง ทหารเลือกตั้งกันไม่เป็นหรือไงครับ ไม่ได้บอกให้เอาระบบเลือกตั้งมาใช้ เวลารบเวลาทำงานต้องมี ผบ.สั่งการคนเดียว แต่เรื่องอื่นๆ ตั้งแต่โยกย้ายไปถึงสวัสดิการ ก็ควรมีปากเสียงบ้าง เป็นไม้ประดับยังดี

ถ้าทหารไม่อยากให้นักการเมืองแทรกแซงกองทัพ ก็ต้องวางระบบที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นว่า หนึ่ง กองทัพจะไม่ทำรัฐประหารอีก สอง กองทัพจะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาล เสมือนหน่วยราชการทั่วไป ไม่ทำตัวเป็นหน่วยงานอภิสิทธิ์ สาม นายทหารได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งตามความรู้ความสามารถ ไม่เล่นพวก เส้นสาย ไม่แจกยศตำแหน่งกันเฟือฟาย

กองทัพก็เหมือนราชการทั้งระบบ ที่ต้องปฏิรูปโครงสร้าง มีระบบเลื่อนตำแหน่งด้วยการวัดผลงานจริง มีเส้นทางความก้าวหน้าทางวิชาชีพ (Career Path) เพื่อให้อำนาจทั้งภายนอกและภายในแทรกแซงเล่นเส้นเล่นสายได้ยาก เพียงแต่ต้องทำกันจริงๆ อย่าปาหี่ และต้องใช้กลไกประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ เข้ามามีส่วนด้วย เพราะอย่างระบบของ ก.พร. ที่ให้ทำผลงาน ประเมินผลงาน เป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นการเล่นเส้นสาย ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาประเมินอยู่ดี (หรือไม่ก็ไปจ้างทำผลงานแบบครูบ้านนอกยุคไอที)

ระบบราชการไทยเป็น Feudalism (มึงไทยมาก-ฮา) เจ้าขุนมูลนาย มีวิ่งเต้น เส้นสาย ประจบ สอพลอ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นแล้ว นักการเมืองจึงเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงได้ ถ้าไม่ต้องการให้นักการเมืองแทรกแซง ก็ต้องทำให้มีหลักเกณฑ์ เป็นประชาธิปไตย กระจายอำนาจ รับฟังความคิดเห็น จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน จึงจะป้องกันการแทรกแซงได้ ไม่ว่าภายนอกหรือภายในก็ตาม

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    29 ส.ค.55
....................................


29 สิงหาคม 2555 เวลา 19:08 น.