ที่มา thaifreenews
โดย ice angel
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียนของอังกฤษเปิดเผยว่า
องค์กรการกุศลในราชูปถัมป์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการล็อบบี้รัฐมนตรี
และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองที่อ่อนไหวในหลายด้าน
เช่น การเปลี่ยนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการ์เดียนชี้ว่า
การกระทำดังกล่าว จะทำให้ข้อถกเถียงเรื่องบทบาททางการเมืองของราชวงศ์ กลายประเด็นอีกครั้งหนึ่ง
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ได้เปิดเผยจดหมายโต้ตอบระหว่างมูลนิธิในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
เช่น มูลนิธิธุรกิจในชุมชน (Business in the Community),
มูลนิธิในราชูปถัมป์เพื่อสิ่งปลูกสร้าง (the Prince’s Foundation for the Built Environment)
กับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความพยายามขององค์กรในราชูปถัมป์
ต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ เช่น เรื่องการออกแบบผังเมือง
การลดภาษีมูลค่าเพิ่มในการบูรณะสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ เป็นต้น
จดหมายดังกล่าว ซึ่งนสพ. เดอะ การ์เดียน ได้มาจากการร้องขอผ่านพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร
เปิดเผยว่า Ros Kerslake ประธานกรรมการบริหารกองทุนบูรณะในราชูปถัมป์
(Prince’s Regeneration Trust) ได้เข้าพบ Grant Shapps รัฐมนตรีกระทรวงการเคหะ
เพื่อกดดันกรมคลังให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในการฟื้นฟูบูรณะสิ่งก่อสร้าง นสพ.การ์เดียน ยังเปิดเผยว่า
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีดังกล่าว
ในการดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ของพระองค์ด้วย
การกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดข้อกังวลว่า
การใช้อำนาจทางการเมืองของฟ้าชายชาร์ลส์อาจก่อให้เกิดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ
ศาสตราจารย์อดัม ทอมกินส์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า
เนื่องจากมูลนิธิดังกล่าวก่อตั้งโดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งอาจแฝงวาระทางการเมืองไว้
ทำให้อาจมองได้ว่า การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการแทรกแซงทางการเมือง
และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันซึ่งควรอยู่เหนือการเมือง
นอกจากนี้ มูลนิธิของเจ้าชายชาร์ลส์ ยังถูกมองว่า
ใช้อภิสิทธิ์ในการเข้าถึงการพิจารณางบประมาณได้ง่าย
และรวดเร็วมากกว่าองค์กรการกุศลอื่นๆ ทั่วไป
พอล ริชาร์ด รัฐมนตรีกระทรวงชุมชนและสุขภาพมองว่า
ในความรู้สึกของตน มูลนิธิดังกล่าวได้รับสถานะพิเศษ
และได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะภายใต้รัฐบาลใดๆ
“เมื่อมีจดหมายจากฟ้าชายชาร์ลส์เข้ามา [ในรัฐสภา]
จะมีความรู้สึกของการวิ่งเต้นเป็นพิเศษ และช่องทางในการเข้าถึง
สำหรับตำแหน่งและมูลนิธิของพระองค์
ก็ดูเหมือนจะง่ายมาก อย่างที่องค์กรอื่นๆ เทียบไม่ได้” ริชาร์ดกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นประธานมูลนิธิการกุศลทั้งหมด 20 แห่ง
ในจำนวนทั้งหมด พระองค์เป็นผู้ก่อตั้ง 18 แห่ง และถูกมองอย่างกว้างขวางว่า
เป็นความพยายามของพระองค์ ในการขยายอิทธิพล
ทางด้านนโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อมในสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม โฆษกของสำนักพระราชวังของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กล่าวว่า
มูลนิธิดังกล่าวเป็นองค์กรอิสระที่มีคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลกำกับ
และมีการสื่อสารกับรัฐบาลอยู่แล้วเป็นเรื่องปรกติ
ก่อนหน้านี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์
ในเรื่องความพยายามใช้อิทธิพลส่วนตนต่อนโยบายสาธารณะ
โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า พระองค์โปรดให้รัฐมนตรีจากหลายกระทรวงเข้าพบเป็นการส่วนตัว
ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพัฒนานานาชาติ
แต่การพูดคุยดังกล่าว ถือว่าเป็นความลับ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นในพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร
จึงไม่อาจเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของพ.ร.บ. ดังกล่าวไม่สามารถใช้กับองค์กรการกุศล
ศาสตราจารย์อดัม ทอมกินส์ ตั้งคำถามว่า การตั้งองค์กรเครือข่ายเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง
เช่น มูลนิธิในราชูปถัมป์ดังกล่าว สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญระบุไว้หรือไม่
“แผนการดำเนินการดังกล่าวนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การทำงานรณรงค์เพื่อสาเหตุที่ดี
[ขององค์กรการกุศล] แต่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยเช่นนี้
จะทำลายการดำรงตนที่เหมาะสมของสถาบันกษัตริย์
โดยเฉพาะการอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางหรือไม่”
ศาสตราจารย์ม.กลาสโกว์ กล่าว
อนึ่ง ในปี 2552 มูลนิธิในราชูปถัมป์เพื่อสิ่งปลูกสร้าง (the Prince’s Foundation for the Built Environment)
ได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการการกุศล (Charity Commission) หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า
มูลนิธิดังกล่าว ใช้อิทธิพลส่วนพระองค์แทรกแซงการออกแบบสิ่งปลูกสร้างแห่งหนึ่งในลอนดอน
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ คณะกรรมการฯ ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการกระทำใดๆ
ของมูลนิธิที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายทางการกุศล
ข่าวจากประชาไท
http://www.prachatai3.info/journal/2011/08/36692