ที่มา ประชาไท
"วิจักขณ์ พานิช" สนทนาธรรมกับ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 1 ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล
(๑) ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล
วิจักขณ์: วันนี้มาแปลกนิดนึงนะครับ คืออยากชวนอาจารย์คุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ก่อนอื่นอยากถามว่า อาจารย์วรเจตน์มีความสนใจเรื่องศาสนาอยู่บ้างไหมครับ
วรเจตน์: ตอนสมัยเรียนอยู่มัธยม หรือสมัยมหาวิทยาลัยช่วงที่สนใจการเมืองเยอะๆ ผมก็แอนตี้เรื่องศาสนาอยู่เหมือนกันนะ คือ การสอนศาสนาในโรงเรียนเป็นเรื่องของการให้ท่องจำ แล้วก็บังคับให้เชื่อ พอดีผมก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยชอบเชื่ออะไรง่ายๆ ประกอบการเรียนในชั้นเรียนวิชาพุทธศาสนา ก็มีแต่สอนให้ท่องธรรมะข้อนั้นข้อนี้ แล้วก็เวลาสอบก็ท่องไปตอบ เช่น พรหมวิหาร 4 มีอะไร... ผมเลยไม่ค่อยชอบ เพียงแต่ว่าการไม่ชอบก็อยู่ในใจ ไม่ได้แสดงออกมาทางภายนอกมาก ก็อาจมีถกเถียงกับเพื่อนที่สนใจเรื่องนี้บ้าง
ที่นี้พอเราโตมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น สงสัยมากขึ้น ก็ศึกษามากขึ้น จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของผมครั้งหนึ่ง ก็คือ คุณพ่อผมเสียตอนที่ผมกำลังจะขึ้นปี 2 ซึ่งก็กระทบกับทางบ้านเยอะ พูดง่ายๆ คือ ต้องรีบเรียนหนังสือให้จบออกมาทำงาน มันก็เป็นธรรมดา พอเราเสียเสาหลักไป... คือ ผมรักคุณพ่อมาก สนิทกันมากเลย... เราก็รู้สึกเหมือนว่าอะไรบางส่วนของเราหายไป ก็เลยพยายามแสวงหาว่า โลกมันคืออะไร ชีวิตคืออะไร ทำไมมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเรา ที่นี้ทางบ้านเค้าก็เชื่อแบบในแง่วิญญาณอะไรไป แต่สำหรับผม การตายของพ่อก็ทำให้ผมเริ่มสนใจอะไรในด้านนี้ขึ้นมาบ้าง
แต่สิ่งที่ผมสนใจมากๆ ก็คือ ปรัชญา ที่นี้พอสนใจปรัชญา ก็หนีไม่พ้นที่ต้องมาสนใจศาสนาด้วย เหมือนเป็นของคู่กัน ผมชอบมากๆ ตอนที่หลุดออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมมาได้ ตอนนั้นผมสอบเทียบแล้วได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ได้เรียนวิชาที่เราอยากเรียน วิชานึงที่ผมเลือก ก็คือ วิชาปรัชญาพื้นฐาน เพื่อนๆ ก็พยายามท้วงว่าอย่าไปเรียน วิชานี้มันยาก คือปกติในมหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็พยายามช่วยจัด แนะนำว่าให้ลงวิชานี้สิง่าย ลงเซ็คชั่นนี้กับอาจารย์คนนี้นะ จะได้เกรดดี แต่ผมเป็นคนไม่สนใจรุ่นพี่ ผมก็เลยจัดวิชาที่ผมอยากเรียนเอง... คือมหาวิทยาลัยมันก็ดีอย่างนี้ เราได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ แล้วมันก็เสรีในแง่ที่ไม่มีใครมาบังคับเรา มันเปลี่ยนจากการอยู่ในกรอบแบบโรงเรียน ที่บังคับให้ต้องตัดผมสั้นเท่านี้ ต้องเรียนร.ด. ซึ่งบางเรื่องผมรู้สึกว่ามันไร้สาระ แล้วมันก็ไม่ได้ช่วยพัฒนาอะไรในตัวเรา สิ่งแวดล้อมแบบมหาวิทยาลัยทำให้ผมมีความสุขมากๆ พอเราเรียนแบบมีความสุขก็เรียนได้ดี
ด้วยรูปแบบการเรียนช่วงมหาวิทยาลัย ท้ายๆ ผมก็เริ่มสนใจศาสนาพุทธแล้ว แต่จุดที่ทำให้ผมสนใจศาสนาพุทธมาก ก็คือตอนที่ผมได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน ตอนนั้นผมเรียนที่เมืองกัทธิงเน่น ก่อนรวมประเทศเมืองนี้จะอยู่เกือบๆ ชายแดนระหว่างฝั่งเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก แต่พอรวมประเทศแล้ว กัทธิงเน่นก็อยู่ตรงกลาง ที่นี้ที่เมืองนี้ คือ ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอก พอไปเรียนก็ได้รู้ว่า มันเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง โปรเฟสเซอร์ทางด้านพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงก็อยู่ที่นี่ ในเมืองจะมีศูนย์พุทธศาสนาอยู่บนเขา ผมก็จะชอบขี่จักรยานขึ้นเขาไปที่นี่ มันเป็นบ้านของโปรเฟสเซอร์ที่เค้าเคยสอนอยู่ที่นี่ แล้วภายหลังก็อุทิศให้กับมหาวิทยาลัย แล้วก็เหมือนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ ผมก็เริ่มศึกษา เริ่มอ่าน บางทีก็ซีร็อกซ์เก็บไว้ก็มี
การศึกษาพุทธศาสนาแบบตะวันตกจะมีลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นศาสตร์มากขึ้น ซึ่งเราก็เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดทางพุทธศาสนาผ่านในแง่ความมีเหตุมีผลเชิง วิชาการเข้าไป อ่านทั้งหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้า และหนังสือที่อธิบายคำสอนพระพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ
จริงๆ ผมก็เอาหนังสือจากเมืองไทยไปด้วยหลายเล่มเหมือนกัน เล่มหนึ่งคือ หนังสือพุทธธรรม ของท่านพระธรรมปิฎก และหนังสือบางเล่มของ อ.สมภาร พรมทา ช่วงนึงตอนที่ผมจบปริญญาโทแล้วกลับมาเมืองไทย ผมก็เริ่มมีความสนใจมากขึ้น ทำให้ผมศึกษาค้นคว้า แล้วก็พบว่า คำสอนในศาสนาพุทธหลายๆ เรื่องก็มีเหตุมีผลในเชิงที่ทำให้เราเข้าใจโลกและเข้าใจชีวิตมากขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่สนใจพุทธศาสนาในลักษณะปฏิบัติธรรมแบบเคร่งครัด ก็อยู่แบบโลกย์ๆ นี่แหละ ก็ใช้ข้อธรรมบางข้อที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วรู้สึกกินใจเรา เวลาที่เรามีปัญหาทุกข์ใจ เราก็ใช้การระลึกเอา อย่างเช่น เจริญมรณานุสติ ระลึกดูว่าจริงๆ ชีวิตเรามันก็สั้น วันนึงก็ต้องตาย สุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้หมด เราเกิดมาชั่วเวลาหนึ่งก็ต้องตาย โลกนี้เป็นของชั่วคราว คือ ผมว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วเราสามารถมองโลกและจักรวาลในมิติที่มันกว้าง เราก็จะรู้สึกว่าเราก็เป็นแค่สิ่งเล็กมากๆ ในจักรวาล ปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันใหญ่มาก เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียว เดี๋ยวมันก็จะหายไป คือในแง่นี้ เวลาที่มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้า มันก็ช่วยในแง่ของจิตใจทำให้เราเข้มแข็ง ศาสนาก็จะช่วยผมในแง่นี้มากกว่า แต่ถึงขนาดนั่งสมาธิ ลงลึกไปในทางจิตวิญญาณ ผมยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่ามันก็ยังถูกร้อยรัดกับเรื่องของโลกย์ๆ ก็พยายามทำบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดประสบความสำเร็จอะไร และส่วนตัวมีความรู้สึกว่า เรื่องในทางจิตเนี่ยเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มันยาก แล้วก็หลงทางได้ง่าย ถ้าเราไปผิดทางเนี่ย มันก็จะผิดไปเลย การทดลองอะไรกับเรื่องจิตเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังมากๆ เพราะว่าถ้าหลงทาง มันก็อาจจะหลงไปไกลจนกู่ไม่กลับ
อีกอย่างนึง คือเวลาที่พูดว่าผมสนใจเรื่องพุทธเนี่ย ผมก็ไม่ได้ติดว่าตัวเองต้องเป็นคนดีอะไรมากมาย คือความรู้สึกของผม การเป็นคนดีก็คือ แค่เราไม่ทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วก็ทำอะไรให้คนอื่นบ้าง แต่ว่าชีวิตที่ใช้ ก็เป็นชีวิตแบบโลกย์ๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่บริสุทธิ์อะไรเลย เป็นคนธรรมดามากๆ สำหรับผมถ้าก้าวไปสูงกว่านั้นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น เราอยู่กับโลกย์ๆ เราก็ไม่ควรจะต้องรู้สึกผิดอะไร ตราบที่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเบียดเบียนตัวเองมากจนเกินไป
วิจักขณ์: ถึงตอนนี้ความรู้สึกแอนตี้ศาสนามันหายไปมั๊ยครับ
วรเจตน์: ตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เพราะพอเราได้ศึกษาเองมากขึ้น เราก็เห็นเหตุเห็นผลในคำสอนพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเองมากขึ้น คือบางทีพุทธศาสนามันอาจจะมาพร้อมกับการเติบโตของชีวิตด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ยึดติดกับมันมากเกินไป
มองย้อนกลับไป สิ่งที่ผมมีปัญหากับพุทธศาสนาในบ้านเรา มันอาจจะไม่ใช่ตัวพุทธศาสนาเอง แต่เป็นรูปแบบการนำเสนอหรือการสอนบางอย่างที่มันเป็นตำนานเสียมาก แล้วเวลาสอนก็เป็นลักษณะท่องจำ ผมไม่รู้สึกว่าเราจะได้อะไรจากการจำธรรมะได้เยอะๆ อีกอย่างคือในเรื่องความเชื่อทำไมต้องบังคับ ทำไมไม่ปล่อยให้คนศึกษา แล้วตัดสินใจเอง ผ่านการคิดตรึกตรองของเขา แล้วรู้สึกว่าเหมาะกับจริตของเขา
ประสบการณ์ของผมในโลกตะวันตก อย่างในชั้นเรียนที่เยอรมัน ก็มีคนถามผมว่าผมเชื่อพระเจ้ามั๊ย ผมก็บอกว่าผมไม่เชื่อพระเจ้า โดยผมบอกเขาไปว่า ถ้าพระเจ้ามีจริงแบบตำนานว่าไว้เนี่ย แล้วพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์อะไรจริง ทำไมถึงสร้างให้มันมีความแตกต่างกันเยอะแยะขนาดนี้ ทำไมถึงสร้างให้มันมีความดีความชั่ว ทำไมไม่สร้างโลกนี้ให้มันดีพร้อมไปเลย แล้วผมก็รู้สึกว่าคำอธิบายนี้มันไม่ค่อยตรงกับจริตของผมเท่าไหร่ แต่สุดท้ายผมก็มองว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ผมก็มองว่าพระเจ้าอาจจะมีในหลายความหมายก็ได้ อาจจะไม่ได้มีความหมายในแบบที่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งมีเจตจำนงในการเนรมิต ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่สอนๆ กันมา แต่อาจจะมีหลายๆ นัยยะ เพราะฉะนั้น พระเจ้าในลักษณะที่เป็นพระผู้สร้างนั้นผมไม่เชื่อ แต่ในเซ้นส์อื่นนั้นผมไม่รู้ คืออย่างในทางพุทธเนี่ย ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทั้งนั้น หากจะสืบสาวหาจุดเริ่มต้น และจุดจบก็ไม่ได้ เอาเข้าจริงมันก็อยู่ตรงระหว่างทั้งสิ้น แต่ถ้ามากไปกว่านั้นเกี่ยวกับโลก กับชีวิต ผมก็ไม่รู้หรอก ก็รู้เท่านี้แหละ แต่ถ้าถามว่าผมเชื่อมั๊ยว่ามีใครเป็นคนบงการ สร้างโลกอะไรแบบนี้ ผมไม่เชื่อ
(บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มี 5 ตอน โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้)