ที่มา ประชาไท ฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณทำสถานการณ์ปั่นป่วนอีกแล้ว ประเทศไทยป่วนอีกครั้งด้วยข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการเหตุผลในการเคลื่อนไหว และสื่อที่ต้องการข่าวเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเสียเป็นส่วนใหญ่ บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างพากันออกมาปฏิเสธว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ แต่คำพูดเหล่านั้นไม่มีความหมายอะไร เนื่องจากพวกเขาก็ออกมาพูดทำนองนี้ก่อนที่จะทำรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ลงเมื่อปี 2549 โชคร้ายของเหล่าทหาร ที่ยังไม่มีอะไรสาบสูญไปไหน ทั้งข่าวลือเรื่องรัฐประหาร และมหาเศรษฐีซีอีโอ ผู้ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จฮุนเซ็นให้เป็น “ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจ” แค่ข้ามพรมแดนไปในกัมพูชาเท่านั้น การกำจัดอิทธิพลของทักษิณให้สิ้นซากน่าจะเป็นเหตุผลที่พอสันนิษฐานได้ของการทำรัฐประหารอีกครั้ง กองทัพน่าจะเข้าคุมอำนาจและกำจัดทักษิณออกไปเป็นครั้งสุดท้าย ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะไม่อาจทำให้การทำรัฐประหารลดความสำคัญลงโดยสิ้นเชิงได้ แต่การทำรัฐประหารในตอนนี้มีความเสี่ยงอย่างสูง และยากจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทั้งนี้ น่าจะเลวร้ายกว่าเมื่อสี่ปีก่อนมาก การทำรัฐประหารในช่วงเวลานี้เป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การนองเลือด การประท้วงบนท้องถนนโดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ต่อต้านทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดงที่นิยมทักษิณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยอาวุธต่างๆ ที่มีให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นไม้กอล์ฟ ปืน และระเบิดปิงปอง กองทัพเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าประชาชนจะยอมรับการยึดอำนาจครั้งใหม่นี้ได้โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านหรือไม่ ฝ่ายที่นิยมทักษิณในกองทัพอาจก่อการจลาจลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง บรรดานักลงทุนซึ่งไม่พอใจอยู่แล้วกับกฎหมายประหลาดๆ ซึ่งมักปรากฏอยู่เสมอในรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหารก็จะมีเหตุผลมากยิ่งขึ้นในการทุ่มเงินลงทุนไปที่เวียตนามแทน ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการไปแล้ว แผนการสืบทอดอำนาจสำหรับ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ก็เข้าที่เข้าทางแน่นอนแล้ว นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วในหลายๆ เรื่องว่ายืนอยู่ฝ่ายเดียวกัน และการเขี่ยอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ ก็อาจจะทำให้บรรดาผู้สนับสนุนเขา ซึ่งหลายๆ คนเคยให้การหนุนหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 เกิดอาการหมางใจ การยึดอำนาจครั้งใหม่นี้อาจจะนำกองทัพกลับไปสู่การเป็นจุดสนใจทางการเมืองซึ่งกองทัพพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมาตลอด นับตั้งแต่การบริหารประเทศอันเลวร้ายที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ อดีต ผบ.ทบ.เมื่อปี 2550 ในเวลาเช่นนี้อภิสิทธิ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว สุดท้าย ผลกระทบที่ตามมาในทางระหว่างประเทศอาจจะมีอย่างมหาศาล บรรดามิตรประเทศในซีกโลกตะวันตกอาจจะเข้าแทรกแซงทางการทหารอีกครั้งในลักษณะเดียวกับที่ทำเมื่อทักษิณถูกยึดอำนาจ การเลือกช่วงเวลานี้ทำรัฐประหารคงจะเป็นที่อึดอัดใจเป็นพิเศษสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งมีทหารกว่า 10,000 นาย อยู่ในเมืองไทยจนกระทั่งถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อเข้าร่วมการฝึกคอบรา โกลด์ ซึ่งกองทัพไทย เจ้าภาพทำการฝึกร่วมกับกองทัพอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก และผู้บังคับการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกก็อยู่ในเมืองไทย และในสัปดาห์นี้ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากข่าวลือเรื่องรัฐประหารมากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งต้องการแรงผลักดันก่อนการพิพากษาของศาลในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นรายได้จากการขายชินคอร์ปเปอเรชั่น กิจการโทรคมนาคมของครอบครัวชินวัตร ให้แก่ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ในปี 2549 ทักษิณจะได้เงินคืนเท่าไหร่เป็นเครื่องบ่งชี้สุดท้ายว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับคดีของทักษิณส่วนใหญ่ที่ศาลมีคำพิพากษาหลังการรัฐประหาร คดียึดทรัพย์นี้เกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของกฎหมาย ใครๆ ก็อาจคาดเดาได้ว่าคำพิพากษาจะออกมาในลักษณะใด นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานคำแนะนำให้บรรดาผู้พิพากษาแก้ปัญหาการเมืองในประเทศเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา เกือบจะทุกๆ คำวินิจฉัยทางกฎหมายก็เป็นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อทักษิณทั้งสิ้น ศาลได้สั่งให้การเลือกตั้งที่เขาชนะเป็นโมฆะ ยุบพรรคการเมือง 2 พรรค ที่เชื่อมโยงกับตัวเขา ห้ามเขาและ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องราว 200 คน ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และสั่งจำคุก 2 ปี ถ้าหากทักษิณปรากฏตัวในเมืองไทยจริงๆ อีกครั้ง ในข้อหาใช้อำนาจไปในทางมิชอบ นอกจากนั้นแล้ว พนักงานอัยการยังมีคดีอาญาอีกอย่างน้อย 3 คดี ที่ยังเก็บไว้รอการพิจารณาของศาลต่อไป ถ้าหากศาลตัดสินให้ทักษิณพ้นความผิด และคืนเงิน 7.6 หมื่นล้านให้เขา ก็จะเป็นการทำลายเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ใช้ในการโค่นอำนาจเขาในครั้งนั้น และก็จะไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “คลังกระสุน” ของเขาสำหรับสนามการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปในทันที นี่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์พลิกผันอย่างสิ้นเชิงซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากศาลสั่งยึดทรัพย์ของทักษิณทั้งหมด เขาก็จะไม่มีอะไรให้เสียอีกต่อไป และอาจจะทวีความเข้มข้นในการต่อสู้กับสถาบันกษัตริย์และองคมนตรีขึ้นอีก อะไรบางอย่างที่เป็นกลางๆ ระหว่าง 2 ทางนี้ น่าจะเป็นไปได้มากกว่า การโยนเงินให้เขาซักก้อนหนึ่ง ในขณะที่ยึดก้อนใหญ่ไว้อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ อันที่จริง ในหลวงทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้พิพากษาเมื่อเดือนก่อนว่าให้ “อยู่ตรงกลาง” ซึ่งทักษิณเองอาจจะพอใจกับการได้เงินคืนอย่างน้อย 3.8 หมื่นล้านบาท การขู่ของคนเสื้อแดงว่าคำวินิจฉัยของศาลจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นนั้นน่าจะเป็นแค่คำขู่เท่านั้น บรรดาแกนนำเสื้อแดงเห็นแล้วว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งบีบให้การประชุมสุดยอดของอาเซียนต้องยกเลิกไปและทำให้ประเทศไทยเสียหน้านั้น ทำให้พวกเขาเองสูญเสียความนิยมไป และความรุนแรงครั้งใหม่ก็น่าจะถูกปราบในลักษณะเดียวกัน แกนนำคนเสื้อแดงออกมาเตือน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี นายทหารนอกราชการ ในทันที หลังจากที่เขาประกาศว่าจะช่วยนำกองทัพประชาชนที่สนับสนุนทักษิณ แทนที่จะกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวาย การตัดสินของศาลน่าจะได้รับการตอบรับด้วยความยินดีจากการประท้วงบนท้องถนน ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นตัวจุดกระแสให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ยิ่งขึ้นในเดือนต่อๆ ไป อภิสิทธิ์อาจจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการอภิปรายที่เขาไม่มีความมั่นใจที่จะมาถึงในเดือนนี้หรือเดือนถัดไปมากกว่า เขาฉุนพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสนใจกับการเลือกตั้งด้วยในบางส่วน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งช่วยขับไล่รัฐบาลที่เป็นพรรคพวกของทักษิณด้วยการประท้วงปิดสนามบินเมื่อปี 2551 โดยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำในกรุงเทพฯ นั้น บัดนี้ ได้ตั้งพรรคการเมืองแล้ว และจะลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำให้พันธมิตรฯ อารมณ์เสียอย่างแน่นอน และเป็นไปได้มากที่อภิสิทธิ์จะไม่ต้องการเปิดตัวเองเป็นคู่ต่อสู้กับพันธมิตรฯ ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งในครั้งหน้า เก้าอี้ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่พรรคของพันธมิตรฯ จะได้รับในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีแนวโน้มว่าจะชิงมาจากที่นั่งของประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์คุม 172 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสภาฯ จำนวนทั้งสิ้น 475 คน พรรคเพื่อไทยซึ่งสนับสนุนทักษิณมี 189 เสียง และที่เหลืออีก 114 เสียง แบ่งกันในระหว่างพรรคเล็กๆ อีก 7 พรรค พรรคเล็กๆ เหล่านี้ ไม่น่าที่จะทอดทิ้งอภิสิทธิ์ เนื่องจากทางเลือกใหม่อาจจะมีต้นทุนสูงกว่า พรรคภูมิใจไทย ที่นำโดยเนวิน ชิดชอบ อดีตคนใกล้ชิดของทักษิณ กำลังต่อสู้กับเพื่อไทยในภาคอีสานซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรค บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคตัวจริงของชาติไทยพัฒนา ก็ออกมาพูดแล้วว่า เขาจะไม่ดึงพรรคออกจาการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคอื่นๆ ที่เหลือก็อ่อนแอยิ่งกว่า และเป็นการยากที่จะบอกว่าพรรคเหล่านี้จะได้รับอะไรจากรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย การเลือกตั้งหนึ่งครั้งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และพวกเขาน่าจะมีความสุขกับการใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีแสวงหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด ขณะที่รอคอยให้อภิสิทธิ์ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายในสิ้นปีหน้า จากที่เชื่อได้ว่ากองทัพและพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ทิ้งเขา ทำให้อภิสิทธิ์ดูเหมือนจะสามารถฟันฝ่าการประท้วงใดๆ ไปได้ตลอดเดือนหน้า สัปดาห์ที่ผ่านมา เขากล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ 240 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นการยืนยันถึงความมั่นใจของเขา ซึ่งนั่นเป็นจำนวน ส.ส.ที่มากที่สุดที่พรรคประชาธิปัตย์เคยได้ในช่วง 10 มานี้ และเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากจำนวน ส.ส. 165 ที่นั่งที่ได้มาในการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งประชาธิปัตย์กวาดที่นั่งจากใน กทม.และภาคใต้มา กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้าทักษิณชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เป็นไปได้ว่าจะทำให้ประเทศหมุนวนกลับสู่ความวุ่นวายต่อ อย่างที่เคยมีการรัฐประหารและการยึดสนามบินมาขับไล่รัฐบาลสองชุดที่นำโดยฝ่ายทักษิณให้ออกไป การกำจัดพวกเขาออกไปอีกในครั้งต่อไปยากที่จะจินตนาการออกว่าจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบใด สถานการณ์ต่างๆ จะยิ่งตึงเครียดมากขึ้นถ้าหากการ (...) ใกล้มาถึง ถึงแม้ว่าการต่อสู้ในเชิงอำนาจในเมืองไทยจะยังคงไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากจุดใดๆ แต่อภิสิทธิ์ก็น่าจะสามารถนำพารัฐบาลให้อยู่ได้ตลอดปี 2553 แม้จะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก โดยปราศจากหายนะภัยครั้งใหญ่ใดๆ ก่อนที่เขาจะถูกกดดันให้ประกาศให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า เพียงแต่ทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยวิถีทางที่พัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นมา นั่นคือ ขึ้นอยู่กับกองทัพเป็นหลัก ที่มา: แปลจาก Thai Coup Rumor Recur, Asia Sentinel, Monday, 08 February 2010