ที่มา ประชาไท
ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
บทความนี้เป็นการปริทัศน์ (review) บทความ Mobile Democracy: Mobile Phones as Democratic Tools (2008) ของ Heike Hermanns ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Politics ฉบับที่ 28 (2) หน้า 74-8
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก บทความของ Hermanns พยายามจะชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีของมือถือมีผลกระทบต่อประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ทว่าไม่ใช่ทุกสังคมการเมืองที่มือถือจะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองไทยในปี 2006
มือถือในฐานะเครื่องมือของกิจกรรมทางการเมือง
ในบทความ Hermanns ได้แสดงให้เห็นว่ามือถือไม่ใช่เพียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการสนทนาเท่านั้น หากแต่ยังมีส่วนในการเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมือง Hermanns เน้นการยกตัวอย่างของสังคมการเมืองเกาหลีที่มือถือมีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมาก ดังตัวอย่างในปี 2002 ที่ชาวเกาหลีจำนวนมากได้รับข้อความ (text message) ที่เชิญชวนให้ร่วมกันออกมาจุดเทียนบนท้องถนนของกรุงโซลเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของเด็กผู้หญิงเกาหลีจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะของกองทัพสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพสหรัฐฯในคาบสมุทรเกาหลี และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลี นอกจากนั้นการส่งข้อความผ่านมือถือยังมีบทบาทในการหาเสียงเลือกตั้งและกระตุ้นให้ชาวเกาหลีออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง กล่าวกันว่าการส่งข้อความเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำมาสู่การชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ด้วย
ไม่เฉพาะสังคมการเมืองเกาหลีเท่านั้น ในปี 1992 มือถือยังมีบทบาทสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในไทย เช่นเดียวกับในฟิลิปปินส์ที่การส่งข้อความผ่านมือถือมีส่วนในการสนับสนุนการชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี Joseph Estrada ในปี 2001 ซึ่งนำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีในที่สุด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามือถือสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะในบริบทของสังคมการเมืองเกาหลี
มือถือ กับ ความเป็นประชาธิปไตย
มือถือนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นการขยายอาณาบริเวณสาธารณะซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย นอกจากมือถือจะมีส่วนในการขยายปริมาณในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแล้ว ในขณะเดียวกันมือถือยังมีส่วนในการลดบทบาทของผู้ควบคุมดูแลข่าวสาร (gatekeeper) อีกด้วย อย่างไรก็ตามมือถือก็ไม่ใช่สื่อรูปแบบใหม่ที่จะมาแทนสื่ออย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หากแต่เป็นส่วนเสริมของสื่อเหล่านั้น
นอกจากนั้นการโทรศัพท์และการส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นเรื่องยากในการควบคุมตรวจตราซึ่งตรงกันข้ามกับอินเตอร์เน็ตที่สามารถถูกตรวจตราได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ประเทศเผด็จการอย่างเกาหลีเหนือจึงสั่งห้ามการใช้มือถือและการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลใด ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐ
ในปัจจุบันที่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของมือถือ และราคาที่ต่ำลงจนคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าในหลายสังคมการเมือง มือถือมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าคอมพิวเตอร์ หรือ อินเตอร์เน็ต ในแง่ที่ว่ามีความเสมอภาค (egalitarian) ทั้งการเข้าถึง และการใช้งาน ต่างกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ที่วัยรุ่น หรือ คนหนุ่มสาว เท่านั้นที่สามารถใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มือถือ กับ ม็อบ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามือถือมีบทบาทในฐานะเครื่องมือของกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นมือถือจึงเป็นเครื่องมือขององค์การทางการเมือง หรือ กลุ่มทางการเมือง เช่น ม็อบที่ใช้ความรุนแรง
อำนาจในการระดมมวลชน (mobilization) ของมือถือบางครั้งไม่ได้เป็นผลดีต่อประชาธิปไตยเสมอไป ในหลายสังคมการเมือง อำนาจดังกล่าวของมือถือนำไปสู่ม็อบที่เคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง เช่น ในออสเตรเลีย ปี 2005 การจลาจลจากประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ข้อความผ่านมือถือถูกใช้ในการกระตุ้นเร้าความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือ กรณีที่เด่นชัดในไทย ปี 2005-2006 ที่การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลไม่เพียงเรียกร้องเฉพาะการลาออกของนายกรัฐมนตรี แต่ยังเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารของทหาร ซึ่งในกรณีดังกล่าวมือถือในฐานะหนึ่งในเครือข่ายของสื่อที่สนับสนุนการชุมนุมประท้วงได้แสดงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่นี้จึงเห็นได้ว่ามือถือสามารถมีบทบาททั้งในทางสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมือถือกับม็อบดังกล่าว
สรุป
บทความของ Hermanns ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมือถือในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมือง เรื่อง ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ดังที่ Hermanns ชี้ให้เห็นว่ามือถืออาจไม่ใช่เครื่องมือประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยมือถือเสมอไป เช่น ตัวอย่างของสังคมการเมืองไทย เป็นต้น ในแง่นี้การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังดำเนินไปจึงไม่สามารถละเลยมือถือในฐานะปัจจัยที่มีทั้งผลบวกและลบต่อประชาธิปไตยได้