ที่มา ประชาไท
ในการประชุมของเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย [1] เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาแรงงานในระหว่างและหลัง เกิดอุทกภัย โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ 2) เพื่อหาทางออกที่ตอบสนองความต้องการแก่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างแท้จริง โดยจะนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ 3) เพื่อรณรงค์สิทธิของผู้ใช้แรงงานที่พึงได้รับตามหลักการสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานแรงงานสากล
การเจาะจงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟนั้น เนื่องจากเกิดปัญหาเลิกจ้างคนงานอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงนำไปสู่การให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวเพราะอุตสาหกรรมนี้เติบโต เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้รับสิทธิพิเศษและการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ไทยกลายเป็นฐานการผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีการสร้างงานประมาณ 100,000 กว่าอัตรา โดยมีการจ้างแรงงานหญิงมากกว่าแรงงานชาย ทั้งนี้มาจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียง เช่น เวสเทิร์นดิจิตอล ซีเกท ฮิตาชิ โซนี่ อาซาฮี ร่วมกับนักลงทุนไทย และมีเจ้าของคอมพิวเตอร์แบรนด์เนม ได้แก่ ฮิวเล็ต แพ็คการ์ด เดลล์ เข้ามาจ้างผลิต
เมื่อได้รับฟังเรื่องราวปัญหาของผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในเขตพื้นที่ที่เกิดและไม่เกิดอุทกภัย ทำให้เกิดข้อกังวลใจเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงข้อกังวลใจเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงาน และพฤติกรรมของผู้ประกอบการ เพราะเกิดการละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากช่วงระหว่างและหลังเกิดอุทกภัย ผู้ประกอบการสั่งเลิกจ้างพนักงาน โดยที่ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย สวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ค่าชดเชย และเลือกปฏิบัติ ลดเงินเดือนเหลือ 75%, 50%, 25% ในขณะที่มีการหยุดกิจการชั่วคราว ไปจนถึงช่วงฟื้นฟูสถานประกอบการ สั่งโยกย้ายพนักงานไปยังฐานการผลิตอีกแห่ง โดยจะไม่จ่ายค่าจ้างหากไม่ยินยอม รวมไปจนถึงการล้มสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพจำนวนมากทั้งๆ ที่บริษัทมีกำไร
ปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางดังกล่าวทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ นายจ้างเอกชน นักลงทุนได้แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วหรือยัง เมื่อเกิดปัญหาการตกงาน การสูญเสียรายได้ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบ ครัว ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และรัฐสามารถตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายของนายจ้างได้เพียงใด รวมทั้งปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในยามวิกฤตได้มากน้อยแค่ไหน
หัวข้อนำเสนอในรายงาน มีดังนี้
1. สถานการณ์ปัญหาแรงงานและตัวอย่างกรณีปัญหา
2. ความไม่เพียงพอของมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
3. ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล
1.สถานการณ์ปัญหาแรงงานและตัวอย่างกรณีปัญหา
การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมากินวงกว้าง หลายจังหวัดในเขตภาคกลางของประเทศไทย ทั้งที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบท มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน มีคนเจ็บป่วยจำนวนมาก ที่อยู่อาศัย ไร่นา โรงงานพังเสียหายตีเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท และรัฐบาลได้นำงบประมาณมาใช้ในการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายประมาณ 5 แสนล้านบาทแบ่งใช้ตามกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประชาชนทั่วไป 2) เกษตรกร 3) แรงงาน 4) ผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย 5) ผู้ประกอบการรายใหญ่ 6) อื่นๆ
สำหรับในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการทั่วประเทศ รวม 31 จังหวัด จำนวนกว่า 28,000 แห่ง ผู้ใช้แรงงานจำนวนกว่า 9.9 ล้านคน ล่าสุดหลายพื้นที่ปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยพบว่า มีสถานประกอบการจำนวน 15,474 แห่ง ลูกจ้าง 35,1640 คน กลับมาเปิดกิจการแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือสถานประกอบการ จำนวน 13,205 แห่ง ลูกจ้าง 642,304 คน ยังคงไม่สามารถเปิดกิจการได้ โดยในจำนวนนี้ คาดว่าลูกจ้างประมาณ 130,000 คน อาจต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทจ้างเหมาค่าแรง หรือ เอาท์ซอร์ส ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี [2]
กรณีปัญหาจาก 5 พื้นที่
กรณีปัญหาจาก 5 พื้นที่ ที่จะช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหานั้น ได้แก่ พื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ลำพูน และนครปฐม โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงาน ตัวแทนพนักงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน นักพัฒนาเอกชนเป็นผู้สะท้อนปัญหา
1. พื้นที่จังหวัดปทุมธานี
1.1 การเลิกจ้างพนักงานบริษัท MMI Precision ประเทศไทย จำกัด บริษัทตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม นวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ มีพนักงานประมาณ 250 คน ประกอบด้วยพนักงานประจำ 200 กว่าคน พนักงานเหมาค่าแรง 50 กว่าคน
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 น้ำทะลักท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และบริษัท MMI ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ นายจ้างสั่งหยุดงานทันที
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 บริษัท MMI ได้เลิกจ้างพนักงานทางโทรศัพท์โดยให้ฝ่ายบุคคลโทรแจ้งว่า พนักงานถูกเลิกจ้างและให้มารับเช็คในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ส่วนสถานที่จะโทรแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และฝ่ายบุคคลก็ไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด นอกจากนี้ มีพนักงานส่วนหนึ่งในแผนกตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานถูกสั่งให้ย้ายไปทำงานที่ จังหวัดชลบุรี เป็นบริษัทฯในเครือของ MMI ทว่ามีสมาชิกสหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์บางรายไม่พร้อมที่ จะไปทำงานที่จังหวัดชลบุรีเนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางและมีภาระต้องดูแล ครอบครัว จึงรู้สึกหวั่นเกรงว่าถ้าไม่ไปจะไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชย
สหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ขอเจรจากับทางบริษัทฯเป็น การด่วนเพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง แต่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลได้แจ้งว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานประมาณ 90% ส่วนพนักงานที่เหลือเป็นช่างเท่านั้น และยังปฏิเสธที่จะเจรจาพูดคุยกับทางสหภาพแรงงาน อีกทั้งกำลังดำเนินการขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการสหภาพฯ ด้วย อันเป็นการลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน
อย่างไรก็ตาม พนักงานเกือบทั้งหมดยอมรับการเลิกจ้าง ด้วยความรู้สึกไม่มีความสุขที่จะทำงานร่วมกับนายจ้างอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือ พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุมาก และมีการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการหางานใหม่ เพราะเมื่อไปตรวจสอบตำแหน่งงานว่างตามที่รัฐบาลประกาศนั้น ปรากฏว่าแทบไม่มีตำแหน่งสำหรับพนักงานหญิงอายุมากและมีการศึกษาเพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6
1.2 การหลีกเลี่ยงจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่พนักงาน ISCM เทคโนโลยี ประเทศไทย
บริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เปิดกิจการเมื่อปี 2547 และขยายกิจการที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยาในปี 2551 ทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นายจ้างเป็นชาวสิงคโปร์ มีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 500 กว่าคน มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ลูกค้าเป็นชาวญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
ปัญหาคือ ช่วงวิกฤตน้ำท่วม พนักงานได้รับผลกระทบเนื่องจากบริษัทฯได้มีมาตรการให้พนักงานย้ายไปทำงานยัง ประเทศมาเลเซีย แต่พนักงานไม่ได้รับความชัดเจนใดๆจากทางบริษัท ซ้ำกลับมีเงื่อนไขว่า ถ้าใครไม่ย้ายไปทำงานที่มาเลเซียจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย และเป็นการกดดันให้พนักงานต้องตัดสินใจย้ายไปทำงาน เพราะกลัวตกงานและไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัท
ดังนั้น พนักงาน ISCM ต้องการให้นายจ้างมาชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน และการย้ายพนักงานไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย
ตัวแทนพนักงานได้ยื่นหนังสือขอให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญนายจ้างมาชี้แจงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานสวัสดิการฯ ปทุมธานี และได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริหาร (General Manager) ชาวสิงคโปร์และฝ่ายบริหารคนไทย ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานสวัสดิการฯจ.ปทุมธานี โดยมีตัวแทนพนักงานและเจ้าหน้าที่ของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเข้าร่วม การไกล่เกลี่ย และมีพนักงานให้กำลังใจด้านนอกห้องประชุมร่วมร้อยคน
ผลการเจรจา ปรากฏว่า นายจ้างที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาชี้แจงแก่ตัวแทนพนักงานถึงการไม่จ่ายค่า จ้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน การข่มขู่พนักงานว่าไม่จ่ายหากไม่ย้ายไปทำงานที่มาเลเซีย และการโยกย้ายการผลิตไปที่มาเลเซีย
1. นายจ้างกล่าวขอโทษที่ปล่อยให้มีการข่มขู่พนักงาน และไม่จ่ายค่าจ้างตามวันเวลาที่กำหนด และอ้างว่าไม่มีเจตนาฉ้อโกงใดๆ เพราะบริษัทที่มีสาขาทั้งสองแห่งคือนิคมอุตสาหกรรมโรจนะและ นวนคร ถูกน้ำท่วมเสียหายจริง จึงต้องหาฐานใหม่เพื่อเปิดทำการผลิตให้ทันต่อคำสั่งซื้อ จึงขอจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 75% ของฐานเงินเดือนแก่พนักงานทุกคน แต่คนท้องได้ 100% รวมถึงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2554
2. นายจ้างจะยังคงดำเนินกิจการในประเทศไทย โดยจะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม แต่จะต้องย้ายไปทำการผลิตชั่วคราวที่ปีนัง ประเทศมาเลเซียเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเพื่อรักษาลูกค้าและคำสั่งซื้อไว้ จึงจะขอรับพนักงานไปทำงานและฝึกงานโดยสมัครใจ ส่วนพนักงานที่ไม่ต้องการไป นายจ้างจะไม่มีการเลิกจ้าง แต่จะจ่าย 75% ไปจนกว่าจะเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงาน ณ ฐานการผลิตที่เมืองไทยในต้นปีหน้า อีกทั้งบริษัทได้ทำ MOU เข้าโครงการ 2,000 บาทของรัฐบาลเพื่อชะลอการเลิกจ้างด้วย
3. วิธีการไปทำงานต่างประเทศจะต้องมีการแจ้งอย่างถูกต้องแก่สำนักงานจัดหางาน จังหวัด ว่าไปในลักษณะใด ระหว่างฝึกงานและทำงานเพราะสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนงานจำนวน 48 คนไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างต่อไป เพราะหมดความเชื่อมั่นความไว้วางใจบริษัทอย่างสิ้นเชิง
2.พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.1 สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่อยุธยาเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน 2 กลุ่มคือ 1) ลูกจ้างประจำ 2) ลูกจ้างชั่วคราวและเหมาค่าแรง (Sub-contract)
ในกลุ่มลูกจ้างประจำจะถูกบังคับด้วยกฎหมายให้นายจ้างอ้างวิกฤตน้ำท่วม จ่ายเงินเดือน 75%, 50%, 25% ส่วนในกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรงนั้นมีจำนวนมากที่ถูกบอกเลิกสัญญาโดยไม่จ่าย ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม และค่าชดเชยใดๆ
สำหรับสมาชิกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง มีจำนวนประมาณ 20 สหภาพแรงงาน/บริษัทที่ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบต่างๆ คือ 1) ได้รับเงินเดือน 75% เช่น ที่บริษัท IPE, นากาชิมา 2) เลิกจ้างเกือบหมดแต่ไม่ปิดกิจการ เหลือพนักงานบางส่วน เป็นเหตุให้มีการเลิกล้มสหภาพแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานซันแฟล็ค 3) เลือกเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน โดยอ้างวิกฤตน้ำท่วม
สำหรับสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มี 2 กรณีคือ 1) นายจ้างอ้างวิกฤตน้ำท่วม แต่ไม่ท่วมจริงเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย 2) นายจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมจริง แต่พยายามหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับกรณีแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกรณีคือ โรงงานได้รับผลกระทบและปิดกิจการ ได้แก่ บริษัทซันโย
2.2 กรณีปัญหาเลิกจ้างพนักงานอินทรี-เพล็กซ์
บริษัทอินทรี-เพล็กซ์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนพนักงานประมาณ 800 คน ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 4 ปี ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟให้แก่บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานประจำและเหมาค่าแรง 50% ของพนักงานทั้งหมด โดยจ่ายให้แก่พนักงานรายเดือน รายวัน และเหมาค่าแรงตามเงินเดือนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดน้ำท่วมที่จังหวัดอยุธยาเป็นเวลา 2 เดือน บริษัทได้ทำคันกั้นน้ำ และประกาศนโยบายว่าจะไม่เลิกจ้าง อีกทั้งจะจ่ายเงินเดือนครบ 100%
เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม บริษัทสั่งหยุดงานและดำเนินการผลิตที่บริษัท MMI จ.นครราชสีมา จนเมื่อถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 พนักงานทยอยถูกเลิกจ้าง โดยบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานรายวัน 75% นับจากวันที่ 21 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน ค่าตกใจรวมค่าชดเชยจำนวน 2 เดือน แต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม บริษัทโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีพนักงานเพิ่มอีก 2,000 บาท แต่สำหรับพนักงานที่ไม่ถูกเลิกจ้าง กลับได้รับโบนัสครึ่งเดือนเมื่อเร็วๆ นี้
พนักงานที่ถูกเลิกจ้างรายหนึ่งเล่าว่า รู้สึกไม่พอใจเนื่องจากมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็น ธรรม เพราะนายจ้างจ่ายโบนัสให้พนักงานที่ยังอยู่ ในขณะที่ตนถูกเลิกจ้าง และต้องแบกภาระครอบครัว และยังไม่มีงานทำมาจนถึงปัจจุบัน แต่ได้เข้าไปเดินเรื่องขอรับค่าชดเชยบ้านถูกน้ำท่วม 5,000 บาท กับผู้ใหญ่บ้าน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลบางกระแท่น อ.บางปะอิน ไปลงทะเบียนขอฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ศึกษาการขอกู้ยืมเงินจากประกันสังคมจังหวัด ซึ่งผลปรากฏว่า
1. เงื่อนไขในการขอรับค่าชดเชยอาจไม่ครอบคลุมบ้านที่มีน้ำท่วมขังหน้าบ้านเพียง เล็กน้อย และมีขั้นตอนการยื่นเรื่องหลายขั้นตอนและใช้เวลาเกือบเดือนแล้วยังไม่ได้รับ การพิจารณา
2. เงื่อนไขในการขอกู้ยืมเงินจากประกันสังคมไม่ครอบคลุมคนงานที่มีรายได้ต่ำเกณฑ์
3. ยื่นขอฝึกอบรมวิชาชีพ เช่น เย็บผ้า วันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วัน ที่ศาลากลางจังหวัด แต่ศูนย์ฝึกอบรมอยู่กลางทุ่งนา แถวบางปะหัน
4. ไปสมัครฟื้นฟูสอนทักษะพัฒนะฝีมือแรงงานของแรงงานจังหวัด จำเป็นต้องรอเรียกตัวจนกว่าจะมีคนมาลงทะเบียนมากขึ้น จึงจะเปิดฝึกอบรมนั้นๆ ซึ่งรอคอยมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์
2.3 การลดเงินเดือนพนักงานเอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย
บริษัทเอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน มีเพียงการลดเงินเดือนพนักงานลงเหลือ 75% จนกว่าจะเปิดกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2555
ทว่า บริษัทใช้มาตรา 75 ทั้งในยามวิกฤตและก่อนวิกฤตน้ำท่วม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 นายจ้างประกาศลดเงินเดือนพนักงานให้เหลือ 75% โดยอ้างปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ทำให้พนักงานรู้สึกคับข้องใจอย่างมากจนเกิดการชุมนุมของพนักงานจำนวนกว่า 500 คนที่โรงอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทยเพื่อให้นาย จ้างชี้แจงเหตุผล และเรียกร้องไม่ให้นายจ้างลดเงินเดือน เพราะที่เป็นอยู่ก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี เหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องนำไปสู่การเลิกจ้างแกนนำสหภาพและสมาชิกสหภาพ จำนวน 61 คน และขณะนี้เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการแรง งานสัมพันธ์ ซึ่งเลื่อนกำหนดการไต่สวนไปอีก เพราะติดน้ำท่วม
2.4 การเลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรงและการโยกย้ายพนักงานประจำของบริษัทโซนี่ เทคโนโลยี
บริษัทโซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค หยุดงาน 12 ต.ค.จนถึงปัจจุบัน แต่เรียกบางแผนกมาทำงาน พนักงานได้เงินเดือน 75% ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทบอกเลิกสัญญากับบริษัทจัดหาพนักงานเหมาค่าแรงทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้พนักงานเหมาค่าแรงไม่ได้รับค่าจ้างค่าจ่าย และค่าชดเชย เพราะไม่ทราบสิทธิของตนเอง
นอกจากนี้ยังได้มีนโยบายย้ายพนักงานประจำทั้งรายวันและรายเดือนไปทำงาน ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งพนักงานสงสัยว่าถ้าไม่โยกย้าย บริษัทจะทำอย่างไร เพราะบริษัทไม่มีความชัดเจนในเรื่องการโยกย้ายพนักงานทั้งสิ้น 4,000 คนไปยังจังหวัดชลบุรี บริษัทแจ้งเพียงว่าจะติดต่อเช่าหอพักเอกชนให้ 2 เดือนเท่านั้น และจะให้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาท สวัสดิการอีก 3,000 บาทด้วย พนักงานจึงต้องรอบริษัทประกาศอีกครั้งในวันที่ 19 มกราคม 2555 อย่างไรก็ตามได้มีการย้ายบางส่วนมาที่จังหวัดชลบุรีเพื่อมาทดแทนเด็กฝึกงาน ที่ถูกบอกเลิกสัญญาไป
ในช่วงระหว่างนี้ บริษัทจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน 75% แต่ไม่จ่ายสวัสดิการอื่นๆ พนักงานที่มีครอบครัวที่ไม่ประสงค์จะโยกย้าย จึงต้องการทราบถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะขอบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอถึงปีหน้า
อีกทั้งพนักงานโซนี่ อยุธยากังวลในเรื่องที่อยู่ที่ชลบุรี เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย การเดินทางไม่สะดวก สวัสดิการไม่เท่าเทียมกับพนักงานโซนี่ ชลบุรี และเงินเดือนที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งกังวลว่าถ้าไม่ย้าย นายจ้างจะประกาศตัดสิทธิถูกคัดออกหรือไม่ พร้อมกับไม่จ่ายค่าชดเชย
3. พื้นที่จังหวัดชลบุรี
3.1 การลดเงินเดือนพนักงานโซนี่
บริษัทโซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บริษัทสั่งหยุดงานตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 12 ธันวาคม 2554 ได้รับเงินเดือน 75% รวมสวัสดิการ โดยบริษัทอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม อีกทั้งบริษัทมีแผนการโยกย้ายพนักงานไปยังโกดังบางพลี สมุทรปราการ
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่หยุดงานเกิดปัญหาพนักงานรอไม่ไหว เพราะค่าใช้จ่ายสูง จึงไปหางานทำใหม่ ทำให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง
3.2 การลดเงินเดือนพนักงานไดดอง
นายจ้างบริษัทไดดอง ชาวเกาหลีได้ประกาศใช้มาตรา 75 แก่พนักงาน โดยอ้างวิกฤตน้ำท่วม สหภาพแรงงานไดดองจึงทำหนังสือคัดค้านไปยังแรงงานจังหวัด บริษัทจึงยินยอมจ่ายครบ 100%
4. พื้นที่จังหวัดลำพูน
บริษัทโฮยา กลาสดิสก์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คน ในโรง 2 จากจำนวนพนักงานทั้งสิ้นกว่า 5,000 คนให้เป็นผลในวันที่ 21 ม.ค. 55 พนักงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยนายจ้างอ้างเหตุผลว่า ลูกค้าเลิกสั่งซื้อแล้ว และขาดทุน จึงจำเป็นต้องปิดการผลิตโรง 2 ก่อนหน้านี้บริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% ช่วงพ.ย.-ธ.ค. 54 โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม และในระหว่างนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรใหม่เข้ามา
พนักงานกังวลว่านายจ้างจะใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีมาทดแทนคนงานและเลิก จ้างในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ทั้งเป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพแรงงาน และหนีนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศด้วย เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มค่าจ้างตามสัดส่วนและตามอายุงานของพนักงาน ดังนั้นพนักงานจึงเรียกร้องไม่ให้มีการเลิกจ้าง
5. พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม
สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอนครหลวงเล่าว่า บริษัทไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่อ้างน้ำท่วม เพื่อที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% จ่ายโบนัส 2 งวด ทำให้พนักงานไม่พอใจเพราะต้องการให้จ่ายงวดเดียวเช่นเคย ส่วนปัญหาหลักของคนงานย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ที่เข้ามาร้องเรียน ณ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานของกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ คือการที่คนงานไม่สามารถมาทำงานได้ เพราะบ้านถูกน้ำท่วมในขณะที่โรงงานไม่ถูกน้ำท่วม บางคนถึงกับต้องลาออกไป อีกทั้งโรงงานหลายแห่งมีพฤติกรรมจ่ายค่าจ้าง 75% จนถึงไม่จ่ายเลยทำให้คนงานเดือดร้อนมาก เพราะกำลังถูกลอยแพ
สำหรับกรณีพนักงานบริษัทไดนามิค นายจ้างได้สั่งให้หยุดงานตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วมและไม่ทำการป้องกันน้ำท่วมแต่ อย่างใด ทั้งก่อนหน้านี้นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจนถูกประกัน สังคมยึดเครื่องจักรไป ในช่วงระหว่างน้ำท่วม บริษัทไม่ได้ติดต่อพนักงานว่าจะจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่ ซึ่งทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานสงสัยและกังวลใจเป็นอย่างมากเป็นเหตุให้กรรมการ สหภาพแรงงานคนหนึ่งเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก นอนอยู่โรงพยาบาล ล่าสุด นายจ้างได้เจรจากับสหภาพแรงงานไดนามิคแล้ว ตกลงว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้คนงานทุกคนๆ ละ 2,000 บาท จนกว่าโรงงานจะเปิดทำการผลิต แต่จะไม่จ่ายค่าจ้างเต็ม ซึ่งเงินจำนวนนี้น้อยมาก ไม่เพียงพอในการดำเนินชีวิต อีกทั้งพนักงานจำนวนมากประสบภัยน้ำท่วม พวกเขาจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
สรุปประเด็นปัญหาแรงงานในช่วงระหว่างและหลังเกิดอุทกภัย
ไม่ใช่เพียงแต่นายจ้างเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน ลูกจ้างก็เช่นเดียวกัน แต่ลูกจ้างยังประสบปัญหาการขาดรายได้ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น สูญเสียสถานภาพของการเป็นลูกจ้าง ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไร้อำนาจการต่อรองกับนายจ้าง โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
1.การเลิกจ้างพนักงาน มี 5 รูปแบบ ได้แก่
1.1 เลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรง (sub-contract) โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย อันเป็นการลอยแพผู้ใช้แรงงานที่ถูกจ้างงานอย่างยืดหยุ่น พวกเขาไม่ได้รับการปกป้องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทัน ท่วงที
1.2 เลิกจ้างพนักงาน แต่ยังไม่ปิดกิจการ โดยที่นายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยต่างๆ ทำให้พนักงานไม่พอใจเป็นอย่างมากและรู้สึกถูกซ้ำเติมจากนายจ้าง
1.3 เลิกจ้างพนักงาน โดยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย แต่ไม่จ่ายสวัสดิการบางส่วน เช่น โบนัส เบี้ยขยัน
1.4 เลิกจ้างแบบเลือกปฏิบัติ แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่นายจ้างกลับเลือกจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ถูกเลิกจ้าง ทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
1.5 เลิกจ้างเพื่อมุ่งทำลายสหภาพแรงงาน เลือกเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน เลิกจ้างพนักงานเกือบทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อไม่ให้สหภาพแรงงานดำเนินกิจการได้ และหมดอำนาจการต่อรองในที่สุด
แรงงานประเภทที่ถูกกระทำมากที่สุด โดยเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย คือ คนงานเหมาค่าแรง คนงานชั่วคราว คนงานรายวัน ตามลำดับ
2. การจ่ายเงินเดือนไม่ครบ 100%
2.1 รัฐช่วยเหลือนายจ้างให้สามารถจ่ายเงินเดือน 75% แก่พนักงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่สถานประกอบการถูกน้ำท่วม แต่นายจ้างบางคนไม่จ่ายสวัสดิการอื่นๆ ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้จำนวนมาก เพราะฐานเงินเดือนต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายประจำ และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอันเนื่องจากบ้านและทรัพย์สินเสียหายจากอุทกภัย ลูกจ้างส่วนหนึ่งจึงออกจากงานไป เพื่อไปหางานทำใหม่
2.2 การใช้มาตรา 75 ครอบคลุมไปจนถึงสถานประกอบการที่ไม่ถูกน้ำท่วม ทำให้มีบางแห่งมักอ้างว่าถูกน้ำท่วม หรืออ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย การใช้มาตรา 75 แบบเหมาเข่งนี้ขาดการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างละเอียด ทำให้คนงานเสียสิทธิประโยชน์มากมาย
2. ความไม่เพียงพอของมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
จากกรณีปัญหาแรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือ และฟื้นฟูสถานะของความเป็นลูกจ้าง แต่กลับเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิ และความไม่มั่นคงในการทำงาน อันเนื่องมาจากระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น จึงต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมาย
ยังมีข้อสงสัยจากพนักงานถึงเงินช่วยเหลือเยียวยา 2,000 บาท ว่า นายจ้างที่ตกลงทำ MOU กับรัฐบาลเพื่อชะลอการเลิกจ้างนั้น ละเมิดข้อตกลงหรือไม่ และเมื่อเลยระยะเวลา 3 เดือนแล้ว จะมีอะไรประกันว่าพวกเขาจะไม่ถูกเลิกจ้าง เมื่อแรงงานไม่สามารถคงสถานะความเป็นลูกจ้างได้ คำถามคือ มาตรการอื่นๆ นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดในการฟื้นฟูจิตใจ งาน และชีวิตให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด เช่น
-เงื่อนไขการกู้เงินที่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์
-ความไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงานต่างถิ่น เพราะไม่มีเงินรองก้นกระเป๋าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการย้ายที่อยู่ใหม่
- ความกังวลต่อการกลับเข้ามาทำงานเดิม เนื่องจากยังไม่เห็นว่ามีบริษัทใดประกาศออกมาชัดเจนต่อกรณีที่พนักงานของตน ไปทำงานที่อื่นในช่วงเวลาที่โรงงานยังไม่เปิดกิจการ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจึงมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและ รัฐบาลให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของแรงงานและสอดรับกับ สภาพความเป็นจริง ดังต่อไปนี้
3. ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล
มี 5 ข้อดังนี้
1. รัฐต้องปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงานให้สามารถสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ในประเด็นต่อไปนี้
1.1 ประกาศขยายการใช้มาตรการให้เงินช่วยเหลือแรงงาน 2,000 บาทที่จ่ายผ่านนายจ้างต่อไปอีก เนื่องจากเมื่อชะลอการเลิกจ้างออกไปครบ 3 เดือนแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ที่พนักงานจะถูกลอยแพมากขึ้นในช่วงต้นปี 2555 และบังคับให้นายจ้างทำข้อตกลงนี้ทุกคน
1.2 เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยประมาณเดือนละ 5,000 บาท สามารถกู้เงินกองทุนประกันสังคมได้ โดยลดเงื่อนไขบางประการ ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราต่ำ และผ่อนชำระเป็นรายเดือน เมื่อหางานทำใหม่ได้แล้ว
2. หากสถานประกอบการใดไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายในปี 2555 ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย
3. รัฐควรให้เงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้ใช้แรงงานที่ถูกลอยแพ ได้แก่ กลุ่มคนงานเหมาช่วง คนงานหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังว่างงาน คนงานสูงอายุ เนื่องจากหางานทำยากและอาจใช้เวลานาน เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ไม่รับเข้าทำงาน
4. ขยายเวลาประกันการว่างงาน เป็น 10 เดือน เพื่อให้โอกาสแก่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ แรงงานสูงวัย แรงงานที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง
5. รัฐบาลจะต้องตรวจสอบการกระทำไม่เป็นธรรมของสถานประกอบการที่พยายามหลีก เลี่ยงกฎหมาย ลอยแพพนักงาน จงใจทำลายสหภาพแรงงานและอำนาจการต่อรอง เพื่อลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาของแรงงานที่กำลังเกิดขึ้น ดังกรณีปัญหาที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น
ทั้งนี้แรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด คือคนส่วนใหญ่ที่ได้ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงควรได้รับสวัสดิการที่ดีอย่างถ้วนหน้า และมีความมั่นคงในการทำงาน อันเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และช่วยสร้างมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นด้วย
..........
[1] การผลิตของอุตสาหกรรม ดังกล่าว สมาชิกประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก (มีสมาชิก 40 สหภาพแรงงาน) โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สภาองค์การสิทธิแรงงาน นักพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน สหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ สหภาพแรงงานฟูจิตสึ (บ.โตชิบา) การรวมตัวกันและการทำกิจกรรม ศึกษาวิจัยต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์สากล (ตั้งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์)
[2] เว็บไซด์โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. แหล่งที่มา: http://www.thailabour.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=1563&auto_id=7&TopicPk=