ที่มา ประชาไท
--อ่านจดหมายจากคนที่เหมือนตายไปแล้ว จดหมายจากคุกของ สุวิชา ท่าค้อ--
ผู้เขียนอ่านจดหมายลงวันที่ 1 มกราคม 2553 จากนายสุวิชา ท่าค้อ ผู้ถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่า มีความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โทษจำคุก 10 ปี ที่เขียนถึงทนายอานนท์ นำภา ทนายความของเขา ด้วยความสลด เพราะในขณะที่สื่อกระแสหลักพร้อมที่จะเทิดทูน ประจบในหลวงและสถาบันอย่างสุดๆ พวกเขากลับไม่มีที่ให้กับความเห็นของนักโทษข้อหาหมิ่นฯ ในขณะเดียวกัน นายสุวิชาเองก็ดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อมั่นใดๆ ในสื่อกระแสหลักหลงเหลืออยู่ ในจดหมายจึงไม่มีการกล่าวถึงการฝากความหวังไว้กับสื่อกระแสหลักของไทยเลย หากจะมีการพูดถึงสื่อในจดหมาย ก็มีเพียงสื่อนอกกระแสอย่างประชาไทเพียงแห่งเดียว
ทางด้านทนายอานนท์ นำภา ทนายของนายสุวิชา ก็ได้แสดงความเห็นว่า จดหมายฉบับนี้ “น่าจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้าย เพราะทางเรือนจำได้รับแจ้งให้เซ็นเซอร์ จากเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง (เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวสามารถเข้าออกเรือนจำได้แม้ไม่ต้องเป็นญาติของผู้ต้องขัง… คุณสุวิชาขอให้เผยแพร่จดหมายของเขา”
นี้คือเซ็นเซอร์ชิปซ้ำซ้อน หลังจากที่สื่อกระแสหลักไม่สนใจอยู่แล้ว ในการเข้าใจคนอย่างสุวิชา ว่าทำไมเขาถึงเผยแพร่คลิปวิดิโอหมิ่นกษัตริย์ นายสุวิชาก็อยู่ในคุกแล้ว สื่อก็ไม่สนใจอยู่แล้ว แถมเขากำลังเผชิญกับการเซ็นเซอร์เพิ่มอย่างซ้ำซ้อน ดูเหมือนว่า คนไทยไม่มีสิทธิที่จะเห็นต่าง
การถูกจองจำในคุกเกือบ 1 ปีตั้งแต่ ม.ค. 2552 ไม่ได้ช่วยให้นายสุวิชามีศรัทธาต่อสังคมไทยและระบบยุติธรรมไทย ดังที่นายสุวิชากล่าวในจดหมายว่า “พวกเขามองผมเป็นผู้ร้ายที่ต้องถูกปราบปราม แต่ไม่มองถึงต้นเหตุของปัญหาเลย เพราะเหตุทำให้เกิดผล … ผมรู้สึกอัดอั้นตันใจอย่างมาก ที่พวกเขานั้นเหล่านั้นไม่เข้าใจผมบ้างเลย”
ในจดหมายเขียนด้วยลายมือเกือบสามหน้าของนายสุวิชา นายสุวิชายังได้พูดถึงความกลัวของตนและครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคุกคามและการลงโทษที่ไปไกลกว่าตัวบทกฎหมาย ซึ่งหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับอารยประเทศอื่นๆ
“[ภรรยา] ถูกกดดันรอบด้าน ทั้งจากตำรวจที่อยากให้เธออยู่เงียบๆ พวกเขาเคยบอกเธอว่า หากผมได้ออกจากคุก พวกเขาจะไม่รับรองความปลอดภัย หรือหากไม่อยากให้ผมเจอหนัก ก็ต้องอยู่เงียบๆ … ไม่ว่าจะมีสิ่งศักด์สิทธิ์ที่ไหน เธอจะไปสวดอ้อนวอน และบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ได้ตัวผมคืนมา”
นายสุวิชายังได้กล่าวถึงการที่ภรรยาได้พบตัวสามีในห้องขังของตำรวจดีเอสไอเป็นครั้งแรกว่า “สิ่งแรกที่เธอทำคือ แกะกระดุมเสื้อผมตรวจดูร่องรอยการทำร้ายร่างกาย เธอดูโล่งใจขึ้นเมื่อร่างกายผมยังอยู่ปกติ”
ราคาค่างวดของการเผยแพร่ข้อมูลหมิ่นเจ้านั้นสูงยิ่ง และผู้ได้รับผลกระทบมิใช่เพียงแต่คนที่ “กระทำผิด” ดังที่นายสุวิชาเขียนต่อมาถึงภรรยาที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงว่า: “เธอต้องไปให้ความสำคัญกับลูกๆ เพิ่มขึ้น เธอพยายามขายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อป็นค่าจ้าง และค่าเทอมให้ลูกๆ [สามคน] เธอต้องประหยัดที่สุดจนแทบจะไม่น่าเชื่อ เพราะครอบครัวเราไม่มีรายได้อีกแล้ว พี่น้องทีมงานประชาไทจะเข้าใจดีว่า สภาพจิตใจของภรรยาผมเป็นเช่นไร สิ่งเดียวที่พวกเราต้องการคือเพียงแค่การได้กลับไปใช้ชีวิตด้วยกัน ขอแค่ทำไร่ไถนาและอยู่อย่างพอเพียง พวกเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ แต่พวกเขาหาได้มีความเมตตาแก่พวกเราไม่ และไม่สงสารพวกเราเลย พวกเราเป็นคนเหมือนกัน และเป็นคนไทย”
คำว่า “เป็นคนไทย” ทำให้ผมนึกถึงการพูดเทิดทูนอย่างเหมารวมต่อสถาบันว่า “คนไทยทุกคน” รักในหลวง ทำให้คนที่คิดต่างต่อสถาบันถูกตราหน้าว่า “ไม่ใช่คนไทย” ทั้งที่ในความเป็นจริงคนไทยจำนวนไม่น้อยคิดเห็นเชิงวิพากษ์หรือเท่าทันต่อสถาบัน เพียงแต่ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวกฎหมายฯ และคุกตาราง
เมื่อกล่าวถึงคุกแล้ว นายสุวิชาได้เขียนไว้ว่า “ในช่วงที่แย่ที่สุด ผมเคยบอกกับภรรยาว่า ‘ผมไม่ไหวอีกแล้ว’ และสั่งเสียถึงพ่อแม่ผม หากจะไม่ได้พบกันอีก ภรรยาผมร้องไห้และเตือนสติผมว่า ‘หากไม่มีนุ้ย นาและลูกๆ จะอยู่กันอย่างไร’ มันทำให้ผมสู้ทนเพื่อจะมีชีวิตต่อไป เธอยังเคยพูดว่า ถึงเธอจะอยู่นอกคุก แต่ก็ไม่ต่างจากการติดคุก ตราบใดที่ผมยังอยู่ในคุก เพราะเธออยู่ในภายใต้แรงกดดันรอบด้าน … ผมไม่รู้จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่ประสบเองก็จะไม่เข้าใจ มันเป็นเหมือนการฆ่าให้ตายไปครึ่งชีวิต หรือทำให้ตายทั้งเป็น ผมไม่อยากให้ใครได้ลิ้มรสกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนผม เมื่อมีข่าวนักโทษแขวนคอตายในห้องขัง ผมรู้สึกว่า เป็นเรี่องปกติเพราะผมเคยผ่านจุดนั้นมา”
คุกในที่นี้ มีทั้งคุกทางกายภาพที่ผู้ “กระทำผิด” ต้องถูกจองจำ แต่ในขณะเดียวกัน สภาพที่มีกฎหมายหมิ่นในสังคมก็เปรียบเสมือนคุกอีกชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น หากคุณปฏิบัติตามก็ไม่ต้องเข้าคุกคลองเปรม ซึ่งเป็นคุกทางกายภาพ แต่คุณก็ยังอยู่ในคุกที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้อยู่ดี เพราะคุณถูกทำให้เงียบ แสดงความคิดเห็นต่างและเท่าทันต่อสถาบันไม่ได้ คุกทางกายภาพและคุกทางสังคมที่มองไม่เห็น ไม่ได้ทำให้นายสุวิชายอมจำนนต่อสภาพที่เขามองว่า ไม่ยุติธรรมดังที่นายสุวิชาเขียนต่อมาว่า
“ตราบใดที่พวกเขายังขังผมต่อ คนที่เสียหายคือพวกที่ทำบาปทำกรรมต่อผมและลูกเมีย … เรื่องอำนาจทางการเมืองยิ่งเป็นกิเลสที่หยาบที่สุดเพราะถึงกับจับขังหรือฆ่ากันได้เลย ดังที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าผมจะอยู่กับทางโลก แต่ผมก็จะเดินบนทางธรรมเป็นเอก… ชีวิตของพวกเราทั้งห้าอยู่ในอำนาจของเขา ผมทำอะไรไม่ได้หรอก และไม่อยากให้ลูกเมียต้องไปขอบริจาคใครกิน แต่พวกเราคงไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผม ลูกๆ ทั้งสามมีค่ามากสำหรับผม ขอเพียงให้พวกเขาอยู่รอด สำหรับผมอะไรก็ได้ เพราะเหมือนคนที่ตายไปแล้วไม่รู้ว่าจะกลัวอะไรได้อีกแล้ว”