ที่มา ประชาไท สี่ปีมาแล้วที่ตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยการประท้วงหลายครั้ง แต่การประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาก็เป็นการประท้วงที่น่าประทับใจมากในการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้ชุมนุมในเมืองไทย มีผู้ชุมนุมเสื้อแดงหลายหมื่นคนอยู่ภายใต้แสงแดดแผดเผา ขณะรับฟังการปราศรัยที่ด่าทอนายกฯ อภิสิทธิ์ และเหล่าอำมาตย์ที่ทำให้เขาเข้าสู่อำนาจ พวกเขาเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ในวันจันทร์ (15) นายอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องขณะอยู่ในค่ายทหาร เขาซุกตัวอยู่ในนั้นด้วยกลัวเรื่องความปลอดภัยของตนเอง ในที่ชุมนุมยังมีการต่อวิดิโอลิงค์ของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่เคยได้รับการเลือกตั้ง 2 ครั้งซ้อน และในตอนนี้กลายเป็นอดีตนายกฯ ผู้ต้องหนีออกจากประเทศ จากการรัฐประหารในปี 2549 ที่ทำให้ประเทศไทยโงนเงน แต่เขาก็ไม่ได้หายไปอยู่เงียบ ๆ การรัฐประหารนำทางให้ศาลสั่งตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ ซึ่งทำให้กลุ่มเสื้อแดงต้องออกมาประท้วงอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตามกลุ่มเสื้อแดงมีการเตรียมการจัดตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมาเป็นเดือน ๆ ก่อนที่ศาลจะตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ ในคำปราศรัยของทักษิณเขาเรียกร้องไม่ให้กองทัพทำร้ายประชาชนและปฏิเสธว่าไม่ได้ถูกขับออกจากดูไบเช่นที่เป็นข่าว 'สื่อป่วยๆ' ของไทย และเจ้าหน้าที่บางคนมักจะเล่นเรื่องความเสี่ยงที่การชุมนุมจะทำให้เกิดความรุนแรง เช่นเดียวกับการประท้วงเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาที่เกิดจลาจลและมีกลุ่มทหารออกมาสลายการชุมนุม ทางด้านแกนนำกลุ่มเสื้อแดงบอกว่าพวกเขาได้รับบทเรียนแล้วและมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความรุนแรง การชุมนุมของเสื้อแดงแทบไม่มีสัญญาณอันตรายใด กลุ่มผู้ชุมนุมพากันร้องเล่นเต้นรำบนท้องถนน, ถือธง, ป้ายจำพวก "เผด็จการไปลงนรก" และตีนตบ ในเรื่องของจำนวนผู้ชุมนุมนั้น ยังห่างไกลจากคำว่า "million-man march" หรือ "ขบวนล้านมวลชน" อย่างที่ผู้จัดเคยอ้างไว้ แต่ก็ดูไม่มีใครใส่ใจเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่จิตวิญญาณแบบงานฉลองในที่ชุมนุมก็เริ่มมีทีท่ามอดลงในวันจันทร์ (15) เมื่อเสื้อแดงพยายามเพิ่มการกดดันอภิสิทธิ์โดยการเคลื่อนขบวนไปทั่วกรุงเทพฯ มีกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งพากันไปล้อมกรมทหารราบที่ 11 ที่นายกฯ อภิสิทธิ์และพรรคพวกใช้เป็นฐาน หลังจากที่มีการเย้ยระบบรักษาความปลอดภัยของบ้านนายกฯ มาหลายครั้ง ผู้ต่อต้านอภิสิทธิ์มองอภิสิทธิ์ในฐานะภาพแทนผู้ได้รับการโปรดจากนายทหารระดับสูงที่ไม่ยอมสูญเสียอำนาจในประเทศไทยไปง่ายๆ ขณะที่อยู่ภายใต้กฏหมายความมั่นคงที่มาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร กองทัพก็สนุกกับการใช้กำลังกวาดล้างการประท้วง หากรู้สึกว่าเห็นควร นายอภิสิทธิ์บอกว่าเขาจะไม่ลงจากตำแหน่งขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนการปราบผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่าง "สงบและเรียบร้อย" แต่ภาพการประท้วงก็ดูอันตรายขึ้นในวันจันทร์ เมื่อมีการจู่โจมด้วยระเบิดมือทีค่ายทหารอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะยังไม่กระจ่างชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือ แต่สำหรับอภิสิทธิ์ผู้ที่คำนวนสถานการณ์การชุมนุมในไทยเอาไว้แล้ว รัฐบาลของเขาคงฉวยโอกาสปราบปรามผู้ชุมนุมได้มากขึ้นหากมีใครแสดงปฏิกิริยาเกินจริง นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมอภิสิทธิ์ถึงยกเลิกการเดินทางไปออสเตรเลีย เพราะเขาต้องการคอยจับตาดูการประท้วงนั่นเอง ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กลุ่มเสื้อแดงเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยรถกระบะ, รถโดยสาร, รถยนต์ แล่นมาเต็มท้องถนนเมืองหลวง ผ่านจุดตรวจของตำรวจที่เน้นตรวจตรารถราบ่อยกว่าปกติ เมื่อขบวนเสื้อแดงมาถึงใจกลางเมือง มีคนยืนบนสะพานลอยคอยส่งเสียงเชียร์ต้อนรับ กลุ่มเสื้อแดงจึงดูเหมือนกลุ่ม 'นักกอบกู้อิสรภาพ' (liberator) มากกว่าเป็น 'ผู้มารุกราน' (invader) แต่มาจนถึงตอนนี้ผู้ประท้วงก็ไม่ได้ทำลายอะไร มีแต่เพียงความเสียหายทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ จำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ภาพที่เห็นทำให้เราทราบว่ามันดูติ้นเขินไปหน่อยหากจะลดทอนความขัดแย้งของการเมืองไทยเป็นแค่การแบ่งแยกกันของชนบทกับเมือง ที่ทักษิณนำมาใช้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม แต่ความขัดแย้งในปัจจุบันยังมีเรื่องของชนชั้น, ภูมิภาค และที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรือย ๆ คือในเรื่องอุดมการณ์ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะหาทางประนีประนอมเมื่อมีความขัดแย้งมากมายขนาดนี้ มีคนอีกจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่รู้สึกว่าทักษิณกระทำผิด และคิดว่าพวกเขาเองก็ถูกกระทำจากทักษิณด้วย พวกเขาเหล่านี้และผู้ประท้วงจะไปไกลกันถึงจุดไหน เราจะได้เห็นชัดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ที่มา: Red tide : Protestors against the Thai government take to the streets again, The Economist, 15-03-2010