ที่มา ประชาไท
นักปรัชญาชายขอบ
ในสถานการณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวางเป็นพิเศษนี้ สังคมไทยควรนำ “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่
ทำไมจึงจำเป็นต้องศึกษา “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่
คำตอบตรงไปตรงมา เพราะประกาศฉบับดังกล่าวคือ “สัญญาประชาคม” (social contract) แห่งการเริ่มต้นสังคมประชาธิปไตยไทย เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
สัญญาประชาคมดังกล่าวจึงเป็นเสมือน “รากฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย หากประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องไม่ได้ยึดโยงอยู่กับรากฐานดังกล่าว มันก็จะกลายเป็น“ประชาธิปไตยไร้ราก” ที่เป็นเพียงของเล่นซึ่งนำมากล่าวอ้างกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง
สาระสำคัญของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 อาจสรุปได้ดังนี้ [1]
1. เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
(1) “...กษัตริย์...ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม…”
(2) “...รัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน...ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร...”
(3) “…รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป...”
(4) “...ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง...”
(5) “...บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย ... ควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย…”
(6) “...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น ...จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร… (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย...”
เหตุผล (ที่ผู้เขียนสรุปเป็นข้อๆ) 6 ข้อ ดังกล่าว คือ “ความไม่เป็นธรรม” (ในสายตาของคณะราษฎร และประชาชนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่มีรากฐานมาจากโครงสร้างอำนาจตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวซึ่งมีสถานะของ “กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย”
2. สัญญาประชาคม 6 ประการ : พันธสัญญาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
(2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
(3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
(4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
(5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
(6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
3. บทสรุปของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
“...ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”
อุดมการณ์ร่วมกันและก้าวต่อไป
“อุดมการณ์ร่วมกัน” ของสังคมไทยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องมี “ราก” มาจากเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ “ประชาธิปไตยที่ประมุขของประเทศอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
การปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จะต้องชัดเจนว่า “ชาติคือประชาชน” ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย “ศาสน์” และ “กษัตริย์” ดำรงอยู่ได้ด้วยศรัทธาและฉันทามติของประชาชนบนหลักการที่ว่า “สถาบันใดๆก็ตามจะอยู่ควบคู่ไปกับสังคมอย่างเหมาะสมกับสมัย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้” (ส.ศิวรักษ์,ฟ้าเดียวกัน,ตุลาคม-ธันวาคม 2551,หน้า 22)
ก้าวต่อไปของสังคมไทยที่มี “อุดมการณ์ร่วมกัน” ดังกล่าว ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “อำมาตยาธิปไตย” ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อล้ม “ทุนนิยมสามานย์” เพราะนั่นเป็นเพียง “ปีศาจ” ที่มีอิทธิฤทธิ์หลอกหลอนเราอยู่ได้โดยอาศัยการดูด “พลังหลับใหล” ไปจากเรา เพราะเราต่างสยบยอมต่ออำนาจของมันด้วยมัวแต่หลับใหลไม่นำพา “สัญญาประชาคม 6 ประการ” อันเป็นพันธสัญญาแรกเริ่มก่อร่างสร้าง “สังคมประชาธิปไตย” ที่ประชาชาติเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะต้องร่วมกันทำพันธสัญญานั้นให้เป็นจริงด้วยสมองและสองมือ
ไม่ใช่มัวรอการหยิบยื่นจาก “ฟากฟ้าสุราลัย” หรือจากชนชั้นนำอื่นๆที่ไม่รู้ค่าความหมายของ “สิทธิเสมอภาคกัน” ไม่เคยตระอย่างจริงใจในหน้าที่ที่ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ..” และ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
แต่ก้าวต่อไปคือการ “ก้าวกลับเพื่อเดินทางต่อ” ก้าวกลับไปสู่จุดเริ่มต้น “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” และ “สัญญาประชาคม” แล้วเดินทางต่อด้วยการร่วมกันสร้างพลังทางสังคมขับเคลื่อนการออกแบบโครงสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคอย่างแท้จริง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการ มีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
[1] อ่านฉบับเต็มที่เว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?PSPSESSID=d597def7ab4006...