ที่มา ประชาไท
รอมะฎอน (رمضان) หรือเราะมะฏอน หรือรอมฎอนคือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช ถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจาก สังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น
เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่า การเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือ การละหมาดตะรอเวียะฮฺในยามค่ำของเดือนนี้
เมื่อสิ้นเดือนรอมะฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า “อีดุลฟิฏริ” หรือวันอีดเล็ก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 29 สิงหาคม 2554
ก่อนจะถึงวันสิ้นเดือนรอมะฎอน คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเสวนา 3 ศาสนาเรื่องอดทน...ธรรมดี นำเสวนาโดยผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมเสวนาประมาณ 100 คน
เนื้อหาสาระของการเสวนาในวันนั้น ผู้นำเสวนาต่างแจงให้เห็นว่า ทุกศาสนาต่างเน้นให้ศานิกของแต่ละศาสนามีความอดทน
“พุทธศาสนาสอนว่า ความอดทนในจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในตัวทุกคน ซึ่งความอดทนนั้นมี 4 ประการ คือ 1.อดทนต่อความลำบาก 2.อดทนต่อความเจ็บปวดใจ 3.อดทนต่อความไม่สบายใจและการเป็นไข้ 4.อดทนต่อมารและกิเลสทั้งหลาย หนึ่งในสุภาษิตที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความอดทน ระบุว่าการอดทนเป็นธรรมอันยิ่งยวดของเราทั้งหลาย หากจะกระทำการใด ต้องจริงใจ และมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำ ทั้งต้องตั้งเป็นกฎ หรือสัญญากับตนเอง ในการทำความดี เพื่อบ่มเพาะจิตใจตนให้เข้มแข็งว่าต้องทำให้ได้”
เป็นคำสอนที่ถูกหยิบยกขึ้นเน้น โดยพระเฉลิมชน พุทธศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
พระเฉลิมชน พุทธศรี ย้ำปิดท้ายการเสวนาว่า สำหรับคนดี จะต้องทำดี 4 ประการ คือ 1.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนตน 2.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนคนอื่น 3.ทำสิ่งซึ่งไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น 4.ทำสิ่งซึ่งบัณฑิตสรรเสริญว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี
ขณะที่ ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการโรงเรียนเจริญศรีศึกษา เปิดเผยว่า คำสอนในศาสนาคริสต์ระบุว่า จงเข้าไปทางประตูแคบ เพราะประตูใหญ่และทางกว้างนำไปสู่ความพินาศ แต่ประตูที่นำไปสู่ชีวิตนั้น คับและแคบ ซึ่งผู้จะเข้าไปนั้นมีน้อย การฝึกความอดทนนั้น เพื่อเป็นการเดินตามรอยพระเยซูเจ้าที่ได้ทำไว้ เพื่อเป็นการกลับใจ และเพื่อเป็นการแบ่งปันให้ผู้อื่น
“ศาสนาคริสต์มีเทศกาลมหาพรต หรือเปรียบเทียบได้กับการถือศีลอดในศาสนาอิสลาม โดยอยู่ในช่วงระยะลา 40 วัน ก่อนอีสเตอร์ เป็นช่วงเวลาที่ชาวคริสต์ฝึกความอดทนอย่างเข้มข้น ในเทศกาลมหาพรต ต้องปฏิบัติ 3 สิ่ง คือ 1.ภาวนา เป็นการติดต่อกับพระเจ้า เพื่อขอกำลังจากกระเจ้าที่จะอดทนให้ได้ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการละหมาดในอิสลาม 2.อดอาหาร เพื่อเป็นการลดกิเลส ซึ่งพระเยซูอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน 3.ให้ทาน เพื่อเป็นการแบ่งปันและลดความเลื่อมล้ำทางชนชั้น” ซิสเตอร์มีนา อดุลย์เกษม กล่าว
ไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่ออิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีบอกว่า อัลกุรอานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา ความอดทนเป็นหนทางสู่สรวงสวรรค์ จึงต้องอดทนทั้งกาย วาจา และใจ ด้วยโลกนี้ไม่ใช่โลกแห่งความนิรันดร์ มนุษย์จึงต้องถูกทดสอบความอดทนเป็นอย่างมาก