ที่มา
ประชาไท(นิวยอร์ค: 21 มกราคม 2553) – รายการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแทบจะไม่ได้ทำตามคำสัญญาเคยกล่าวไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และหลักกฏหมายระหว่างประเทศเลย
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "ถึงแม้บางครั้ง นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์จะกล่าวถึงสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำของเขากลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม รัฐบาลชุดนี้ได้บั่นทอนการเคารพสิทธิมนุษยชน และนิติธรรมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง"
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การท้าทายจากกลุ่มคนเสื้อแดงในเครือข่ายของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากกองทัพมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะรักษาความอยู่รอดทางการเมืองของตน โดยในการตอบโต้ต่อการชุมนุมประท้วงที่มีการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม นปช. ที่พัทยา และกรุงเทพฯ นั้น รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 และ 12 เมษายน ตามลำดับ มีการระดมกำลังทหารมาสลายการชุมนุมประท้วง โดยใช้แก๊สนำ้ตา และกระสุนจริงยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง การปะทะกันระกว่างผู้ประท้วงกลุ่ม นปช., ทหาร และประชาชนกลุ่มต่างๆ ในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 123 คน และเสียชีวิต 2 คน
การที่รัฐบาลมี "สองมาตรฐาน" ในการบังคับใช้กฏหมายทำให้ความตึงเครียด และการแบ่งขั้วทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยขณะที่แกนนำ และสมาชิกของกลุ่ม นปช. ถูกจับกุม, คุมขัง และดำเนินคดีภายหลังจากที่มีการสลายการชุมนุมประท้วงนั้น รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องในสังคมที่ต้องการให้มีการสอบสวนอย่างเป็นกลางเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการกระทำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2551 ที่รวมถึงการยึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงของ พธม. มีส่วนสร้างเงื่อนไขที่ช่วยให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ ความล่าช้าในการดำเนินคดีต่อแกนนำ และสมาชิกของ พธม. ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่สาธารณชนว่า พธม. มีภูมิคุ้มกันต่อการรับผิดทางกฏหมาย
สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความรุนแรง และการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ปี 2547 นั้น รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ปล่อยให้กองทัพสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการรับผิดชอบใดๆ โดยในรอบปีที่ผ่านมายังไม่มีการลงโทษทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหน่วยต่างๆ ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลย ซึ่งรวมถึงกรณีที่อื้อฉาว เช่น เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ, เหตุการณ์ตากใบ, การทรมาน และการฆาตกรรมอิหม่ามยะผา กาเซ็งและเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดอัลฟาร์กอน (มัสยิดบ้านไอปาแย)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวในการสร้างระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพของพลเรือนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของกองทัพภายใต้กฏหมายความมั่นคงพิเศษ โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ละครั้งนั้น ปรากฏว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังเลย สภาวะเช่นนี้เปิดทางให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนตสามารถนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการแสวงหาสมาชิก และแนวร่วมผู้สนับสนุนใหม่ๆ รวมยังยังใช้เป็นเหตุผลในการก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 3,900 คนแล้ว
ในปี 2552 รัฐบาลล้มเหลวในการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์จะคัดค้านแนวทางการใช้ความรุนแรงปราบปรามยาเสพติดในแบบของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐบาลก็ไม่เต็มใจที่จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะลงโทษทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ "ฆ่าตัดตอน" ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 2,500 คนระหว่างที่มีการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดเมื่อปี 2546 รวมทั้งยังไม่มีการตรวจสอบ และลงโทษอย่างเอาจริงเอาจังต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการต่อการ “ดื้อแพ่ง” ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่เสนอให้ดำเนินคดีอาญา และลงโทษทางวินัยต่ออดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมประท้วงของ พธม. เมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2551 ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 443 คน และเสียชีวิต 2 คน
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า "ประชาธิปไตยในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฏหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวได้ปกคลุมสังคมอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เพิ่มระดับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"
ในปี 2552 รัฐบาลใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฏหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปราบปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของรัฐบาล โดยเมื่อเดือนมกราคม สุวิชา ท่าค้อถูกจับกุม และดำเนินคดี เนื่องจากเผยแพร่ความเห็นที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนอินเตอร์เน็ตซึ่งทำให้เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคมศาลตัดสินลงโทษดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ให้ถูกจำคุก 18 ปีเนื่องจากปราศัยดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในระหว่างการชุมนุมประท้วงของ นปช. โดยมีรายงานว่า เธอถูกแยกขังเดี่ยวอยู่ที่เรือนจำลาดยาวระยะหนึ่ง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ออกไปรับการรักษาอาการขากรรไกรอักเสบที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำตามคำแนะนำของแพทย์ มาตรการลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ทำให้ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจำนวนหนึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไทย เพื่อที่จะไม่ถูกตั้งข้อหา และดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ และสอดแนมการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้ที่แปล และแสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับรายงานข่าวของสื่อมวลชนต่างประเทศเกี่ยวกับสุขภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งยังมีการปิดหน้าเว็บไซต์ไปมากกว่า 18,000 หน้า โดยกล่าวหาว่า มีเนื้อหาที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ในปี 2552 รัฐบาลของนายกมนตรีอภิสิทธิ์ได้ละเมิดพันธะของประเทศไทยเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาความคุ้มครองตามกฏหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง
รัฐบาลอนุญาตให้กองทัพดำเนินการผลักดันส่งตัวชาวม้งที่เป็นผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาความคุ้มครองมากกว่า 4,600 คนกลับไปประเทศลาว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาชาติ ซึ่งรวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติ
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำอ้างของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลคนอื่นๆ ที่กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นบนพื้นฐานของ "ความสมัครใจ" ทั้งนี้ตลอดรอบปีที่ผ่านมา ทหารที่ดูแลค่ายห้วยน้ำขาวได้จำกัดความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้านเสบียงอาหาร และการรักษาพยาบาลที่องค์กรเอกชนจัดให้กับชาวม้ง จนถึงขั้นที่ทำให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ตัดสินใจถอนตัวออกจากค่ายห้วยน้ำขาวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ทั้งนี้ ในการผลักดันชาวม้งกลับครั้งใหญ่เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ได้มีการระดมกำลังทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหน่วยต่างๆ มากกว่า 5,000 คนไปยังค่ายห้วยน้ำขาว และมีการปิดกั้นพื้นที่โดยรอบอย่างเข้มงวดไม่ให้สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์เข้าไปใกล้ รวมทั้งยังมีการใช้อุปกรณ์รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในค่ายห้วยน้ำขาว เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวม้งติดต่อกับโลกภายนอก ขณะที่แกนนำชาวม้งถูกประกบตัวไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้านการส่งกลับ มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการข่มขู่ และบีบบังคับอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำอ้างของรัฐบาลเรื่อง "ความสมัครใจ"
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาความคุ้มครองในปี 2552 นั้น เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม โดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ในฐานะประธานที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสกัดกั้นเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่า และประเทศบังคลาเทศที่พยายามเดินทางเข้ามาในน่านน้ำของประเทศไทย โดยกองทัพเรือสามารถจับกุมเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาได้เป็นจำนวนมาก และได้ลากจูงเรือเหล่านั้นออกไปยังน่านน้ำสากล โดยไม่ได้จัดหาอาหาร และน้ำดื่มไปให้อย่างเพียงพอ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ปี 2594 หรือพิธีสารปี 2510 แต่ประเทศไทยก็มีพันธะภายใต้กฏหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังที่ใดๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิต หรือเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวเสี่ยงต่ออันตราย