ที่มา ประชาไท
โสภณ พรโชคชัย
2 กุมภาพันธ์ 2555
ผมเพิ่งอ่านพบข้อเขียนของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ {1} รุ่นพี่ธรรมศาสตร์ของผมเมื่อวานนี้เอง ทั้งที่อาจารย์ท่านเขียนมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว (ราว 4 เดือนก่อน) ผมไม่ได้ทำงานการเมือง เลยตกข่าว ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านนี้นัก แต่ผมเคยเขียนเรื่อง “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง” เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ผมจึงขอมายืนยันกับอาจารย์กิตติศักดิ์และทุกท่านในเรื่องนี้ครับ
ข้อเขียนของอาจารย์กิตติศักดิ์
ท่านเขียนไว้ว่า “ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้เห็นได้จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ 4 สิงหาคม ปี 2010 นี้เองว่า ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2008 ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาค และขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ตามประชามตินั้น ประชาชนเสียงข้างมากในแคลิฟอร์เนียต้องการให้กำหนดตายตัวลงในรัฐธรรมนูญของ แคลิฟอร์เนียทีเดียวว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น คำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาในคดีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน จัดเป็น Anti-Majoritarian Decision แต่ศาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ยอมรับว่า เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียง ข้างมากรับรู้ไว้”
ผมขอเห็นต่างจากอาจารย์กิตติศักดิ์ ดังนี้:
1. ประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้อยู่แล้ว ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ มติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม
2. อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตัดสินเป็นอื่นได้
3. ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่า “ศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้าง มากรับรู้ไว้” ไม่ได้ครับ เพราะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว
อย่าบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่
เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องนั้นเป็นสัจธรรม แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น เช่น ในกรณีศิลปวิทยาการ คนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่ไม่มีความรู้ อาจเชื่อว่าโลกแบน แต่ความจริงโลกกลม หรือเราคงไม่สามารถถามคนส่วนใหญ่ว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไร เราพึงถามผู้รู้ต่างหาก อย่างไรก็ตามในกรณีสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เสียงส่วนใหญ่ถูกต้องแน่นอน
บางคนอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี เยอรมนี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% เท่านั้น {3} ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์ และแม้นาซีจะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็เป็นการชนะด้วยเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี
โดยสรุปแล้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเรื่องของปุถุชน ทุกคนรู้เท่าทันกัน เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ไม่มีใครโง่กว่าใคร ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นจะถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรืองมงายเอง ซึ่งไม่ใช่ปรากฏเฉพาะปุถุชน แม้แต่ อาจารย์ระดับดอกเตอร์ชื่อดังยังหลงคารมเปรตกู้มาแล้ว หรือพวกคุณหญิงคุณนาย นายทหารใหญ่ ๆ ไปหลงเคารพอลัชชีทั้งหลาย เป็นต้น
อย่าหลงกับ “คนดี”
ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่า “ หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะตั้งอยู่บนฐานของเสียงข้างมากเฉยๆ . . . อำนาจสูงสุดแม้จะเป็นของประชาชน แต่ก็จำกัดโดยกฎหมายเสมอ และกฎหมายที่ว่านี้มีอยู่อย่างไรก็ต้องตัดสินโดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นอิสระ . . . ที่ว่าเป็นอิสระในที่นี้ก็คือต้องเป็นคนกลาง ที่เข้าสู่ตำแหน่งเพราะมีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางคุณวุฒิ และทางคุณธรรม ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่พอจะทำให้น่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณวุฒิเป็นผู้รู้กฎหมาย รู้ผิดชอบชั่วดี และเป็นผู้ทรงคุณธรรมคือวินิจฉัยตัดสินคดีไปตามความรู้และความสำนักผิดถูก ของตน โดยตั้งตนอยู่ในความปราศจากอคติ และมีหลักเกณฑ์ทางจรรยาบรรณคอยควบคุม”
ศาลรัฐธรรมนูญของไทยชุดนายอุระ หวังอ้อมกลาง ก็ถูก คปค (คมช) ยุบทิ้งไป กระบวนการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากวุฒิสภาซึ่งมาจาก คมช. อีกทอดหนึ่งหลังจากว่างเว้นไป 2 ปี จะประกันได้อย่างไรว่า “ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ” นอกจากนั้นจากการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ ปี 2554 {4} พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (57%) ไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 37.62 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 19.31 ไม่เชื่อมั่น) ส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื่อมั่น (ร้อยละ 25.53 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 17.54 เชื่อมั่นมาก) ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญก็เพราะ “เพราะการตัดสินคดีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคดีมองว่าเป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน”
คำถามสำหรับประเทศไทยก็คือ ข้าราชการตุลาการได้รับการพิสูจน์อย่างเพียงพอจากสังคม หรือไม่ว่าเป็นคนดีจริง ไม่มีนอกมีใน ประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบที่เข้มงวดต่อบุคลากรเหล่านี้เช่นใน ประเทศที่เจริญหรือไม่ หรือความเป็นคนดีเป็นแค่ข้อกล่าวอ้าง แต่ไม่เคยพิสูจน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นสังคมอาจมีข้อกังขา เข้าทำนอง “อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” นั่นเอง
ต้องเคารพประชาชน
ในประเทศที่เจริญ เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ว่าถูกต้อง แต่ “กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น” ในกรณีศิลปวิทยากรดังข้างต้น และด้วยข้อยกเว้นเหล่านี้ พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูก “ฟาดหัวด้วยเงิน” ได้โดยง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อนำทางให้อยู่เสมอ ๆ
การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. หรืออาจรวม คมช. ด้วยก็ได้ มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการ ตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น
เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเชื่อว่าไม่เคยมีอาวุธ สงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว
ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง สัจธรรมอยู่ในคนหมู่มาก จึงมีคำพูดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด ราชวงศ์ใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาส ที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชนแทนที่จะไปยกย่องทรราช
อ้างอิง:
{1} กิตติศักดิ์ ปรกติ. สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน ปรกติ 28 กันยายน 2554 www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000123483
{2} โสภณ พรโชคชัย. เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง. http://prachatai.com/journal/2011/06/35438
{3} การเลือกตั้งในเยอรมนี German federal election, March 1933. http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_March_1933
{4} ดุสิตโพลคนกรุง 37.62% ไม่เชื่อศาล รธน.-“วสันต์” แนะตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2554 18:51 น. http://www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000103816