WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, April 28, 2009

สื่อสร้างมวลชน

ที่มา ประชาไท

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน, 27 เมษายน 2552 หน้า 7

สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสำหรับสังคมสมัยใหม่ในการส่งข่าวสาร การรับรู้และสร้างทัศนะคติในทางการเมือง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างตรงไปตรงมาบนหลักจริยธรรมทางวิชาชีพจึงเป็นปัจจัยที่มีความหมายอย่างมากต่อการสร้างสังคมที่ดำรงอยู่บนฐานของความรู้ข้อเท็จจริง และการแลกเปลี่ยนถกเถียงความคิดเห็นระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ อย่างสันติแม้มีความเห็นที่แตกต่างกัน

ในอดีตที่ผ่านมา การคุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันสื่อมวลชนในสังคมไทยปรากฏขึ้นใน 2 ลักษณะสำคัญ ประการแรก เป็นการคุกคามด้วยการใช้อำนาจรัฐทั้งโดยวิธีตามกฎหมายและวิธีนอกกฎหมาย เช่น การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่ยืนอยู่คนละฝ่ายกับผู้ถืออำนาจรัฐ การทุบแท่นพิมพ์ด้วยอำนาจมืด ประการที่สอง ด้วยการแปรสภาพเป็นธุรกิจสื่อมวลชน ทำให้ทุนสามารถเข้ามามีบทบาทกำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ ดังการซื้อโฆษณาจำนวนมหาศาลในสื่อต่างๆ โดยองค์กรหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ย่อมมีผลต่อทิศทางการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอข่าวอันมีผลกระทบด้านลบต่อองค์กรดังกล่าว

แม้ว่าการคุกคามต่อสื่อมวลชนใน 2 ลักษณะที่กล่าวมายังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ลุล่วงไป แต่บัดนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในการทำงานของสื่อมวลชนในอีกรูปแบบที่แตกต่างออกไป

ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยมีความเข้มข้นอย่างมากด้วยการเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เราสามารถมองเห็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทของสื่อมวลชนที่ไม่ได้เสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มีความสมดุลหรือมีความเป็นกลางอย่างเพียงพอ หากแต่เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ “เอียง” เข้าไปหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อโทรทัศน์ (ในบทความนี้ไม่ได้หมายความถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีหรือดีสเตชั่น เพราะทั้งสองสถานีนี้ต่างแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นกระบอกเสียงของแต่ละฝ่าย หากแต่ต้องการกล่าวถึงสถานีโทรทัศน์อื่นโดยเฉพาะที่มักอวดอ้างตัวเองว่ามีความเป็นกลาง เป็นมืออาชีพ)

เช่นในการเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อเหลืองที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้เข้าไปทำสารคดีของผู้ชุมนุมที่สะท้อนให้เห็นภาพของผู้มาเข้าร่วมชุมนุม การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน นับตั้งแต่การตื่นนอน การทานอาหาร การสัมภาษณ์เพื่อสะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่อยู่ภายในการชุมนุม ที่ล้วนแต่ทำให้เห็นภาพในด้านบวกของการชุมนุมว่าดำเนินไปอย่างสันติและไม่มีความรุนแรงอยู่ในการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น

แน่นอนว่าการนำเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนสามารถกระทำได้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นแง่มุมที่ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมชุมนุมอันจะทำให้สังคมเข้าใจบรรดาผู้คนเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นบทบาทที่มีความสำคัญที่สื่อควรจะต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในภายหลัง การชุมนุมของคนกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ถูกมองโดยสื่อมวลชนว่าเป็นม็อบรับจ้างหรือเป็นบรรดาชาวบ้านที่ไม่มีความรู้อย่างเพียงพอเท่านั้น ในห้วงเวลาของการชุมนุมไม่ปรากฏการนำเสนอข่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับที่เคยมีการนำเสนอกันอย่างแพร่หลายในการชุมนุมโดยอีกฝ่าย

นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุมีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มเสื้อแดงบางส่วนในการเผารถเมล์หรือการทำร้ายบุคคลบางคน คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแต่ก็เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองที่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายครั้งหลายคราว แต่สังคมได้เห็นภาพของกลุ่มเสื้อแดงนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นภาพประทับให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกที่ใช้ความรุนแรง โหดร้าย และต้องการสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่ประโคมว่าตนเองเป็นสื่อสาธารณะกลับนำเสนอข้อมูลเฉพาะข่าวสารจากทางภาครัฐเพียงด้านเดียว เมื่อมีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น สื่อมวลชนก็เพียงทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลที่มาจากภาครัฐกับประชาชน โดยไม่มีการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ เลยแม้แต่น้อยกับคำอธิบายเหล่านั้น

ไม่ต้องพูดถึงการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยของสังคม แทบจะไม่มีเสียงของฝ่ายอื่นที่เห็นต่างถูกเผยแพร่ออกมาทางสื่อมวลชนได้ ขณะที่มีพื้นที่สำหรับภาครัฐอย่างกว้างขวางแต่มีเพียงกระผีกลิ้นสำหรับ “คนอื่น”

ปรากฏการณ์การเอียงข้างของสื่อมวลชนในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะการคุกคามด้วยอำนาจรัฐหรือทุน หากเกิดขึ้นจากจุดยืนของสื่อมวลชนในการเลือกข้างทางการเมืองมากกว่า

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า “ภาพ” ของเสื้อแดงคือกลุ่มชาวบ้าน รากหญ้า หรือฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด บุคคลเหล่านี้ถูกมองจากชนชั้นกลางและชนชั้นนำว่าเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทางการเมือง สามารถถูกชักจูงหรือซื้อได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง หรือโดยนโยบายประชานิยม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เลวร้ายในทรรศนะของบรรดากลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย

คนเสื้อแดงจึงเป็นพลเมืองชั้นสองที่ควรต้องให้การศึกษาหรือข้อมูลเพื่อให้มีความเข้าใจทางการเมืองที่ถูกต้อง เมื่อไม่มีความสามารถในการตัดสินใจทางการเมืองได้ด้วยตนเองหากเป็นแต่ผู้ที่ถูกชักจูงมา จึงไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหรือความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้

ก็ในเมื่อเป็นพวกที่ไม่มีอัตวินิจฉัยอันสมบูรณ์แล้ว ถึงสัมภาษณ์ไปก็เป็นความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์หรืออาจเป็นความเห็นที่ผิดพลาดอีก

อาจมีข้ออ้างว่าความเอียงของสื่อมวลชนเป็นผลมาจากการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พึงสังเกตว่าปรากฏการณ์การเอียงข้างแบบกะเท่เร่นี้ปรากฏมาก่อนการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นเพียงการซ่อนจุดยืนทางการเมืองของตนเองไว้หลังอำนาจรัฐที่ตนเองมีความยินยอมพร้อมใจด้วย

หรือกระทั่งมีการใช้อำนาจรัฐคุกคามสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ควรหรือไม่ที่สื่อมวลชนจะยอมอย่างหงอๆ ต่ออำนาจรัฐ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ยิ่งแหลมคม สื่อมวลชนก็ยิ่งทวีความสำคัญในการที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏต่อสาธารณะมากที่สุด ดังเมื่อมีข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีสื่อมวลชนใดให้ความสนใจตราบจนกระทั่งกลายเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐต้องออกตอบคำถาม ทั้งหมดนี้สื่อมวลชนไทยแทบไม่ได้เป็นผู้ตั้งประเด็นขึ้นแต่อย่างใด

ถ้าสื่อมวลชนไทยทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าแต่งหน้าสวย แต่งกายภูมิฐาน พูดจาสุภาพน้ำเสียงชัดเจน คอยเป็นกระบอกเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐ การยกเลิกคณะนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนที่มีอยู่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองทิ้งไปก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่แวดวงสื่อมวลชนแต่อย่างใดมิใช่หรือ