ที่มา ประชาไท
แรกๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ ม.112 และถูกกดดันอย่างหนัก ผมรู้สึกอิจฉาอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ไม่น้อยที่พวกเขาเป็นอาจารย์ “ธรรมศาสตร์” ที่ถือกันว่าเป็น “พื้นที่เสรีภาพทุกตารางนิ้ว”
แต่พลันที่ปรากฏแถลงการณ์ของชมรมนิติ มธ.2501 เรียกร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้าม “นิติราษฎร์” ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์รณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 8 และประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และให้กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษารับ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” มาเป็นแบบอย่างต่อไป พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ดังที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
และต่อมา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า
"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัย เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"
จึงเป็นที่มาของภาพและข้อความข้างล่างนี้
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเลิกอิจฉาเลยครับ และตระหนักถึงความเป็นจริงชัดขึ้นว่า ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศนี้ไม่มีพื้นที่เสรีภาพแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่จะ อภิปรายถกเถียง “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ด้วยเหตุด้วยผลกันเลย
แต่คำถามคือ อะไรคือ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” ระหว่างความคิดของชมรมนิติ มธ.2501 ที่ยืนยัน “สถานะข้าราชการ” และความคิดของนายสมคิดที่ยืนยันความเป็น “สถานที่ราชการ” ของธรรมศาสตร์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทางการเมือง กับความคิดของนิติราษฎร์ที่ยืนยันเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นทางการเมืองของ “ราษฎร” และยืนยันความเป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร...” ของธรรมศาสตร์ ตามคำประกาศของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ข้ออ้างชมรมนิติ มธ.2501 ที่ว่านิติราษฎร์จาบจ้วงสถาบัน ไม่เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็น “การกล่าวหา” ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมเดียวกันกับกลุ่มอื่นๆ ที่แทนที่จะแสดงเหตุผลหักล้างข้อเสนอของนิติราษฎร์ ก็ใช้วิธีกล่าวหา (ซึ่งนายสมคิดก็เคยใช้) เช่นว่า เนรคุณทุนอานันทมหิดล ล้มเจ้า เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง จนกระทั่งด่าหยาบคาย เผาหุ่น ฯลฯ
ส่วนเหตุผลของนายสมคิดเรื่องกลัวคนจะเข้าใจผิดว่า ธรรมศาสตร์สนับสนุนการแก้ ม.112 ยิ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเท่ากับสรุปว่า “ชาวบ้านโง่” ไม่มีปัญญาแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม อะไรเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย
ทีนายสมคิดไปร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารโดยบอกว่า “ตนเองไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร” ทำไมไม่แคร์ว่า สังคมจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนรัฐประหาร ส่งเนติบริกรของธรรมศาสตร์ไปรับใช้รัฐประหาร ที่ไม่แคร์แสดงว่า สมคิดเชื่อว่าประชาชนมีวุฒิภาวะแยกแยะได้ใช่ไหมว่า อะไรคือความเป็นธรรมศาสตร์ อะไรคือความเป็นสมคิด และถึงสมคิดจะสนับสนุนรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นเรื่องของสมคิด ไม่ใช่เรื่องของธรรมศาสตร์
ส่วนเรื่องความปลอดภัย นายสมคิดย่อมรู้ว่าการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ใช้เหตุผลและสันติวิธีมาตลอด กลุ่มคนที่เข้าร่วมฟังก็ไม่เคยก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรงใดๆ มีแต่ฝ่ายที่เห็นแย้งกับนิติราษฎร์อย่างนายสมคิดและฝ่ายอื่นๆ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้เหตุผล แต่ใช้การกล่าวหา ใส่ร้าย ใช้อำนาจ และการข่มขู่คุกคาม เช่น การเผ่าหุ่นอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นต้น
แทนที่คณะผู้บริหารจะออกมาปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และป้องปรามฝ่ายที่คุกคามนิติราษฎร์ กลับใช้อำนาจอำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายกล่าวหา ใส่ร้าย และข่มขู่คุกคามนิติราษฎร์!
หรือว่า “ความแหลมคม” ของเหตุผลในการลบล้างรัฐประหารของนิติราษฎร์มัน “ทิ่มแทง” จรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์สอนกฎหมาย และความชัดเจนในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนพึงมี อย่างยิ่ง ของคนบางคน บางกลุ่ม
ผมเองแม้ไม่ใช่ชาวธรรมศาสตร์ แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ภูมิใจในประวัติศาสตร์อันงดงามของธรรมศาสตร์ที่เป็น สถานที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” มีอยู่จริงหรือไม่ นั่นอาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ในสถานการณ์ที่สังคมกระหายความรู้ ต้องการ “พื้นที่เหตุผล” ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แล้วนิติราษฎร์ก็ปรากฏขึ้น ข้อเสนอของพวกเขาคือทางออกที่ควรจะเป็น และน่าจะเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ
พูดอีกอย่างว่า นิติราษฎร์คือนักวิชาการที่ลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอทางออกจาก ความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรมแก่สังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็น ประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าที่สมคิดเคยแสดงออกมาแล้วในคราวร่างรัฐธรรมนูญตาม เจตนารมณ์รัฐประหาร 19 กันยาแน่ๆ
แต่น่าอนาถใจที่มติกรรมการบริหารของธรรมศาสตร์ชุดนี้ ปิดทางการเปลี่ยนผ่านสังคมคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติลง พวกเขากำลังทำให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ “แปลกแยก” จากวิถีทางการใช้เหตุผล เสรีภาพ และสันติวิธีในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
คำถามคือ ถ้าแม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็ยัง “ปิดพื้นที่” การใช้เสรีภาพและเหตุผลในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หากวันข้างหน้าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นี้ขยายไปสู่การเกิดความรุนแรงนอง เลือดขึ้นอีก ฝ่ายปิดพื้นที่เหตุผลและเสรีภาพ ยังจะมีน้ำยาแสดงความรับผิดชอบอะไรไหม?!