WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, January 14, 2010

การเมืองไทย ๒๕๕๓ : ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์

ที่มา thaifreenews

การเมืองไทย ๒๕๕๓ : ทางตันของคณะรัฐประหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์

รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร

(นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี)

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มกราคม ๒๕๕๓

๑. ภูมิหลังปัญหาและความต่อเนื่องของความขัดแย้ง

การรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีวัตถุประสงค์ในการกำจัดการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพื่อหวนคืนสู่การเมืองระบอบคณาธิปไตยโดยใช้รัฐสภาที่มีเครือข่ายคณะรัฐประหารในกองทัพและผู้ร่วมผลประโยชน์ภายนอกกองทัพ (ดังปรากฏบทบาทและตัวตนของบุคคลรวมทั้งองค์กรต่าง ๆ หลากหลายวิชาชีพในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา) ร่วมกันสืบทอดอำนาจปกครองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และกฎหมายอื่นทั้งที่มีอยู่แล้วและที่บัญญัติขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับการสืบทอดอำนาจภายในเครือข่ายคณะรัฐประหาร (รวมทั้งการกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย)

วิธีการหวนคืนสู่ระบอบคณาธิปไตยและสืบทอดอำนาจการเมืองการปกครองของเครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ กระทำเป็นกระบวนวิธีมีลำดับขั้นตอนโดย (๑) การยึดอำนาจการเมืองด้วยกำลังในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ แต่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเอง (๒) การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร (๓) การมอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารเขียนบทบัญญัติทางกฎหมายกำหนดขั้นตอน ซ่อนวิธีการสืบทอดอำนาจและการควบคุมการเมืองการปกครองในรัฐสภาโดยใช้กฏหมายหรือนิติวิธี สืบเนื่องต่อจากช่วงเวลาที่ต้องควบคุมด้วยกำลังอาวุธ (ได้แก่ บทบัญญัติว่าด้วยวุฒิสภา, บทบัญญัติว่าด้วยการสรรหาองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ, และบทเฉพาะกาลเป็นสำคัญ) เครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ กระทำการตามขั้นตอนกระบวนวิธีเหล่านี้สำเร็จระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

ท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าว เครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ ประสบความล้มเหลวในเบื้องต้น (ทั้ง ๆ ที่ใช้ทุนสาธารณะของประชาชนไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งออกคำสั่งบังคับใช้บุคคลากรของกองทัพเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของตนเอง) คือ ความล้มเหลวของเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ในการขัดขวางไม่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกพรรคพลังประชาชน (พรรคการเมืองที่เอกสารทางทหารจากสำนักงานของคณะรัฐประหารในปี ๒๕๕๐ ระบุว่าเป็น กลุ่มอำนาจเก่า สืบแทนพรรคไทยรักไทย) เป็นผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ และความล้มเหลวต่อเนื่องที่ไม่สามารถขัดขวางพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้สำเร็จเมื่อต้นปี ๒๕๕๑

หลังจากนั้นตลอดปี ๒๕๕๑ เครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ จึงต้องตกอยู่ในสภาพ แบ่งงานกันทำ (และประสานงานกันบางส่วน) ในการขัดขวางสร้างอุปสรรคไม่ให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนบริหารประเทศได้โดยสะดวก เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ชื่อจัดตั้งตนเองที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการจริง) ใช้กำลังบุกทำลายทรัพย์สินของสถานีโทรทัศน์ของรัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์, ใช้กำลังบุกยึดทำเนียบรัฐบาล, ใช้กำลังบุกยึดสนามบิน ; ผู้นำกองทัพและข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกลุ่มผู้ใช้กำลังและอาวุธกระทำการอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศดังกล่าวตอบสนองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคพลังประชาชนด้วยการอิดเอื้อน รีรอ รวมทั้งบางส่วนแสดงท่าทีสนับสนุนแกนนำพันธมิตรฯ และแถลงคล้อยตามการอ้างสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ; องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินงานประสานกันนำไปสู่การทำคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่ง และดำเนินการต่อมาให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนในต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นค้น

พรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ โดยมีนายทหารจากเครือข่ายแกนนำกองทัพประสานงานสนับสนุนร่วมกับนักการเมืองย้ายพรรคจำนวนหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลท่ามกลางสภาพปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า ๑ ปี ดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งยาวนานกว่ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับเครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙

แกนนำรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้รับ การรับรอง ความเหมาะสมจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็มักปรากฏกายแถลง ความเห็นทางการเมืองและเรื่องหลักการทั่วไป (คล้ายวิธีแสดงความเห็นเชิงหลักการของนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ต่อสื่อมวลชนโดยมีนายทหารระดับแกนนำกองทัพรวมทั้งแกนนำคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ เช่นพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา แวดล้อมพลเอกเปรมในขณะแถลงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ดังนั้น สาธารณชนไทยในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาจึงเกิด ความกระจ่างชัด ขึ้นตามลำดับว่าความร่วมมือทางการเมืองระหว่างอดีตผู้นำกองทัพ, ผู้นำกองทัพในปัจจุบัน, และพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ปรากฏตัวตนเข้าร่วมสนับสนุนเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา) เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายบุคคลในกลุ่ม หรือ ฝ่าย ที่เป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (นักการเมืองที่มีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำ)

ความกระจ่างชัดดังกล่าวได้พัฒนาเกินเลยจุดที่บรรดาผู้นำเครือข่ายรัฐประหารทั้งในและนอกกองทัพ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์สามารถจะปกปิดหรือกลบเกลื่อนความร่วมมือทางการเมืองระหว่างกันต่อไปได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณชนวงกว้าง (ตัวอย่างเช่น คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยใช้โน้มน้าวประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าพรรคของตนเป็นพรรคการเมืองที่ ต่อสู้เผด็จการ จะมีคนเชื่อถือน้อยลงตามลำดับ ; คำแถลงส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีบางท่านที่พยายามฟื้นฟูความน่าเชื่อถือทางการเมืองให้พลเอกเปรมผู้ก้าวล่วงเข้าไปเป็น ฝ่าย ทางการเมืองในความขัดแย้งดังกล่าว เช่น คำแถลงว่า องคมนตรีเป็นกลาง จะมีสาธารณชนจำนวนมากรับรู้เพียงว่าหลักการต้องเป็นกลางแต่ทางปฏิบัติไม่เป็นจริงเช่นนั้น) ความกระจ่างชัดดังกล่าวเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่าง ๆ ของแกนนำเครือข่ายรัฐประหารโดยเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นแต่ขัดขวางมิให้ไม่เกิดขึ้นไม่ได้

นอกเหนือจากความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการดำรงตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้งและการปฏิเสธของประชาชนวงกว้าง รวมทั้งประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ มาเป็นเวลายาวนานถึง ๑ ปี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายผลประโยชน์ทางการเมืองประสบความสำเร็จในการเสนอญัตติให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมายเงินกู้สาธารณะ ๒ ฉบับ วงเงินรวมทั้งสิ้น ๘ แสนล้านบาท สาระสำคัญเป็นการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงินดังกล่าวมาใช้จ่ายตามโครงการและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและเครือข่าย แต่ผลักภาระหนี้สินเป็นของประชาชน

ในต้นปี ๒๕๕๓ มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะโฆษณาชวนเชื่อด้วย ข่าวสารด้านเดียว ว่าผลการบริหารของตนทำให้เศรษฐกิจเริ่ม กระเตื้องขึ้น ในช่วงไตรมาสท้ายของปี ๒๕๕๒ โดยใช้ตัวเลขเปรียบเทียบกับระดับจีดีพีไตรมาสท้ายของปี ๒๕๕๑ (ช่วงปลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งเศรษฐกิจชะงักงันอย่างรุนแรง จากผลของการถูกก่อกวนทางการเมืองตลอดปี รวมทั้งการใช้กำลังบุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) แต่ก็มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกันว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อาจพ้นจากตำแหน่งไปภายในปี ๒๕๕๓ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งต่อไปนอกจากจะไม่สามารถใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ตอบสนองผลประโยชน์ของเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ เพิ่มขึ้นมากนัก แล้วยังจะปรากฏ ผลย้อนกลับทางการเมือง ที่เป็นโทษมากขึ้นตามลำดับ ทั้งต่อสถานะทางการเมืองระยะยาวของพรรคประชาธิปัตย์เอง และต่อสถานะของบุคคลและองค์กรในเครือข่ายรัฐประหาร ผลย้อนกลับที่เป็นโทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในเครือข่ายผลประโยชน์คณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ รวมทั้งต่อนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนเป็นโทษทางอาญา ซึ่งในอนาคตอาจไม่สามารถอ้างมาตรา ๓๐๙ ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นเหตุให้พ้นผิดได้


๒. ทางตันของคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ และการต่อต้านการรัฐประหารครั้งใหม่

ในปี ๒๕๕๓ เครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ และพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเผชิญกับสภาพปัญหาความขัดแย้ง และการต่อสู้อย่างไม่ลดราวาศอกจากขบวนการภาคประชาชนเครือข่าย นปช. ที่มีแนวร่วมมวลชนทั่วประเทศสนับสนุน เครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ที่หนุนหลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะยิ่งถูกแนวร่วมประชาชนผลักดันให้ตกอยู่ในสภาพ ทางตัน ที่แม้ว่าจะสามารถใช้กลไกรัฐสภาและอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ รวมทั้งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเป็นประโยชน์ในการดิ้นรนสืบทอดอำนาจให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็จะไม่สามารถควบคุมเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศตามต้องการ ทั้งยังไม่สามารถดำเนินกระบวนวิธีจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ (จากมาตรการเพิ่มภาษีและเงินกู้ภาครัฐ) เพิ่มเติมมากนัก นอกเหนือไปจากการคิดหาเทคนิคและความพยายามแนวทางใหม่ ๆ เพื่อใช้เงินกองทุนสาธารณะอื่น ๆ รวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในธนาคารแห่งประเทศไทย

การเผชิญหน้าท้าทายกับมวลชน นปช. ที่มีกลยุทธ์ยืดหยุ่นพลิกแพลงตอบโต้มาตรการของรัฐในการควบคุมหรือขัดขวางการชุมนุมประชาชนได้ตลอดเวลา (ทั้งในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓) จะยิ่งทำให้มาตรการต่าง ๆ ของเครือข่ายรัฐประหาร และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อ่อนล้าประสิทธิภาพลงยิ่งกว่าสภาพในปี ๒๕๕๒

แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ หนุนหลังรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจ แต่การต่อสู้ทางการเมืองและความขัดแย้งต่อเนื่องทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งบุคคลากรของกองทัพในเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ไม่สามารถกำจัด ควบคุม หรือปราบปรามแนวร่วมประชาชนเครือข่าย นปช. แม้ว่าจะได้ใช้ความพยายามแสนสาหัสตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา (แม้แต่การขัดขวางไม่ให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเดินทางกลับออกไปนอกประเทศอีกครั้งในปี ๒๕๕๑ โดยพยายามใช้อำนาจตุลาการขณะที่พรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำรัฐบาล แต่กลุ่มอำนาจในเครือข่าย ตุลาการภิวัตน์ ที่เป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท. ทักษิณและรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก็ขัดขวางการเดินทางออกนอกประเทศครั้งดังกล่าวไม่สำเร็จ) การดำรงอยู่ของความขัดแย้งและความสามารถในการยืนหยัดของแนวร่วมประชาชนทั่วประเทศ ในการท้าทายอำนาจบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ๒๕๕๒ รวมทั้งการประกาศยกระดับการท้าทายทางการเมืองเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๕๓ มีน้ำหนักเป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่าคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ และเครือข่ายผู้สืบทอดอำนาจไม่สามารถ กำราบ ประชาชนให้ นิ่ง ทางการเมืองตามต้องการเพื่อความสะดวกของเครือข่ายรัฐประหารดังกล่าวในการครอบครองอำนาจ และจัดสรรผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นในปี ๒๕๕๓ จึงมีผู้คาดการณ์กันมากขึ้นว่าอาจเกิดการยึดอำนาจด้วยกำลังกองทัพอีกครั้งในฐานะที่เป็นวิธี กำราบ ขั้นเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การที่ผู้บัญชาการทหารบก (พลเอกอนุพงษ์ เหล่าจินดา) ออกตัวทางการเมืองอีกครั้งในช่วงปลายปี ๒๕๕๒ โดยแถลงต่อสาธารณชนให้ ลืม เรื่องการก่อรัฐประหารและการนองเลือดในปี ๒๕๕๓ แทนที่จะช่วยให้สาธารณชนคลายกังวลกลับมีผลให้สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเสื้อแดง เกิดความตื่นตัว ระมัดระวัง และเตรียมการรับมือกับความพยายามของผู้นำกองทัพในการยึดอำนาจครั้งใหม่มากขึ้น โดยมีกรณีตัวอย่างการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (ตามที่เรียกกันในแวดวงมวลชนหลายกลุ่มว่า รัฐประหารทีเผลอ) เป็นบทเรียน

การปรากฏตัวของผู้นำกองทัพ, ข้าราชการประจำระดับสูง, และผู้นำวงการตุลาการจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมอวยพรปีใหม่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในช่วงปลายปี ๒๕๕๒ หากพิจารณาให้ละเอียดรอบด้านจะเห็นว่า แนวร่วม ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีเพียงกลุ่มคนในแวดวงจำกัดเพียงใด และยังอาจเห็นได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่ากลุ่มคนหลากหลายอาชีพของสังคมไทยปัจจุบันรวมทั้งอดีตผู้นำในกองทัพ (แม้ว่าในอดีตจะเคยปรากฏตัว เคียงข้าง พลเอกเปรม) กำลังแสดงการปฏิเสธ รวมทั้งอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักทางการเมืองเนื่องจากไม่แน่ใจในศักยภาพของการรัฐประหารอีกต่อไป

หากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพในปี ๒๕๕๓ (สภาพ ทางตัน ของเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ รวมทั้งแรงกดดันทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกรัฐสภาให้นำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นปัจจัยกดดันเพิ่มน้ำหนักการตัดสินใจยึดอำนาจ) การพยายามใช้กำลังยึดอำนาจดังกล่าวจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ขณะที่เครือข่ายมวลชน นปช. ทั่วประเทศในปัจจุบัน (และกลุ่มพลังเงียบประเมินจำนวนมิได้) มีศักยภาพการรวมตัว การชุมนุม และการต่อต้านกองกำลังทหารที่กระทำผิดทั้งทางอาญาและทางการเมืองอย่าง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และถูกต้องตามกฎหมายในฐานะประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันตามรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่หากมีความพยายามยึดอำนาจโดยผู้นำกองทัพดังกล่าว สภาวะ การเมืองนองเลือด จะเกิดขึ้นได้ต่อไป โดยเป็นไปได้ทั้งสภาวะการเมืองนองเลือดแบบ กรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖หรืออาจเป็น กรณี ตุลาคม ๒๕๑๙(ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยต้องการกรณี ตุลาคม ๒๕๑๙) จนถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ สาธารณชนยังไม่เห็นรูปธรรมของการตกลงเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีวุฒิสภาเป็นแกนหลักผลักดัน โดยพยายามเบี่ยงเบนไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เพียง ๒-๖ มาตราเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารงานของรัฐบาลและเพื่อลดต้นทุนการหาเสียงแบบแบ่งเขตของพรรคการเมืองในอนาคต ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเด่นในช่วงปี ๒๕๕๒ ไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่ระดับโครงสร้างของปัญหา แต่ยิ่งจะนำไปสู่การสะสมความขัดแย้งแบบเก็บกดระหว่าง ๒ ฝ่ายมากขึ้น พัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งด้วย การเจรจา เท่าที่ปรากฏร่องรอยให้วิเคราะห์สรุปได้ คือ ฝ่ายประชาธิปไตยเสนอจะยุติความเคลื่อนไหวในเครือข่ายมวลชนของตนหากมีการดำเนินการให้เป็นผล ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วนำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาบังคับใช้ (๒) นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา (๓) จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปด้วยความยุติธรรมและเคารพกติกาประชาธิปไตย ; ขณะที่ฝ่ายคณาธิปไตยไม่เสนอว่าตนจะยินยอมถอนตัวออกจากอำนาจควบคุมทางการเมืองอย่างไร แต่ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ข้อเสนอการเจรจาดังกล่าว (ผ่านการสนทนาระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์กับผู้สื่อข่าว, การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ, และการให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ว่าต้องการให้อีกฝ่ายยุติการขัดขวางการทำงานของรัฐมนตรีที่เดินทางไปในพื้นที่, ต้องการให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรยุติการเคลื่อนไหวและกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย, และไม่ต้องการยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

ดังนั้น สภาวะการเมืองไทยในปลายปี ๒๕๕๒ จึงยังไม่ปรากฏรูปธรรมของ การสมานฉันท์ เกิดขึ้นให้สังเกตเห็นได้จากข่าวสารข้อมูลที่สาธารณชนรับรู้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งยังมีความต้องการสวนทางกัน คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ ระบอบอำมาตย์ ถอนตัวออกไปจากการควบคุมอำนาจการเมืองไทย ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาสืบทอดอำนาจการปกครองโดยต้องการให้ประชาชนและกลุ่มพลังการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน ยอมรับ การสืบทอดอำนาจปกครองดังกล่าว

สภาวะการเมืองไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสภาพพื้นฐานข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่ายังมีความต่อเนื่องของความขัดแย้งจากภูมิหลังปัญหาข้างต้น

๓. สถานะของประเทศในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก

ตลอดเวลากว่า ๓ ปีนับตั้งแต่คณะผู้นำกองทัพตัดสินใจก่อการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, สถานะทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้พัฒนาถดถอยตกต่ำลงตามลำดับ รูปธรรมความถดถอยโดยองค์รวม ได้แก่ การที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศของเครือข่ายสมาชิก ประเทศประชาธิปไตยนานาชาติ ในปี ๒๕๕๐, รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องตัดสินใจเลื่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี ๒๕๕๑ เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองท่ามกลางการเคลื่อนไหวแบบใช้กำลังโดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ แต่ต้องยุติการประชุมตั้งแต่ช่วงวันแรกท่ามกลางการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงโดยมวลชน นปช., รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรี เกิดประเด็นโต้เถียงที่มิใช่การเจรจาทางการทูตแต่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ และภายหลังการประชุมโดยมีสื่อมวลชนนานาชาติรับรู้และรายงานข่าวไปทั่วโลก, ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความถดถอยทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่ามาจากสาเหตุเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยละเว้นที่จะแถลงถึงรายละเอียดผลกระทบความถดถอยที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือถูกซ้ำเติมจากการก่อความวุ่นวายทางการเมืองโดยเครือข่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนตลอดปี ๒๕๕๑ เช่น การสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ตัดสินใจยกเลิกหรืองดเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ช่วงความวุ่นวายในปีดังกล่าว เป็นต้น

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ของเครือข่ายรัฐประหารคณาธิปไตย ๒๕๔๙ กับปวงชนชาวไทยและประชาคมโลก คือ ปวงชนชาวไทยในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การบังคับของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ขณะที่ประชาคมโลก (เช่น กรณีประเทศกัมพูชา เป็นต้น) นอกเหนือไปจากการไม่ตกอยู่ภายในบังคับของรัฐธรรมนูญไทยดังกล่าวแล้ว ยังไม่ตกอยู่ภายในบังคับของข้อตกลงแบบ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่รัฐบาลไทยจะเข้าไปมีอำนาจการบริหารหรืออำนาจตุลาการซ้อนทับเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นในประชาคมโลกไม่ได้ ตัวอย่างความพยายามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย (เช่น ความพยายามในการแถลงเรียกร้องกดดันรัฐบาลกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้ดำเนินการคล้อยตามความต้องการของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ด้วยการส่งมอบตัวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการลงโทษต่อไป ทั้งนี้โดยอ้างว่ารัฐบาลกัมพูชากำลังละเมิดกระบวนการยุติธรรมของไทยและฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน, การเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลกัมพูชายกเลิกการแต่งตั้งพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นที่ปรึกษาพิเศษทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินมาตรการกดดันต่อเนื่องด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา ฯลฯ) เป็นความพยายามที่ประสบความล้มเหลวและยิ่งสะท้อนถึง ความถดถอยตกต่ำ ของประเทศไทยภายใต้อำนาจบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙

การฟื้นฟูสถานะและความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐไทยภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเป็นภาระงานที่ยากจะประสบผลสำเร็จคืบหน้ามากนักในปี ๒๕๕๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเกิด กรณีปัญหามาบตาพุด ๒๕๕๒ ที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น) ลดลงทั้งในประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในการเป็นประเทศเศรษฐกิจเสรีตามกติกาสากลและความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในศาลไทย (ประเด็นตัวอย่างรูปธรรม ที่สามารถบ่งชี้ความไม่น่าเชื่อถือของผู้ครองอำนาจรัฐไทยปัจจุบัน ในสายตานักลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ กรณีที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ใช้ ระบบอนุญาโตตุลาการ ในการตัดสินกรณีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจเอกชนทำสัญญากับรัฐ รวมทั้งคัดค้านการใช้ ศาล ของไทยเป็นเครื่องมือวินิจฉัยข้อพิพาทในโครงการทางเศรษฐกิจดังกล่าว ตามแนวทางที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้ใช้ดำเนินการแทนระบบอนุญาโตตุลาการ)

สภาวะความตกต่ำถดถอยในสถานะของประเทศทั้งทางการทูต การเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สะสมเป็น ทุนติดลบ พอกพูนตามลำดับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร ๒๕๔๙ เป็นส่วนหนึ่งของ ปัจจัยต้านทาน การตัดสินใจก่อการยึดอำนาจครั้งใหม่ เนื่องจากคณะผู้วางแผนหรือคิดเตรียมการยึดอำนาจครั้งใหม่ประเมินได้ว่า แม้กลุ่มตนอาจประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หรือยึดอำนาจโดยใช้นายกรัฐมนตรีคนเดิม) แต่โอกาสในการแสวงหา ส่วนต่างผลประโยชน์แห่งชาติ รวมทั้งปริมาณส่วนต่างผลประโยชน์ที่กลุ่มตนจะแสวงหาได้ โดยใช้อำนาจรัฐภายหลังการยึดอำนาจ จะยิ่งจำกัดแคบลงกว่าสภาพการณ์ในปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๕๒ ความพยายามเชื้อเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศให้กลับเข้าร่วมลงทุนเพื่อสร้างหรือเพิ่มพูน ผลประโยชน์แห่งชาติ ให้รัฐบาลไทยใช้บริโภค จัดสรร และดำเนินการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจการเมืองภายหลังการการยึดอำนาจครั้งใหม่ จะเป็นความพยายามที่แกนนำคณะรัฐประหารเองไม่มั่นใจในผลสัมฤทธิ์ทางปฏิบัติ แม้ว่าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในเครือข่ายคณะรัฐประหารจะยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังเข้มแข็งและ น่าลงทุน สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

ตลอดปี ๒๕๕๒ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถูก ต้อน หรือถูกกดดันให้ตัดสินใจดำเนินมาตรการทางการเมือง ที่ผลสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่กลายเป็นการผลักดันทางการเมืองให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ เคลื่อนเข้าสู่ ทางตัน ของกลุ่มตนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการทางการเมืองภายในประเทศ เช่น การประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติฯ ที่ไร้ผลเนื่องจาก นปช. สามารถพลิกแพลงยืดหยุ่นการนัดชุมนุมของตนได้ตลอดเวลา รวมทั้งมาตรการทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตภายหลังการเกิดกรณี วิวาทะไทย- กัมพูชา ๒๕๕๒ ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับสมเด็จฮุนเซ็นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ และความล้มเหลวในการพยายาม ขจัด ภัยทางอากาศโดยอาศัยพนักงานเอกชนในบริษัทธุรกิจสื่อสารข้ามชาติของไทย ช่วยตรวจสอบยืนยันข้อมูลเส้นทางการบินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งเดินทางเข้า - ออกประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปี ๒๕๕๒

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๕๓ จะเผชิญกับสภาพปัญหาและ ทางตัน ที่ทำให้อาจไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไปได้ถึง ปีกระต่าย (พ.ศ. ๒๕๕๔) ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อต้นปี ๒๕๕๓ ทั้งนี้, แม้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันอาจกำหนดเป้าหมายการดำรงตำแหน่งให้ครบเวลาที่เหลืออยู่ของวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน (อีกประมาณ ๒ ปี) ตามสถิติที่ผู้บริหารจัดการพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้เคยประสบความสำเร็จหลังจากการทำให้รัฐบาลพรรคความหวังใหม่และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พ้นจากตำแหน่งบริหารในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ (ด้วยยุทธวิธี งูเห่าการเมือง โดยอาศัยบริการทางการเมืองของนายวัฒนา อัศวเหม หรือ นักโทษชายวัฒนา อัศวเหม หากจะใช้คำเรียกตามมาตรฐานเดียวกับที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์, และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเรียกพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) แล้วใช้กลไกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ลงมติให้นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนที่จะดำเนินนโยบาย เงินกู้สาธารณะ ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนภาระหนี้สินสถาบันการเงินทั้งระบบ คิดเป็นมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาทให้ตกเป็นภาระหนี้สินสาธารณะของปวงชนชาวไทย

๔. พลัง และอำนาจต่อรองของ ฝ่าย ที่ขัดแย้ง

รายละเอียดข้อเท็จจริงจากกระแสการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย ท่ามกลางความต่อเนื่องของพลวัตความขัดแย้งตลอดเวลากว่า ๓ ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับว่าแต่ละฝ่ายมี จุดแข็ง หรือความเข้มแข็งของ ปัจจัยการต่อสู้ แตกต่างกัน

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลัง มีปัจจัยเข้มแข็งสูงสุดอยู่ใน กำลังอาวุธของกองทัพ ที่บุคคลากรในเครือข่ายอำนาจของตนสามารถครอบครองตำแหน่งบังคับบัญชาการสูงสุดอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่อีก ฝ่าย หนึ่งมีปัจจัยเข้มแข็งสูงสุดอยู่ใน แนวร่วมประชาชน จำนวนมากมายยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การต่อต้านอำนาจรัฐไทยทุกครั้งที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดยขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด) ทั้งยังมีเครือข่ายแนวร่วมประชาชนแบบ หลายศูนย์กลาง นอกเหนือไปจากศูนย์กลางแกนนำ นปช. ที่กรุงเทพฯ ยังมีศูนย์กลางแนวร่วมมวลชน นปช. ในต่างจังหวัด และศูนย์กลางแนวร่วมมวลชนที่ดำเนินงานเป็นเอกเทศแต่ผูกพันเป้าหมายทางการเมืองคล้ายคลึงกันกับ นปช. ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด (ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวนี้เป็นที่เปิดเผยรับรู้อย่างเป็นสาธารณะมาก่อนแล้ว แต่บางกรณีถูกตีความคลาดเคลื่อน โดยสื่อมวลชนบางสำนักว่าเป็นความแตกแยกภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่บางกรณีอาจมีการจัดตั้งกลุ่มมวลชน เพื่อแอบแฝงหรือปะปนแทรกซึมเข้าสู่กระบวนการคนเสื้อแดงโดยยุทธวิธีที่หน่วยงานในสังกัดรัฐเผด็จการทหารในอดีต เช่น กอรมน. และสภาความมั่นคงแห่งชาติเคยใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองยุคสงครามเย็น) สภาวะการก่อตัวเพิ่มพูนเครือข่ายมวลชนต่อต้านการรัฐประหารแบบหลายศูนย์กลางที่ดำเนินต่อเนื่องได้ตลอดเวลากว่า ๓ ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๑ ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชสามารถยืนหยัดดำรงตำแหน่งบริหารเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร) เป็น จุดแข็ง ที่ทำให้อีก ฝ่าย ประสบความยากลำบากในการบั่นทอน และยากต่อการใช้กำลังอาวุธเข้ากวาดล้างปราบปรามแบบเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยอำนาจรัฐที่ครองอยู่ แม้ว่าเครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันจะเคยดำเนิน ยุทธการนำร่อง ที่มุ่งหมายการฝึกปฏิบัติการด้วยวิธี สนธิกำลังทหาร- ตำรวจ เข้าตรวจค้น จับกุม และจู่โจมศูนย์กลางวิทยุชุมชนของเครือข่ายมวลชนในจังหวัดภาคเหนือมากกว่า ๑ ครั้งระหว่างปี ๒๕๕๒ แต่การประเมินผลเชิงยุทธการของการดำเนินปฏิบัติการทดสอบนำร่องดังกล่าวไม่เป็นที่เปิดเผย

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ๒๕๕๒ การโฆษณาชวนเชื่อของตัวแทนเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙ ว่าเป็น ฝ่าย ที่จงรักภักดีและทำงานรับใช้สถาบันเบื้องสูง (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ยังมีผลสัมฤทธิ์เป็น พลัง เกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่การอ้างสถาบันเบื้องสูงเป็น เกราะกำบัง เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๕๓ จะลดประสิทธิภาพลง โดยสาธารณชนวงกว้างมากขึ้นจะเริ่มขาดความเชื่อถือในการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวตามลำดับ ปรากฏการณ์เช่นนี้สังเกตเห็นได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงกลางปี ๒๕๕๒ ; ขณะเดียวกันกลุ่มมวลชนที่ปราศัยปลุกระดมแนวทางการต่อสู้ โค่นล้มระบอบอำมาตย์ ด้วยการโน้มน้าวความคิดให้ประชาชนเชื่อใน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอำมาตย์กับสถาบันกษัตริย์ จะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนน้อยลงตามลำดับเช่นกัน สภาวะดังกล่าวจะยิ่งทำให้เครือข่ายรัฐประหารและรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบายกลุ่มพลัง เสื้อสีน้ำเงิน) ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการอ้างใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนที่ปราศัยอย่างเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ในการกล่าวหาแกนนำ นปช. และ มวลชนเสื้อแดง ในเครือข่าย นปช. ว่ามีจุดมุ่งหมายในการ ล้มเจ้า ; การโฆษณาชวนเชื่อแบบ เอาดีใส่ตัว ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหนุนหลัง รวมทั้งกลุ่มผู้นำกองทัพที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวเป็นผู้จงรักภักดี และการโฆษณาชวนเชื่อแบบ เอาชั่วใส่ผู้อื่น ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, แกนนำ นปช., และมวลชน คนเสื้อแดง มีเจตนา ล้มเจ้าจะหย่อนประสิทธิภาพลงมากในปี ๒๕๕๓ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องเป็นการลดทอนความเข้มแข็งใน พลัง ของเครือข่ายรัฐประหารและผลักดันการเมืองไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ ไปสู่ ทางตัน มากขึ้นเมื่อพิจารณาจากจุดยืนผลประโยชน์ของเครือข่ายคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙

รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการทางรัฐสภาของพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ยังจะถูกใช้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในการสืบทอดอำนาจและต่อสู้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี ๒๕๕๓ แต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการชุมนุมประชาชนและการใช้สิทธิทางการเมืองของแนวร่วมมวลชน นปช. ในปี ๒๕๕๓ แต่ประการใด ดังนั้น, รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แม้ว่าจะสามารถถูกใช้เป็น เครื่องมือสืบทอดอำนาจทางการเมือง ให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำนาจหลังการรัฐประหารได้ในทางปฏิบัติ แต่รัฐธรรมนูญแบบคณาธิปไตยฉบับดังกล่าวก็ไม่สามารถจะเป็น เครื่องมือต่อต้านการชุมนุม ที่มวลชน นปช. จะดำเนินการต่อไปได้ ขณะที่ ฝ่าย ตรงข้ามกับมวลชน นปช. จะคาดหวังหรือแม้แต่อาจพยายามสร้างสถานการณ์ให้การชุมนุมประชาชนในเครือข่าย นปช. มีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (ความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ และความผิดที่เกี่ยวพันกันตามมาตรา ๑๑๔ ถึง ๑๑๘) แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์และการศึกษาข้อกฎหมายภายในแวดวงแกนนำ นปช. รวมทั้งการเผยแพร่เรียนรู้สู่มวลชน นปช. ตามโครงการ โรงเรียน นปช. ตลอดปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการกระทำผิดดังกล่าว หรือช่วยลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการแทรกแซงที่สามารถควบคุมได้ยากในการดำเนินกระบวนการมวลชนประชาธิปไตย

การเมืองไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ ไม่ใช่ การเมืองที่ดี ในทัศนะและจุดยืนผลประโยชน์ของเครือข่ายระบอบคณาธิปไตย แต่จะเป็น การเมืองที่ปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งเครือข่ายรัฐประหาร ๒๕๔๙, พรรคประชาธิปัตย์, และเครือข่ายอำนาจการเมืองหลังการรัฐประหาร ๒๕๔๙ รวมทั้ง สำนักโพล ที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งพยายาม เรียกร้อง ให้ประชาชนยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง

*********************************