ที่มา ไทยรัฐ
ปชป.ตีกัน "เสนาะ" นั่งประธานรวบรวมประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมแพลมไต๋ลากเกมยาวตั้ง ส.ส.ร. "บรรหาร" เห็นด้วยไม่ต้องรีบเร่งแก้ รธน. พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอชำแหละ 3 กรอบใหญ่ ย้ำจุดยืนปล่อยผีเหยื่อยุบพรรค ภูมิใจไทยได้ข้อสรุป 8 ประเด็น เน้นเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว-จัดตั้งศาลเลือกตั้ง ส่วนนิรโทษกรรมต้องผ่านประชามติ เพื่อแผ่นดินขอใช้ ฉบับปี 50 เป็นต้นร่าง แถมแฉ ปชป.จ้องดัน "บัญญัติ" นั่งหัวโต๊ะคุมเกม ขณะที่พรรคเพื่อไทยเชียร์ "ป๋าเหนาะ" เหมาะสมกว่า แถมเล่นแง่ขอให้ตั้ง กมธ.สอบเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงก่อน 40 ส.ว.ป่วนล้มโต๊ะรายชื่อที่ผ่านมติวิปวุฒิฯ "กษิต" เดินตามรอย "อภิสิทธิ์-เทพเทือก" นั่งรถกันกระสุนบ้าง
กรณีที่วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา มีมติร่วมกันเสนอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่รวบรวมข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆภายใน 15 วัน ขณะเดียวกันมีข่าวว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา พยายามผลักดันให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวนั้น
ปชป.ห่วง 15 วันรวมประเด็นไม่ทัน
เมื่อเวลา 10.35 น. วันที่ 27 เม.ย. ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คาดว่านายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา จะตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ภายในวันที่ 29 เม.ย. เพื่อให้คณะกรรมการได้วางกรอบการพิจารณา เลือกประธาน และตำแหน่งอื่น ส่วนเงื่อนเวลาที่นายชัยกำหนดไว้เบื้องต้น 15 วันนั้น อาจดำเนินการไม่ครบถ้วน เพราะคณะกรรมการต้องรวบรวมประเด็นอย่างรอบคอบและรับฟังความเห็นให้กว้างขวางก่อนนำเสนอต่อรัฐสภา
ตีกัน "เสนาะ" นั่งประธาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชัยเสนอชื่อนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการฯ นายชินวรณ์ตอบว่า ยังไม่ชัดเจน ยังไม่มีการพูดถึงตัวบุคคล ควรให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการ แต่บุคคลที่จะเป็นประธานต้องได้รับการยอมรับจากสังคม สามารถขับเคลื่อนให้คณะกรรมการดำเนินการไปตามเป้าหมายได้ เมื่อถามย้ำว่าคุณสมบัติของนายเสนาะเหมาะสมพอหรือไม่ นายชินวรณ์ตอบว่า ไม่อยากก้าวล่วง ให้คณะกรรมการไปเลือกกันเอง
ดึงเกมยาวตั้ง ส.ส.ร.
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นายชินวรณ์ตอบว่า ยังเป็นเพียงขั้นตอนให้แต่ละพรรคไปรวบรวมประเด็น การจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 5 เข้าชื่อเสนอเป็นญัตติ โดยมีข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งปี 2534 หรือปี 2540 ก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เปิดให้ทำประชามติ จึงมีข้อสังเกตในส่วนนี้ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ เมื่อถามว่ามีคนตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาอาจเป็นมวยล้ม นายชินวรณ์ตอบว่า เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่เป้าหมายตามที่สังคมต้องการได้
ยังไม่เคาะประเด็นเสนอแก้ รธน.
ต่อมาในช่วงบ่ายมีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการพูดคุยใน 2 ประเด็น คือ 1. องค์ประกอบของคณะกรรมการ 2. ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ เราไม่ติดใจในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่ติดใจเรื่ององค์ประกอบที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน จะเห็นว่าส่วนใหญ่มาจากภาคการเมือง มีภาคประชาชนน้อยมาก จึงอาจไม่มีความเป็นอิสระจากการเมือง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมพรรคมีมติเห็นด้วยกับการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1. รวบรวมประเด็นปัญหาทางการเมืองเพื่อนำมาศึกษาแก้ไข 2. รวบรวมประเด็นปัญหาความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้ไข 3. ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือนำไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติ สำหรับประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ โดยเห็นว่าควรรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน
เปิดชื่อ 8 ขุนพลร่วมทีมแก้วิกฤติ
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ชื่อบุคคล 8 คน ที่จะส่งไปเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแล้ว โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นผู้คัดเลือกจากผู้เสนอตัว ประกอบไปด้วยนายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม. นายนิพนธ์ วิสิษฎ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนในสัดส่วนโควตาพรรคนั้น ที่ประชุมหารือได้เพียงกรอบของบุคลากรที่มีความชำนาญด้านกฎหมายของสถาบันต่างๆเท่านั้น เพราะต้องนำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประสานไปยังพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อไม่ให้ตัวบุคคลซ้ำซ้อนกัน คาดว่ารายชื่อทั้งหมดจะส่งถึงมือนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ภายในวันที่ 29 เม.ย. ในเบื้องต้นมีชื่ออยู่แล้ว 2 คือนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนิด้า และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ชทพ.ย้ำปล่อยผีเหยื่อยุบพรรค
เช้าวันเดียวกัน นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง โดยเห็นควรให้แก้ไขมาตรา 190 และมาตรา 237 ภายใต้หลักการที่ให้คนที่ไม่ได้กระทำความผิดพ้นผิด ใครไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องได้รับความเป็นธรรม ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น มีหลากหลายเช่น อาจเขียนลงบทเฉพาะกาล หรือออกกฎหมายลูกเป็นการเฉพาะ ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอ นายชุมพลตอบว่า ไม่มีปัญหา แก้ได้ก็ได้ แก้ไม่ได้ก็จบไป เราไม่ติดใจ แต่วันหนึ่งความเป็นธรรมต้องคืนมาไม่ว่าในรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ได้เร่งรัด ถ้าเกิดกระแสไม่ยอมรับในสังคมก็ถอยไป อย่าไปแก้ให้เกิดวิกฤติในบ้านเมือง เมื่อถามว่าจำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่ นายชุมพลตอบว่า ไม่จำเป็น ตอนปี 2550 ไปลงประชามติกันถึงได้มีปัญหารัฐธรรมนูญกว่า 300 มาตรา ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย อ่านยังไม่รู้เรื่องเลย
ตกผลึกแยกเสนอ 3 กรอบใหญ่
ต่อมาในช่วงเย็น นายชุมพลให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ถึงความคืบหน้า ในการสรุปประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทางพรรคได้หารือและสรุปประเด็นคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเสนอประเด็นแก้ไข 3 ฉบับเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยฉบับแรกมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คุยกันตกผลึกแล้วเห็นว่าควรจะเสนอแก้ไขมาตรา 190 มาตรา 237 มาตรา 265 และมาตรา 266 ประเด็นเหล่านี้พรรคอื่นก็เห็นด้วย ส่วนฉบับที่สองคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. สำหรับฉบับที่สามจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหมด
"เติ้ง" ระบุไม่ต้องเร่งรีบ
นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การที่วิป 3 ฝ่ายเสนอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระดับหนึ่งที่จะมีความก้าวหน้าไปได้ แม้จะไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างเด็ดขาด แต่หากแก้ไขได้ส่วนหนึ่งก็ถือว่ายังดี ทั้งนี้ต้องดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วแก้ไขตรงจุดนั้น เหมือนเช่นที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้ว่าเมื่อมีปัญหาเรื่องการเมืองก็ต้องเอาการเมืองเข้าไปแก้ไข ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เสนอให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการ นายบรรหารตอบว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ ส่วนกรอบระยะเวลา ที่กำหนดให้ไว้ 15 วัน หากไม่พอก็น่าจะขยายออกไปได้ ไม่ต้องเร่ง และไม่คิดว่าจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลอย่างที่หลายฝ่ายวิจารณ์
เชียร์ช่วย "ทักษิณ" หลุดคดีการเมือง
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะมีการนิรโทษกรรม ที่อาจจะรวมไปถึงกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหารตอบว่า คงไม่มีเรื่องคดีอาญา แต่อาจจะมีแค่เรื่องการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ดีคิดว่า จะเป็นแนวทางที่จะทำให้ปัญหาในบ้านเมืองคลี่คลาย ลงไปได้ คนอยู่ใต้ดินก็เอามาบนดินเสีย ก็คงจะทำให้ คลี่คลายปัญหาไปได้
ภูมิใจไทยสรุปเสนอ 8 ประเด็น
อีกด้านหนึ่ง นางศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงหลังการประชุมพรรคว่า พรรคภูมิใจไทยมีข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8 ข้อคือ 1. ต้องเป็นประเด็นสาธารณะ 2. ให้มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 3. ที่มาของ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 4. ให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เช่นที่ปรึกษารัฐมนตรีหรือเลขานุการรัฐมนตรี 5. แก้มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ 6. การสรรหาองค์กรอิสระต้องเพิ่มตำแหน่งของ ส.ส.เข้าไปเป็นกรรมการสรรหาด้วย 7. เรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยให้ กกต. ทำหน้าที่เฉพาะจัดการเลือกตั้ง และรวบรวมหลักฐานการทุจริตส่งให้ศาลเป็นผู้ตัดสินเท่านั้น และเห็นว่าน่าจะมีศาลเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 8. เรื่องการยุบพรรค
ถ้าจะนิรโทษกรรมต้องผ่านประชามติ
นางศุภมาสกล่าวว่า ทุกประเด็นที่จะแก้ไขต้องผ่านการทำประชมติก่อน เพื่อเป็นการหาคำตอบจากประชาชนว่าต้องการให้มีกติกาแบบไหน สำหรับการนิรโทษกรรมนั้นพรรคไม่มีการพูดถึง เพราะเป็นประเด็นเฉพาะตัวบุคคล จะไม่แตะต้องเรื่องนี้ แต่หากพรรคอื่นเสนอมา ขอให้ผ่านประชามติเพื่อเป็นการแสดงว่าเห็นด้วยก่อน
นายประกิจ พลเดช ประธานคณะทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคมีมติให้นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เป็นตัวแทนพรรคไปเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ สำหรับประเด็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ยังคงให้มีการเพิกถอนสิทธิผู้ที่กระทำผิด 5 ปีเหมือนเดิม แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งทำผิด ขอให้เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่ควรลงโทษไปถึงกรรมการบริหารพรรคคนอื่นหรือยุบพรรค
"เนวิน" ประเมินรัฐบาลอยู่ไม่เกิน 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ ทางพรรคได้สั่งให้ ส.ส.แต่ละคนต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคมาแสดงอย่างน้อย 500 รายชื่อ โดยระบุว่าหากใครไม่สามารถรวบรวมรายชื่อสมาชิกได้ตามจำนวนหรือรวบรวมได้น้อยเกินไปอาจจะมีผลต่อการพิจารณาส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไป และ ส.ส.ทุกคนต้องซื้อเสื้อน้ำเงินของพรรค 400-500 ตัว ราคาตัวละ 50 บาท เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรค และนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการวางแผนการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวแน่นอน และประเมินว่าจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่เกิน 2 ปี จึงกำชับให้ ส.ส.ขยันลงพื้นที่
เพื่อแผ่นดินขอใช้ รธน.50 เป็นต้นร่าง
นพ.อลงกต มณีกาศ โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมมีมติว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรายมาตรา แต่ต้องไม่นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแม่แบบ เช่นต้องแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค เนื่องจากอยากให้มีการเอาผิดเป็นรายบุคคล และมาตรา 265 มาตรา 266 ที่ ส.ส.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น พรรคเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมากฎหมายถูกบังคับใช้ จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ ทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่เห็นด้วยหากจะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดทางคดีอาญา โดยเฉพาะคดีการทุจริตต่างๆ
แฉ ปชป.ดัน "บัญญัติ" นั่งประธาน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เสนอชื่อนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดินตอบว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯเช่นกัน
นายไชยยศ จิรเมธากร เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ทางพรรคได้ส่งชื่อนายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 และรองศาสตราจารย์นพนิธิ สุริยะ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯในโควตาสัดส่วนของพรรค โดยส่งรายชื่อทั้งสองคนไปถึงประธานรัฐสภาแล้ว
พท.เล่นแง่ให้ตั้ง กมธ.สอบสลายม็อบ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธุ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยนายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมของรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 เม.ย. และมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อยื่นเรื่องตรวจสอบการสลายการชุมนุม โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อยื่นเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ป.ป.ช. นอกจากนี้จะมีการรวบรวมหลักฐานการกระทำของกลุ่มคนเสื้อสีน้ำเงิน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินด้วย ถ้าสภาไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวขึ้นมา พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมสังฆกรรมในทุกเรื่องกับรัฐบาล รวมถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการตรวจสอบการทำงานต่างๆ
รีบชงเข้าที่ประชุมสภาทันที
ผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อตัวแทนที่จะร่วมในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ นายพร้อมพงศ์ตอบว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ขอพูดถึง เราขอพูดเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการสลายการชุมนุมก่อน ขอดูความจริงใจของรัฐบาล หากไม่จริงใจแล้ว เรื่องต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น ทุกเรื่องเราจะไม่ร่วมด้วย ทั้งนี้นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน แจ้งต่อที่ประชุมพรรคว่า วันที่ 29-30 เม.ย.นี้จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อตรวจสอบการสลายการชุมนุมขึ้นต่อที่ประชุมสภาฯ
เชียร์ "เสนาะ" คุมเกมแก้ รธน.
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เสนอชื่อนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯว่า นายเสนาะมีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นผู้ใหญ่ มีความอาวุโสทางการเมือง เป็นคนกล้าพูดเตือนสติได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่รู้ทันเกมการเมือง ใครก็ต้มไม่ได้ ทั้งนี้ถ้า ส.ว.ขึ้นเป็นประธานก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่กลัวตามเกมการเมืองไม่ทัน ส่วนคนจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ควรเป็นประธาน มิฉะนั้นเหตุการณ์จะวุ่นกันไปใหญ่ ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องจริงใจถึงจะไปได้ ถ้าไม่ จริงใจก็เกมโอเวอร์ทันที
"ไพบูลย์" ถอนตัวไม่รับมติวิปวุฒิ
ส่วนความเคลื่อนไหวของ ส.ว.เพื่อสรรหาตัวแทนไปร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมตัวแทนวิปวุฒิสภาได้ประชุมและมีมติเสนอชื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานวิปวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ปรากฏว่านายไพบูลย์ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ประกาศถอนตัว โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการเสนอชื่อไม่ถูกต้อง และไม่เห็นด้วยกับการตั้งธงจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ทำให้ตัวแทนวิปวุฒิสภาเตรียมเสนอชื่อนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา มาแทนนายไพบูลย์
"ประสพสุข" ผวาล้มโต๊ะเลือกใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุดังกล่าวทำให้ตลอดทั้งวัน กลุ่ม 40 ส.ว.ได้โทรศัพท์เข้าไปต่อว่านายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ถึงความเร่งรีบในการเสนอชื่อโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุขต้องสั่งการไปยังเลขาธิการวุฒิสภาให้เรียกประชุม ส.ว.เป็นวาระพิเศษในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 13.00 น. เพื่อลงมติเลือก ส.ว.ที่จะไปร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ จำนวน 7 คน และให้รายชื่อเดิมทั้ง 7 คนถือเป็นโมฆะ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวทำให้ ส.ว.อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
"ประวิตร" นำ ผบ.เหล่าทัพถกเขมร
เมื่อเวลา 08.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักรกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงษ์ ผบ.ทอ. และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางไปประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย. ที่ จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะมีการหารือกันใน 3 ด้าน 17 ประเด็น เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปตามแนวชายแดน เน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพูดถึงเรื่องการถอนกำลังตามแนวชายแดนเพื่อลดความตึงเครียดหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คงต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร แต่ จุดประสงค์ใหญ่คืออะไรที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ก็คงต้องอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันในทุกเรื่อง จะไปชี้ชัดไม่ได้ เพราะต่างคนต่างถือแผนที่กันคนละฉบับ
ออกรอบตีกอล์ฟกับ "เตีย บันห์"
ขณะเดียวกันสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างการเปิดเผยของ พล อ.เนียง พัต นายทหารระดับสูงของกัมพูชาว่า พล อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหมของไทย และ พล อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชา ออกรอบตีกอล์ฟร่วมกันที่เสียมราฐ โดยมีนายทหารอื่นๆร่วมก๊วนด้วย ซึ่งการใช้กีฬานำการทูตด้วยการออกรอบตีกอล์ฟครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดการเจรจาเรื่องปัญหาพรมแดนในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ขณะที่นายวาร์ คิม ออง ประธานคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา เผยว่า การเจรจาจะมุ่งเน้นเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทริมพรมแดน
ลุ้นคดี "บุญจง"-เงินบริจาค ปชป.
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย แจกเงินของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมนามบัตร ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปสำนวนเสร็จแล้ว คาดว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม กกต. ชุดใหญ่พิจารณาได้ภายในสัปดาห์นี้ กรณีดังกล่าวจะครบกำหนดลงมติในวันที่ 6 พ.ค.นี้ ส่วนคดีเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนมาให้ดำเนินการสอบสวนในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์นั้น สำนวนมีทั้งหมดประมาณ 4 พันหน้า โดยระบุว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้น ขณะนี้คณะทำงานของ กกต. พิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ กกต.ชุดใหญ่ได้ภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน ยืนยันว่าคดีนี้การทำงานของ กกต.ไม่ได้มี 2 มาตรฐานเพื่อช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์
ตั้งทีมสางปัญหาบ้านเอื้ออาทร
บ่ายวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งคาดการณ์ว่าทำให้การเคหะฯขาดทุนเกือบหมื่นล้านบาท ครม.จึงมอบให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อสะสางว่าจะแก้ไขปัญหาโครงการนี้อย่างไร
ไม่บังคับใส่สีน้ำเงินร่วมงาน 5 พ.ค.
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันฉัตรมงคล 5 พ.ค. โดยจะจัดงานในช่วงเย็น มีเวทีหลักอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและมีเวทีย่อยอีกหลายเวทีตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินไปจนถึงสนามหลวง รัฐบาลถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และมาทำกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในลักษณะที่จะช่วยทำให้บรรยากาศของบ้านเมืองเป็นบรรยากาศของความปรองดองผ่อนคลาย ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติที่กระทรวงมหาดไทยวางไว้จะให้ผู้เข้าร่วมงานใส่เสื้อสีน้ำเงิน จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ไม่ วันนี้ได้เรียนในที่ประชุม ครม.ชัดเจนว่าจะไม่มีเรื่องของสี และอยากเชิญชวนประชาชนแต่งตัวได้ทุกสีมาร่วมงาน
ตั้ง "สุเทพ" คุมจัดงานเฉลิมพระเกียรติ
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี แถลงว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบปีที่ 60 พระบรมราชาภิเษก โดยให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ให้รองนายกฯทุกคนเป็นรองประธานกรรมการ ให้รัฐมนตรีทุกคนรวมถึงอธิบดีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ การจัดงานดังกล่าวถือเป็นพิธีใหญ่ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ จะมีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วน กทม.และต่างจังหวัดทุกจังหวัดควบคู่กัน
สั่ง จนท.นับหมื่นดูแลความปลอดภัย
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครอบรอบปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก ภายหลังการประชุม นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การจัดงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันที่ 5 พ.ค. โดยประชาชนทุกหมู่เหล่าจะพร้อมกันที่ลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) เพื่อวางพานพุ่มถวายสักการะ ขณะที่ในต่างจังหวัดจะพร้อมกันหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นเวลา 20.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประกอบพิธีถวายพานพุ่ม และถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อแสดงความจงรักภักดี โดยจะมีกิจกรรมมหรสพบนเวที 9 จุด ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิตจนถึงท้องสนามหลวง ทั้งนี้ นายสุเทพมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปจัดทำแผนการจราจร และแผนรักษาความปลอดภัย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค.
ด้านนายสุเทพกล่าวเสริมว่า รับรองว่าการจัดงานครั้งนี้ปลอดภัยแน่นอน ได้ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกว่าหมื่นคนไปดูแล ตนจะยอมพลาดหลายทีในชีวิตนี้ได้อย่างไร
"กษิต" เอาบ้างใช้รถกันกระสุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯในครั้งนี้ด้วย โดยได้นำรถยนต์กันกระสุนยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีบรอนซ์เงิน ที่ใช้ราชการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก จ.นราธิวาส มาเป็นรถยนต์ ประจำตำแหน่ง เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เปลี่ยนไปใช้รถกันกระสุนแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามนายกษิตปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสข่าว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือพาสปอร์ตของกัมพูชา โดยกล่าวสั้นๆว่า "วันนี้ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์ ใดๆ ขอโทษนะ"
"สนธิ" เตรียมเปิดใจหลังรอดชีวิต
ด้านความเคลื่อนไหวของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว นายสนธิยังเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้านพระอาทิตย์ โดยในช่วงบ่ายได้มีเครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย นำโดยนายวสันต์ สิทธิเขตต์ น.ส.วรรณพร ฉิมบรรจง นายประทีป ขจัดพาล เดินทางเข้าเยี่ยมสอบถามอาการ โดยนายสนธิกล่าวขอบคุณที่ให้กำลังใจ และได้บอกว่า ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 1 พ.ค. แกนนำพันธมิตรฯจะนัดประชุมประเมินสถานการณ์ทั้งหมด จากนั้น จะเปิดแถลงข่าวในเวลาประมาณ 12.30 น. โดยตนจะเปิดใจถึงเหตุการณ์การลอบสังหารอย่างเป็นทางการครั้งแรก
แจกโบนัสข้าราชการ 1.5 ล้านคน
อีกเรื่องหนึ่ง นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และรับทราบการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร.ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2551ของส่วนราชการ จังหวัด สถาบันอุดมศึกษา ให้ ก.พ.ร.ประสานสำนักงบประมาณเพื่อจัดงบประมาณ 6,735 ล้านบาทเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2551 แก่หน่วยงานเพื่อจัดสรรให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวน 6,142.5 ล้านบาท และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจำนวน 592.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีข้าราชการ 1.5 ล้านคน ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินรางวัล เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนในการตั้งใจปฏิบัติ หน้าที่ในการทำงาน นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารปีงบประมาณ 2551 แก่นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วงตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2549-30 ก.ย. 2550 เสมือนรองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย