ที่มา ประชาไท
บันทึก จากส่วนหนึ่งในความทรงจำของผู้ที่ได้ติดตามผลกระทบของ19 ผู้ต้องขังที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพอยู่ภายในเรือนจำมุกดาหารจากเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา
ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ จนถึงเย็น หากใครแวะไปจ่ายตลาดเพื่อเป็นอาหารมื้อเย็นที่ตลาดสดเทศบาล 1 ในอำเภอเมืองมุกดาหาร ก็จะได้พบเห็นแม่ค้าลูกชิ้นทอดกับมอเตอร์ไซ ค์พ่วง ซึ่งมีตู้บรรจุลูกชิ้นหลากหลายชนิดไว้คอยบริการลูกค้า หลังหม้อสแตน เลสใส่น้ำมันตั้งอยู่บนเตาแก๊สนั้น เป็นที่สะดุดตาต่างจากแม่ค้าคนอื่นๆ เนื่องจากหญิงที่ยืนทอดลูกชิ้นอยู่ในภาวะ “หญิงมีครรภ์” ขนาดของครรภ์บ่งบอกได้ไม่ยากว่า อีกไม่นานเธอคงไม่สามารถมา ขายลูกชิ้นได้ เนื่องจากต้องทำหน้าที่ “แม่”ของทารกแรกเกิด ไอที่ขึ้นมาจากหม้อบรรจุน้ำมัน เราผู้ซื้อเองยังรู้สึกได้ถึงความร้อน และอดไม่ได้ที่จะถามว่า “เค้าไม่บ่นว่าร้อนมั่งหรือไง ในท้องน่ะ”
“ก็ดิ้นถีบอยู่เหมือนกันนะพี่ หนูก็ตีเอา ทำไงได้ ไม่ทำก็ไม่มีคนหาให้ ขายอย่างอื่นหนูก็ทำไม่เป็น ตอนนี้ยังดีหนูยังพอหาได้ แต่ถ้าท้องแตกแล้วนี่ ซิ ใครจะหาให้หนู”
นี่คงไม่ใช่ถ้อยคำร้องขอความเห็นใจจากใครๆ แต่เป็นคำบอกเล่าข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
พระนม กันนอก สามีของ “อ้อย” หรือ อ้อยทิพย์ กันนอก ถูกจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกและเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม หลังเหตุการณ์เผาศาลากลางได้ 2 วัน ตำรวจเข้าจับกุมตัวที่บ้านโดยมีหลักฐานเป็นรูปรถสามล้อบรรทุกยางจอดอยู่ นอกรั้วศาลากลางวัน พร้อมทั้งยึดเครื่องมือหากินของเขาและครอบครัวไปเป็นของ กลาง
“วันนั้น หนูก็ขายลูกชิ้นอยู่ พี่เขาก็ไปอยู่ที่วิน เห็นว่าประมาณเที่ยงๆ มีคนมาจ้างให้ไปที่ประตูทางเข้าศาลากลางด้านทิศตะวันตก พอขนเสร็จ พี่เขาก็กลับบ้าน ไม่ได้เข้าไปที่ศาลากลางอีก อีก 2 วัน ตำรวจก็มาที่บ้าน เอารูปมาให้ดู แล้วก็พาตัวไปโรงพัก”
ผู้เขียนไป เยี่ยมผู้ต้องข้งที่เรือนจำมุกดาหารหลังเหตุการณ์เผาศาลา กลางผ่านไปได้ 1 เดือน ได้พบกับอ้อยหน้าห้องเยี่ยม หลังจากพูดคุยไถ่ถามกันจึงได้รู้ว่า การถูกจับกุมของพ่อบ้าน ทำให้เหลืออ้อยในวัย 28 ปี เพียงคนเดียวที่ต้องหาเลี้ยงลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นลูกติดสามีมากำลังเรียน ป.4 อีกคนเป็นลูกตัวเองอยู่อนุบาล 3 พร้อมๆ กับที่ในท้องมีอีก 1 ชีวิตให้โอบอุ้ม อายุครรภ์ได้ 2 เดือนกว่าแล้ว ความรู้สึกของผู้เขียนในวันนั้นแม้เห็นใจในความยากลำยาก แต่ประกายความหวังในดวงตาพวกเรายังสดใสอยู่ ถ้อยคำให้กำลังใจกันจึงมีว่า “อดเอา เดี๋ยวยกเลิก พรก.ก็ได้ออกมาแล้ว”
เช่น เดียวกันเมื่อถึงรอบเข้าเยี่ยม ผู้เขียนได้พูดคุยกับทวีศักดิ์ แข็งแรง 1 ใน 15 ผู้ต้องหาที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกจับกุมในวันที่มีการเผาศาลากลาง เขาไม่ได้พูดถึงความทุกข์ของตนเองในการสูญเสียอิสรภาพ หากเอ่ยถึงแต่ความห่วงใยครอบครัว เมียของเขาตั้งท้องได้ 4 เดือน ต้องดูแลลูกสาววัย 9 ขวบ กับพ่อและแม่วัยชราของเขาเพียงลำพัง โดยไม่มีรายได้ คนมีภาระอย่างเขา ซึ่งคิดดูแล้วไม่น่ามีแจงจูงใจให้ไปก่อการร้ายใดๆ ฝากผู้เขียนให้ช่วยดูแลครอบครัว เขาพูดอย่างกังวลใจว่า “ผมกลัวจะออกไปไม่ทันลูกคลอด” ในวันนั้นผู้เขียนจำได้ว่าได้พูดกับเขาอย่างมั่นใจว่า “ได้ออกทันอยู่แล้ว”
แทบ ทุกคนที่ถูกจับคดีบุกรุกและเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอยู่ในวัยที่มี ครอบครัวต้องรับผิดชอบ บางคนแถมพ่วงด้วยพ่อแม่ที่แก่ชรา การที่เสาหลักในการหารายได้ ถูกจับ 1 คน หมายถึง มีคนต้องตกระกำลำบากอีก 2,3,4...ชีวิต ไม่ต้องพูดถึงความทุกข์ใจ ขาดที่ปรึกษา ขาดคนช่วยตัดสินใจ
นี่ ยังไม่นับว่า บางคนพกพาเอาโรคร้ายเข้าเรือนจำไปด้วย มีทั้ง ไวรัสตับอักเสบ ไตอักเสบ หอบหืด เบาหวาน ติดเชื้อในมดลูก มีแม้กระทั่งโรคประสาท โรคพวกนี้ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์เป็นประจำ สภาพในเรือนจำที่มียา พาราฯ เป็นยาสารพัดนึก ครอบจักรวาล กับหมอที่แวะเวียนมาเพียงเดือนละครั้ง
สิ่ง ที่ผู้เขียนนึกถึงหลังการเยี่ยมในครั้งนั้น คือสิทธิในการได้รับการประกันตัว เพื่อที่พวกเขาจะได้ออกมารักษาตัวอย่างต่อเนื่องตามปกติ และดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตตามที่ควรจะเป็น แต่ก็อย่างที่บอก ตอนนั้นเราเชื่อว่า ยกเลิก พรก.เมื่อไหร่ ก็คงได้ประกันตัว
แต่ แล้ว ถึงเวลายกเลิก พรก.เข้าจริงๆ หลักทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวก็ถูกตีกลับพร้อมคำวินิจฉัยจาก ศาลว่า ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง
กระนั้นญาติๆ (และผู้เขียน) ก็ยังตั้งความหวังต่อไปอีกว่า ครบ 7 ฝาก คงได้ปล่อยตัว
ครบ 7 ฝากก็แล้ว ส่งฟ้องก็แล้ว ตั้งทนายก็แล้ว ยังดีบางคนที่ถูกฟ้องข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพียงข้อหาเดียว ได้ประกันตัว 7 คน แต่พวกที่โดนคดีเผายังคงถูกจองจำ ไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป
ผู้เขียนแวะเวียนไปเยี่ยมพวกเขาอีกหลายครั้ง เรากลับมาอยู่ในโลกความจริงกันมากขึ้น และยอมรับว่าหนทางในการได้ปล่อยตัว คงไม่ง่ายนัก
ตอนนี้คนในเรือนจำก็พูดอย่างทำใจแล้วว่า “คงต้องรออภิสิทธิ์ลงจากนายกฯ นะพี่ เราถึงจะได้ออกไป”
ผู้เขียนเองก็บอกกับพวกเขาและญาติว่า “ทำใจไว้เลยว่าได้อยู่ยาว ถ้าอยู่ยาวจริงก็จะได้ไม่ผิดหวัง ถ้าออกไวๆ ก็ได้กำไร”
ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่เลิกตั้งความหวัง และไม่ละความพยายาม
และ แล้ว...เราก็ได้ทราบข่าวเรื่องศาลจังหวัดอุบลฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลาง พร้อมๆ กับการยื่นมือเข้ามาของทีมทนาย ศปช.(ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ) ทำให้ทนายในพื้นที่ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยอยากจะทำงานเท่าไหร่ ตื่นตัวกันขึ้นมา
ในวันนี้เมื่อสิ่งที่ผู้เขียนเอง ไม่ได้คาดคิดคราวไปเยี่ยมครั้งแรกก็ เกิดขึ้นแล้ว ลูกชายของทวีศักดิ์ ลืมตาดูโลกเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน และอ้อยก็ดูเหมือนจะให้กำเนิดลูกแก่พระนมก่อนกำหนดในเร็ววันนี้ ขณะที่ผู้ เป็นพ่อยังสูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ
เราก็คาด หวังว่า แสงสว่างเล็กๆ ที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุบลฯจุดขึ้น ประกอบกับความเอาจริงเอาจังของทนาย จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ศาลจังหวัดมุกดาหารเมตตาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดี เผาศาลากลางอีก19 คนบ้าง
เป็นความหวังเล็กๆ แต่มีความหมายสำหรับชีวิตอีกกว่า 100 ชีวิตเหลือเกิน...
สุด ท้าย ผู้เขียนเดาได้ว่า ต้องมีคนที่ปิดหูปิดตาตัวเอง ไม่ยอมเปิดใจรับรู้ความจริง เข้ามาถากถางเยาะเย้ยว่า นี่เป็นกฎแห่งกรรมที่พวกเผาบ้านเผาเมืองสมควรได้รับ กรรมใดใครก่อคนนั้นก็รับไป
แต่สิ่งที่อยาก บอกก็คือ ในยุคสมัยที่พวกคุณยอมรับนายกฯ ที่พร่ำพูดเรื่องนิติรัฐ คุณก็ต้องเชื่อในหลักนิติรัฐที่ทุกคนต้องเสมอกันภายใต้กฎหมาย
อย่าลืมว่า คนพวกนี้ไม่ได้ถูกจับซึ่งหน้าเมื่อมีการจุดไฟเผาศาลากลาง
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือการไล่จับใครก็ตามที่ขวางหน้า และเป็นการจับเมื่อไฟลุกไหม้ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว
เพราะ ฉะนั้น ตามกฎหมาย(ปกติ) พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีสิทธิในการได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เท่าๆ กับที่ผู้ต้องหาคดียึดสนามบินได้รับ
ใช่หรือไม่