WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, September 3, 2011

เอเชีย: มหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21?

ที่มา ประชาไท

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมถกในวงสัมมนาวิชาการ “ศตวรรษที่ 21: ศตวรรษแห่งเอเชีย?” ว่าด้วยเรื่องความเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียในเศรษฐกิจการเมืองโลก พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ ‘บูรพาศึกษา’ ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 54 ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีในหัวข้อ “รัฐ เอเชีย และโลกาภิวัฒน์” โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ร่วมอภิปรายถึงแนวโน้มการเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชีย ทางเศรษฐกิจการเมืองโลกในศตวรรษที่ 21

ทิศทางบูรพาศึกษาในศตวรรษที่ 21

ศ. ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงทิศทางของบูรพาศึกษาในปัจจุบันว่า เนื่องจากนักวิชาการ ผู้สังเกตการณ์ และผู้นำประเทศมหาอำนาจ ต่างตระหนักถึงความสำคัญของเอเชียในฐานะภูมิภาคที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการ ทหารสูง ทำให้เราจำเป็นต้องหันมาศึกษา และผลิตผู้เชี่ยวชาญของเราเกี่ยวกับภูมิภาคนี้มากขึ้น

ไชยวัฒน์อธิบายว่า ในขณะนี้ศูนย์กลางโลก กำลังจะเปลี่ยนมาทางตะวันออก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ชาติตะวันตกได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และยังคงหาทางออกไม่ได้ ในขณะที่ประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงสุดห้าประเทศในโลก มีสามประเทศตั้งอยู่ในเอเชีย คือ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังคาดแนวโน้มในอนาคตว่า เอเชียน่าจะขยายตัวเศรษฐกิจสูงและรวดเร็วมาก ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประชากรและคุณภาพชีวิตอย่างเห็นได้ชัด มีการทำนายว่า หากอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียคงที่เท่าปัจจุบัน ภายในปี 2050 เอเชียจะมีสัดส่วนปริมาตรการค้าและการลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกรวมกัน และจำนวนชนชั้นกลางในเอเชีย จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

เขามองว่า หากพูดว่าเป็นศตวรรษของเอเชีย อาจะไม่ถูกต้องมากนัก อาจกล่าวได้ว่าเป็นศตวรรษของโลกมากกว่า เนื่องจากในปัจจุบัน การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถคงความเป็นมหาอำนาจได้ ก็ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศอื่นๆ เช่นในกรณีของจีน อินเดีย ที่สามารถมีอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ก็เนื่องจากมีตลาดจากตะวันตกมารองรับ

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก ทำให้เอเชียต้องหันมาสร้างตลาดและส่งออกในเอเชียด้วยกันเอง และเพิ่มการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น เขาเสริมว่า ในขณะนี้ ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย คืออาเซียน แต่เรายังมีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อยมาก

ทั้งนี้ ไชยวัฒน์ ชี้ว่า เอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ และมีพลวัตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นจะต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับภูมิภาค เอเชีย และเรียนรู้ภาษาซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคได้อย่าง “ไม่กินน้ำใต้ศอกใคร”

จีน: มหาอำนาจที่แท้จริง?

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายเหตุผลที่จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในโลกปัจจุบันได้ เนื่องจากจีนมีบทเรียนในอดีตตั้งแต่สมัยอาณานิคมว่า ความเย่อหยิ่ง และการไม่ปรับตัวกับโลกภายนอก ทำให้จีนถูกคุกคาม จีนจึงมีนโยบาย “China can say no” คือยึดมั่นในมาตรฐานของตนเอง และไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ

นอกจากนี้ การที่จีนถือนโยบายไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น และไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้าแทรกแซงเรื่องภายใน ยังทำให้จีนสามารถรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าไว้ได้ เช่น ในกรณีของพม่า ที่เป็นพันธมิตรกับจีนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งต่างจากสหรัฐฯ และยุโรปที่มีแนวโน้มเข้าแทรกแซงประเทศอื่นมากกว่าโดยเฉพาะในการทำสงคราม

นอกจากนี้ เมื่อเวลาจีนถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นประชาธิปไตย จีนก็มีคำอธิบายเป็นของตัวเอง โดยจะอธิบายว่า ก่อนที่จะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาอิสรภาพหรือเอกราชต้องมาก่อน ถ้ายังไม่มีอธิปไตย สิทธิมนุษยชนก็ยังมาไม่ถึง และจีนมองว่า การขาดเอกราช ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยในแง่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม วรศักดิ์มองว่า จีนก็ยังมีข้อจำกัดในบางประการต่อการเป็นมหาอำนาจ เนื่องจากในทางเศรษฐกิจแล้ว จีนเป็นตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็จริง แต่อยู่บนพื้นฐานที่ว่า จีนไม่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เขาชี้ว่า ถ้าจีนยังไม่ปรับปรุงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในอนาคต สินค้าที่ส่งออกจากจีนจะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากจีนสามารถพัฒนาคุณภาพของประชากรให้ดีขึ้นพร้อมๆ กับปริมาณได้ จีนจะเป็นมหาอำนาจที่น่ากลัวมากทีเดียว

เขายังเสริมว่า อีกสาเหตุที่หนึ่งทำให้จีนเป็นมหาอำนาจ เป็นเพราะจีนสามารถปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ โดยปรกติแล้ว กระแสโลกาภิวัฒน์มักมาคู่กับการเมืองแบบเสรีนิยม ซึ่งมาพร้อมกับคุณค่าเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการค้าเสรี หากแต่จีนเลือกที่จะรับเอาแต่เรื่องการค้าเสรี และยังคงรักษาการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ไว้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น จะเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน และในขณะนี้ กระแสประชาธิปไตยในจีนก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

มหาอำนาจของเอเชีย: สันติภาพหรือความสั่นคลอน

ทางด้านดร. ธีวินทร์ สุพุทธิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา ตั้งคำถามว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีส่วนสร้างสันติภาพ หรือจะเป็นภัยคุกคามในระเบียบโลก

ทั้งนี้ เขาเสริมว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว หมายถึงการที่มีมหาอำนาจในเอเชียที่มาแรง เช่น จีน และอินเดีย และหลักการ “Regionalism” หรือการสร้างสถาบันความร่วมมือในทางระหว่างประเทศ เช่น อาเซียน ที่เริ่มเข้ามาแทนที่อำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่อยู่อย่างปัจเจก

ธีวินทร์อธิบายว่า การขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน ขึ้นอยู่กับทฤษฎีว่า จีนต้องการมีส่วนกำหนดในระเบียบโลกหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า จีนน่าจะอยากเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระเบียบโลก และทำให้ตนได้รับประโยชน์จากระบบอำนาจดังกล่าวได้มากกว่า

ทั้งนี้ การที่จะสามารถทำให้จีนเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบในระเบียบโลก เป็นเรื่องของประเทศอื่นๆ รอบข้างด้วยว่า จะมีท่าทีต่อการขึ้นมาของจีนอย่างไร

อินเดีย มหาอำนาจทางอารยธรรม

โสรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันอินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจของอินเดียที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยเปรียบพระพุทธเจ้า ในฐานะทูตที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อชี้ให้เห็นถึงรากฐานของอินเดีย ในการเป็นมหาอำนาจของโลกที่ยังคงมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน

เขาอธิบายว่า ในการเป็นมหาอำนาจ ต้องมีองค์ประกอบสี่ด้านที่ครบครัน ได้แก่ เทคโนโลยี ทหาร วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน อาจมองอินเดียได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม โสรัตน์ชี้ให้เห็นว่า อินเดียก็ยังมีปัญหาภายในอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน

โสรัตน์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มหาอำนาจในสมัยนี้ เน้นแต่การเหยียบคันเร่งด้านเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อเน้นจีดีพีให้สูง จึงทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนถูกละเลย พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว มหาอำนาจควรจะเป็นอย่างไร

“ประเทศต่างๆ ต้องคิดมากกว่าแค่เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหาร และหันมามองเรื่องในแง่อื่นด้วย เช่น เรื่องความมั่นคงของมนุษย์” โสรัตน์กล่าวทิ้งท้าย