ที่มา ประชาไท
(บทความนี้ปรับปรุงจากปาฐกถาของผู้เขียนในหัวข้อ “การจัดการตัวเองของชุมชนหลังยุคประชานิยม: ข้อท้าทายในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัย” ในงานสัมมนา “การจัดการตนเองของชุมชนหลังยุคประชานิยม” โดยสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 9 สิงหาคม 2554 ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)
โดยทั่วไปคำว่า “ชุมชน” ดูเหมือนจะไปไม่ได้กับคำว่า “ประชานิยม” เพราะคำว่า “ประชานิยม” มีนัยของการรุกคืบของรัฐในการเข้าไปควบคุมการจัดการตัวเองของ “ชุมชน” จนสูญเสียศักยภาพ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราสามารถทำความเข้าใจคำสองคำนี้ได้ในอีกลักษณะโดยไม่จำเป็นจะต้อง เป็นขั้วตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งกันเสมอไป ทั้งนี้ก็ด้วยการพิจารณาคำสองคำนี้ในแง่มุมหรือความหมายใหม่ในบริบทของการ เมืองและเศรษฐกิจร่วมสมัยเป็นสำคัญ
กล่าวในส่วนของคำว่า “ชุมชน” ผมคิดว่าหนึ่งในคำที่มีปัญหาหรือว่าก่อให้เกิดการถกเถียงได้มากที่สุดในวง วิชาการปัจจุบันคือคำว่า ชุมชน ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษคำว่า community โดยมีมโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมโนทัศน์ Gemeinschaft ของ Ferdinand Tonnies รวมทั้งมโนทัศน์ Mechanic Solidarity ของ Emile Durkheim โดยมโนทัศน์ชุมชนที่ว่านี้หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความพึ่งพาผูกพัน ความรักสามัคคี ฯลฯ ทว่าหลังจากที่รัฐและทุนรุกคืบเข้าไปในสังคมโดยเฉพาะในเขตชนบทก็ก่อให้เกิด การจัดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่บุคคลสัมพันธ์กันผ่านทางสถานภาพที่ไต่เต้าหรือได้มาในภายหลัง และเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลเป็นเบื้องต้นแทนที่จะ เป็นส่วนรวม จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เพราะผู้คนมีความห่างเหิน แก่งแย่งแข่งขัน และกดขี่ขูดรีดกัน จำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ด้วยการปฏิรูปสถาบันทางศีลธรรมและระบบการศึกษาอย่างที่ Durkheim เสนอ ก็ด้วยการอาศัยผู้นำที่เปี่ยมล้นด้วยบารมีอย่างที่ Weber แนะนำ หรือไม่ก็ด้วยการปฏิวัติทางชนชั้นอย่างที่ Marx แถลงไว้
ทฤษฎีทางสังคมคลาสสิคกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อวงการสังคมศาสตร์ตะวันตกใน ช่วงแรกอย่างมาก โดยเฉพาะในมานุษยวิทยาสังคมอังกฤษสายหน้าที่นิยม และโครงสร้างหน้าที่นิยมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวม (Totality) ของสังคม รวมทั้งการที่สังคมมีอิทธิพลเหนือปัจเจกบุคคลอย่างค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จ (ยกเว้นแนวคิดของ Weber) และการศึกษาสังคมไทยในยุคแรกต่างก็ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีทางสังคมคลาสสิ คเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากยุคประเพณีไป สู่ความทันสมัย โดยงานเหล่านี้มักจะเลือกศึกษาหมู่บ้านในเขตชนบท ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยด้านหนึ่งก็ให้ภาพว่าหมู่บ้านกำลังก้าวไปสู่ภาวะความทันสมัยหรือเป็นไปใน ทิศทางเดียวกับสังคมเมืองภายใต้แรงกดดันของทุนและตลาดที่เกื้อหนุนผลักดัน โดยรัฐ แต่อีกด้านก็ให้ภาพว่าหมู่บ้านมีลักษณะดั้งเดิมหรือตามประเพณีอยู่มาก ผู้คนในหมู่บ้านยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายใต้สังคมเกษตรกรรมหรือเศรษฐกิจ ยังชีพ แม้การรุกคืบของทุนและรัฐจะทำให้หมู่บ้านอ่อนแอหรือกระทั่งล่มสลาย แต่หลายหมู่บ้านก็ยังมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น สามารถปรับตัวหรือรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอกได้บนฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิปัญญา” และ “วัฒนธรรม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ความเป็นชุมชน”
อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจสังคมชนบทที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้วยมโนทัศน์ชุมชนใน ลักษณะดังกล่าวมีปัญหา นับตั้งแต่ในระดับญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้ เพราะชุมชนเป็นคุณภาพความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกติดกับพื้นที่เชิงกายภาพแบบใดแบบ หนึ่งเป็นการเฉพาะ ทว่าหมู่บ้านเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตเชิงกายภาพอย่างชัดเจน งานศึกษาสังคมชนบทไทยในช่วงแรกๆ ที่นำมโนทัศน์ชุมชนไปครอบหมู่บ้านจึงมีลักษณะผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้น และพลอยก่อให้เกิดข้อจำกัดในแง่ที่ว่า ทำให้มองไม่เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ที่กว้างไกลไปกว่าหมู่ บ้านที่พวกเขาอาศัยหรือทำมาหากิน เพราะนอกจากการตั้งถิ่นฐานที่มักวางอยู่บนสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติที่กว้าง ขวาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจนับแต่อดีตก็วางอยู่บนเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ก้าวข้าม ที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในหมู่บ้านไปค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกันการอาศัยมโนทัศน์ชุมชนซึ่งเชิดชูระบบคุณค่าหรืออุดมคติ บางอย่างก็ทำให้เข้าใจปัญหาได้ค่อนข้างจำกัด เพราะการศึกษาในแนวทางนี้มักจะนับหรือเน้นย้ำเฉพาะคุณลักษณะบางอย่างที่สอด คล้องกับมโนทัศน์ชุมชน แต่มักจะละเลย ไม่ให้ความสำคัญ หรือแม้กระทั่งบิดเบือนคุณลักษณะอื่นๆ ที่ขัดแย้งหรือไปด้วยกันไม่ได้ ส่งผลให้ภาพความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือร่วมสมัย มีลักษณะของการเลือกสรรและกีดกันค่อนข้างสูง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะด้านชวนอภิรมย์หรือหลงใหลเสมอไป แต่ยังแฝงไว้ด้วยด้านที่ไม่น่าประทับใจจำนวนมาก
ถึงแม้จะมีข้อจำกัด แต่มโนทัศน์ “ชุมชน” ในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแวดวงการแก้ปัญหาและพัฒนาชนบท โดยกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีสำนักวัฒนธรรมชุมชนเป็นหัวหอก) เน้นการชี้ให้เห็นสารัตถะหรือว่าแก่นสารของชุมชนว่าเปี่ยมด้วยศักยภาพและ ภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชุมชนสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการรุกคืบของทุนและตลาด ขณะที่อีกกลุ่มให้ความสำคัญกับสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรท่ามกลาง การรุกคืบของรัฐ โดยเฉพาะในรูปของการประกาศเขตหวงห้ามประเภทต่างๆ โดยเสนอว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่าง ยั่งยืนและเป็นธรรม ตรงกันข้ามกับการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ฉะนั้น ขณะที่กลุ่มแรกเน้นศักยภาพของชุมชนในการจัดการตนเองและมีนัยที่จะไม่ให้ความ สำคัญหรือเพิกเฉยต่อรัฐ กลุ่มหลังเน้นสิทธิของชุมชนเหนือทรัพยากรที่จะต้องเข้าไปเคลื่อนไหวกดดัน หรือว่าเจรจาต่อรองกับรัฐโดยตรง
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความเข้าใจและอาศัยมโนทัศน์ชุมชนต่างกัน แต่ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะร่วมกันในแง่ของการผูกโยงชุมชนเข้ากับพื้นที่เชิง กายภาพ และเน้นย้ำเฉพาะด้านดีงามของชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ยังส่งผลให้ละเลยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทขนานใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้สังคมชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสังคมเกษตรกรรมหรือมีสภาพเป็นชุมชน ตามที่มักเข้าใจกันอีกต่อไป ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า มีครัวเรือนไม่ถึงร้อยละ 20 ในเขตชนบทที่ทำการเกษตรเป็นหลักหรือเพียงอย่างเดียว อีกทั้งรายได้หลักของครัวเรือนเหล่านี้ก็มาจากสมาชิกครัวเรือนรายที่ผันตัว เองไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ขณะที่การผลิตนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ การค้า และบริการ มีปริมาณเพิ่มขึ้นในเขตชนบทอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมในส่วนของวิถีชีวิตหรือแบบแผนการบริโภคใน “ชนบท” ที่มีความคล้ายคลึงกับใน “เมือง” จนแทบจะแยกจากกันไม่ออก
นอกจากนี้ ขบวนการสิทธิชุมชนที่เคยเฟื่องฟูในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ต่อเนื่องถึงกลางทศวรรษ 2540 มีสภาพซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด (ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากข้อจำกัดของมโนทัศน์ “ชุมชน” ที่นำมาปรับใช้) ปัจจุบันไม่มีกลุ่ม องค์กร หรือสถาบันวิชาการใดออกมาเคลื่อนไหวผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนอย่างเข้ม ข้นอีก หลังจากที่สภานิติบัญญัติผ่านพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่บิดเบี้ยวออกมา และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้ตกไป ขณะที่ปัจจุบันแม้จะมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวผลักดันโฉนดชุมชนในการแก้ปัญหา ที่ดิน แต่ก็ไม่ได้มีความหนักแน่นหรือเป็นเสียงเดียวกันเหมือนการเคลื่อนไหวกรณีป่า ชุมชน ฉะนั้น นอกจากมีข้อจำกัดในการใช้ทำความเข้าใจหรืออธิบายสังคมชนบท ปัจจุบันคำว่า “ชุมชน” ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นยาครอบจักรวาลหรือยุทธวิธีสำเร็จรูปสำหรับการแก้ปัญหา ชนบท โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร การทำความเข้าใจคำว่า “ชุมชน” ในบริบทเศรษฐกิจและการเมืองร่วมสมัยจึงจำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขและ ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นลำดับแรก
นโยบายประชานิยมมักถูกเข้าใจในเชิงลบ คือเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงที่มักง่ายและไม่รับผิดชอบ อันจะก่อให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราสามารถมองนโยบายประชานิยมได้ในอีกลักษณะ คือ เป็นบันไดขั้นแรกของการกระจายความมั่งคั่งในสังคมอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ
เพราะในแง่หนึ่ง นโยบายประชานิยมทำหน้าที่จัดสรรหรือกระจายทรัพยากรสาธารณะที่อยู่ในรูปงบ ประมาณไปสู่กลุ่มคนอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือผู้อ่อนแอหรือผู้ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ใน ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เพราะเหตุที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้น นอกจากการกระจายโภคทรัพย์ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทะเล ปัจจัยการผลิต หรือแม้กระทั่งทุนแล้ว นโยบายประชานิยมยังหมายรวมถึงการดูแลคนเหล่านี้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ที่พักอาศัย การคมนาคม หรือการศึกษา เพราะในฐานะประเทศโลกที่สามที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบ เสรีนิยมใหม่ วิธีการหนึ่งที่ประเทศไทยจะไปรอดได้โดยไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลังก็คือ การสร้างระบบสวัสดิการที่มีคุณภาพและทั่วถึงขึ้นมา
นโยบายประชานิยมตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทย รักไทยเป็นต้นมา ก่อนจะเงียบหายไประยะหนึ่งหลังเกิดวิกฤติการเมือง (ส่งผลให้นโยบายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้จะมีลักษณะ “ลดแลกแจกแถม” อย่างชัดเจน) และหวนกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ต่างเสนอนโยบายในลักษณะประชานิยมในการหาเสียง อย่างไรก็ดี ขณะที่ข้อวิจารณ์นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับนัยด้านเศรษฐกิจ ผม คิดว่าเรามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจนโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งครั้ง นี้ในอีกลักษณะ คือไม่ใช่จากตัวนโยบายเพียงโดดๆ หากแต่เป็นนโยบายที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการเมืองของประเทศในขณะนี้เสีย มากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่านโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นขณะ ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางการเมือง ไม่ใช่วิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเลือกตั้งก็ถูกคาดหวังว่าจะเป็นก้าวแรกที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาความขัด แย้งทางการเมืองได้ ฉะนั้น ในขณะที่วิกฤติทางการเมืองเป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน ทว่าไม่สามารถกล่าวในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยได้ การแข่งขันทางการเมืองจึงจำเป็นจะต้องออกมาในรูปของนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก และก็ต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือนำไป สู่การลุกฮือรอบใหม่ ซึ่งในแง่นี้นโยบายประชานิยมตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เป็นคนส่วนใหญ่ และแม้จะมีผู้เสียประโยชน์บ้างอย่างเจ้าของกิจการรายใหญ่และรัฐ แต่ก็คงไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่คนไหนออกมาเดินประท้วงบนท้องถนน และก็คงไม่มีทหารกรมกองใดออกมาตบเท้าหรือเคลื่อนพลด้วยความไม่พอใจ เพราะในความเข้าใจของทหารนโยบายประชานิยมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ของรัฐ
ขณะเดียวกันการชูนโยบายประชานิยมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากจะช่วยให้ไม่มีการถกเถียงในระดับรากฐาน ยังช่วยเลี่ยงให้ไม่ต้องถกเถียงประเด็นทางสังคมและการเมืองอันเป็นที่มาของ ความขัดแย้งได้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่าปัจจัยตัดสินการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร คนส่วนใหญ่ต่างตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของพวกเขาก่อนที่พรรคการเมืองเหล่า นั้นจะเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง และก็เป็นจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจที่คน เหล่านี้อาศัยเป็นเกณฑ์ในการเลือก ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียงในกรุงเทพฯ ในโค้งสุดท้ายที่ไม่ได้เป็นเรื่องของนโยบาย “ลดแลกแจกแถม” อีกต่อไป เพราะรู้ว่าไม่สามารถอาศัยเป็นข้อได้เปรียบในการเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ หากแต่เป็นการตอกย้ำพฤติกรรมของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นภัยคุกคามต่อจินตนาการทางการเมืองของกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคประชา ธิปัตย์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ราชประสงค์หรือว่าการติดตั้งป้าย โฆษณาเป็นภาพขณะห้างสรรพสินค้ากำลังถูกเพลิงลุกไหม้ ผมคิดว่าหาก กกต.ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงใช้ประโยชน์จากประเด็น “ล้มเจ้า” ด้วย นอกเหนือจากประเด็น “เผาเมือง” ในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายในกรุงเทพฯ เพื่อเอาชนะพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ ถึงแม้กลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทกับการเมืองเลือกตั้งค่อนข้างมากในช่วงที่ ผ่านมาไม่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ต่อไปกลุ่มคนเหล่านี้จะเคลื่อนไหวเรียกร้องใน ประเด็นทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พวกเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็เพราะ ความที่ตระหนักว่าการเมืองแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจหรือการทำมาหากินของพวกเขา นโยบายประชานิยมได้ทำให้คนเหล่านี้ตระหนักว่า การเมืองเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ทรัพยากรส่วนกลางหรืองบประมาณลงมาถึงมือ พวกเขาได้ และสาเหตุที่พวกเขาต่อต้านรัฐประหาร ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐประหารได้ทำลายระบอบการเมืองที่พวกเขาเชื่อเช่นนี้ ฉะนั้น แม้ว่าในระยะเฉพาะหน้ากลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกร้องเฉพาะความเป็นธรรมทางสังคม และการเมือง ทว่าในช่วงต่อไปก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนเหล่านี้จะหันมาพูดเรื่องความ เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังกรณีกลุ่มแรงงานจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้ แม้ว่าในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้ออกมาเคลื่อน ไหวเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ก็ตาม
กลุ่มคนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นชั้นกลางระดับล่างซึ่งเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเขตชนบทในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คนเหล่านี้ไม่ได้ยากจนข้นแค้นแต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่มั่นคงเมื่อเปรียบเทียบ กับชนชั้นกลางในเมือง พวกเขาจำนวนหนึ่งเข้ามาอาศัยและทำมาหากินในเขตเมืองแต่ก็ยังมีความผูกพันกับ หมู่บ้าน ขณะที่จำนวนหนึ่งแม้จะยังอาศัยและทำมาหากินในหมู่บ้านแต่ก็เป็นหมู่บ้านที่ ห่างไกลจากคำว่าชนบทค่อนข้างมากแล้ว และด้วยความที่คนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ สังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าสู่ยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่เข้ามาพัวพันกับการเมือง เลือกตั้งระดับชาติมากขึ้น โจทย์ที่ท้าทายสังคมไทยจึงไม่ได้เป็นว่าชุมชนจะจัดการตัวอย่างไร เพราะชุมชนในความหมายดังกล่าวไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไป หรือไม่ก็ลดนัยสำคัญลงมากแล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่ายุคหลังประชานิยมก็จะไม่เกิดในอนาคตอันใกล้นี้
โจทย์จึงเป็นว่าจะทำอย่างไรไม่ให้นโยบายประชานิยมเป็นเพียงกลยุทธ์หา เสียงที่ฉาบฉวยและไม่รับผิดชอบ หรือไม่เป็นเป็นเพียง “ยากล่อมประสาท” ของผู้ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เพื่อไม่ให้ผู้เสียเปรียบ ลุกฮือขึ้นมา หากแต่ต้องเป็นบันไดขั้นแรกๆ ในการก้าวไปสู่การกระจายความมั่งคั่งในสังคมอย่างเป็นธรรม โจทย์ก็คือเราจะสร้างชุมชนทางการเมืองของพลเมืองที่ตื่นตัวและเท่าทันกับการ เปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในฐานะรัฐกึ่งโบราณ ภายใต้กระแสประชาธิปไตยโลกและกับประเทศไทย ในฐานะประเทศโลกที่สามที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ อย่างไรเป็นสำคัญ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มหาประชาชน เดือนสิงหาคม 2554)