ที่มา thaifreenews ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ หวังกระบวนการทำงานต่าง ๆ จะนำไปสู่สันติภาพในสังคมโดยเร็ว ย้ำชัด ระยะแรกพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่จำเป็นเข้าสู่การเจรจา ขณะที่รัฐบาลตอบรับไม่ขัดข้อง มีข้อแม้อย่าคาดคั้นรูปแบบการพูดคุย วันนี้ (18 มี.ค.) เมื่อเวลา 12.20 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะ ได้แถลงข่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแสดงความชื่นชมที่รัฐบาลมีความอดทนในการดูแลสถานการณ์บ้านเมือง เคารพเสรีภาพในการชุมนุมที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นการชุมนุมของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ทางรัฐบาลได้ใช้ความพยายามในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมมาโดยตลอด และได้มีการประสานกับผู้ชุมนุมอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ทางผู้ชุมนุมยังมีความกังวล และฝากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาหารือกับรัฐบาลว่า อยากจะมีพื้นที่ที่จะคุยกันด้วย ดังนั้น ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้นำข้อเสนอของผู้ชุมนุมมาหารือกับ นายกรัฐมนตรี ศ.ดร.อมรา ประธาน กสม. ศ.ดร.อมรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ใช้ความอดทนในการดูแลสถานการณ์การชุมนุม แต่ขณะนี้ยังมีความกังวลอยู่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีหลายกลุ่ม และวิธีการนำของผู้ชุมนุมก็มีหลายรูปแบบ ไม่มีเอกภาพ ทำให้การดูแลผู้ชุมนุมยากลำบากทั้งในเรื่องความปลอดภัย และความสงบ ซึ่งกรรมการฯ ได้นำข้อเสนอเชิงข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมหลัก คือ จะชุมนุมโดยสงบ และรัฐบาลจะดูแลด้วยความสงบเรียบร้อย โดยมีข้อตกลงร่วมกันคือการไม่ปิดล้อม สถานที่ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัชทายาท รวมทั้งสถานที่ราชการ โรงพยาบาล สนามบิน และสถานเอกอัครราชทูต องค์การสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอเพิ่มว่าน่าจะมีการตกลงว่าจะต้องไม่มีการ ปิดล้อมบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการปิดล้อมบ้านพักของบุคคลย่อมเป็นการละเมิดสิทธิ “ รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือจะใช้ก็ต่อเมื่อกรณีที่จำเป็นจริง ๆ และถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะไม่ทำให้กระทบสิทธิพื้นฐานของประชาชน จะดำเนินการตามหลักสากล และคำวินิจฉัยของศาลปกครอง นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะเปิดให้มีการเจรจา หากการเจรจานั้นจะนำไปสู่ข้อยุติทางการเมือง และความสงบ โดยต้องมีการเคารพกติกาด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรัฐบาลเห็นพ้องกันว่าการพูดหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม ส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง หรือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย” สุดท้ายในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะพยายามทำหน้าที่เป็นตัว เชื่อมกับรัฐบาลและผู้ชุมนุมและฝ่ายต่าง ๆ ในสังคม และหวังว่ากระบวนการทำงานต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่สันติภาพในสังคมโดยเร็ว จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทางประธานและกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และว่า ถ้าการเคลื่อนไหวชุมนุมอยู่ในกติกา รัฐบาลไม่ขัดข้องในการที่จะมีการพูดคุย เพราะว่าประเด็นทางการเมือง การจะหาคำตอบทางการเมืองรัฐบาลก็ยอมรับกระบวนการของการมีส่วนร่วมและต้องรับ ฟังทุกฝ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสามารถที่จะนำคำตอบนี้ไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมได้ “ในชั้นนี้กรุณาอย่าคาดคั้นว่ารูปแบบของการพูดคุยนั้นจะต้องเป็นใคร โดยใครอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการที่จะทำให้กระบวนการเกิดขึ้นได้ ถ้าเราคาดคั้นในเรื่องรายละเอียดกันมากเกินไปในขณะนี้ ก็จะเป็นปัญหาสำหรับคนทำงาน ผมมีความจริงใจในการที่ให้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แต่บนเงื่อนไขของการชุมนุมที่อยู่ภายใต้กติกา ถ้าการชุมนุมซึ่งนอกจากกติกาแล้ว ผมไม่อาจที่จะเข้าสู่กระบวนการในการพูดคุย ได้ เพราะไม่อาจที่จะทำให้สังคมต้องอยู่ภายใต้หรือเดินตามการข่มขู่ คุกคาม แต่ถ้าสังคมเห็นการมาของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่อยู่บนแนวของสันติ รัฐบาลก็มีหน้าที่รับฟัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของรูปแบบการเจรจาที่จะเกิดขึ้นนี้คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา เท่าไร และถ้าหากว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาแล้ว สามารถที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้หรือเปล่า ศ.ดร.อมรา กล่าวว่า การเจรจาเริ่มแล้ว การเจรจาเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและหลายขั้นตอน จะต้องกลับไปกลับมา เพราะฉะนั้นส่วนนั้นคงเป็นระยะหลัง ๆ ระยะแรก ๆ ยังไม่ได้จำเป็น เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หมายถึงว่าสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณก็ควรจะเข้าสู่การเจรจานี้ด้วยถึงจะได้บทสรุปที่ชัดเจนใช่ไหม ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ไม่จำเป็น แล้วแต่สถานการณ์จะเคลื่อนตัวไป การคุยจะล้ำไม่ได้ จะค่อย ๆ เคลื่อนไป ไม่มีสูตรสำเร็จและไม่มีตัวชี้วัด สถานการณ์จะนำไปสู่ขั้นต่อ ๆ ไป กำหนดล่วงหน้าไม่ได้ www.thaireform.in.th/news-political/802-2010-03-18-08-45-07.html นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ พร้อมเปิดทางเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า นายอภิสิทธิ์ต้องรู้สถานะของตัวเองว่า ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม ถ้ามีเงื่อนไข การเจรจาก็ไม่เกิดขึ้น โดยท่วงทำนองของนายอภิสิทธิ์ ควรเป็นท่วงทำนองของนายกฯ การเจรจาควรเปิดกว้างแล้วค่อยคุยกัน และการเจรจานั้น นายอภิสิทธิ์ต้องทำใจด้วยว่า ต้องฟังข้อเสนอของทางผู้ชุมนุม ส่วนจะเอาหรือไม่ขึ้นกับการพิจารณา แต่ไม่ใช่การมากำหนดขีดเส้นแบบนี้ "นปช.พร้อมเจรจากับนายอภิสิทธิ์คนเดียวเท่านั้น บนพื้นฐานการเจรจาแบบเสมอภาค ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้อยู่ใต้การปกครอง ส่วนสถานที่ที่จะใช้เจรจา ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน" นายจตุพร กล่าว นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.กล่าวว่า กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนยังให้การสนับสนุนการชุมนุม และยืนยันข้อเสนอเดิมคือ การยุบสภา หากนายกฯจะเจรจาก็พร้อมเจรจาด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เวลา 21.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการไม่ยอมเปิดเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อยุติปัญหาว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน แต่วันนี้รัฐบาลยังให้สื่อของรัฐออกข่าวโจมตี ใส่ร้ายป้ายสีพวกตน และคนเสื้อแดงว่า เป็นพวกล้มเจ้า คิดลอบสังหารนายกฯ ทำให้กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม แล้วตนจะไปนั่งเจรจาทำไม ถ้ารัฐบาล อยากเจรจาอย่างจริงใจ ก็ควรเปิดพื้นที่ให้พวกตนมีโอกาสชี้แจงนำเสนอข้อเท็จจริงต่อพี่น้องประชาชน ทั่วประเทศผ่านสื่อของรัฐเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในช่วงวันเดียวก็พอ แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้า เนื่องจากประชาชนจะเห็นด้วยกับคนเสื้อแดงและจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวเป็นจำนวน มาก เพราะวันนี้ประชาชนในสังคมมีวิจารณญาณ มีสติมากพอที่คิดวิเคราะห์ได้เอง แต่รัฐบาลยังมัวคิดว่าประชาชนโง่คิดเองไม่ได้ ทั้งนี้ มติชนนออนไลน์ ได้รายงานคำกล่าวของนายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและแกนนำคนเสื้อแดงประกาศทำสงครามชนชั้น โดยใช้คำว่า "อำมาตย์" กับ "ไพร่" ว่า โอกาสที่จะนำแนวคิดของระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีที่แล้วมา เป็นเงื่อนไขนั้นเป็นไปได้ สิ่งที่รัฐบาลพยายาม คือการอธิบายให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนว่า ความหมายของทั้งสองคำคืออะไร โดยให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไปชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือคนยากจน ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลกำลังแก้ไขอยู่ โดยนายกฯ สั่งการในที่ประชุม ศอ.รส. ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบทั้งผ่านสื่อ และผ่านเครือข่ายในต่างจังหวัด โดยมี กอ.รมน.รับผิดชอบ และจะให้นักวิชาการทำความใจกับประชาชน เพราะถือเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งที่จะนำมาประเทศกลับไปสู่สงคราม คอมมิวนิสต์ "นายกฯสั่งการในที่ประชุม ศอ.รส. เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาคนยากจน เช่นกว่า 3 ล้านครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการประกันรายได้ หลายสิบล้านคนเข้าสู่กระบวนการเรียนฟรี 15 ปี และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน" นายสาทิตย์ กล่าว ที่มาประชาไท และ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย