ที่มา ประชาไท
รายชื่อ ครม.ชุดนี้ เห็นชัดว่ายิ่งลักษณ์มีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น เพราะมีตัวบุคคลอย่าง น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ผู้อยู่ในเครือข่าย ‘โฟร์ซีซันส์’ เอสซีแอสเสท-แสนศิริ มาเป็น รมว.สาธารณสุข ขณะที่กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ยังเก้าอี้เหนียว ไม่ว่ามีข่าวใครไม่พอใจ ศันสนีย์ นาคพงศ์ เลื่อนจากโฆษกคู่ใจมาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยว่ากันว่า ‘ส.’ สุรนันท์ เวชชาชีวะ คือกุนซือนายกฯ
ในส่วนที่ดูดีขึ้นคือ พงศ์เทพ เทพกาญจนา มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ วราเทพ รัตนากร เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดูแลสำนักงบประมาณ (แม้สงสัยอยู่บ้างว่า เหตุใดจึงไม่ให้พงศ์เทพไปเป็น รมว.ยุติธรรมแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ควรวางมือได้แล้ว) ส่วน ‘เสี่ยเพ้ง’ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจุดแข็ง เพราะชื่อเสียง ‘นายทุนพรรค’ มานั่งทับบ่อน้ำมันที่รสนา โตสิตระกูล และพันธมิตร จ้องเล่นงานอยู่ (แต่จุดแข็งของเสี่ยเพ้งอาจจะเป็นการ ‘ส่งอีเมล์เข้าถึงสื่อ’ ฮิฮิ)
อีกจุดที่น่าสนใจคือ การเลื่อนชั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขึ้นเป็น รมว.คมนาคม แทนจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่ขยับไปเป็น หัวหน้าพรรคและ มท.1 แม้ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะนามสกุล แต่ชัชชาติก็เป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้ ท่าทีดี บุคลิกดี ที่ผ่านมาถือว่าสอบผ่าน ในเก้าอี้ รมช. แต่ครั้งนี้เจอข้อสอบใหม่ว่าจะสั่งงาน รมช.ตท.10 อย่างไร แถมได้ปลัดกระทรวงเป็น พล.ต.อ.อีกต่างหาก
เรื่องตลกคือ ครม.ครั้งนี้ปรับตั้ง 23 คน แต่นอกจาก 6-7 คนนี้ คนอื่นไม่มีอะไรให้พูดถึง รมว.เกษตรฯ ก็ยังเป็นบรรหาร ศิลปอาชา (ฮา) รมว.อุตสาหกรรม ก็ยังอยู่โคราช รมว.วัฒนธรรม แค่เปลี่ยนจากนางเป็นนาย ที่เหลือ 10 กว่าตำแหน่ง คือ รมช.ทั้งหลาย ที่ได้เก้าอี้ไปเป็นเกียรติศักดิ์ศรีวงศ์ตระกูล ตามโควตา หรือตามที่ ‘นายใหญ่’ ให้คำมั่นสัญญาไว้ (ปรับไปถึงยิ่งลักษณ์ 9 ก็อาจจะยังแจกเก้าอี้ตามที่รับปากได้ไม่หมด) ขณะที่ รมว.ส่วนใหญ่ยังนั่งเก้าอี้เดิม ไม่ว่ากระทรวงต่างประเทศ กลาโหม ยุติธรรม ไอซีที แรงงาน พัฒนาสังคม ตลอดจนพาณิชย์ ที่จะเป็นเป้านิ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ถ้ามองภาพรวมของ ครม.ชุดนี้ ข้อแรก น่าจะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งในแง่การบริหารและการรับมือฝ่ายค้าน แต่ก็ยังไม่ดีนัก จากคะแนนเดิม 5.5 เพิ่มเป็น 6 หรือ 6.5 เพราะไม่ได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการที่มาตามโควต้า
ข้อสอง ขณะที่นายกฯ มีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น จะเห็นว่า ครม.ทั้งคณะล้วนเป็น ‘สายตรง’ หรือผู้ที่ ‘อยู่ในโอวาท’ ตั้งแต่หัวหน้าพรรคคนใหม่ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งไม่มีความโดดเด่นอะไร แต่มีมนุษยสัมพันธ์และ ‘ว่าง่าย’ ไปจนรัฐมนตรีช่วยทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่คนของนายใหญ่ นายหญิง นายกฯ ก็เป็นเจ๊ ด.
ภาพเปรียบเทียบชัดเจน คือพงศ์เทพ เทพกาญจนา กับจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งต่างก็เป็นคนบ้านเลขที่ 111 ที่มีคุณภาพและมีบทบาทตอบโต้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ตลอดมา โดยจาตุรนต์ซึ่งเคยรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมีบทบาทมากกว่าด้วยซ้ำ แต่พงศ์เทพใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตรกว่า ขณะที่จาตุรนต์มีความเป็นตัวของตัวเองสูงกว่า
นี่ไม่ต้องพูดถึงการ ‘เคียะ’ รมว.ศึกษาธิการผู้ไม่ฟังใครอย่างสุชาติ ธาดาดำรงเวช ซึ่งคงหมดโอกาสกลับมาอีก
ข้อสาม เมื่อดูทิศทางการเมืองประกอบแนวโน้มการจัดตัวบุคคล ก็เห็นได้ว่า ครม.ปู 3 จะลดท่าทีในการต่อสู้กับ ‘ฝ่ายอำมาตย์’ ลง โดยมุ่งไปที่การอยู่รอดเป็นสำคัญ
“พูดตรง ๆ ว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลต้องการเอาตัวรอด ไม่ต้องการใช้ตัวชนหรืออะไร เพราะต้องการคนที่พลิ้วไหว แต่ไม่ต้องการคนแข็ง"
ฐิติมา ฉายแสง พูดชัดเจนถึงสาเหตุที่จาตุรนต์ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี
และนี่เป็นที่มาของ ‘รัฐมนตรีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา’ เมินนักรบบาดแผลเต็มตัว อย่างที่จตุพรตัดพ้อ
เพียงแต่คำพูดของจตุพร ไม่สง่าผ่าเผยนัก เพราะเหมือนพูดเพื่อทวงเก้าอี้ให้ตัวเอง ไม่ใช่ทวงภารกิจที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องทำเพื่อตอบแทนมวลชนเสื้อแดง ทั้งการปฏิรูปประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยนักโทษการเมือง และเอาผิดผู้สั่งปราบมวลชน
ซึ่งองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี ‘ผิวเกลี้ยง’ ชุดนี้ ทำให้มวลชนจำนวนไม่น้อยไม่มั่นใจว่า จะมัวแต่ ‘เอาตัวรอด’ จนละเลยภารกิจดังกล่าวหรือไม่
อันที่จริง ตัวจตุพรก็ไม่เหมาะจะเป็นรัฐมนตรีในเวลานี้ เพราะเป็นเหมือน ‘สายล่อฟ้า’ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องช่วงชิงกระแสสังคม แต่ปัญหาคือภาพของคณะรัฐมนตรีที่เพิ่มคนใหม่ๆ ซึ่งไม่มีความผูกพันกับการต่อสู้ของมวลชนเข้ามา จากเดิมพวก ‘นักการเมืองเก่า’ บางคนก็ไม่เคยร่วมเคลื่อนไหวมวลชนอยู่แล้ว ถึงเวลาก็หิ้วกระเป๋ามาลงเลือกตั้ง ได้อานิสงส์จากชีวิตเลือดเนื้อเสื้อแดงจนชนะ
ภาพรวมของ ครม.ชุดนี้ลดท่าทีต่อสู้ลง ไม่ใช่เพราะจตุพรชวดเป็นรัฐมนตรีคนเดียว ต่อให้จตุพรเป็น รมช.เกษตรฯ ก็ไม่ช่วยให้ดูฮึกหาญขึ้น
หลุมดำสนามม้า
ม็อบเสธอ้าย เฮือกสุดท้ายของอำมาตย์สายสุดขั้วสุดโต่ง ไม่มีอะไรน่ากลัว แม้จะมีคนป็นหมื่น ฝ่ายรัฐบาลไม่ควรไปดิสเครดิตว่าบ่อนพนันขนคนมา หรือออกอาการว่าคนมาผิดปกติ ในสังคมไทยวันนี้ พวกตกยุคคลั่งรัฐประหารมีมากกว่าหมื่นคนแสนคนอยู่แล้ว
รัฐบาลควรตอบโต้ทางเนื้อหามากกว่า ซึ่งก็ไม่ยากอะไร แค่ Quote ถ้อยคำของเสธอ้าย ‘แช่แข็งประเทศ 5 ปี’ ไม่ต้องมีเลือกตั้ง 10 ปี ถอยหลังกลับไปเป็นพม่า ทั้งที่พม่าเขาเดินหน้าแล้ว อันที่จริงนี่ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้ด้วยซ้ำ เพราะการบอกว่าจะเอาคณะบุคคลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมาปกครองประเทศ เท่ากับล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แต่ไม่ต้องไปเล่นกับกลไกตุลาการภิวัตน์ก็ได้ เอาแค่ Quote ถ้อยคำเด็ดๆ เผยแพร่ไปทั่วโลก ว่าม็อบนี้ไม่ได้มาไล่รัฐบาลเพราะจำนำข้าวทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ไม่พอใจที่เอาเงินภาษีไปช่วยเหลือชาวนา ทั้งที่เงินภาษีส่วนใหญ่ได้มาจากชนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือน
แค่นั้นก็จบแล้ว
ที่บางคนกลัวว่าม็อบเสธอ้ายจะเหมือ นม็อบสนธิ ลิ้ม ที่สวนลุม หรือม็อบพันธมิตรเมื่อปี 50 สถานการณ์มันต่างกันครับ ขบวนการไล่ทักษิณเมื่อปี 2548-49 มีพลังประชาธิปไตยร่วมอยู่ด้วย รัฐบาลทักษิณมีปัญหาความชอบธรรมในการใช้อำนาจ เหลิงอำนาจ สะสมความไม่พอใจแทบทุกภาคส่วน อันที่จริงลำพังสนธิ ลิ้ม อ้างเรื่องวัดพระแก้วแปลงสถาบันเป็นอาวุธ ก็จะไปไม่รอดอยู่แล้ว ถ้าทักษิณไม่ขายหุ้นเป็นทุ่นระเบิดอารมณ์คนชั้นกลาง แม้ต่อมาพันธมิตรขอ ม.7 กลายเป็นจุดแตกตัวของผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่พลังต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวยังอยู่และถูกอำมาตย์ฉวยไปใช้ทำรัฐประหาร
ขณะที่ม็อบพันธมิตรเมื่อปี 51 อันที่จริงก็โดดเดี่ยวตัวเองไปเป็นพลังราชาชาตินิยมสุดขั้วสุดโต่งแล้ว แต่ตอนนั้น ทั้งอำมาตย์ กลุ่มทุนเก่า กลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐประหาร ยังมีความหวังว่าชัยชนะของพรรคพลังประชาชนอาจเป็นแค่ควันหลง หากสามารถเดินแผนเดิมบันได 3 ขั้นให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ยังมีความหวังกุมอำนาจไว้ได้ ขณะที่กระแสสังคมวงกว้าง กระแสสากล ก็ยังได้รับอิทธิพลจากการปลุกความเกลียดชังช่วงรัฐประหาร เมื่อพันธมิตรยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน แม้สังคมประณาม แต่กระแสรักสงบ ตามวิสัยคนไทย ก็ยินดีเมื่อมีการยุบพรรคตัดสิทธิตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เพราะคิดว่าจะได้จบๆ ทำมาหากินกันเสียที
แต่ม็อบสนามม้า ไม่ได้ให้ความหวังเช่นนั้นเลย เพราะเสธอ้ายพูดโต้งๆ ว่าเลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ จึงต้องปิดประเทศแช่แข็ง 5 ปี แช่แข็งในขณะที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในขณะที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกำลังตั้งความหวังกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง จากจีนไปสิงคโปร์ จากดานังไปทวาย ซึ่งเป็นก้าวกระโดดใหญ่ของประเทศ
ม็อบสนามม้าจึงไม่มีวันได้รับการสนับสนุนจากกระแสรักสงบ ซึ่งได้บทเรียนอันเจ็บปวดจาก 6 ปีที่ผ่านมา ว่ารัฐประหารตุลาการภิวัตน์มีแต่ทำให้ประเทศถอยหลัง พวกสุดขั้วสุดโต่งสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไม่รู้จบ พอได้แล้ว จะได้ใช้ 3G เสียที จะได้ทำมาหากินกันเสียที แม้บางคนไม่ชอบรัฐบาล แม้เห็นว่ารัฐบาลก็มีด้านที่ไม่ดี แต่ผู้คนส่วนใหญ่เข็ดแล้ว อยากให้ประคับประคองกันไปในวิถีประชาธิปไตยมากกว่า
อย่าดูแต่คนหมื่นที่ออกมาสิครับ ต้องดูโพลล์เอแบคด้วย ที่ 97.3% ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ฉะนั้นถ้าคำนวณจาก 2.7% ที่เหลือ จากประชากร 70 ล้านคน เสธอ้ายก็ยังสามารถปลุกระดมคนออกมาชุมนุมได้ถึง 1.9 ล้านคน
ในทางตรงข้ามผมเห็นว่าม็อบสนามม้าคือ ‘หลุมดำ’ ที่จะดูดพวกสุดขั้วสุดโต่งลงหลุมไปด้วยกัน เพราะใครขึ้นเวทีเท่ากับเห็นด้วยกับการแช่แข็งประเทศ ซึ่งลดพลังของพวกเขาไปในตัว แม้แต่พันธมิตรยังไม่กล้าเล่นด้วยเต็มที่ ปชป.อาจจะแอบสนับสนุน แต่ไม่กล้าอ้ารับเต็มปาก ส่วนพวกนักวิชาการสยามประชาภิวัตน์ สื่อ นักวิชาการเหลืองและแอบเหลืองทั้งหลาย ที่ชอบอ้างประชาธิปไตย ก็ไม่กล้าโผล่หน้าเช่นกัน
เหลือแต่พวกไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่นแล้ว
ความแตกต่างที่ชัดเจนจากปี 2549 และ 2551 คือ กระแสประชาธิปไตย และกระแสรักสงบ ล้วนอยู่ข้างรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามโดดเดี่ยวตัวเองเกือบจะสิ้นเชิง เพียงแต่เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของพวกเขา ก่อนระบอบอำมาตย์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากรัฐบาลประคับประคองผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว ก็แทบไม่ต้องกังวลกับคนพวกนี้อีก
เพียงแต่การออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรพิทักษ์สยาม จะมีผลคุกคามกระแสรักสงบ กลัวความวุ่นวาย ซึ่งจะกระทบชิ่งมายังรัฐบาล ในแง่ที่กระแสรักสงบอยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ ก่อน ทำงานไปก่อน อย่ารบรากับพวกอำมาตย์นัก
บริหารกระแสรักสงบ
ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจึง ต้องบริหารกระแสรักสงบ กับกระแสประชาธิปไตย ไปพร้อมกัน แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ต้องอิงกระแสรักสงบเป็นหลัก กระแสรักสงบเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ คือไม่ต้องการเห็นการยุบพรรคตัดสิทธิอีก แต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลรุกเร้า ‘ชน’ แตกหัก เสียแต่ตอนนี้
นี่สอดคล้องกับเอแบคโพลล์ ที่ 97.3% ให้รัฐบาลทำงานไปก่อน
การบอกว่ารัฐบาลต้องเอาตัวรอดก่อน ไม่ต้องการใช้ตัวชน ในมุมหนึ่งจึงถูกต้อง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ขณะที่บริหารกระแสรักสงบ รัฐบาลก็ต้องรุกทางเนื้อหา เพื่อไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยเช่นกัน จะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพียงแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป กินทีละคำ ค่อยๆ ย่างก้าวอย่างมั่นคง ทำความเข้าใจกับสังคมให้ทั่วถึง
ตรงนี้แหละที่ไม่มั่นใจว่าคณะรัฐมนตรี ‘ผิวเกลี้ยง’ ชุดนี้ จะมีจุดยืนมั่นคงมีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะค่อยๆ ย่างก้าวไปสู่การปฏิรูปหรือไม่
ยุทธศาสตร์บริหารกระแสรักสงบ อธิบายได้ว่าทำไมไม่ตั้งจตุพร แล้วไปตั้งติ๋ว ศันสนีย์ (เรียกแบบดาราเซเลบส์) แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมไม่ตั้งจตุพรแล้วไปตั้งประชา ประสพดี ซึ่งก็เชิญแขกไม่น้อยกว่ากันซักเท่าไหร่
การมองกระแสรักสงบต้องตีให้แตกว่า ประเด็นที่สังคมประนีประนอมแบบไทยๆ ต้องการคือ อย่าเพิ่งแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทักษิณอย่าเพิ่งกลับบ้าน ฝ่ายตรงข้ามอย่าทำรัฐประหาร อย่าล้มรัฐบาลนอกวิถี ให้รัฐบาลทำงานไปก่อน ชั่วๆ ดีก็พอรับได้ ถึงไม่พอใจบางเรื่อง จะคอรัปชั่นโกงกินนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร อย่ารับประทานโจ๋งครึ่มนักก็แล้วกัน แล้วก็อย่าแข็งกร้าว ฟังชาวบ้านบ้าง ฝ่ายค้านก็อภิปรายไม่ไว้วางใจไป ตุลาการภิวัตน์ถ้าจะเตะตัดขารัฐบาล ก็ทำได้ในบางเรื่องที่มีกระแสหนุน แต่ประเภทตะแบงว่าทำกับข้าว เอ๊ย จำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญ ไม่กล้าแล้ว
ฉะนั้นไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไม่สามารถรุกทางการเมืองอย่างมีเนื้อหา ค่อยเป็นค่อยไป มีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ (แปลว่าอะไรให้ถามภูมิธรรม) ขณะเดียวกัน กระแสที่เรียกร้องให้รัฐบาลทำงาน ก็ไม่ได้บอกให้ตั้งรัฐมนตรีตามโควตา ตามโอวาท ตามคำมั่นสัญญา หรือตัวแทนกลุ่มก๊วนงอกราก จนแทบไม่เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการเช่นนี้
ในภาพรวม เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่รอดได้ บริหารกระแสรักความสงบได้ เพราะไม่ยากเย็นอะไร ในเมื่อฝ่ายตรงข้ามมีแต่จะแสดงความคลั่ง แต่ไม่มีอะไรให้เชื่อมั่นว่าจะผลักดันกระแสประชาธิปไตยได้ตามที่มวลชนต้อง การ
ในแง่ของมวลชน จึงต้องมีบทบาทผลักดัน โดยด้านหนึ่งมวลชนที่ออกจะ ‘ฮาร์ดคอร์’ ต้องทำความเข้าใจกระแสรักสงบ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย เข้าใจความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องบริหารกระแสรักสงบ และต้องทำงานเพื่อคนทั้งประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องสร้างกระแสมวลชนที่นำหน้ารัฐบาล เป็นตัวแข่ง เป็นตัวช่วย รวมทั้งเป็นตัวกดดันรัฐบาล โน้มนำกระแสรักสงบให้เห็นว่าภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความสงบที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้ บ้านเมืองไม่มีวันกลับสู่ภาวะปกติ หากไม่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเดิน 2 ขา แต่ขอให้เชื่อมั่นเถอะว่า รัฐประหารไม่สามารถกลับมาได้อีกแล้ว เว้นแต่เกิด ‘เงื่อนไขพิเศษ’ จริงๆ ฉะนั้นมวลชนก็ไม่ควรกลัวรัฐประหารเกินไป จนละเลยการตรวจสอบหรือเรียกร้องรัฐบาล