WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 12, 2010

เปิดศักราช 2553 คุยกับคนสร้างสื่อใหม่(ตอนที่ 1):ไทยอีนิวส์

ที่มา Thai E-News



ไทยอีนิวส์ เว็บไซต์ที่เสื้อสีไหนก็อยากอ่าน แต่ผู้อ่านไม่มีโอกาสรู้จักที่มาที่ไป ประชาไทจับเข่าคุย‘สมศักดิ์ ภักดิเดช’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เจาะลึกวิธีคิด วิธีการทำงาน และการนิยามตัวเอง


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์
12 มกราคม 2553

ประชาไทเปิดศักราชใหม่ ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าคนทำสื่อในโลกไซเบอร์ ว่าเขานิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร ประเดิมบทสัมภาษณ์แรกด้วย “สมศักดิ์ ภักดิเดช” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งไทยอีนิวส์

ความตื่นตัวของการมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านโลกออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารและการแสดงพลังทางสังคมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนของ citizen journalist หรือ cyber activist ที่คืบคลานเข้ามาสู่โลกแห่งการสื่อสารแบบใหม่นี้ ไม่ว่าคุณจะสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยความหวาดระแวงคลางแคลงใจ หรือชื่นชมยินดีก็ตาม มันก็เข้ามามีบทบาทในโลกจริงแล้วอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างชั้นดีของการตอบสนองจากรัฐต่อช่องทางการสื่อสารใหม่นี้ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์หลักของประเทศต้องปรับกลยุทธ์แบ่งสรรเนื้อหาออนไลน์กับฉบับตีพิมพ์อย่างชัดเจน หลังยอดขายเริ่มส่งสัญญาณในทางลบ

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงเรื่องผลตอบแทน หากแต่วัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมอินเตอร์เน็ตคือ ไม่มีใครเป็นผู้ยึดกุมความถูกต้อง สิ่งนี้ท้าทายขนบธรรมเนียมการสื่อสารแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่เชื่อว่าสื่อสามารถกำหนดวาระทางสังคม ปรากฏการณ์ข่าวเจาะจากเว็บพันทิปโดยผู้เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า ผู้เล่นอินเตอร์เน็ตสามารถกำหนดวาระสื่อได้เช่นกัน

ประชาไทเปิดศักราชใหม่ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าคนทำสื่อในโลกไซเบอร์ ว่าเขานิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดันให้หันมาใช้สื่อใหม่เหล่านี้ เขามีข้อสังเกตอะไรบ้างต่อพื้นที่ออนไลน์ และมันช่วยเติมเต็มเสรีภาพในการสื่อสารได้จริงหรือไม่ เพียงใด


000
เจาะลึก ‘ไทยอีนิวส์’ สื่อกระแสทวนในยุคสมัยแห่งความขัดแย้ง

ไทยอีนิวส์ เว็บไซต์ที่เสื้อสีไหนก็อยากอ่าน แต่ผู้อ่านไม่มีโอกาสรู้จักที่มาที่ไป ประชาไทจับเข่าคุย‘สมศักดิ์ ภักดิเดช’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เจาะลึกวิธีคิด วิธีการทำงาน และการนิยามตัวเอง

-------------------------------------------------


“Thai E-News
ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยที่คุณไม่อาจหาอ่านได้จากสื่อ”


นี่คือคำประกาศ (โฆษณา) ของเว็บบล็อกยอดนิยมลำดับต้นๆ ในบรรดาเว็บข่าวสารการเมือง ....“ไทยอีนิวส์”

เว็บนี้เป็นเว็บเนื้อหาล้วน ไม่มีเว็บบอร์ดให้แลกเปลี่ยน ที่สำคัญ ไม่กระมิดกระเมี้ยนว่า “แดง” กระนั้นก็ยังเป็นแดงที่มีกลิ่นประหลาด และมักนำเสนอประเด็นต่างๆ ของทุกแวดวงอย่างแหลมคมให้ฮือฮาอยู่เสมอ

ไทยอีนิวส์เกิดขึ้นมาอย่างเงียบๆ ดำรงอยู่อย่างลึกลับ และไม่รู้ว่าแวดวงสื่อมวลชนจะนิยามมันอย่างไร อาจเป็น “สื่อเทียม” “เครื่องมือนักการเมือง” “ตัวอย่างของการใช้สื่อสร้างสงครามการเมือง” ฯลฯ รู้แต่เพียงมันเป็นพื้นที่ข้อมูลข่าวสารในอีกด้านหนึ่งที่ไม่มีใครนำเสนอบนเว็บบล็อกอันแสนธรรมดา แต่มีคนคลิ๊กอ่านเฉลี่ยแล้วกว่า 40,000 ครั้งต่อวัน

วันนี้เราจะเขยิบเข้าไป “อ่าน” ให้ใกล้อีกนิด อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์การสื่อสารในโลกไซเบอร์ ซึ่งมีจุดแข็งปั๋งตรงที่อำนาจในการผลิตและเสพสื่ออยู่ที่สองมือของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม


“สมศักดิ์ ภักดิเดช” เป็นนามแฝงของหนึ่งในผู้ก่อตั้งไทยอีนิวส์ ผู้ซึ่งไม่เคยมีความรู้เรื่องไอที อาศัยแต่เพียงเป็น ACTIVE CITIZEN ผู้ฝักใฝ่การเมือง ประชาธิปไตย และการแลกเปลี่ยนในเว็บบอร์ด !

การก่อตัวของเว็บนี้ค่อนข้างจะแปลกประหลาด เพราะทีมงานที่มีไม่กี่คนนั้นไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวเลย พวกเขามีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่เว็บบอร์ดพันทิป ห้องราชดำเนิน พูดคุยเรื่องการเมืองกันมาตั้งแต่ปี 48-49 และมีแนวคิด แนวทางใกล้เคียงกัน

“นโยบายของเราคือ ไม่ต้องรู้จักกัน ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ แต่รู้จักความคิดกันและกัน”

“อันที่จริง ในห้องราชดำเนินก็มีทั้ง pro ทั้ง con คุณทักษิณ สำหรับตัวผมเอง ก่อนหน้านั้นผมอยู่ฝ่ายคัดค้าน ผมก็คัดค้านคุณทักษิณเหมือนกับที่เอ็นจีโอคัดค้านนั่นแหละ ตั้งแต่เรื่องตากใบ เรื่องconflict of interest หลายกรณี”

เมื่อเห็นสนธิ ลิ้มทองกุล เคลื่อนขบวนมาถึงช่วงใกล้รัฐประหาร พวกเขาเริ่มเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่นมากขึ้นด้วยความรู้สึกว่า ขบวนการนี้ “เกินเลย” ไปจากบทบาทของภาคประชาชน กระทั่งถึงฟางเส้นสุดท้ายเมื่อหัวค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549

ไทยอีนิวส์ถือกำเนิดในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 หรือ หลังรัฐประหารประมาณเดือนครึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศแสนอึดอัด เพราะพันทิปมีนโยบายปิดบอร์ดราชดำเนิน “เพื่อความปลอดภัย”

“ช่วงรัฐประหารหลายคน ทั้งโปรประชาธิปไตย ทั้งโปรทักษิณ ไม่มีที่ไป ก็เลยแห่เข้าไปยึดเว็บบอร์ดประชาไท ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น”

สมศักดิ์บอกว่า จุดเริ่มต้นของการลงมือสร้างพื้นที่ไทยอีนิวส์อีกประการหนึ่งก็คือมองเห็นปัญหาใหญ่มากในเรื่องของ “สื่อ” ซึ่งเขาเห็นว่า สื่อกระแสหลักล้วนชัดเจนว่ามีอคติในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

“ฝ่ายทักษิณทำอะไรก็เป็นดำไปหมด เราจึงอยากจะสร้างสื่อ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่สื่อทางเลือกด้วย แต่เป็นสื่อกระแสทวน คือทวนต่อทิศทางที่เป็นกระแสหลัก ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ให้ระบอบเผด็จการ”


นิยามของสื่อกระแสทวน ก็คือ “อันไหนไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก ที่นี่จะเป็นข่าวให้ อันไหนเป็นข่าวกระแสหลักที่เป็น propaganda หรือ black propaganda เราจะทวนกระแสโต้ตอบ แล้วเอาความจริงอีกมุมหนึ่งมานำเสนอ เอากันง่ายๆ บทสัมภาษณ์คุณทักษิณในไทมส์ออนไลน์ เมื่อแปลตัวบทอย่างเคร่งครัดก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าทักษิณพูดอย่างหนึ่ง ขณะที่สื่อกระแสหลักไปนำเสนอว่าทักษิณจะล้มสถาบันอย่างนู้นอย่างนี้ เราก็มีหน้าที่แปลทั้งหมดออกมานำเสนอซะ”

“อย่างไรเสีย จุดยืนของเราคือ Pro ประชาธิปไตย ส่วน Pro ทักษิณนั้นเป็นเรื่องรอง”

ในด้านเนื้อหาที่ปรากฏ บนเว็บบล็อกที่เนื้อหาทุกเรื่องเรียงลงมาอย่างทื่อๆ เราจะเห็นความหลากหลายคล้ายแกงโฮะหม้อใหญ่ ตั้งแต่บทวิเคราะห์การเมือง บทความประวัติศาสตร์การเมือง บทวิพากษ์วิจารณ์ภาคประชาชน สื่อมวลชน ข่าวที่ไม่ใช่การเมืองอย่างข่าวยูเอฟโอที่สุดท้ายกลายเป็นแค่ลูกโป่ง ข่าวความเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง กระทั่งการประกาศขายบ้าน ขายอสังหาริมทรัพย์ของคนเสื้อแดง ฯลฯ

“ไอ้ที่เห็นมีการประกาศขายของนั้น เพราะเราเห็นแล้วว่าการชุมนุม การรวมกันแต่ละครั้งของเสื้อแดงมีแต่ต้องควักตังค์ ต้องระดมทุน จึงมีคนเสนอว่าควรให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนการทำมาค้าขายกันซักหน่อย มันก็คล้ายๆ ข่าวสังคม ไทยรัฐหน้า4 ส่วนเรื่องกิจกรรมนั้นคนขยันส่งมาเยอะ ทุกมุมของประเทศ รวมไปถึงต่างประเทศด้วย และพอเขามีกิจกรรมแล้ว เจ้าภาพก็ต้องส่งข้อมูล ส่งข่าวมา เพราะเราไม่มีนักข่าวไปทำ”

เนื้อหาทั้งหมดนี้อาศัยเพียงอีเมล์คุยกันในกลุ่มคนทำงาน และต่างคนต่างทำตามที่ตัวเองถนัด บางคนมีฝีมือทางการเขียน การวิเคราะห์ บางคนถนัดการแปล บางคนเก่งเรื่องเทคนิค บางคนชอบท่องเว็บต่างๆ แล้วรู้ว่าแหล่งไหนมีอะไรน่าสนใจที่จะดึงมา

“ตัวผมเองมีประสบการณ์ทำงานสื่อมาหลากหลาย ผมรู้จักสื่อ และรู้จักธรรมชาติของสื่อดี และเราก็เป็นกระแสทวนในทุกวงการ นอกเหนือจากสื่อแล้ว เราจะเห็นว่าในแวดวงอื่นก็น่าตกใจ เช่น แวดวงเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักวิชาการ ซึ่งโดยธรรมชาติ โดยความเป็นมา ประสบการณ์ที่เรารับรู้ น่าจะเป็นฝ่ายโปรประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเริ่มต้นการวิเคราะห์ว่าทำไมพวกเขาส่วนใหญ่จึงเห็นดีเห็นงาม รับใช้เผด็จการ คนที่เขาเขียนมาก็เขียนให้เห็นที่ไปที่มา เครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงผลประโยชน์ที่เขาได้รับ”

นอกจากนั้นก็อาศัยเครือข่ายที่จะส่งงานมาลง หรือกระทั่งค้นข้อมูลจาก “นักข่าวไซเบอร์” ทั้งหลายตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งไปร่วมเหตุการณ์สำคัญแล้วบันทึกภาพ บันทึกเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ รวมถึงข้อสังเกตต่างๆ เช่นกรณีการค้นพบว่าผู้หญิงเสื้อแดงที่โดนจิกหัวนั้นไม่ใช่บริเวณแฟลตดินแดง และไม่ใช่เพราะชาวแฟลตดินแดงทนไม่ไหวตามที่สื่อกระแสหลักรายงาน

“มันมีเรื่องให้กระแสทวนต้องเหนื่อยเป็นประจำ ต้องสืบค้น ต้องหาข้อมูลมาเปรียบเทียบ กรณีของผู้หญิงที่ถูกจิกหัว สุดท้ายก็ได้ภาพข่าวดีเด่นรางวัลอิศราฯ อะไรด้วย..”

“ส่วนที่อาศัยรูปแบบของบล็อก็เพราะฟรีและง่าย ใช้แค่สองอย่าง คือ แรงกับใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายก็ไม่ต้องหารายได้ และมันง่ายขนาดคนไม่รู้ไอทีอะไรเลยยังทำได้”

เมื่อชัดเจนถึงจุดยืนทวนกระแสแล้ว คำถามสำคัญของมือกระบี่ไร้กระบวนท่าอย่างไทยอีนิวส์ก็คือ ไทยอีนิวส์เป็นการ propaganda ในด้านกลับกันหรือไม่

“เราถูกตั้งคำถามเรื่องนี้อยู่มาก เราเองก็ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ (หัวเราะ)”

“ความจริงแล้วเรามีความเป็นห่วงอยู่ 2-3 เรื่อง หนึ่งคือ ความน่าเชื่อถือ เราก็จะโค้ดที่ไปที่มาค่อนข้างละเอียด อย่างน้อยก็น่าจะช่วยได้บ้าง สอง คนอาจว่าเป็น propaganda สู้กับ propaganda ผมกับทีมคุยเรื่องนี้กันอยู่มาก ถ้าเขาเป็นดำเราเป็นขาว ถ้าเขาเป็นขาวเราเป็นดำ มันก็ไม่ต่างกัน ในสิ่งที่เราคิดเห็นคือ อย่างน้อยเราไม่ควรจะทำ black propaganda ชนิดที่เอาความมดเท็จมานำเสนอ เราไม่เคยทำ ถ้าเสื้อแดงทำอะไรเลวๆ ซักอย่างแล้วเราจะไปบอกว่าเสื้อแดงทำดีมาก เราก็ไม่เคยทำ”

“ยกตัวอย่างวันที่ 7 ตุลา ที่พันธมิตรฯ มาชุมนุมกัน มันเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ แต่มันมีคนขาขาด มีคนตาย เราต้องนำเสนอไปตามนั้นว่ามีคนตายคนบาดเจ็บ เพราะเห็นกันอยู่ ขณะที่หลายๆ คนในบอร์ดต่างๆ ไปนำเสนอว่าคนนี้เป็นคนขาด้วนมาก่อน”

“แต่ถ้าจะบอกว่าเรา propaganda อีกด้านเพื่อสู้อีกด้าน ก็อาจว่าได้ ในเมื่อสื่อกระแสหลักมันโถมเป็นกระแสใหญ่ซัดใส่สังคมขนาดนั้น แล้วเราเห็นว่ามันเป็นเท็จ แล้วเรานำเสนอจากฝ่ายประชาธิปไตยว่าความจริงมันเป็นอีกแบบ ถ้าจะเรียกว่านี่เป็น propaganda เราก็คงต้องมีภาระจำยอมที่ต้องทำอย่างนี้ไปก่อน”

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะนับรวมภารกิจนี้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน แต่ก็สะท้อนความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองพอสมควร โดยยกตัวอย่างของการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวบางส่วนของคนเสื้อแดง เช่น การออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่จะไปบ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 19 ก.ย.52 เพราะพล.อ.เปรมไม่ได้อยู่ที่บ้าน หากเคลื่อนขบวนไปก็เสี่ยงต่อโดนปราบเปล่าๆ สมศักดิ์ว่านั่นนับเป็นการออกแถลงการณ์ฉบับแรกตั้งแต่ตั้งไทยอีนิวส์มา

“ถ้าทักษิณเกิดทำอะไรบ้าๆ บอๆ นอกลู่นอกรอย หรือเสื้อแดงทำอะไรที่เราว่าไม่เข้าท่า เราก็มีอิสระจะวิพากษ์วิจารณ์ เราไม่ควรติดเรื่องเสียขบวน ถ้ามัวแต่กลัวเรื่องนี้มันจะยิ่งหนักกว่าการเสียขบวน”



สมศักดิ์ยังวิเคราะห์กลุ่มคนอ่านของเขาว่า น่าจะเป็น “นักปฏิรูป” เพราะดูจากผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องทางการเมืองต่างๆ แนวคิดอย่างที่ต้องการสาธารณรัฐนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่เพียงต้องการรัฐธรรมนูญ 40 การเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอ่าน มาจาก กทม.45% ต่างประเทศ 10% และต่างจังหวัด 35%

นอกจากนี้ยังพบผลสำรวจที่ทำขึ้นบนหน้าเว็บในช่วงการถวายฎีกาด้วยว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 75% และเห็นด้วยกับการถวายฎีกาเพื่อให้ทักษิณเพียง 2%

“เราเชื่อว่าคนก้าวข้ามทักษิณแล้ว อย่างน้อยในบริบทคนอ่านไทยอีนิวส์” สมศักดิ์กล่าว

นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติตั้งแต่เมษายน 2550 จนปัจจุบัน ไทยอีนิวส์ถูกคลิ๊กไปแล้วกว่า 13.5 ล้านคลิ๊ก เฉลี่ยแล้ววันละ 40,000คลิ๊ก และจะพุ่งเป็นแสนกว่าคลิ๊กช่วงสถานการณ์ร้อน

เมื่อคุณอ่านข่าวสาร บทความ บทวิเคราะห์ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็คงไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนที่ท้ายชิ้นงาน หรือวิจารณ์ในเว็บบอร์ดได้ เพราะที่นี่ไม่เปิดเว็บบอร์ด โดยผู้ก่อตั้งชี้แจงว่าเพราะไม่เชี่ยวชาญด้านนั้น และไม่ได้มุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่การสื่อสารสองทางอย่างที่เว็บที่มีเนื้อหาการเมืองส่วนใหญ่เป็น

“ถ้าเปิดให้แสดงความคิดเห็นแล้วดูแลยาก ทำให้ต้องเสียแรงเยอะมากกับตัวป่วน ที่สำคัญต้องหาคนมาดูแล ซึ่งสร้างภาระและไม่สอดคล้องกับโครงสร้างที่ไม่มุ่งหารายได้แม้แต่น้อย”

เมื่อถามถึงเป้าหมาย หรือการประเมินตัวเองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น คนทำไทยอีนิวส์ออกตัวอย่างถ่อมตน “คนที่อ่านเราถือว่าน้อยมาก คนเหล่านี้จะก่อความเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน ผมก็ไมได้หวังมากมายนัก แต่อย่างน้อยคนโปรประชาธิปไตยก็อ่านเรา คนเกลียดทักษิณมากๆ ก็อ่านเรา เราจะนำเสนออย่างไรไม่ให้คนก่อสงครามกลางเมือง เพราะรูปการณ์ตอนนี้มันนำไปสู่เรื่องนั้นนะ เทียบกับตอนสงกรานต์ เสื้อแดงมีแต่นักพูด เวลานี้มีทหารเข้ามา มีคุณพัลลภ เตรียมทหาร 10 ใครต่อใคร มีการพูดว่า คราวนี้กูจะไม่ให้พวกมึงยิงพวกกูฟรีแล้ว มึงยิงมากูยิงกลับเหมือนกัน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่เขาครองอำนาจรัฐอยู่ เขาพร้อมจะใช้ความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา ตลอดประวัติศาสตร์เราเห็นอยู่ว่าพวกนี้นิยมจะใช้ความรุนแรงกับขบวนการประชาธิปไตย ไม่พอยังเสือกใช้สื่อกระแสหลักบิดเบือนอีกว่า พวกมึงพวกสร้างความรุนแรง นิยมความรุนแรง ทำอย่างไรจะห้ามทัพได้ ทางสันติก็มีอยู่ เช่น แก้รัฐธรรมนูญเสีย ทำปฏิญญาว่าจะเคารพเสียงประชาชนอะไรทำนองนี้”

ถามว่า ถ้าสถานการณ์คลี่คลายไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ภารกิจของไทยอีนิวส์จะสิ้นสุดลงหรือไม่

“เรายึดหลักประชาธิปไตยเป็นด้านหลัก เรื่องของทักษิณเป็นด้านรอง ในแวดวงของสื่อเสื้อแดงมีหลายเฉด มีแดงแจ๊ด แดงระเรื่อ แดงอมชมพู ของเราจะยืนในเรื่องหลักประชาธิปไตย สิ่งที่เราพยายามนำเสนอมาตลอดก็คือนี่เป็นสายธารประชาธิปไตย เราชอบที่จะยกอ้างหลักประชาธิปไตยจากคณะราษฎร และปรีดี และจะไปข้างหน้ายังไง หลักประชาธิปไตยก็อย่างที่โสเครตีสพูดไว้ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักนิติรัฐ หลักการเคารพเสียงข้างมาก ไม่ละเมิดเสียงข้างน้อย

“ถามว่าเลือกตั้งใหม่ ทักษิณ กลับมา ทีมเราคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่ก็คือ เมื่อใดประเทศนี้จะเคารพในหลักประชาธิปไตย ทำตามกฎกติกาประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เราควรจะยอมรับได้ เลือกตั้งวันพรุ่งนี้พรรคภูมิใจไทยชนะเราก็ควรจะยอมรับเขา เอแบคโพลล์บอกว่าคุณอภิสิทธิ์ได้รับความนิยม 70% ถ้าเขาเลือกตั้งชนะก็ต้องยอมรับเขา แต่ปัญหาในบ้านเมืองของเรามันเป็นรัฐซ้อนรัฐ เราละเมิดหลักประชาธิปไตยอยู่ทุกข้อ”

“หากสภาพมันกลับคืนสู่ปกติ เป็นประชาธิปไตย สื่อทำหน้าที่ของตัวเอง กระแสทวน ก็ไม่รู้จะทวนอะไร”

“แต่ตอนนี้ อาจเป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเสรีภาพ มีคนโดนจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางความคิดเยอะมาก”

“อย่างวันนี้ผมควรจะบอกได้ว่าผมเป็นใคร และสิ่งที่ผมคิดได้ แต่ผมก็บอกไม่ได้”

นี่คือทั้งหมดของไทยอีนิวส์ อีกหนึ่งเว็บบล็อกการเมืองฝีมือ active citizen กลุ่มหนึ่ง ส่วนการนิยามว่ามันคืออะไร ในยุคที่ความหมายของ ซ้าย ขวา ขาว ดำ ต่ำ สูง เคลื่อนย้ายไปมาสับสนอลหม่าน คงให้เป็นหน้าที่ของคนอ่าน