ที่มา Thai E-News
โดย ประชา ธรรมดา
14 มกราคม 2553
ไม่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความยุติธรรมครั้งไหนจะยิ่งใหญ่ มีมวลชนไพศาลเข้าร่วม และเป็นประเด็นทางสังคมไทยที่สำคัญ เท่ากับการนำการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
การต่อสู้ของ”คนเสื้อแดง”ได้เปิดโปงให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลต่อการยึดครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของอดีตนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ องคมนตรี และชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรม ในการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน
แต่ในทางกลับกัน เมื่อคนจนผู้ยากไร้ใช้ทั้งๆที่อยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ หรือแม้แต่ใช้แรงงานเข้าบุกเบิกทำกินเพื่อมีชีวิตอยู่รอดภายหลังก็ตาม กลับถูกกฎหมายที่หมายกด และไม่สอดคล้องกับสภาพความจริง จับกุมคุมขังผู้ยากไร้ในแผ่นดิน
ขณะที่เหล่าอำมาตย์ กลุ่มอภิสิทธิชนอิทธิพลนายทุนกลับลอยนวลไม่มีการจัดการตามกฎหมายแต่อย่างใด กลไกรัฐกระบวนการยุติธรรมทั้งอัยการ ตำรวจ ศาล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ (รวมทั้งองค์กรสิทธิ์มนุษยชนที่ทำหน้าที่รับใช้เนื้อเดียวกับรัฐอำมาตย์) กลับทำหน้าที่รับใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตย
และคงต้องติดตามกรณี เขาสอยดาว จ.จันทบุรี ตอนต่อไป เมื่อคนเสื้อแดงจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งหนึ่งเพื่อเปิดโปงอำมาตย์ใหญ่
อย่างใดก็ตามท่ามกลางการเคลื่อนไหวกรณีเขายายเที่ยงของคนเสื้อแดง ณ ดินแดนด้ามขวานทอง ตอนหัวค่ำของวันที่11 มกราคม 2553 มือปืนไม่ต่ำกว่า 2 คน ได้กราดกระสุนจากปากกระบอกปืน M 16 ใส่นายสมพร พัฒนภูมิ อายุ 53 ปี สิ้นใจคาที่พักพิง
นายสมพร พัฒนภูมิ เดิมคนบ้านตำบลชะเมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เดินทางดิ้นรนมาเป็นช่างทาสีในอู่รถ เป็นแรงงานรับจ้างหากินเป็นวันๆเพื่อยังชีพ อยู่แถวบ้านซ้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎรธานี
เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ต้องการทำการผลิตเพื่อเกษตรกรรม นายสมพร ก็เป็นหนึ่งในหลายพันคนของผู้ไร้ที่ดิน มีความปรารถนา ต้องการมีที่ดินในการทำการผลิตทำมาหากิน จึงได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนั้นด้วย
การเคลื่อนไหวได้มีการเปิดโปงถึงการนำสปก4-01 นับ 1,000 กว่าไร่ให้กับบริษัทจิวกังจุ้ย จำกัด ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี อย่างผิดกฎหมาย
เพราะเป็นนายทุน มิใช่เกษตรกร จนกระทั่งทำให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินต้องจำยอมดำเนินการฟ้องร้องบริษัทจิวกังจุ้ย จำกัด ทั้งแพ่งและอาญา ในที่สุดศาลตัดสินให้บริษัทแพ้คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างบริษัทยื่นอุทธรณ์ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทางตำรวจวางแผนจะดำเนินการสลายการยึดครองที่ดินของชุมชนเกษตรกรปักษ์ใต้
ที่ดินผืนนี้ที่นายสมพรและคนจนยากไร้ที่ดินภาคใต้ ได้เคยเสนอให้รัฐดำเนินการนำที่ดินมาให้คนจนผู้ไร้ที่ดินทำกิน แต่รัฐบาลไม่จริงจังในการดำเนินการแก้ไขปัญหา พวกเขาจึงต้องยึดครองที่ดินด้วยสองมืออันว่างเปล่า เพราะ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ”
นายสมพร ได้เข้าทำกินในพื้นที่เพียง 1 ไร่ ใช้แรงงานปลูกผัก ทำบ่อปลา ณ ชุมชนครองไทรพัฒนา และชุมชนยกย่องให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นลงแรงพลิกผืนดินให้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชีวิต
ที่ดินผืนนี้ เป็นของบริษัทไม่ธรรมดา ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ ที่มีบทบาทหลักในรัฐบาลอำมาตอภิสิทธิ์ หรือไม่ ? ต้องตรวจสอบกัน
บริษัทไม่ธรรมดานี้ เป็นกระเป๋าหนักในการสนับสนุนพรรคเก่าแก่อนุรักษ์นิยมภาคใต้หรือไม่? ต้องตรวจสอบกัน
แต่ที่แน่นอน ที่ดินผืนนี้ ได้เปิดโปงให้เห็นการทุจริต ที่ดินสปก กลับเป็นของนายทุนเข้าครอบครอง เหมือนเช่นกรณีสปก4-01 จังหวัดภูเก็ต แต่รัฐไม่จัดการตามกฎหมาย
ใช่หรือไม่ ? สำนักงานปฏิรูปที่ดิน กรมที่ดิน วิธีคิดวิธีการทำงานไม่ต่างกับกรมป่าไม้ ล้วนรวมศูนย์อำนาจ ผูกขาดอำนาจ ใช้ระบบระเบียบแบบสั่งการจากเบื้องบน ไม่ฟังเสียงประชาชน
ความตายของนายสมพร ได้ตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นถึงความสองมาตรฐานของระบบราชการซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญของอำมายตยาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งทั้งวิธีคิดและการปฏิบัติ
ถึงเวลายกเครื่องกลไลรัฐ กรมที่ดิน กรมป่าไม้ สปก. และอื่นๆ สร้างกลไกประชาธิปไตย ตรวจสอบถ่วงดุล โปร่งใส กระจายอำนาจ ทั้งวิธีคิด จิตสำนึก เพื่อจัดการป่าไม้-ที่ดิน ให้เกิดความยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน
พร้อมๆกับการต่อสู้ในการโค่นล้มระบอบอำตยาธิปไตย และอย่าได้คาดหวังรัฐบาลเผด็จการอำตยาธิปไตยกันเลยว่าพวกเขาจะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ นอกจากตั้งคณะกรรมการเพื่อซื้อเวลา และปล่อยให้คนจนไร้ที่ดินต้องล้มตายจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
เพราะพวกเขาเป็นอำมาตย์ ย่อมมีความคิดวิธีการแบบอำมาตย์ เพื่อทุนหากินแบบอำมาตย์เท่านั้นเอง