ที่มา ประชาไท
27 กรกฎาคม, 2012 - 15:37 | โดย buddhistcitizen
ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพประกอบจาก http://www.horajan.com/konhangkom.html
พุทธศาสนาสอน “กฎแห่งกรรม” ปัจจุบันชาวพุทธก็ถูกย้ำเตือนเสมอว่าให้
“ศรัทธา” (เชื่อ) ในกรรมและผลของกรรม
ให้เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีกรรมเป็นของตน ตามนัยนี้พุทธศาสนาเชื่อว่า
จักรวาลนี้ มีกฎแห่งความยุติธรรม (Law of justice)
คอยกำกับควบคุมพฤติกรรมทางศีลธรรมของมนุษย์ ภายใต้กฎนี้ มนุษย์มีพันธะ
(obligation) ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่แสดงออกมาทางกาย วาจา
ใจ หากว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากเจตจำนงอันเป็นอิสระ
ชาวพุทธเชื่อว่ากฎที่ว่านี้เป็นกฎภววิสัย เป็นเหตุเป็นผล
เที่ยงธรรมและเป็นสากล
เมื่อพูดถึงความเชื่อ (ศรัทธา) พึงเข้าใจว่า คำว่า “เชื่อ”
ในที่นี้มีความหมายในเชิงอภิปรัชญาและภววิทยาคือเชื่อว่า
“สิ่งนี้มีอยู่จริง” โดยพุทธศาสนาสอนว่า
กฎแห่งกรรมนั้นเป็นทั้งกฎธรรมชาติและกฎศีลธรรม
ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายหรือบทบัญญัติที่มนุษย์กำหนดขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน
กฎแห่งกรรมเป็นอาณาเขตของธรรมชาติที่มนุษย์จะแทรกแซงมิได้
ส่วนกฎหมายหรือกฎระเบียบอยู่ในอาณาเขตของมนุษย์ เป็น“สังคมนิยมน์” [1]
ที่มนุษย์จะตกลงกันเองได้ว่าต้องการอย่างไร เมื่อพูดถึงการให้ผลของกรรม
(กรรมวิบาก) การให้ผลของกรรมก็จะดำเนินไปเองอย่างสมเหตุสมผล
เป็นกลไกและไม่มีข้อผิดพลาด เป็นอิสระจากความคิด
ความรู้และความเข้าใจของมนุษย์ ในแง่หนึ่ง “กฎแห่งกรรม”
ตามความเชื่อนี้จะทำงานอย่างเร้นลับ
ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิสัยของคนธรรมดา [2]
ในโลกนี้มีข้อเท็จจริงที่ชวนให้เกิดข้อน่าสงสัยมากมายเกี่ยวกับความมี
อยู่จริงของกฎแห่งกรรม เช่น คนบางคนทำความชั่ว
แต่ไม่เคยเห็นว่าเขาได้รับการลงโทษจากกฎแห่งกรรม ขณะที่คนดี ๆ
เป็นจำนวนมากถูกกระทำหยามหมิ่นและตายอย่างไร้เกียรติ จนมีคำพูดทำนองว่า
“ทำดี ได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” แต่พุทธศาสนาก็มีคำอธิบายเรื่องนี้
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดแต่ก็ยังมีปัญหาถกเถียงได้คือ
ผลกรรมที่บุคคลทำนั้นถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้ก็จะให้ผลในชาติหน้า
ถ้าไม่ให้ผลในชาติหน้าก็จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
ตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมผู้กระทำกรรมจะได้รับผลของกรรมอย่าง
แน่นอน ผู้ทำดีจะได้รับรางวัล ผู้ทำชั่วจะได้รับการลงโทษ
ผู้ที่ไม่ได้รับโทษหรือพ้นโทษ (อโหสิกรรม)
ก็เฉพาะเมื่อไม่มีเหตุปัจจัยที่เหมาะสม
หรือกรรมที่ทำไว้ได้ให้ผลจนหมดสิ้นแล้วเท่านั้น [3]
ในที่นี้มีข้อควรสังเกตบางประการคือ
หนึ่ง
ความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรมจะดำเนินไปเองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปจัดการ
แทรกแซงหรือเรียกร้องเอาตามใจ
เพราะเป็นกฎเกณฑ์และกลไกที่มีอานุภาพในตนเองเป็นอิสระจากมนุษย์ ดังนั้น
ในแง่มุมหนึ่ง ผู้เชื่อในกฎแห่งกรรมจึงไว้วางใจ (ศรัทธา) ได้ว่า
ตนจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน แม้จะไม่ต้องออกแรงกระทำการใด ๆ
เลยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลอันยุติธรรมแห่งการกระทำที่ตนได้ทำไว้แล้วนั้น
สอง ความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรมจะถูกรับรองหรือ
รับประกันด้วยคำสอนเรื่อง “ชาติภพ” หรือให้ตรงกว่านั้นคือ
“คำสอนเรื่องการเกิดใหม่” ความยุติธรรมที่จะได้รับจึง “อาจ”
สืบเนื่องยาวไกลจากชีวิตหนึ่งไปสู่ชีวิตหนึ่งในชาติภพต่อไป
สถานะที่และเวลาของกรรมและผลของกรรมจะทอดยาวไปจนเราไม่อาจคำนวนได้
สาม
มีความเป็นไปได้ที่ผู้กระทำกรรมบางชนิดจะไม่ได้รับกรรม (กลายเป็นอโหสิกรรม)
เช่น องคุลีมาล
ซึ่งกรรมคือการฆ่าคนจำนวนมากไม่อาจส่งผลกระทบอย่างเต็มที่เนื่องจากได้บวช
และต่อมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์
กรรมบางชนิดโดยเฉพาะกรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อนมาก ๆ
หากไม่มีปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องอย่างเพียงพอก็อาจไม่มีผลในชาติหน้า
หรือกรรมที่มีผลในชาติหน้าแต่จะไม่มีผลในชาติต่อ ๆ ไป
ข้อนี้มีนัยว่าการอโหสิกรรมเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกิดขึ้นภายในระบบของกรรม
นั่นเอง กรรมจะจัดสรรความเหมาะควรให้แก่การกระทำ
และมีความเป็นไปได้ที่ว่าเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการได้เปลี่ยนแปลงไป
ในทางที่จะไม่ทำให้กรรมบางชนิดบังเกิดผล
โดยสรุป ตามความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อมนุษย์กระทำผิด การลงโทษ
(วิบาก) และการอภัยโทษ (อโหสิกรรม) เป็นไปตามกฎแห่งกรรม
ที่มนุษย์ไม่อาจแทรกแซงได้ คำถามคือกรณีที่คน ๆ หนึ่งทำผิดต่อคนอีกคนหนึ่ง
คนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิด (ผู้เสียหาย)
จะสามารถอภัยโทษแก่ผู้กระทำผิดแก่ตนหรือไม่ กล่าวคือถ้าเราเป็นผู้เสียหาย
เราจะอโหสิกรรมแก่ผู้กระทำผิดต่อเราได้หรือไม่ คำตอบนี้ง่าย
ชาวพุทธจะถูกสอนให้เจริญเมตตาต่อผู้อื่นเสมอ ๆ
การเจริญเมตตาต่อผู้อื่นนั้นเป็นหนึ่งในการทำบุญ (ทาน ศีล ภาวนา)
การเจริญเมตตาคือการสร้างความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น พุทธศาสนาถือว่า
มนุษย์ทุกคนต้องการสังคมที่ปลอดภัย
ไม่ปรารถนาจะอยู่ในสังคมที่มีแต่การมุ่งร้ายเบียดเบียนกัน
การอภัยต่อผู้กระทำผิดก็คือรูปธรรมของการแสดงความเมตตาที่เราจะพึงมีต่อผู้
อื่นและควรทำ
ผลของการอภัยโทษก็คือเราสามารถจะรักษาจิตใจของเราให้สงบร่มเย็นไม่ตกอยู่ใน
อำนาจของความโกรธ พยาบาทอาฆาต
ซึ่งจะผูกพันชีวิตของเราไว้ในการแค้นและการล้างแค้นไม่สิ้นสุด
การอภัยโทษจึงเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากบ่วงของกรรม อย่างไรก็ตาม
การอภัยโทษของเราไม่ได้ช่วยปลอดปล่อยผู้อื่นให้พ้นไปจากความรับผิดชอบที่เขา
จะพึงได้รับอย่างเหมาะสมตามกฎแห่งกรรม
ความคิดแบบนี้มีอิทธิพลต่อชาวพุทธมาก
เวลาชาวพุทธพูดถึงการอภัยโทษโดยส่วนใหญ่แล้วก็มีเหตุผลเช่นนี้อยู่เบื้อง
หลัง แต่ตรรกะและการกระทำเช่นนี้ก็มีด้านลบที่ส่งผลต่อสังคมพุทธไม่น้อย
คือส่งผลให้ชาวพุทธจำนวนมากเมินเฉยต่อการกระทำชั่วหรือความผิดที่เกิดขึ้นใน
สังคม ในขณะที่บางประเทศที่ไม่ได้นับถือพุทธ
มีวัฒนธรรมและกฎหมายที่กำหนดให้พลเมืองมีหน้าที่พิทักษ์ความยุติธรรมโดยไป
เป็นพยานต่อศาล แต่ในสังคมไทย
เมื่อความซับซ้อนในเชิงกฎหมายและความซับซ้อนของอำนาจในสังคมก่อภาระยุ่งยาก
ต่อระบบความยุติธรรม
ชาวพุทธมักจะมีท่าทีเพิกเฉยไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในความยุ่งยากดัง
กล่าว นอกจากเพราะไม่ต้องการเปลืองตัวแล้ว
(รักชีวิตของตนมากกว่าผู้อื่นหรือความยุติธรรมทางสังคม)
ก็มีสาเหตุมาจากความเชื่อเรื่องการทำงานของกฎแห่งกรรมด้วย
ด้านหนึ่งมาจากความเชื่อว่าผู้ถูกกระทำถูกกำหนดให้เป็นไปเช่นนี้เพราะกรรมใน
อดีต
อีกด้านหนึ่งเพราะเชื่อว่ากรรมนั่นแหละจะช่วยจัดการคนที่กระทำผิดโดยที่
มนุษย์ไม่ต้องลงมือเอง
ความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมมีผลให้เกิดความยับยั้งที่จะไม่ทวงถามหาความ
ยุติธรรมหรือต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคมหรือแม้กระทั่งเพื่อตนเอง
ความไม่ใยดีต่อผู้ได้รับผลกระทบต่อความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นผลตาม
มาจากการเชื่อว่า
ท้ายที่สุดแล้วคนชั่วก็จะได้รับผลชั่วอย่างเหมาะสมตามกรรมของเขาอย่างแน่นอน
ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวลไปรับผลกรรมเอาในชาติหน้าหรือชาติอื่น ๆ ก็แล้วกัน
ว่าไปแล้ว
การอภัยโทษหรือการอโหสิกรรมที่ชาวพุทธให้ความสนใจนั้นอาจเป็นผลดีในระดับ
ความสัมพันธ์แบบปัจเจกเท่านั้น
คือระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้รับผลกระทบจากการกระทำผิดในฐานะคู่ความสัมพันธ์
โดยตรง ผู้อภัยโทษจะได้ปลดปล่อยตนเองจากความอาฆาตมาดร้าย
ซึ่งเป็นไปตามคำสอนในธรรมบทที่ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” [4]
ซึ่งแน่นอนว่าหากผู้รับการอภัยโทษได้ตระหนักถึงความผิดของตนและมีความละอาย
ก็ย่อมจะช่วยให้เกิดการกลับใจได้
ส่วนกรณีความชั่วร้ายซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแก่เราโดยตรงหากแต่เกิดขึ้นและมี
ผลกระทบต่อสังคมโดยรวม พุทธศาสนาจะยอมรับการอโหสิกรรมหรือการอภัยโทษหรือไม่
จะขอยกตัวอย่างจากองคุลิมาลสูตร [5]
เมื่อพระเจ้าปัสเสนทิทรงรับสั่งให้กองทัพไปจับตายองคุลีมาลนั้น
พระพุทธเจ้าได้เสด็จล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ทรงทำให้องคุลีมาลกลับใจและบวชในร่มเงาของพุทธศาสนา
ดูเหมือนว่ากรณีนี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงใส่ใจต่อชีวิตและความเจ็บปวดของผู้สูญ
เสีย เพราะกรณีนี้พระองคุลีมาลไม่ได้ถูกลงโทษจากรัฐในฐานะที่เป็นฆาตกร
กลับได้รับอภัยโทษจากพระเจ้าปัสเสนทิโดยการแนะนำของพระพุทธเจ้า
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสิ้นเชิงเป็นเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่การอภัยโทษของ
รัฐ แต่คนที่สูญเสียเองไม่ได้ยอมอภัยองคุลีมาลแก่องคุลีมาลเสียทีเดียว
ซึ่งเมื่อท่านออกบิณฑบาตจึงต้องเผชิญกับการทำร้ายแสนสาหัสจากผู้ที่รังเกียจ
เคียดแค้น
ในตอนนี้พระพุทธเจ้ากลับตรัสให้พระองคุลีมาลอดทนต่อความทุกข์ที่ได้รับเพราะ
นั่นเป็นผลของกรรมในอดีต
อีกกรณีหนึ่งอยู่ในพระวินัยคือเรื่องพระฉันนะ
(มหาดเล็กของเจ้าชายสิทธัตถะตอนหลังได้ออกบวช)
เนื่องจากพระฉันนะเป็นคนหัวดื้อไม่ยอมรับการตักเตือนจากพระสงฆ์
ทั้งมองไม่เห็นความผิดที่ว่านี้
เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นว่าพระฉันนะไม่ใส่ใจต่อความผิดของตนจึงทูลปรึกษาพระ
พุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแนะนำให้สงฆ์ลงโทษพระฉันนะโดยการประกาศ
อย่างเป็นทางการว่า
หากสงฆ์ทั้งปวงเห็นพ้องต้องกันก็จะไม่สมคบกับพระฉันนะเนื่องจากเป็นคนหัว
ดื้อ เมื่อพระฉันนะเดินทางไปยังอารามต่าง ๆ ก็ถูกเมินเฉยไม่มีใครคบค้าสมาคม
จึงมีสำนึกผิด ยอมพิจารณาตรวจสอบความผิดของตน
แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้สงฆ์ประกาศรับพระฉันนะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ
สงฆ์อีกครั้ง
สงฆ์ได้ให้อภัยต่อพระฉันนะเมื่อท่านได้ตระหนักถึงความผิดพลาดของตนและยอมปลง
อาบัติ [6]
สองเรื่องที่นำมาเล่านี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอภัยโทษ
พุทธศาสนายอมรับว่าการอภัยโทษนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
การอภัยนั้นอาจไปถึงระดับที่ว่าไม่ต้องรับโทษใด ๆ
อันเนื่องจากการกระทำผิดนั้นเช่นกรณีขององคุลีมาล
ทั้งนี้เนื่องจากพุทธศาสนาเห็นว่าการลงโทษเพื่อเป็นการแก้แค้นกรณีนี้นั้น
ไม่ได้มีผลดีแต่ประการใด อนึ่ง
การให้อภัยโทษแก่ผู้กระทำผิดนั้นสืบเนื่องมาจากมุมมองของพุทธศาสนาที่ว่า
มนุษย์ทุกคนอาจถูกกิเลสตัณหาทำให้อ่อนแอและกระทำผิด พูดง่าย ๆ
ว่าทุกคนมีโอกาสทำความผิดพลาดได้ทั้งนั้น
กรณีนี้การอภัยโทษสืบเนื่องมาจากการยอมรับความอ่อนแอทางด้านจิตใจของมนุษย์
ว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป เช่นเดียวกันในแง่มุมของมหายาน
การอภัยโทษนั้นเป็นผลมาจากการตระหนักว่าทุกคนล้วนมีพุทธภาวะแต่อาจทำผิดได้
เพราะกิเลสตัณหาต่าง ๆ ครอบงำ [7] นอกจากนี้
การอภัยโทษแก่ผู้กระทำผิดนั้นยังมาจากการที่พุทธศาสนามองว่าทุกคนเป็นผู้
ร่วมทุกข์ในวัฎสงสาร ในฉากเรื่องเล่าที่มีการขอโทษและอภัยโทษแก่กัน
ผู้ที่ยอมอภัยโทษมักจะกล่าวทำนองว่า
“เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของเราหรือของท่าน หากแต่เป็นโทษของวัฏสงสาร” [8]
เบื้องหลังการให้อภัยในพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่อง “ความเมตตากรุณา”
ต่อผู้อื่นในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ในวัฎสงสารหาใช่เป็นเรื่องการปลดเปลื้องตัว
เองจากพันธนาการของกรรมเพียงประการเดียวไม่
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีองคุลีมาลนั้น
พระพุทธเจ้ายังทรงเห็นว่าองคุลีมาลจะต้องยอมรับโทษอันเนื่องจากกฎแห่งกรรม
(การประชาทัณฑ์ของชาวบ้านที่เกิดขึ้นเพราะความโกรธแค้นในที่นี้ถูกถือว่า
เป็นเรื่องกฎแห่งกรรม)
ข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่าการอภัยโทษของรัฐหรือของบุคคลเป็นอีกเรื่องหนึ่งการ
รับผลตามกฎแห่งกรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนกรณีของพระฉันนะนั้น
ไม่มีเรื่องเล่าตอนไหนแสดงให้เห็นว่าควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม
หากแต่พระพุทธเจ้าทรงยกให้เป็นเรื่องของสังคม (สงฆ์)
ที่จะต้องดำเนินการทั้งในแง่การกล่าวโทษ การลงโทษและการอภัยโทษ
ดูเหมือนว่าพอเป็นเรื่องของสังคม
พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระสงฆ์ต้องเอาธุระในการจัดการให้เรียบร้อยทั้งในแง่
การลงโทษและการอภัยโทษทั้งนี้เพื่อพระสงฆ์จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยความผาสุก
การอภัยโทษตามแนวพุทธศาสนาอาจมีรายละเอียดลึกซึ้งกว่านี้
ในที่นี้มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า
เมื่อความผิดเกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคลนั้น “ดูเหมือนว่า”
ชาวพุทธอาจอภัยโทษโดยที่ยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดนั้น ๆ
ได้อย่างแน่ชัด
เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบไม่ปรารถนาจะผูกพันเป็นเวรต่อผู้กระทำผิด
ทั้งเชื่อมั่นว่ากฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงและเชื่อว่าผู้กระทำ
ผิดก็จะได้รับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน
การอภัยโทษเช่นนี้มีตัวอย่างในคัมภีร์หรือตำนานทางพุทธศาสนารองรับหรือไม่ก็
ยังเป็นที่สงสัยอยู่ (ฝากท่านผู้รู้และผู้สนใจช่วยพิจารณาด้วย)
แต่จากเรื่องเล่าบางเรื่องในธรรมบท
การอภัยโทษระหว่างปัจเจกบุคคลมักจะดำเนินไปเมื่อความผิดและผู้การกระทำผิด
ปรากฏอย่างชัดแจ้งแล้ว ฝ่ายหนึ่งรู้จักตัวของผู้กระทำผิด
อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้ถูกละเมิด
เกิดความสำนึกผิดและขอภัยโทษ (บางครั้งในคำว่าขอขมาโทษ-ขอให้อดโทษ)
กรณีนี้ผู้เสียหายจะให้อภัย
และมักจะปรากฏว่าพุทธศาสนาเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดต้องชดเชยความผิดของตน
ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
กรณีการผู้เวรระหว่างกุลธิดาคนหนึ่งกับนางยักษ์ในอรรถกถาธรรมบท
การอภัยโทษที่พบจากพระวินัยนั้นก็เช่นเดียวกัน
คือการอภัยโทษไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ยังไม่สามารถระบุความผิด
ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดและโทษทัณฑ์ที่พึงได้รับคืออะไร ที่สำคัญคือ
การอภัยโทษเกิดขึ้นหลังจากผู้กระทำผิดได้สำนึกในความผิดของตนและตระหนักว่า
ตนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น เช่น
กรณีองคุลีมาลคือได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นไปอย่างสิ้นเชิงแล้วด้วยเหตุว่า
มีความสำนึกผิดอย่างแท้จริงในการกระทำของตน หรือถ้าเป็นโทษหนัก
ก็มีภาระที่ต้องรับการลงโทษบางอย่างเพื่อเป็นการฟื้นฟูความบริสุทธิ์ของผู้
กระทำความผิดนั้นเอง ก่อนจะได้รับการอภัยจากหมู่คณะ แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม
อย่างน้อยที่สุด การอภัยโทษ (การรับเข้าหมู่สงฆ์)
ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่อาจระบุได้ว่าใครทำความผิดและมีการยอมรับความผิด
[9]
อาจกล่าวได้ว่าการอภัยโทษภายใต้ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น
เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลที่ยอมรับความยุติธรรมตามกฎสากลโดยที่ยังไม่มีการระบุ
ตัวผู้กระทำผิดและมีการยอมรับความผิดของผู้กระทำผิด
แต่การอภัยโทษในลักษณะที่ “ไม่รู้” แม้กระทั่งว่าคนผิดเป็นใครนั้น
อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่ประการใดทั้งแก่ปัจเจกบุคคลและแก่สังคม
เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการกล่อมเกลาทางศีลธรรม (Moral education)
กล่าวคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม น่าจะกล่าวได้ว่า
การลงโทษและการตระหนักในความผิดโดยแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น
ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเกิดการตระหนักรู้ในความรับผิดชอบทางศีลธรรม
แก่ผู้กระทำความผิดอย่างแท้จริง ทั้งมีผลต่อความสงบร่มเย็นของสังคมโดยรวม
การทำให้ความผิดและผู้กระทำความผิดเป็นที่ปรากฏต่อผู้อื่นหรืออย่างน้อยต่อ
ปัจเจกบุคคลผู้ถูกละเมิด
หรือในกรณีของสังคมก็ต้องได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ
น่าจะก่อให้เกิดการตระหนักและเรียนรู้ที่จะไม่ทำความผิดซ้ำอีกได้มากกว่าการ
อภัยแบบเหมารวมซึ่งเราไม่รู้เลยว่าใครทำอะไรผิด
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะชวนผู้อ่านได้พินิจพิเคราะห์การอภัยโทษแบบไทย ๆ
ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของเรา
รวมทั้งที่กำลังมีความพยายามที่จะทำกันอยู่ในขณะนี้ในนาม “ความปรองดอง”
กล่าวให้ชัดคือในระบบการอภัยโทษแบบเหมารวม
ซึ่งมีลักษณะคล้ายการโยนภาระการลงโทษให้กฎแห่งกรรม
โดยที่ยังไม่สามารถระบุตัวได้ชัดเจนเลยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง
ทั้งที่เราหรือสังคมยังไม่ได้มีโอกาสรับรู้เลยว่า “ใครคือผู้กระทำผิด” และ
“ควรจะได้รับโทษมากน้อยเพียงใด” แต่รัฐหรือสังคมก็ให้อภัยพวกเขาแล้ว
นอกจากต้องถามว่าการอภัยโทษแบบนี้ละเมิดหลักการของการลงโทษหรือหลักของความ
ยุติธรรมหรือไม่แล้ว อาจจะต้องถามด้วยว่า
การอภัยโทษทำนองนี้แม้เราจะเชื่อว่ากฎแห่งกรรมจะอำนวยผลให้เราในขั้นสุดท้าย
(ซึ่งก็เป็นความเชื่อที่อาจไม่เป็นจริงก็ได้)
แต่มันจะมีความหมายอะไรในเชิงจริยธรรม
การไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจนแล้วอภัยโทษเสียนั้นโดยแท้
จริงแล้วอาจไม่ได้ก่อให้เกิดการกล่อมเกลาจริยธรรมทั้งแก่ผู้กระทำความผิด
หรือสังคมแต่ประการใดเลยก็เป็นได้
หรือแม้ในกรณีการอภัยโทษที่มักจะเกิดตามมาจากการถูกกล่าวหาว่าละเมิด
กฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็น่าจะต้องวิเคราะห์ให้กระจ่างว่า
การอภัยโทษเหล่านี้มันมีความหมายในเชิงจริยธรรมแก่ปัจเจกบุคคลหรือแก่
สังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ กรณีมาตรา 112 มีความพิเศษในประเด็นที่ว่า
“ความผิด” ที่ถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายมาตรานี้ จริง ๆ แล้ว “ในบางกรณี” อาจ
“ไม่ได้เป็น” ความผิด เพราะการกระทำที่ถูกกำหนดให้ “เป็นความผิด”
นั้นไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมใด ๆ
ซึ่งระบบจริยศาสตร์ในสากลโลกถือว่าเป็นความผิด (เช่น การพูดความจริง)
แต่มันเกิดเป็นความผิดเนื่องมาจากสังคมกำหนดให้เป็นความผิด
ซึ่งเป็นข้อยึดถือที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง
ถ้าหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจริง
(กรณีความผิดที่กฎหมายระบุหรือผู้พิพากษาระบุ
แต่ไม่ได้เป็นความผิดในทางเชิงศีลธรรมและจริยธรรม)
และมีการอภัยโทษแก่ผู้กระทำผิดหลังจากที่ศาลตัดสินแล้วว่าผู้ไม่มีความผิดใน
เชิงจริยธรรมเป็นผู้มีความผิดในเชิงกฎหมายและต้องรับโทษ
การอภัยโทษดังกล่าวนี้มีความหมายอย่างไรในเชิงจริยธรรม
และจะสามารถก่อให้เกิดผลในการกล่อมเกลาทางจริยธรรม
นำไปสู่ความสงบของสังคมนี้ได้จริงหรือไม่
รายการอ้างอิง
[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538 หน้า 177-179.
[2] ชาวพุทธเชื่อว่า “กรรมเป็นพุทธวิสัย” ดู มหามกุฎราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่มที่ 69. (กรุงเทพฯ :
มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543) หน้า 422 และสมภาร พรมทา,
พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์. (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2534) หน้า
93-94.
[3] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่มที่ 69. หน้า 418-422.
[4] พระธรรมบทมีพุทธพจน์ดังนี้ “ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับด้วยความไม่มีเวร
ธรรมนี้เป็นธรรมเก่า” ดู มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์,
พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่มที่ 40. (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543)
หน้า 2
[5] “องคุลิมาลสูตร” [มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์] พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 ข้อ 521-525.
[6] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระวินัยเล่ม เล่มที่ 6:
จุลวรรค ปฐมภาคและอรรถกถา. (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543) หน้า
105-122.
[7] Loy, David R., “Healing Justice : A Buddhist Perspective”. Http://www.zen-occidental.net/articles1/loy2.html. [online 23/07/2012]
[8] ดูตัวอย่างเรื่อง “พระติสสะผู้เข้าถึงสกุลของนายช่างแก้ว”
ธัมมปทัฎฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย ใน มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์,
พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่มที่ 42. (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543)
หน้า 51-52
[9] ดู วินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม 7 [กัมมักขันธกะ]