ที่มา ประชาไท
นักวิชาการออสเตรเลีย เผยต่างชาติขาดข้อมูลประวัติศาสตร์วัฒนธรรมปาตานี เหตุนักวิจัยมุ่งศึกษาความรุนแรง จนกลบภาพพลวัตรสังคม ชี้แนวโน้มโลกมุ่งศึกษาประวัติท้องถิ่น
แพทริค โจรี
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มกราคม 2555 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ดร.แพทริค โจรี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกเฉียงใต้ สถาบัน School of History, Philosophy Religion and Classics Faculty of Arts มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวปาฐกถาเรื่อง Problem of Modernity in Patani and Thailand : The Emergence of the people in Patani’s Past and Present ในงานเสวนาวิชาการเรื่องสภาวะความสมัยใหม่อันแตกกระจายของปาตานี
ดร.แพทริค กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีที่ถูกนำเสนอผ่านงานวิจัยส่วนใหญ่นำเสนอประเด็นความขัด แย้งทางการเมือง ทำให้คนทั่วไปเห็นแต่มุมความขัดแย้งเหมือนภาพหลอน แต่ไม่ค่อยพบงานวิจัยที่นำเสนอชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถพบได้จากการวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
ดร.แพทริค กล่าวต่อไปว่า การอ่านเอกสารวิชาการเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจะเป็นการสร้างความเข้าใจ สังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ความขัดแย้งได้ดีกว่า การนำเสนอในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองหรือความรุนแรง
ดร.แพทริค กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ นักวิชาการและนักวิจัยมีแนวโน้มให้ความสนใจประวัติศาสตร์ที่ลงย่อยลงมากขึ้น จากเดิมที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ ต่อมาเริ่มสนใจในบริบทความเป็นชาติ และลงย่อยมาจนถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ประวัติศาสตร์ปาตานี ก็ยังถูกมองข้ามจากสังคมโดยรวม
ดร.แพทริค กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น สำนักอันนานซ์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัยจากประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมือง มาเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม เป็นอีกตัวอย่างแนวโน้มที่มีการเปลี่ยนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศใน ยุโรป
“เงื่อนไขเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีในสังคมไทยมีหลายประการ อย่างการพูดถึงตัวตนของปาตานีหรือ Geo-body ที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีปาตานีในแผ่นดินไทย” ดร.แพทริค กล่าว
ดร.แพทริค กล่าวว่า ปัจจุบันนักวิชาการต่างประเทศสนใจศึกษาประวัติศาตร์ปาตานีมากขึ้น เนื่องจากได้รับข้อมูลจากงานวิชาการถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากขึ้น
ดร.แพทริค กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์ปาตานี แม้มีความใกล้ชิดกับความเป็นอิสลามมาก แต่ยังไม่มีงานเขียนทางวิชาการเรื่องอิสลามกับความเป็นสมัยใหม่ในสังคมปา ตานีเลย แต่งานเขียนลักษณะนี้มักพบเห็นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและ มาเลเซีย