ที่มา uddred
ข่าวสด 30 กรกฎาคม 2555 >>>
ผลพวงคำพิพากษาคดีขึ้นเงินเดือนตัวเองที่ศาลอาญาสั่งจำคุก 3 อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา
ส่งผลให้ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ต้องตกเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 124 (4) แต่ยังเหลือสมาชิกภาพ ส.ว.สรรหา เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด
กระบวนการคัดเลือกประมุขสภาสูงคนใหม่แม้จะเริ่มออกตัวในวันประชุมวุฒิสภานัด แรก 6 ส.ค. แต่ระหว่างนี้ภายในสภาหินอ่อนเกิดฝุ่นตลบอบอวลไปแล้ว สายสรรหา-เลือกตั้งเปิดหน้าคั่วเก้าอี้กันเต็มที่ ดังรายชื่อแคนดิเดตที่เปิดตัวลงสนามดังต่อไปนี้
1. นิคม ไวยรัชพานิช
ส.ว.ฉะเชิงเทรา รักษาการประธานวุฒิสภา
เรื่องความพร้อมไม่ต้องถาม ผมนั่งรองประธานมา 4 ปี 5 เดือน เชื่อว่าตัวเองมีประสบการณ์ ที่ผ่านมาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่มาก่อน ปี 2519 ก็เคยลงสมัคร ส.ส.
ดังนั้นเวลาเราจะก้าวทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดว่าตัวเองพร้อมก่อน พร้อมแบบไม่ประมาท กล้าเจอกับปัญหาด้วย
เสียงสนับสนุนผมน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยผลักดันลงชิงประธานวุฒิสภา ครั้งที่แล้ว ประกอบด้วยสายเลือกตั้งและกลุ่มสรรหาบางส่วน หนนั้นได้ 50 กว่าเสียงจึงไม่ได้รับตำแหน่ง ครั้งนี้คะแนนจะดีกว่าเดิมหรือไม่ อยู่ที่เพื่อนสมาชิก
ถ้าเสียงไม่ถึงแต่มีผู้ลงชิง 2 คนในเก้าอี้เดียว ให้ถือเสียงที่ มากกว่าชนะ แต่ถ้าแข่ง 3 คน คนที่จะได้ทำหน้าที่ต้องเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น
ส่วนการสละหน้าที่รองประธานขอเป็นวันที่มีการเลือก เพราะต้องทำหน้าที่ประธานการประชุมด้วย ขอวัดเสียงอย่างมั่นใจแล้วจึงยอมก้าวลงจากตำแหน่งในวันนั้น ไม่ว่าใครที่จะลงสนามก็ต้องมั่นใจว่าชนะไว้ก่อน
เสียงติติงว่าจะทำงาน 2 ขั้วได้หรือไม่นั้น ผมแสดงจุดยืนให้เห็นตลอด สิ่งใดถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าของรัฐบาล ผมก็ยินดีช่วย ไม่จำกัดว่าเป็นรัฐบาลใด
ย้อนดูได้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมก็ร่วมฝ่าวงล้อมการแถลงนโยบายที่กระทรวงต่างประเทศ ดังนั้นอย่ามองว่าเลือกข้างใคร ผมมีแต่เลือกความเป็นธรรมและความถูกต้อง
ไม่คิดว่าจะต้องไปแก้ภาพลักษณ์อะไร ผมคิดอย่างไรก็แสดง ออกอย่างนั้น เช่น การเดินหน้าลดความขัดแย้งก็ยังยืนยันให้ลงประชามติก่อน เพื่อทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ หรือที่บอกว่าผมไปอยู่ในกลุ่มเสื้อแดง เคยไปเยี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือโฟนอิน ก็ไม่มี ดังนั้นอย่าห่วงหรือคลางแคลงใจผมเลย ผมแสดงความยุติธรรมมาโดยตลอด
ประธานวุฒิสภาคนใหม่จะต้องเป็นที่ยอมรับ ของวุฒิสมาชิก ประสานประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะปัญหาร้อนในการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างร่าง รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงร่างปรองดองในที่ประชุมสภาผู้แทนด้วย
การสร้างความปรองดองไม่ใช่จะมาหักดิบให้ผัวเมียทะเลาะกัน ยอมกอดกันโดยลืมเรื่องเก่าๆ คงยาก แต่ต้องสร้างความเข้าใจกันก่อน แล้วปัญหาต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ ใครก็อยากให้แก้ไข ไม่มีใครขัดขวางนอกจากบางกลุ่ม แต่สิ่งที่ต้องคิดมากกว่าคือจะแก้อย่างไรให้ตรงกับใจส่วนใหญ่ การแก้เพื่อคนคนเดียวไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว
ควรแก้ไขบางประเด็นที่เป็นปัญหา อาทิ มาตรา 68 ระบุให้ชัดไปเลยถึงช่องทางการร้องต่ออัยการและ/หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่ต้องตีความยุ่งยาก แล้วใช้ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจ ทั่วถึง
มาตรา 237 กระบวนการสรรหาที่มาของ ส.ส. ส.ว. ก็ยังเป็นข้อครหาอยู่ รวมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งการแก้ไขก็เพื่อให้ดีขึ้น ไม่ได้กระทบโครงสร้างอะไร
2. พิเชต สุนทรพิพิธ
ส.ว.สรรหา
ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับจ้อง ถูกเสนอชื่อจากฝั่งสรรหาเพื่อลงชิงชัยในตำแหน่งประธานวุฒิสภา อย่างสายเลือกตั้งก็มีชื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา และนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ซึ่งมีผู้สนับสนุนพร้อมส่งแข่งขัน
ขณะนี้เป็นเพียงแค่ข่าวและวิพากษ์วิจารณ์กันไป ยังไม่มีใครทาบทามและเสนอชื่อผม จึงไม่อยากพูดเกินเลย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ก็เพิ่งพ้นจากหน้าที่ ควรให้เกียรติท่าน
แต่บอกได้คำเดียวว่าพร้อม การทำงานมาถึงจุดนี้เชื่อว่าไม่เฉพาะแค่ผม ส.ว. ทุกคนก็พร้อม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ แต่อาจแตกต่างกันไปบางเรื่อง
ผมเป็น ส.ว.สรรหา รุ่นที่ 2 อยู่มา 4 ปีกว่า เห็นจุดอ่อนจุดแข็ง รวมทั้ง ส.ว. อีกหลายคนก็ผ่านประสบการณ์มาพอๆ กัน การทำหน้าที่นี้จึงเชื่อว่า ส.ว. เกือบทุกคนทำได้ เพียงแต่จะสนใจหรือไม่เท่านั้นเอง
ประธานวุฒิสภาแม้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ แต่ไม่มีความสุขเพราะงานหนัก งานเยอะ และต้องมีเสียงสนับสนุนที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล พูดง่ายๆ คือ บารมีและประสบการณ์ต้องเก๋า
ผมเองก็มีเสียงสนับสนุนอยู่พอสมควร หากมีผู้เสนอชื่อและขอร้องให้เป็น แต่จำนวนเท่าไหร่คงบอกไม่ได้
แต่เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนที่มีชื่อแคนดิเดตคงกำลังดูเชิง ไม่มีใครอยากรีบประกาศตัว เพราะเร็วไป หลังประชุมวุฒิสภานัดแรก 6 ส.ค. ทุกอย่างน่าจะชัดเจน
ส.ว. มีหลายกลุ่มหลายขั้ว อาจมีถึง 4 พวกใหญ่ แต่การทำงานจะแบ่งแยกไม่ได้ ทั้งสายเลือกตั้งและสรรหาเมื่อเข้ามาแล้วก็มีหน้าที่เหมือนกัน ตัวผมถือเป็น ส.ว. กลุ่มเป็นกลาง วางตัวเป็นกลาง พูดคุยได้ทุกฝ่าย
3. ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.นนทบุรี
ขอเปิดใจพูดตรงๆ หลังลงชิงประธานวุฒิสภาครั้งที่ผ่านมาผมไม่คิดเรื่องนี้อีกเลย ล่าสุดก็ไม่คิดว่าตำแหน่งประธานจะมีปัญหาให้ต้องเลือกใหม่ มันเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน
ที่ผ่านมานายนิคมเคยปรึกษาผมว่าอยากเป็นประธานวุฒิสภา ผมให้สัญญาว่ามีอะไรบอกได้ ยินดีช่วยเหลือสนับสนุน ก็ได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเหลือประสานงานต่างๆ ในวิปวุฒิสภา ดังนั้นผมเป็นลูกผู้ชายพอ ไม่อยากเปลี่ยนคำพูดที่ให้ไว้
นายนิคมก็เปรยว่าให้มาช่วยทำหน้าที่รองประธาน ผมนั้นมีงานเยอะทั้งด้านวุฒิสภาและด้านสภา แต่เมื่อนายนิคมเห็นอย่างนั้นและมีผู้สนับสนุนจริง ผมก็พร้อมร่วมไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ยังต้องรอการประเมินอีกสักระยะ จึงจะลงตัวเรื่องเสียงสนับสนุนที่แน่ชัด เพราะ ส.ว. บางส่วนยังอยู่ต่างประเทศ เป็นกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนนายนิคมหรือไม่ ก็น่าจะอย่างนั้น
เชื่อว่าการทำงานไม่มีปัญหาและไม่เกินความสามารถ ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาต้องพร้อมประสานงานทุกด้าน ซึ่งความพร้อมนั้นเรามีอยู่แล้วในการเป็นตัวกลางช่วยให้ประเทศเดินหน้า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความแตกแยก
ผมเคยทำงานระดับชาติในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ทำงานอย่างเป็นธรรมมาตลอด แต่ยอมรับว่าการแก้ปัญหาร้อนของชาติครั้งนี้ ในแง่ปฏิบัติอาจช้า ความคิดเห็นคนแตกแยกเป็นหลายฝ่ายไปแล้ว
เรื่องการเมืองไม่ใช่ว่าประเดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิม การทำหน้าที่นี้จึงต้องอดทน อย่าอารมณ์เสีย และฟิวส์ขาดไม่ได้เลย แต่ต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ส่วนรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ อเมริกายังแก้ 30 หนแล้ว ที่สำคัญเราไม่ใช่ยกเลิกรัฐธรรมนูญเอง แต่ให้ ส.ส.ร. แก้ไข อย่าเอาใจติดยึดข้าง ให้เอาใจไว้ตรงกลางทำเพื่อส่วนรวมก่อน
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกฎหมายปรองดองซึ่งจริงๆก็คือกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ปัญหาครั้งนี้คือต้องคุยกันให้ตกผลึก อย่างไรแล้วก็ต้องมีกฎหมายอยู่ดี