ที่มา ประชาไท
มสช. เปิดเวที ‘ปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด’ แกนนำภาคประชาชนและนักวิชาการทั่วประเทศกว่า 200 คนร่วมถกหาทางออกเพื่อต่อสู้กับชะตากรรมซ้ำซากของประชาชน พร้อมเชื่อมร้อยเครือข่ายไขปัญหาคุกคามสิทธิชุมชน ปลุกพลังความเชื่อมั่นสร้างความเข้มแข็ง เน้นครอบคลุมทุกปัญหาสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด โดยมีแกนนำภาคประชาชนและนักสิทธิชุมชนจาก 32 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมนักวิชาการเข้ารวมกว่า 200 คน เข้าร่วมเวที เพื่อระดมความคิดและร่วมกันหาทางขับเคลื่อนจากสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ ว่าพลเมืองจะร่วมกันอย่างไร แก้ปัญหาชุมชนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามสิทธิชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ธุรกิจเหมือง และแผนพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมานอกจากแนวโน้มการคุกคามสิทธิชุมชนจะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีการกระทำรุนแรงและเกิดความสูญเสียในหมู่ภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวที เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประชาชนเผชิญปัญหาจากการหยิบยื่นความคิดของภาครัฐที่จะเข้าไป ดำเนินการในพื้นที่ในต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่เป็นอยู่แม้จะต่างเวลาก็ตามแต่ ผลกระทบและชะตากรรมของแต่ละชุมชนก็ไม่แตกต่างกัน และเกิดขั้นในทุกหย่อมหญ้าไปแล้ว ดังนั้น การที่แต่ละพื้นที่เกิดการเชื่อมร้อยกันก็จะเห็นมิติในการผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นรูปธรรม รวมถึงการผลักดันกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนจากภาครัฐในแต่ละภูมิภาค ในรูปแบบที่เป็นจริงมากกว่าแค่การเชิญไปร่วมรับฟัง นั่นหมายถึงว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ให้คนพื้นที่ได้มีโอกาสตัดสินใจ ทั้งนี้ ไม่ใช่การผูกขาดแต่ในพื้นที่ แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นในเชิงนโยบายสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนับเป็นประเด็นร่วมกันของทุกพื้นที่ในการพยายามสะท้อนให้รัฐบาลคิดทบทวน และคิดเครื่องมือที่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง จึงจะทำให้การพัฒนาพื้นที่นั้นเดินไปข้างหน้าได้อย่างลงตัวกับทุกภาคส่วน
“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการเปิดเวทีนี้คือการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของ ปัญหาในแต่ละพื้นที่ในคราวเดียวกัน เนื่องจากทุกคนต่างแบกปัญหาต่างๆ นาๆ มาด้วย และครอบคลุมในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนิคม เขื่อน ขยะล้น หรือเหมืองแร่ก็ตาม แต่ละโครงการพัฒนาทั้งหลายจากรัฐเต็มไปด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวน มาก แล้วยังจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่นำมาสู่การพูดคุยกัน” นายสุทธิกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีแกนนำภาคประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายจนเสียชีวิตถึง 20 ราย เฉลี่ยปีละ 2 ราย และมีจำนวนมากที่ถูกฝ่ายทุนหรือรัฐฟ้องเป็นคดีความ บางกรณีถูกจับกุมคุมขังระหว่างดำเนินคดี โดยล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกศาลสั่งจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนและหลายฝ่ายเกิดความตื่นตัว หาทางที่จะผลักดันแนวทางที่ทำให้นักต่อสู้ด้านสิทธิชุมชน ได้รับการคุ้มครอง ในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตามรับธรรมนูญ
นางจินตนา เปิดใจว่า ปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง การดำเนินวิถีแห่งการต่อสู้จึงแตกต่างตาม การเชื่อมร้อยเครือข่ายจะช่วยสร้างความเข็มแข็งของการต่อสู้เพื่อสิทธิได้ เช่น หากสถานการณ์ในพื้นที่ใดส่อเค้าความรุนแรง เครือข่ายประชาชนจากต่างพื้นที่ก็สามารถเคลื่อนไหวแสดงพลังได้แม้จะต่างที่ ต่างถิ่น
“สิ่งที่ต้องเรียกร้องด่วนในนาทีนี้คือการผลักดันให้มีศาลสิ่งแวดล้อมใน กระบวนการยุติธรรมที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับคดีที่สืบเนื่องจากสิ่งแวด ล้อมโดยเฉพาะ ขณะนี้พี่น้องประชาชนที่ต่อสู้กับสิทธิชุมชนต้องต่อสู้คดีอาญาไปด้วยในเวลา เดียวกัน แล้วยังต้องต่อสู้เสี่ยงกับลูกปืน ณ วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะมีศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในประเทศไทย” นางจินตนากล่าว
ทางด้านนายทิวา แตงอ่อน กลุ่มอนุรักษ์บ่อวิน กล่าวว่า การเชื่อมร้อยเครือข่ายในวันนี้ พี่น้องประชาชนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ขอกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ด้วยมองว่าการที่ทุกเครือข่ายลุกขึ้นมารวมตัวกันนั้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการ ถูกนายทุนและรัฐกำหนดชะตา แต่ต้องการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ นายทิวายังได้กล่าวถึงความคาดหวังจากเวทีนี้ว่า ต้องการเห็นความเข้มแข็งของประชาชนและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้ เข้มข้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ เวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่องภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน การเสวนาสภาพปัญหานิคมอุตสาหกรรมไทย ภัยคุกคามจากเหมืองแร่ และปัญหาแผนการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยแกนนำภาคประชาชนและตัวแทนสื่อพลเมืองผลัดกันหยิบยกแง่คิดและประสบการณ์ใน พื้นที่ของตนมาหารือร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่องพลังพลเมืองทางรอดของประเทศ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้ง มีพิธีกรรมเสริมพลังพลเมือง อันเป็นพิธีกรรมในวิถีชุมชนท้องถิ่น ตามฐานความเชื่อและศรัทธาว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกพลังความเชื่อมั่น และความมุ่งมั่น ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นเพียงชาวบ้านแต่ต้องต่อสู้กับอำนาจทุนและ ความฉ้อฉลและอ่อนแอของกลไกภาครัฐ
ในตอนท้ายชาวบ้านได้ร่วมกันปิดเวทีด้วยการประกาศเจตนารมณ์ในการขับ เคลื่อนเพื่อทวงคืนสิทธิชุมชนทั่วประเทศและปกป้องชุมชนอื่นที่กำลังจะ ถูกรุกราน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ ไม่ถูกทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนแยกย้ายกันไปพร้อมพกพาพลังในการต่อสู้ในแต่ละถิ่นฐานบ้านเกิดของตน