ที่มา ประชาไท
สิบปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนก้าวหน้าไปกว่าระบบ การรักษาพยาบาลของประกันสังคม และมีประสิทธิภาพมากกว่าสวัสดิการรักษา พยาบาลของข้าราชการ ในปัจจุบันสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมถึงการ รักษาโรคที่รักษาแพงเช่นโรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ และมะเร็งต่างๆ ซึ่งมีผลช่วยชีวิตคนจำนวนนับแสนที่สมัยก่อนอาจต้องเสียชีวิตไปเพราะไม่มี เงินค่ารักษา ระบบหลักประกันสุขภาพยังได้ช่วยครอบครัวรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวนมาก ให้สามารถหลีกเลี่ยงการล้มละลายหรือการสูญเสียที่ดินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อรักษาสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรังรักษาแพง ทั้งยังได้ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้ตรวจสุขภาพและอาการที่ไม่ปกติต่างๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที
ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นการยืนยันหลักการว่า การรักษาสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า มาตรฐานและคุณภาพการรักษาย่อมเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน และมุ่งสู่การรักษาให้สามารถคงคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนจะได้รับการรักษาสุขภาพตามความจำเป็น โดยทุกคนได้จ่ายค่าประกันสุขภาพตามกำลังความสามารถของตนในรูปแบบของภาษี
เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนได้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้คลอดจน สำเร็จ ในส่วน การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่การเลือกผู้แทนเข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข การจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้อง เรียนอิสระทั่วประเทศ ตลอดจนการรวมตัวกันเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในทุกภูมิภาคเพื่อพิทักษ์ รักษาระบบไม่ให้ถูกกลุ่มผลประโยชน์ด้านการขายบริการทางการแพทย์มาทำลาย
เพื่อเป็นการสาธิตบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ ผมขอคัดข้อความจากรายงานทางอีเมล์ที่ส่งในเครือข่ายภาคประชาชนเมื่อไม่นานมา นี้มาให้อ่าน จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจน
กรณีนี้เป็นเรื่องหมอไล่คนไข้กลับบ้าน คือไปรักษาด้วยอาการเบาหวานขึ้นสูง ไปโรงพยาบาลติดกัน 3 ครั้งด้วยอาการเดิมและหนักขึ้น โดยรพ.ไม่รับเป็นผู้ป่วยใน แต่อาการกลับแย่ลง จนกระทั่งครั้งที่ 4 อาการหนักขึ้น เมื่อพาไปถึงโรงพยาบาลแพทย์ทำการช่วยเหลือและพบว่าเสียชีวิตแล้ว ศูนย์ฯ(ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน) รับเรื่องแล้วรีบลงไปพื้นที่ “เห็นแล้วก็สังเวชมากตอนเอาศพไปไว้ที่วัดลูก 8 เดือนพยายามคลานไปเปิดนมกิน เขาจนมาก เจ้าหน้าที่ศูนย์ต้องร่วมลงขันเพื่อช่วยเหลือ แล้วก็ช่วยทำหนังสือร้องไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) แต่เนื่องจากกรณีนี้ไม่ได้ตายที่โรงพยาบาลเพราะไปไม่ถึง(ตายกลางทาง) เจ้าหน้าที่สสจ.และอนุกรรมการมาตรา41 ประสานเสียงยืนยันว่าจ่ายไม่ได้ (หมายถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล) เพราะไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาล มีเราคนเดียวในฐานะอนุกรรมการ ม.41 ยืนยันว่าจ่ายได้ แต่อนุกรรมการ ม.41 จังหวัดไม่ยอม ศูนย์ฯเลยอุทรณ์จนได้รับเงินเยียวยามาสองแสน แต่ศูนย์ก็ยังไม่หมดภาระ เพราะผัวมีเมียใหม่แล้ว แม่คนตายก็ยังอยู่ ย่าที่เลี้ยงหลานอีก งานนี้ศูนย์เลยใช้วิธีเชิญทั้งผัว แม่ตัว แม่ผัวของคนตายมาคุยกัน แล้วก็ตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้เลี้ยงเด็กทั้งสองคน ปรากฎว่าผัวบอกเลี้ยงไม่ไหว แม่ตัวก็เลี้ยงไม่ไหว แม่ผัวเป็นผู้รับเลี้ยง ก็เลยให้ทั้งสองคนเซ็นเอกสารสละสิทธิ์ให้แม่ผัวเซ็นรับไปดูแลหลานและให้เงิน ไปทั้งหมด 2 แสนบาท นอกจากนั้นศูนย์ยังประสานงานไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัด(พมจ.)ให้เข้าไปช่วยเหลืออีกทา เรื่องค่านมเด็ก ...” แม้ว่าการต่อสู้จนได้มาซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและผลักดันพัฒนา สิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพจนสำเร็จหลายส่วน ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่น่าภูมิใจสำหรับภาคประชาชน แต่ยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องบรรลุให้ได้ต่อไปข้างหน้า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่พึงปรารถนา ในความเห็นของผม เรื่องสำคัญๆ ที่ยังต้องต่อสู้ให้บรรลุต่อไป ได้แก่
1. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องทำให้ครอบคลุมประชาชนผู้อาศัยอยู่ในประเทศ ไทยทุกส่วน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย นี่เป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นความประสงค์แต่แรกของภาคประชาชน และจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม (เช่นช่วยในการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ)
2. ประชาชนที่เคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยและถิ่นที่ทำงานจำนวนนับล้านคนจะต้อง มีวิธีการย้ายหน่วยบริการรักษาพยาบาลปฐมภูมิได้อย่างสะดวกรวดเร็วและโดยกึ่ง อัตโนมัติ เช่นโดยการแจ้งย้ายถิ่นทางสายด่วน 1330 หรือเมื่อมารับบริการครั้งแรกในถิ่นใหม่ ปัจจุบันยังมีคนนับแสนหรือนับล้านเข้าไม่ถึงบริการเพราะอยู่ในต่างถิ่นจาก หน่วยบริการของตน นี่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการ
3. ระบธุรกิจรักษาพยาบาลของเอกชนได้แย่งทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรส่วนอื่นๆจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้ปัญหานี้ทำได้หลายทาง เช่นการเพิ่มค่าตอบแทนบุคคลากรในระบบบริการของรัฐ การแก้กฎหมายเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อกำหนดให้ต้องรับคนไข้ในระบบหลัก ประกันสุขภาพส่วนหนึ่งทุกโรงพยาบาล (เช่นอย่างน้อย25% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด) และสำหรับแพทย์พยาบาลและบุคคลากรส่วนอื่นๆที่เรียนจบโดยทุนการศึกษาของรัฐ ใบประกอบโรคศิลป์ในระยะ 10-15 ปีแรกน่าจะระบุอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป์เฉพาะในสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ ขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือของชุมชน
4. การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องสามารถลดระยะเวลาที่ประชาชนต้อง รอรับบริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ใช่ใช้เวลากว่าครึ่งวันรอพบแพทย์แล้วรอรับยาต่อ ส่วนการรอการตรวจด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ และการผ่าตัดใหญ่ จะต้องไม่นานเกินควร
5. ทัศนคติและท่าทีของบุคคลากรต่อคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องพัฒนาไม่ให้ต่างกับในระบบการรักษาพยาบาลเอกชน
6. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรต้องส่งเสริมและพัฒนาหน่วยปฐมภูมิที่ก่อ ตั้งโดยชุมชน ที่ชุมชนร่วมกันจ้างบุคคลากรและพัฒนาบริการ เพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
7. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรจะต้องขยายไปถึงผู้ประกันตนในระบบประกัน สังคม (โดยงดเก็บเบี้ยประกันสังคมในส่วนของการรักษาพยาบาล เพราะค่าประกันสุขภาพได้จ่ายเป็นภาษีอยู่แล้ว) และควรจะต้องเข้าไปทดแทนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ
โดยสรุปแล้วเราต้องช่วยกันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหลักประกันด้านการรักษาสุขภาพของทุกคน ที่ทุกคนพอใจที่จะเป็นเจ้าของ และที่ทุกคนพอใจที่จะใช้บริการ ไม่ใช่ระบบรักษาสุขภาพที่ผู้ใช้บริการโดยส่วนใหญ่ยังคงได้แก่ครอบครัวที่มี รายได้น้อยเท่านั้น