ที่มา ประชาไท
สำหรับผู้รักเสรีภาพ และยุติธรรมแล้ว การลุกขึ้นสู้ของขบวนการโซลิดาริตี้ ที่มีแกนนำหลักคือสหภาพแรงงานอู่ต่อเรือในเมืองกดั๊งสก์ของโปแลนด์ คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ระบอบโซเวียตตามแนวทางลัทธิเลนินนั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับสังคมมนุษย์
ผลพวงการลุกขึ้นสู้ของขบวนการถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยบั่นทอนอย่างรุนแรง ให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย สิ้นสุดยุคของสงครามเย็นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1991(พ.ศ. 2534) นั้น ปัจจุบันได้คลี่คลายไปจากขบวนการทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สั่นสะเทือนโลก กลายเป็นพลังทางสังคมที่แตกซ่านไปจนเหลือสภาพเดิมค่อนข้างน้อย ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคมของโปแลนด์กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุน นิยมโลกที่เชื่อมติดกับสหภาพยุโรปอย่างลึกซึ้ง
การทบทวนสถานการณ์ของขบวนการโซลิดาริตี้ทั้งระหว่างการต่อสู้และหลังจาก การล่มสลายของโซเวียต จึงเป็นบทเรียนที่ผู้รักเสรีภาพ ยุติรรม และประชาธิปไตยไทย ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร จำต้องศึกษาทบทวนอย่างจริงจัง มิใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปกับสายลม
โซลิดาริตี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวสร้างเอกภาพของการต่อสู้อำนาจเผด็จการของพรรค คอมมิวนิสต์ แต่เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายเอกภาพดังกล่าว ก็แปลงสภาพเป็นเอกภาพของความหลากหลายภายใต้สังคมประชาธิปไตยที่โซลิดาริตี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลัง มิใช่ในฐานะพลังหลักอีกต่อไป
เอกภาพของการต่อต้านคอมมิวนิสต์
การถือกำเนิดของขบวนการโซลิดาริตี้(เอกภาพ)ในเมืองกดั๊งสก์ เกิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อถอยอย่างรุนแรงของระบอบอำนาจของสหภาพโซเวียตที่ ประสบปัญหาถดถอยทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงต่อเนื่อง จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่อยู่ใต้เขตอิทธิพลของโซเวียตตาม สนธิสัญญวอร์ซอร์มานับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเข้มข้น
อำนาจรัฐโปแลนด์ ภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอิทธิพลโซเวียต ก็ถูกท้าทายเป็นกระแสเช่นเดียวกัน คำถามใหญ่ก็คือ อำนาจรัฐที่อ้างว่าเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้น แท้ที่จริงแล้ว มีผลประโยชน์ที่ไปกันไม่ได้เลยกับชนชั้นกรรมกรของสังคม
ความคุกรุ่นของสถานการณ์ ปะทุขึ้นมาเมื่อสหภาพแรงงานท่าเรือของเมืองกดั๊งส์ก์ เมืองท่าใหญ่ที่สุดในทะเลบอลติก ได้ลุกฮือขึ้นมา ทำการนัดหยุดงานหลายครั้ง แม้จะเผชิญหน้ากับการปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรรมการท่าเรือลุกฮือขึ้นมา ก็ด้วยเหตุผล 3 ประการหลัก นั่นคือ
รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ผลักดันนโยบายทำให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่าง รวดเร็ว โดยใช้เมืองกดั๊งสก์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา อุตสาหกรรมหลักของเมืองนี้ได้แก่การต่อเรือ ซึ่งในยุโรปแล้วเป็นรองเฉพาะยูโกสลาเวียในทะเลเอเดรียติกเท่านั้น ทำให้เมืองนี้เป็นแหล่งชุมนุมของกรรมกรจากทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว
ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินค้าพุ่งพรวดอย่างรุนแรงเกินกว่ารายได้ของผู้ใช้แรงงานจะตามได้ ทัน สร้างแรงกดดันคุกรุ่นมายาวนานมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งมีการนัดหยุดงานหลายครั้ง แต่ละครั้งถูกทั้งปราบรุนแรงจากอำนาจรัฐ และปลอบด้วยถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อลมๆแล้งๆที่หาคนเชื่อได้น้อยเต็มที
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่กลายสภาพเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพวก”กระฎุมพีแดง”มายาวนาน จนกระทั่งความพยายามสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งขึ้นมากลบเกลื่อนความเหลื่อม ล้ำทางสังคมไม่สามารถปิดบังได้อีกต่อไป
การลุกฮือนัดหยุดงานของกรรมกรอู่ต่อเรือเลนินที่เมืองกดั๊งสก์ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980คือจุดชนวนสำคัญที่ทำให้กรรมกรท่าเรือและโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆในเมือง เดียวกันและใกล้เคียงนัดหยุดงานต่อเนื่องลุกลาม สร้างความตระหนกตกใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ขณะนั้นอย่างรุนแรง
เพื่อรับมือกับการปราบปรามจากอำนาจรัฐ แกนนำกรรมกรทั้งหลายได้หารือกันและมีมติร่วมกันจัดตั้งขบวนการโซลิดาริตี้ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยข้อเรียกร้อง 21 ข้ออันลือลั่น(ซึ่งนักศึกษามาร์กซิสท์บางคนเรียกขานว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ ก้าวหน้ากว่าคอมมูนปารีส ค.ศ.1871 หลายเท่า) ทำให้ขบวนการกรรมกรกลายสภาพเป็นขบวนการของมวลชนอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง
ปรากฏการณ์โซลิดาริตี้ดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนก ไม่เฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เท่านั้น แต่เป็นทั่วทั้งเขตอิทธิพลสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอร์ด้วย เนื่องจากนี่คือ การเคลื่อนไหวที่ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นมาทวงอำนาจรัฐที่ถูกปล้นชิงไปจากเท คโนแครตแดงภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดตั้งขึ้นตามหลักลัทธิเลนินมายาวนาน
ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกอ้างเสมอมาว่าเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก”ของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก จะลุกขึ้นมาต่อต้านพรรคอย่างเปิดเผยเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้เลยสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ที่พร้อมจะตั้งข้อหา”พวก ปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติ”มาปราบปรามศัตรูทางอำนาจของตน แม้จะขาดความสมเหตุสมผลพอสมควร
ยิ่งเมืองกดั๊งสก์ (หรือชื่อเดิมของเมืองคือ ดานซิก หรือฉนวนโปแลนด์) ก็มีชื่อเสียงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ยาวนานในระดับโลก รวมทั้งเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยิ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหารของยุโรปอย่างมาก
พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปราบปราม โดยงัดเอากฏอัยการศึกมาใช้ในต้นปี ค.ศ. 1981 พร้อมกับจับกุมแกนนำของโซลิดาริตี้ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับเข้าคุกจำนวนมาก แต่มันสายเกินไปที่จะหยุดยั้งได้ องค์กรจัดตั้งแบบปิดลับของโซลิดาริตี้ที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่างทันท่วงที โดยอาศัยพันธมิตรร่วมสู้ที่สำคัญนั่นคือ ศาสนจักรคาธอลิกที่มีวาติกันอยู่เบื้องหลัง
สำหรับสหรัฐฯ นอกเหนือจากการดำเนินการทางเปิดด้วยการชูประเด็นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนใน โปแลนด์และยุโรปตะวันออกมากดดันให้การบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศกลุ่ม สนธิสัญญาวอร์ซอร์ รวมทั้งห้ามการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆทั้งจากสหรัฐฯ สมาชิกนาโต้ และญีปุ่นเพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างหนักแล้ว ยังได้เดินเกมทางลับจับมือกับวาติกันเพื่อถ่ายโอนความช่วยเหลือทางการเงิน และวัตถุปัจจัยการต่อต้านรัฐคอมมิวนิสต์ให้กับโซลิดาริตี้ผ่านทางจัดตั้งของ โบสถ์คาธอลิกทั่วโปแลนด์ (โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า สันตปาปา จอห์น พอลที่ 2 ในขณะนั้นเป็นคาร์ดินัลจากโปแลนด์ ซึ่งมีบารมีสูงมากในระดับโลก) ทำให้องค์กรใต้ดินของโซลิดาริตี้สามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องและ ท้าทายอำนาจรัฐโซเวียตอย่างหนัก
วิทยุใต้ดินโซลิดาริตี้ ที่ส่งกระจายเสียงภายใต้การนำของแกนนำที่หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่าง สบิกนิว โรมาสซิวสกี้ ทำการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ และโซเวียตอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นคลื่นที่มีผู้ฟังล้นหลาม ซึ่งพร้อมช่วยกันแพร่กระจายข่าวสารต่อต้านรัฐอย่างมีพลานุภาพ ในขณะที่เอกสารและวรรณกรรมใต้ดิน ได้รับการส่งผ่านเข้าไปอย่างลับๆไม่ขาดระยะ
เมื่อความพยายามใช้อำนาจปราบปรามไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของโซลิดาริ ตี้ได้ ประกอบกับอำนาจรัฐโซเวียตในทุกแห่งของประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์เริ่ม เสื่อมสภาพลงไปเพราะปัญหาความล้มเหลวทางการผลิต โดยเฉพาะโซเวียตรัสเซียที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำหลายรุ่นเพื่อแก้สถานการณ์ ขาลงอย่างลนลาน จนต้องหันมาใช้นโยบาย”กล้าสน็อส”(ผ่อนคลาย) ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จำต้องปรับท่าที ปล่อยตัวกลุ่มโซลิดาริตี้ออกจากคุก และหันมาเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมอย่างจริงจัง
ในช่วงนี้เอง ที่สมาชิกของโซลิดาริตี้เพิ่มพูนขึ้นมากกว่าล้านคนทั่วประเทศ เป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยมวลชนที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดของยุโรปหลัง สงครามโลกครั้งที่สอง แรงบันดาลใจจากโซลิดาริตี้ที่แพร่กระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกทำให้ กระแสต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์กลายเป็น คลื่นที่ต้านทานไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของการพังทลายกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกทุกประเทศ
การปรับตัวและเอกภาพใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์
ชัยชนะของผู้รักเสรีภาพ ยุติธรรม และประชาธิปไตยที่ได้รับมา ถูกส่งผ่านไปให้กับมวลชนโปแลนด์อย่างทั่วถึง แต่ในมุมกลับกัน การล้มเลิกระบบวางแผนเศรษฐกิจส่วนกลางมาเป็นทุนนิยมเต็มรูป และการล้มเลิกระบบการเมืองแบบพรรคเดียวของคอมมิวนิสต์มาเป็นพหุนิยม ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชะตากรรมของโซลิดาริตี้อย่างใหญ่หลวงด้วย
การรวมตัวของโซลิดาริตี้ ซึ่งแม้จะมีแกนนำหลักคือกลุ่มสหภาพแรงงานท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ยังมีส่วนผสมของปัญญาชน และกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนในการปฏิบัติ งานปิดลับใต้ดินหลังจากใช้กฎอัยการศึก ทำให้หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์แล้ว แนวทางการสร้างสังคมใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์ก็เริ่มกลายเป็นข้อถกเถียงกัน และนำมาซึ่งภาวะ”น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ”ขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ความแตกต่างที่สำคัญซึ่งนำมาสู่สภาพดังกล่าวได้แก่ แรกสุดคือ การฟื้นฟูอุดมการณ์ชาตินิยม เนื่องจากประวัติศาสตร์ของโปแลนด์อันเก่าแก่ เคยถูกรุกรานด้วยกองทัพของชาติที่เหนือกว่าจากทั้งทางตะวันตกคือเยอรมนี และตะวันออกคือรัสเซียมานับครั้งไม่ถ้วน คนโปแลนด์ยังไม่เคยลืมฝ้นร้ายคงจำได้ดีถึงการรุกรานจากเยอรมนีรวมทั้งค่าย กักกันยิวที่เอ้าสวิทซ์ และการครอบงำและสังหารหมู่ของสตาลินระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
คำถามสำคัญของประเทศยุคหลังคอมมิวนิสต์มีอยู่ว่า หากไม่มีสนธิสัญญาวอร์ซอร์และพันธะทางเศรษฐกิจของโคมีคอนแล้ว โปแลนด์จะตกใต้อิทธิพลของนาโต้ที่มีสหรัฐเป็นแกนหลักมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต้องเจรจากับรัสเซียเพื่อถอนกำลังทหารที่มาตั้งฐานใน โปแลนด์จำนวนประมาณ 6 หมื่นคนออกไปโดยไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในอนาคต
โจทย์ดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับคำถามในหมู่ผู้นำโซลิดาริตี้ด้วยกันว่า ขบวนการพร้อมจะแปลงสภาพกลายเป็นพรรคการเมืองของมวลชนหลายกลุ่มในระบบ ประชาธิปไตยเต็มรูป หรือจะเป็นแค่ตัวแทนสหภาพแรงงานกรรมาชีพกันต่อไป เมื่อภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มพลังที่เข้ามาร่วมในขบวนการหลายกลุ่มไม่เป็น หนึ่งเดียวกัน
การตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อ ในทันทีเป็นเรื่องยากลำบากในยามที่ประเทศต้องดำเนินการออกแบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจใหม่หลังยุคคอมมิวนิสต์อย่างทุลักทุเล ทำให้ผู้นำของโซลิดาริตี้อย่างเป็นทางการในยามนั้นคิอ เล็ก วาเลซ่า ผู้นำสภาพแรงงานกดั๊งสก์เก่า ซึ่งแม้จะมีฐานะนำในขบวนการอยู่แข็งแกร่ง แต่ก็พบว่าได้รับแรงสนับสนุนทางความคิดน้อยเกินไป จึงมีข้อสรุปส่วนตัวชัดเจนว่าชัยชนะของโซลิดาริตี้ที่มาเร็วเกินคาด ทำให้ความพร้อมจะเป็นพรรคการเมืองของมวลชนจะเป็นอุปสรรคมากกว่าเป็นพลังอัน แข็งแกร่ง
ความพยายามประนีประนอมระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นจริง ทำให้โซลิดาริตี้จำต้องยินยอมเจรจากับอดีตแกนนำของพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์ เดิมเพื่อให้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ทุน นิยมและเสรีภาพ แต่การประนีประนอมกลับปรากฏผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนา เพราะว่าแกนนำบางส่วนของโซลิดาริตี้กับหลงไหลได้ปลื้มกับอำนาจรัฐใหม่ชั่ว คราวนั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นมาอย่างหนัก
ท้ายสุด โซลิดาริตี้ก็เดินมาถึงทางตันเมื่อแกนนำบางส่วน นำโดยเล็ก วาเลซ่า ตัดสินใจแยกตัวออกจากโซลิดาริตี้ไปสมัครเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง เพื่อหาทางเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามยื้อแย่งชื่อของโซลิดาริตี้ไปเป็นชื่อพรรคการเมืองของแต่ละกลุ่ม ภายในขบวนการเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นที่กลุ่มต่างๆในโซลิดาริตี้ ตัดสินใจแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ส่วนตัว ซึ่งมีทั้งการต่อสู้กันและร่วมมือกัน ทิ้งชื่อโซลิดาริตี้เอาไว้เป็นอดีตในฐานะส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองอีกต่อไป
แม้จะแยกตัวกันไปหลายพรรคการเมือง แต่จุดร่วมหลักของแต่ละพรรคซึ่งก่อตั้งขึ้นมาจากอดีตโซลิดาริตี้ล้วนอยู่ใน กรอบเป้าหมายร่วมอย่างหลวมๆว่า จะต้องสร้างรัฐที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด มีหลักนิติธรรม และรับรองเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองเป็นเสาหลัก โดยมีการชี้นำผ่านวิสัยทัศน์ของแผนการออกแบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ของนัก เศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของโซลิดาริตี้ เลสเซ็ก บาเซโรวิทซ์ ที่อยู่เบื้องหลังแผนสร้างรัฐใหม่ที่เรียกว่า แผนบาเซโรวิทซ์ เป็นเค้าโครง
หลังจากใช้เวลาผ่านความเจ็บปวดมามากกว่า 20 ปีกระทั่งถึงปัจจุบัน โปแลนด์ได้กลายสภาพจากรัฐคอมมิวนิสต์ที่อ่อนแอ และเผด็จการ กลายสภาพเป็นชาติทุนนิยมใหม่ที่แข็งแกร่ง ไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำอย่างยาวนานน่าทึ่ง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าตื่นใจ และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเต็มรูป พร้อมกับเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร ในขณะที่อุตสาหกรรมหนักของประเทศได้เฟื่องฟูขึ้นเป็นหนึ่งในแกนหลักของทะเล บอลติกทางตอนเหนือของยุโรป พร้อมกับพัฒนาจากระบอบการเมืองกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นมีระบอบการเมืองแบบ ประชาธิปไตยเต็มรูปที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพภายใต้รัฐบาลผสม โดยที่ทุกพรรคการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นล้วนมีรากเหง้าเดิมจากโซลิ ดาริตี้ทั้งสิ้น
นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างใหม่เศรษฐกิจ การสร้างสังคมที่อารยะด้วยกติกาใหม่ๆ ทำให้โปแลนด์สลัดทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังหมดจด ก้าวสู่อนาคตได้แล้ว โปแลนด์ยังคงสามารถรักษาสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกเชื่อมโยงยุโรป ตะวันตกเข้ากับอดีตรัฐใต้กลุ่มโคมีคอนได้อย่างมีดุลยภาพ และนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง
พรรคการเมืองที่แตกแถวออกจากโซลิดาริตี้ไม่น้อยกว่า 8 พรรค โดยมีฐานเสียงสนับสนุนของตนเองที่หลากหลาย ต่างมีแนวทางเฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่อนุรักษ์นิยมสุด จนถึงซ้ายสังคมนิยม แต่ไม่มีพรรคไหนมีแนวทางขวาสุด หรือซ้ายสุดอีกเลย แล้วก็ไม่มีพรรคไหนชูแนวทางกีดกันชาติพันธุ์เลย สะท้อนให้เห็นแนวทางโซลิดาริตี้ที่เกิดจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ยังคงมี รากลึกอย่างเข้มข้น
การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และนาโต้เต็มรูป พร้อมกับรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียที่ถอนทหารออกจากประเทศจนหมดสิ้น นอกจากเป็นยุทธศาสตร์ทำให้โปแลนด์ปลอดภัยจากการคุกคามจากภายนอกประเทศแบบที่ เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้กองทัพต้องถอนตัวจากการมีบทบาททางการเมืองตามกติกาของ สหภาพยุโรปและนาโต้อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถกลับมาแทรกแซงสร้างกลไกเผด็จการซ้ำรอยยุคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ หรืออย่างชาติกำลังพัฒนาหลายแห่งในเอเชียและละตินอเมริกา
เอกภาพต่อต้านเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโซลิดาริตี้ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของสังคมอารยะ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้สมาชิกจดทะเบียนของโซลิดาริตี้ในปัจจุบันลดหายไปอย่างมาก มาย มีฐานะเป็นแค่สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกเหลือเพียงประมาณ 4 แสนคนเท่านั้นจากประชากรรวมของประเทศ 38 ล้านคน ไม่สามารถเป็นพลังหลักในการกำหนดอำนาจรัฐได้เต็มที่ เพราะในระยะหลังก็ยังมีสภาพแรงงานใหม่ๆเกิดขึ้นที่แยกตัวออกจากโซลิดาริ ตี้
แม้พลังจะลดลงไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง แต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ และขนาดของการเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก็ยังทำให้พลังทางสังคมของโซลิดาริตี้แข็งแกร่งต่อไป เป็นพลังถ่วงดุลอำนาจของรัฐ กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ และศาสนจักรคาธอลิกได้เป็นอย่างดี
บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในสังคมไทย
การต่อสู้ของโซลิดาริตี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า พลวัตของขบวนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้พ้นจากอำนาจเผด็จการนั้น ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่สามารถแปรสภาพไปมาได้ตามความเป็นจริงทางภววิสัย แม้ว่าเจตจำนงนั้นจะไม่เคยแปรเปลี่ยน แต่ก็จำต้องปรับสภาพให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ชัยชนะต่อเผด็จการคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จะไม่เป็นชัยชนะถาวรได้เลย หากว่า โซลิดาริตี้ไม่สามารถยอมรับการออกแบบใหม่ทางสังคม และไม่คำนึงถึงความต้องการหลักที่เรียกร้องให้จำต้องกระทำซึ่งเกินกว่าความ เรียกร้องต้องการของชนชั้นกรรมาชีพในขบวนการอย่างเดียว แต่ต้องรับรองข้อเท็จจริงที่ไม่คาดหมายมาก่อนเช่นความอยู่รอดในฐานะรัฐประชา ชาติที่เป็นเอกราชและมั่งคั่ง ซึ่งต้องผ่านการสร้างระบอบอำนาจรัฐที่เหมาะสม
กรณีของผู้รักประชาธิปไตยที่ผนึกกำลังสร้างเอกภาพในนามของคนเสื้อแดงหลัง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่าเป็นขบวนการข้ามชนชั้น ที่มีลักษณะของอุดมการร่วมกันอย่างหลวมๆ มีการจัดตั้งและพลังในการขับเคลื่อนอย่างไร้เอกภาพที่เห็นได้ง่ายทั้งจากภาย ในและภายนอก
ผู้รักประชาธิปไตยในคราบของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนยากจน เพราะรายได้เฉลี่ยของของสมาชิก ห่างไกลจากเส้นความยากจนตามมาตรฐานทางวิชาการขีดไว้ ให้ไกลโขทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชน ชั้นหนึ่ง พร้อมกับมีขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านวิธีการเผยแพร่ข่าว สารข้อมูล การชุมนุมทางการเมือง, และการจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ยังคงอ่อนด้อยในการจัดตั้ง(การเคลื่อนไหว ประเด็น และเป้าหมาย) ตรวจสอบ และมีลักษณะตามกระแสมากกว่าสร้างกรอบเป้าหมายระยะยาวเพื่อออกแบบสังคมใน อุดมคติ แม้ว่าจะเกิดอาการ "ตาสว่าง"ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนจุดยืนทางสังคมอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถยกระดับการต่อสู้ของมวลชนไปสู่ความเข้มแข็งเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่สามารถเก็บรับดอกผลของการต่อสู้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่ภววิสัยเอื้ออำนวยมากกว่าครั้งหลังจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 หลายเท่า
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงของไทย มีความแตกต่างทั้งสาระและรูปแบบกับโซลิดาริตี้อย่างมากมาย เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวในลักษณะ”หลากหลายที่ไร้เอกภาพ”อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ชัยชนะหลังการเลือกตั้งซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงบางส่วนได้เข้ามามีบทบาทร่วมในอำนาจรัฐ ไทยอย่างชอบธรรม แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผลักดันให้สังคมมีเสรีภาพและยุติธรรมมาก ขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับบทบาทของนักเลือกตั้งและนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่เข้าไปใช้ ประโยชน์จากอำนาจที่ได้มาบางส่วนตะกรุมตะกรามกันอย่างไร้ยางอาย รวมถึงการขับเคลื่อนชี้นำของกลุ่มพลพรรคแวดล้อมทักษิณ ชินวัตรซึ่งมีวาระซ่อนเร้นอยู่
จนถึงวันนี้ ร่างกฏหมายเผด็จการที่กดขี่เสรีภาพของมวลชน โครงสร้างของความอยุติธรรมทางสังคม และทิศทางสร้างทางออกใหม่ที่ปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคมให้เป็นประโยชน์ อย่างสร้างสรรค์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและวกวน ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองได้อย่างมีพลัง
ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทในการกำหนดย่างก้าวของรัฐในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเพื่อ สร้างฐานะนำอย่างมีพลังด้วยแล้วยิ่งไม่ปรากฎขึ้นเลยแม้แต่น้อย
รวมทั้งบทบาทการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ก็ยังคงดูเหมือนว่าจะมีอยู่ในระดับเข้มข้นต่อไปอย่างสังเกตได้ ความพยายามใดๆที่จะสร้างเงื่อนไขให้กองทัพต้องถอนตัวจากการแทรกแซงทางการ เมือง ลดระดับลงเหลือเพียงแค่การ”เกียเซียะ”ในมุมมืดแบบหมูไปไก่มาเท่านั้นเอง
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คำถามว่าด้วยการสร้างพลังถ่วงรั้งการใช้อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ที่ ผูกขาดกลไกธุรกิจไทยอย่างเหนียวแน่นที่อยู่เบื้องหลังการสมคบคิดกับอำนาจรัฐ มายาวนาน กลับไม่ปรากฏ เสมือนหนึ่งดูเบาว่านี่ไม่ใช่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทย
ชัยชนะหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ย่อมมีส่วนทำให้พลังของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงเปลี่ยนไปจากเดิม แบบเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับโซลิดาริตี้ของโปแลนด์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่ดูเหมือนไม่เร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เส้นทางของการเชื่อมต่อการต่อสู้เพื่อไปบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมที่ยกระดับ เสรีภาพและยุติธรรมมากขึ้นนั้น โซลิดาริตี้ทำได้ดีกว่าหลายสิบเท่าของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในไทย
หากไม่ศึกษาบทเรียนจากโซลิดาริตี้อย่างจริงจัง และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อแปลงให้เป็นรูปธรรมในช่วง เปลี่ยนผ่าน ความเป็นไปได้ที่ชัยชนะจากการต่อสู้จะเป็นได้เพียงแค่ม่านที่อำพรางความอ่อน ด้อยภายในของพลังเสรีภาพและยุติธรรม บนเอกภาพที่ไม่ยั่งยืนเท่านั้น
หากความคาดหมายนี้เกิดขึ้นมาจริง ความหลากหลายที่ไร้เอกภาพและไร้พลัง ย่อมหมายถึงโอกาสเป็นไปได้ที่ชัยชนะจะสูญเปล่า รอเวลาสำหรับการเข้าสู่วงจรอุบาทว์รอบใหม่ ซึ่งเสรีภาพ และยุติธรรมจะถูกปล้นชิงไปได้เมื่อกลุ่มเผด็จการอำมาตย์สมคบคิดซึ่งยามนี้ กำลังอำพรางตัวเองกับสถานการณ์ใหม่ สามารถตั้งตัวได้ และกลับมาร่วมตัดสินใจครั้งใหม่ในวันข้างหน้าว่าพร้อมแล้วสำหรับการกลับมา ใช้ความรุนแรงของอำนาจดิบกระชากสิทธิ์และผลประโยชน์กลับคืนไป
ถึงตอนนั้น ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ได้ และอาจจะทำให้ผู้รักประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในสภาพยิ่งกว่า”ไก่คุ้ยกองขยะ”เสีย ด้วยซ้ำ