ที่มา มติชน นายสถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อภิปรายว่า อันที่จริงแล้วหากมองคนที่พูดถึงเรื่องมโนธรรม คนที่พูดนั้น ก็มักจะเป็นคนที่ไม่มีมโนธรรมหรือไม่มีจิตสำนึกในประชาธิปไตยด้วย เพราะสิ่งที่จะให้พูด มันดูเหมือนขัดกันหมดกับสิ่งที่ควรจะมีหรือสิ่งที่ควรจะเป็น หรืออาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีหยิบยกประเด็นนี้มาคุยกันก็มักจะมีแต่การพูดเท่า นั้นแต่ยังขาดการปฏิบัติ แม้แต่เรื่องนิติรัฐ เท่าที่ผ่านมานั้นคนมักจะพูดในสิ่งที่ไม่มี ไม่มีความแน่ใจในประชาธิปไตยและจริยธรรมในตุลาการ เพราะแต่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เน้นเรื่องของมโนธรรม หรือการสำนึกในประชาธิปไตย "หากมองในเรื่องของอำนาจอธิปไตยแล้ว จริง ๆ ก็เป็นอำนาจของราษฎร รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนด้วย ตุลาการก็ใช้ผ่านอำนาจเหล่านี้เช่นกัน ถ้าจะให้สำนึกกันจริง ๆ ก็คงน้อย เพราะแม้กระทั่งคนที่มาสอนนักกฎหมาย หรืออาจารย์ที่มาสอนนักศึกษา ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องมโนธรรม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ทางปฎิบัติแล้วคงทำไม่ได้ ทั้งนี้ ก็คงไม่มีใครตายเพื่อรักษาความยุติธรรม เพราะคนที่ตายเพื่อความยุติธรรมก็มีแต่ทหาร ฉะนั้น เราก็ไม่ต้องไปเรียกร้องหรือหวังในสิ่งที่เป็นความยุติธรรมกันมาก ต้องให้ประชาชนออกมาเป็นแนวหน้าในการเรียกร้องมากกว่า"นายสถิตย์กล่าว นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า จากคำว่า ตุลาการ มโนธรรมสำนึก และประชาธิปไตยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคำว่าประชาธิปไตย เพราะเท่าที่ผ่านมาการเข้ามาทำหน้าที่นั้น สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังคือคุณค่าและคุณภาพของคนมากกว่า มักจะมองในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ความเที่ยงตรง หรือการที่ไม่เข้าข้างใคร แม้กระทั่งการยึดเอาความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง เพราะการมาเป็นผู้พิพากษา ก็ต้องยึดมั่นความยุติธรรมเป็นที่ตั้งหรือการพิทักษ์ว่าไม่ติดสินบน "การ มีจิตวิญญาณที่เป็นเสรี ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไทยแต่ก่อนเผด็จการ ไม่รู้จักความเป็นประชาธิปไตย ใช่เพียงการคาดว่าจะมีมโนธรรมสำนึกในประชาธิปไตย ทั้งในรัฏฐาธิปัตย์ หรือหลักนิติศาสตร์ไทย อันที่จริงแล้วการเกิดมโนธรรมในประชาธิปไตยก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีการปฏิรูปที่ไม่ใช่แค่การปฏิรูปที่ระบบ ต้องเกิดปฎิรูปที่คนด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้ตุลาการเกิดจิตสำนึกในประชาธิปไตยได้บ้าง ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเรียนรู้ของตุลาการคือการต่อสู้ของประชาธิปไตย มันเหมือนขาดส่วนนี้ไป" ด้านนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ ปัญหาของตุลาการที่เกิดขึ้นต้องเป็นสิ่งที่คุยกัน และไม่สามารถเปล่อยให้ผ่านไปได้ หรือไม่อาจทำให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องมันผ่านไปโดยไม่ได้คุยกัน ก่อนที่จะสายเกินไป อีกทั้งการตัดสินของตุลาการมักจะละเลย คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลต่อความยุติธรรมในบ้านเราหายไป "หลังจากการ เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารก็ถูกเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ตุลาการได้รับเอาโครงสร้างของระบบการปกครองเดิม คือแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสวมทับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาพูดเช่นกัน" นาย วรเจตน์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตุลาการต้องมีความอิสระ อิสระทั้งในด้านเนื้อหา คือพิจารณาไปตามกฎหมาย ไม่รับใบสั่งใคร อิสระจากอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือแม้กระทั่งอำนาจตุลาการด้วยกันเอง และที่สำคัญคืออิสระจากอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกันทั้งปวง ท้ายที่สุด ก็ยังมีปัญหาในเรื่องอุดมการณ์ของศาลด้วย วิธีคิดต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้มโนธรรมในประชาธิปไตยขาดหายไป ผู้พิพากษายังไม่รู้สึกว่าการใช้อำนาจนั้นเป็นอำนาจของประชาชนด้วยซ้ำ "นัก วิชาชีพกฎหมายก็จะต้องมีจิตสำนึกในมโนธรรมในความเป็นประชาธิปไตยให้มาก ที่ไม่ใช่แค่ความซื่อสัตย์ หรือความถูกต้อง ที่ผ่านมาเราได้เผชิญกับกระแสตุลาการภิวัฒน์ ประเด็นที่มองว่า เป็นคุณค่าของสังคมต้องพูดให้หมดไม่เพียงแต่พูดกันบนพื้นฐานของสินบน และไม่อยากให้เกิดคำพูดที่ว่า ที่ไหนมีศาล ที่นั่นย่อมไม่มีความยุติธรรม" ขณะเดียวกันนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มองว่า สิ่งเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเช่น อเมริกา นั้น เขาถือว่าการเป็นอิสระจากการตีความหรือการเป็นอิสระจากการพิพากษามีความ สำคัญมาก เพราะหากไม่มีความเป็นอิสระแล้วก็ถือเป็นความล้มเหลว ในศาลไทยจริยธรรมของตุลาการไม่ใช่เป็นเพียงการยึดมั่นเท่านั้น แต่ต้องสามารถแสดงให้เห็นค้วยว่ามีจริยธรรมหรือมีมโนธรรมมากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดความทุจริต เกิดความมัวหมอง เกิดข้อเคลือบแคลงใจกันขึ้น จนทำให้หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสิน จนความไม่มั่นใจนั้นกลายเป็นความแน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในวงการตุลาการไทย ทั้งนี้แวดวงตุลาการไทยก็ยังมีคนที่ดีอยู่บ้าง "จากเรื่องสำนึกใน ความเป็นประชาธิปไตยในตุลาการตั้งแต่อดีตมาค่อนข้างจะผิดหวัง เพราะไม่ได้ส่งเสริมในความเป็นประชาธิปไตย และยังขาดการส่งเสริมในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่เคยปฏิญาณก่อนที่จะมารับตำแหน่ง สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรจะมีมโนธรรมกลับกลายเป็นไม่มี เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา จริยธรรม มโนธรรม หรือประชาธิปไตยคงเป็นเรื่องที่พูดยาก และไม่สามารถปรับเอาจริยธรรมมาใช้กับตุลาการในช่วง 3-4 ปีนี้ได้" จาก เวทีเสวนาดังกล่าว มีผู้ให้ความสนในค่อนข้างมาก ทั้งอาจารย์ นักศึกษา กลุ่มเสื้อแดง และผู้ให้ความสนใจทั่วไป ส่วนบรรยายการในการอธิปรายเป็นไปอย่างคึกคักตลอดทั้งงาน
ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
เวที การเสวนา อภิปรายสาธารณะ หัวข้อ "ตุลาการ-มโนธรรมสำนึก-ประชาธิปไตย" ซึ่งจัดโดย คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร เมื่อวันที่ 13 พฤษจิกายน เวลาตั้งแต่ 13.00-16.00 น. ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์