ที่มา Thai E-News
แม้ว่า ". . .ทางผู้จัดงานเปิดเผยว่า การจัดงานเสวนาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีอุปสรรค เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยในการขอใช้ห้องทำกิจกรรมที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อภายหลังได้ทำเรื่องย้ายห้องจัดงานเสวนามาที่คณะรัฐศาสตร์ จึงสามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้" แต่งานเสวนา "เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย" ก็ดูเหมือนว่าจะมีคนล้นห้องประชุม
ไทยอีนิวส์ขอสนับสนุนกิจกรรมคนหนุ่มสาว เพื่อร่วมเดินไปกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อนำเสรีภาพมาสู่สังคมไทย
แต่ขออนุญาตถกเถียงประเด็นนี้กับน้องๆ นักศึกษาสักนิดเพื่อชีวิตคนรุ่นก่อน จะได้กระชุ่มกระชวยขึ้นอีกหน่อย ต่อประเด็นที่ว่า "หากเราไม่มีเสรีภาพในการตำหนิ ก็จะไม่มีการประจบประแจงเกิดขึ้น" ทางเราขอชวนถกเถียงต่อว่า "เพราะไม่มีเสรีภาพในการตำหนิ สังคมจึงเต็มไปด้วยการประจบประแจง" ชิมิๆ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดพิจารณา นำไปถกเถียงต่อไป!
28 ธันวาคม 2554
ที่มา ประชาไท
เมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2554 เมื่อเวลา 17.00 น. ห้อง 207 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จัดเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ รักชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ ศรันย์ ฉุยฉาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (ซีซีพี) โดยมีนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมวงเสวนากว่า 150 คน
ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ อธิบายภาพรวมของอำนาจสถาบันพระมหากษัตริยในสังคมไทย โดยชี้ว่า สถานะของสถาบันฯ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความ คิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย
เพื่อที่จะสร้างและรักษาระบอบ ประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ ปิยบุตรชี้ว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึง การไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ด้านรักชาติ วงศ์อธิชาติ นศ. ปีที่ 3 จากคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาที่ถูกจำกัดลงจากอดีต โดยชี้ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อความเท่าเทียม และเสรีภาพในการหาความรู้ อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่รับเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมาใช้ ผ่านพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงมหาวิทยาลัย การให้นักศึกษาเข้ารับฟังการทรงแสดงดนตรี ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องบูชากราบไหว้ ซึ่งรักชาติมองว่า แทนที่สถาบันการศึกษาจะทำให้คนตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ กลับเป็นเบ้าหลอมให้คนต้องอยู่ในกรอบที่คิดและเชื่อเหมือนๆ กัน
นอก จากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวถึงระเบียบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่สะท้อนถึงระบบอำนาจนิยม เช่น ระบบโซตัส หรือการบังคับให้แต่งกายถูกระเบียบตามแบบอย่างชุดนิสิต “ในพระปรมาภิไธย” โดยสภาพดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว สังคมไทยล้วนอยู่ในพระปรมาภิไธย ซึ่งประชาชนไม่สามารถคิดและเห็นต่างได้ มิหนำซ้ำ นอกจากจะ “ห้าม” พูดและคิดแล้ว ยัง “ถูกบังคับให้พูด” เนื่องจากมีกลไกทางสังคมและทางกฎหมายดำรงอยู่ที่พร้อมจะคว่ำบาตรต่อผู้ที่ เห็นต่างทันที ซึ่งพิริยะดิศ มานิตย์ อาจารย์จากภาควิชาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าฟังการเสวนาดังกล่าวชี้ว่า การถูกบังคับให้พูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด ก็เปรียบเสมือนกับการข่มขืนดีๆ นี่เอง
“สังคมที่คนถูกบังคับให้คิดให้เชื่อเหมือนๆกัน ก็เปรียบเสมือนสังคมนกเพนกวินที่ไม่ได้ใช้ความคิด อย่างนั้นมันไม่ใช่มนุษย์แล้ว เพราะมนุษย์ต้องสามารถคิดและเห็นต่างได้” พิริยะดิศกล่าว
รักชาติ กล่าวถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยว่า เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่เพียงแต่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยรวม ซึ่งกรณีการตัดสินจำคุก 20 ปีของนายอำพล หรือ “อากง” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากฎหมายดังกล่าวมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การรณรงค์เพื่อตระหนักรู้ความไม่เป็นธรรมของกฎหมายนี้ ไม่ควรมาจากความน่าสงสารหรือน่าเห็นอกเห็นใจต่อคดีอากงเท่านั้น เนื่องจากยังมีนักโทษการเมืองหลายคนยังถูกจำคุกด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข “สุรชัย แซ่ด่าน” และ”ดา ตอร์ปิโด” ซึ่งควรได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
ทั้ง นี้ ทางผู้จัดงานเปิดเผยว่า การจัดงานเสวนาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีอุปสรรค เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยในการขอใช้ห้องทำกิจกรรมที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อภายหลังได้ทำเรื่องย้ายห้องจัดงานเสวนามาที่คณะรัฐศาสตร์ จึงสามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้
ดิน บัวแดง หนึ่ง ในกลุ่มผู้จัดงานให้ความเห็นว่า เป็นที่ชัดเจนว่าในรั้วมหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพให้พูดคุยและถกเถียงใน ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อนาคตของสังคมไทย ทั้งๆ ที่นักวิชาการและนิสิตนักศึกษา ควรจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในคณะที่เกี่ยวกับ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หากแต่เขารู้สึกว่า ในมหาวิทยาลัย กลับเป็นที่ที่เต็มไปด้วย “ความกลัว” และนอกจากจะไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแล้ว กลับห้ามมิให้นิสิตนักศึกษาใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
ดิน บัวแดง นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และหนึ่งในผู้จัดงานเปิดเผยว่า สาเหตุที่จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้นมา เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์
หากเราไม่มีเสรีภาพในการตำหนิ ก็จะไม่มีการประจบประแจงเกิดขึ้น