ที่มา uddred
คมชัดลึก 4 สิงหาคม 2555 >>>
ปี 2004 "We the Media" ที่เขียนโดย "Dan Gillmor" ได้ประกาศเนื้อหาหลัก อันว่าด้วย “สื่อกระแสหลัก” จะสูญเสียอำนาจผูกขาดไปโดยสิ้นเชิง
เหตุผลสำคัญของคำประกาศที่ว่านี้ก็คือ เพราะ “รูปแบบ” การนำเสนอ “ข่าวสาร” สามารถทำได้แบบ "real time" และสามารถส่งตรง ถึง “ผู้บริโภคข่าว” ทั่วโลกได้ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ หรือเกิดข่าวสารหนึ่ง ๆ ขึ้น ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
ในห้วงเวลานั้น ไม่มีใครเชื่อ โดยเฉพาะกับ “สื่อกระแสหลัก” ที่ยังเชื่อมั่นในอำนาจของตน ในสถานะของ “ฐานันดร 4” ที่แทบจะกุมชะตากรรมของโลกไว้ในมือของตน
แต่ไม่นานหลังจากนั้น "ปรากฏการณ์" ของการ "สื่อสารสองทาง" ที่ส่งผ่าน "ข้อมูลข่าวสาร" อย่างรวดเร็ว และฉับพลันทันที ก็มีให้เห็นได้อย่างจะแจ้ง
นี่แทบจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลังจากที่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างถึงที่สุด ในการเชื่อมโลกทั้งใบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่มีข้อจำกัดของระยะทาง ความเร็ว และ ฯลฯ เหมือนที่เคยเป็นมา
และนี่ก็ทำให้ การนำเสนอ “ข้อมูลข่าวสาร” ในยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนโฉมหน้าแทบจะสิ้นเชิง จากการ “สื่อสารทางเดียว” โดย “สื่อกระแสหลัก” ที่ชี้นำทิศทางของสังคมหนึ่ง ๆ ในสถานะ “ฐานันดร 4” ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาสู่การนำเสนอ “ข้อมูลข่าวสาร” ในอีกรูปแบบหนึ่ง
นั่นก็คือ รูปแบบของการ “สื่อสารสองทาง” อย่างทรงประสิทธิภาพ บนเครือข่ายสังคม "โซเชียลเน็ตเวิร์ค" โดยเครื่องมือชิ้นสำคัญอย่าง “โซเชียลมีเดีย” กับหลากหลายรูปแบบของเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร
จากเวบไซต์ สู่บล็อก สู่ทวิตเตอร์ สู่เฟซบุ๊ค สู่กูเกิลพลัส สู่ยูทูป และ สู่ ฯลฯ เพื่อเชื่อมโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ ให้ถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ในยุคของ “สังคมข้อมูลข่าวสาร” โดยเครือข่าย “อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง” ที่พร้อมจะรองรับในทุกสื่ออย่างทันท่วงที
นี่เป็นอานุภาพของ “เครือข่ายสังคม” หรือ “เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค” และนี่ก็เป็นอานุภาพของเครื่องมือ “โซเชียลมีเดีย” ในสถานะของ “สื่อใหม่” ที่แทบจะเข้ามาแทนที่ “สื่อเก่า” ที่ทำหน้าที่ “สื่อกระแสหลัก” มาก่อนหน้านั้น และจาก "We the Media" ก็มาสู่ยุคสมัยของ “ทุกคนเป็นนักข่าวได้” แทบจะสิ้นเชิง
ช่วงก่อนหน้านี้ สถานะของ “คนข่าว” แทบจะถูกผูกขาด โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ประกอบวิชาชีพ “สื่อสารมวลชน”
แน่นอนว่า นี่เป็นผลิตผลของกระบวนการทางสังคม ที่ต้องถูกผลิตซ้ำ โดยการเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ความชำนาญ และ ฯลฯ ในการเข้ามาทำหน้าที่อันพิเศษที่ว่านี้ โดยสถานะของ “สื่อสารมวลชน”
ที่ต้องใช้ความชำนาญการพิเศษ ในลักษณะของ “วิชาชีพ” เพื่อทำหน้าที่ “สื่อสาร” ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปสู่สังคม ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด นี่เป็นปรัชญาพื้นฐาน ของสื่อสารมวลชน ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งหมดนี้ ทำให้ “สื่อมวลชน” มีสถานะพิเศษ เป็น “ฐานันดร 4” ซึ่งยิ่งนับวันก็ยิ่งทรงอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของสังคม “ข้อมูลข่าวสาร”
นี่เพราะ “ข้อมูลข่าวสาร” เป็น “อำนาจ” ชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ามีการผูกขาด “ข้อมูลข่าวสาร” ที่จะไม่ต่างกับการผูกขาด “อำนาจ”
แล้วยิ่งถ้ามีความจงใจนำเสนอ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว โดยปราศจากการตรวจสอบ หรือจงใจละเลยการตรวจสอบ ก็ยิ่งสะท้อนถึงด้านร้ายของอำนาจชนิดนี้
เพราะนี่ไม่ต่างจาก “สื่อกระแสหลัก” ที่ส่งผ่านข้อมูลด้านเดียว โดยนิยามของการ “สื่อสารทางเดียว” ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยครบถ้วนและรอบด้าน อย่างที่ “สื่อสารมวลชน” พึงกระทำ
แน่นอนว่า บทบาทของ “สื่อมวลชน” ดำเนินไปในวิถีที่ว่านี้ พร้อมกับคำถามที่นับวันก็ยิ่งมีมากขึ้น จากผู้บริโภคข่าวสารในสังคมนั้น ๆ โดยเฉพาะเมื่อ “สื่อกระแสหลัก” นำเสนอ “ข้อมูลข่าวสาร” ในแบบที่ตนต้องการนำเสนอ
ขณะที่ “ผู้บริโภคข่าวสาร” กลับต้องการ “ข้อมูลข่าวสาร” ที่มากกว่า หลากหลายกว่า และรอบด้านกว่าที่ “สื่อกระแสหลัก” นำเสนอ
ที่สำคัญคือ ไม่เฉพาะแค่ผู้บริโภคข่าวสารเท่านั้น ที่ต้องการเช่นนั้น หากแต่ “สื่อสารมวลชน” อีกบางส่วน ก็ต้องการให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นไปในลักษณะเช่นว่านั้นเช่นกัน
และนี่ก็นำมาสู่การนำเสนอ “ข้อมูลข่าวสาร” ในรูปแบบของ “สื่อทางเลือก” ที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และทัศนะต่าง ๆ อันแตกต่างจากสื่อกระแสหลักโดยสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่าน โดยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จาก “สื่อกระแสหลัก” ที่ยึดกุมกลไกการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในลักษณะของการสื่อสารด้านเดียว มาสู่การนำเสนอในรูปแบบ “สื่อทางเลือก”
และจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แบบสื่อทางเลือก ที่มีลักษณะการสื่อสารด้านเดียว ก็พัฒนามาสู่สื่อทางเลือก ที่เปิดให้มีการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม หักล้าง หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของการสื่อสารสองทาง ทั้งไปและกลับ
จาก “สื่อกระแสหลัก” มาสู่ “สื่อทางเลือก”
จาก “สื่อทางเลือก” ที่เป็นการสื่อสารด้านเดียว มาสู่ “สื่อทางเลือก” ที่เป็นการสื่อสารสองด้าน
โดยผ่าน “อินเตอร์เน็ต” กลไกสำคัญที่สุด ในการเชื่อมโลกให้ถึงกันอย่างรวดเร็ว
จากเวบไซต์ สู่บล็อก สู่ทวิตเตอร์ สู่เฟซบุ๊ค สู่กูเกิลพลัส สู่ยูทูป และ สู่ ฯลฯ
“ทุกคนเป็นนักข่าวได้” และทุกคนก็สามารถส่งข่าว แจ้งข่าว เล่าข่าว ทั้งในรูปของข้อความ เสียง ภาพ และภาพเคลื่อนไหว เพื่อบอกถึงเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
แบบ "real time"
และสามารถส่งตรง ถึง “ผู้บริโภคข่าว” ทั่วโลกได้ในทันที ที่เกิดเหตุการณ์ หรือเกิดข่าวสารหนึ่ง ๆ ขึ้น ณ สถานการณ์ปัจจุบัน จากเวบไซต์ข่าวสาร ที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก มาสู่บล็อกส่วนตัว
พื้นที่ส่วนตัว ที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างบล็อก ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ในหลายรูปแบบ
“บล็อกเกอร์” ไม่ใช่แค่ “บล็อกเกอร์” แต่ “บล็อกเกอร์” ยังเป็น “นักข่าว” ที่ทำหน้าที่เป็น “นักข่าวพลเมือง” โดยครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยว ศาสนา ปรัชญา และ ฯลฯ
“บล็อกเกอร์” ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวส่วนตัวที่อยากเล่า พื้นที่บล็อก ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ส่วนตัว เพื่อใช้สื่อสารเรื่องส่วนตัวต่อสาธารณะเท่านั้น หากแต่พื้นที่บล็อก ยังเป็นเสมือนพื้นที่ “สื่อสารมวลชน” ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว และตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารในทุก ๆ ด้าน
ทั้งในรูปแบบของข้อความตัวหนังสือ ข้อความเสียง ภาพ และภาพเคลื่อนไหว เพื่อนำเสนอต่อทุก ๆ คน ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารในทุก ๆ ด้าน
ก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีใครเชื่อว่า จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นได้ แม้กระทั่งในห้วงเวลาที่ “โอเคเนชั่น” ชุมชนบล็อกถือกำเนิดขึ้นมา
แต่ “โอเคเนชั่น” กับสโลแกน “ทุกคนเป็นนักข่าวได้” ก็พิสูจน์ให้ได้เห็น และแสดงให้สังคมได้รับรู้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “ทุกคนเป็นนักข่าวได้” และเป็นได้ในทุก ๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยว ศาสนา ปรัชญา และ ฯลฯ
และไม่เพียงแค่การทำหน้าที่รายงาน ถ่ายทอดสิ่งที่ได้พบ ได้เห็น ออกสู่สาธารณะ
หากแต่ยังรวมถึงการแยกย่อย วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนสืบค้นข้อมูลต่อยอดในด้านลึกในหลาย ๆ ด้าน เพื่อนำเสนอเป็น “ข้อมูลข่าวสาร” ต่อสาธารณะ ภายใต้กลไกของ “อินเตอร์เน็ต” ที่เชื่อมโลกที่กว้างใหญ่ให้ถึงกันได้อย่างรวดเร็ว
จาก “สื่อกระแสหลัก” สู่ “สื่อทางเลือก”
จากสื่อกระดาษ สู่สื่อเสียง สื่อภาพ สื่อภาพเคลื่อนไหว และสื่ออินเตอร์เน็ต
จากเวบไซต์ สู่บล็อก สู่ทวิตเตอร์ สู่เฟซบุ๊ค สู่กูเกิลพลัส สู่ยูทูป และ สู่ ฯลฯ
และจากบางคนเท่านั้น ที่เป็นนักข่าว ก็มาสู่ทุกคนเป็นนักข่าว ได้อย่างสิ้นเชิง...