ที่มา มติชน เนอร์มาล โกช ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยของหนังสือพิมพ์ "สเตรทส์ ไทม์ส" ประเทศสิงคโปร์ ได้เปิดเผยผ่านบล็อกของตนเองในเว็บไซต์สเตรทส์ ไทม์ส ว่า เขาเพิ่งได้สัมภาษณ์ "2 แกนนำ" ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง เพราะปัจจุบัน ทั้งคู่กำลังอยู่ในระหว่างการหลบซ่อนตัว
อย่างไรก็ตาม โกชระบุว่า แกน นำสองคนนี้ คงไม่สามารถเป็นตัวแทนของขบวนการคนเสื้อแดงทั้งหมดได้ เพราะคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาร่วมขบวนการด้วยวาระทางความคิดอันหลากหลาย เช่นกันกับความแตกต่างทางความคิดของบรรดาแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ประเด็นสำคัญที่ผู้สื่อ ข่าวจากสิงคโปร์นำเสนอก็คือ แกนนำเสื้อแดงทั้งสองรายไม่ได้ปฏิเสธถึงความเชื่อของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และ กองทัพ ที่เห็นว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันสำคัญของ ชาติ โดยหนึ่งในแกนนำที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า ความ วิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เคยแสดงออกมาผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านกับสื่อมวลชน อาจไม่ใช่ "ปฏิกิริยาตอบโต้คนเสื้อแดงอย่างรุนแรงเกินจริง" (โอเวอร์รีแอ๊ค)
ข้อมูลดังกล่าวดูเหมือนจะขัดแย้งกับ ประสบการณ์ทำงานในภาค สนามของสื่อมวลชนต่างประเทศผู้นี้อยู่บ้าง เพราะโกชระบุว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากที่เขาเคยเดินทางไปพบปะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ที่ฝาผนังบ้าน โดยชาวบ้านเหล่านั้นยืนยันว่าพวกตนยังคงจงรักภักดีและเคารพนับถือในสถาบัน พระมหากษัตริย์
แต่โกชก็ไม่ปฏิเสธว่า เริ่มมีการเขียน "ข้อความไม่บังควร" เกิดขึ้นบ้างในการชุมนุมครั้งหลังๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง
ประเด็นสำคัญต่อมา ที่สองแกนนำเสื้อแดงคู่นี้แสดงความเห็นก็คือ พวกเขายังไม่เชื่อว่าการปฏิวัติโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยคนเสื้อแดงจะประสบความสำเร็จในเร็ววันนี้ โดย ทั้งสองยอมรับว่ามีกองกำลังติดอาวุธในขบวนการเสื้อแดงจริง แต่กองกำลังดังกล่าวมิได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีศักยภาพในการยึดอำนาจรัฐ แต่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐเพียงเท่านั้น
ทั้ง คู่เชื่อว่า วิถีทางเดียวที่จะทำให้ "การปฏิวัติประชาชน" ประสบความสำเร็จ ก็ได้แก่การก้าวข้ามพ้นจากเงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะในขณะที่ขบวนการเสื้อแดงเติบโตขึ้นเกินกว่าการต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว แต่กลับยังไม่มี "ผู้นำทางเลือก" คนอื่นๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ถือกำเนิดขึ้นตามมา คล้ายกันกับการที่พรรคเพื่อไทยต้องประสบความล้มเหลวจากการไร้ซึ่งผู้นำที่จะ พอมีศักยภาพเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้
ประเด็นน่าสนใจข้อสุดท้าย ที่ผู้สื่อข่าวสเตรทส์ ไทม์ส ถามแกนนำเสื้อแดงทั้งสองคน ก็คือ "ทั้งคู่คิดว่าตนเองเป็นพวกสาธารณรัฐนิยมหรือไม่?"
แกนนำคนหนึ่งไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว ขณะที่อีกคนยืนกรานปฏิเสธว่า ตน เองไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยให้กลายเป็น สาธารณรัฐ เขาเพียงแต่ต้องการให้อำนาจในสังคมไทยอยู่ในมือของ "กลุ่มอำนาจเดิม" น้อยลง และถูกโอนย้ายมาอยู่ที่ฝ่ายประชาชนมากขึ้นเท่านั้น