ที่มา ประชาไท
สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” ที่เขียนโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง วิพากษ์ทุกประเด็นร้อนในบริบทสังคมไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พันธมิตรฯ ในฐานะศักยภาพแห่งหายนะ องคมนตรี และการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง
11 พ.ค. 52 โรงแรมอิมพีเรียล ธารา สุขุมวิท 26 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” ที่เขียนโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย โดยมีนักการเมือง นักการเมืองจากบ้านเลขที่ 111 นักกิจกรรมเดือนตุลา นักธุรกิจ สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมประมาณ 300 คนเต็มพื้นที่จัดเลี้ยง
การเปิดตัวหนังสือครั้งนี้เกิดขึ้นตามโครงการ “ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย” ของสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อเสนอมุมมองรอบด้านและทำความเข้าใจวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยในงานมีการแจกลายเซ็นโดยนายจาตุรนต์ให้กับผู้ซื้อหนังสือ มีการเปิดวิดีทัศน์แนะนำสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยและผลงานของสถาบันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีนางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ เป็นพิธีกร เพื่อนำเข้าสู่การสัมภาษณ์นายจาตุรนต์ ผู้เขียนหนังสือ โดยมี ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (ปลื้ม) เป็นผู้สัมภาษณ์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือและประเด็นสำคัญทั้งหมด
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้เริ่มเกริ่นนำการสัมภาษณ์ด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์สังคมการเมืองไทยที่เผชิญกับความไม่ธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะถามถึงแรงบันดาลของผู้เขียนที่นำมาสู่การเปิดตัวหนังสือ “ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” ซึ่งนายจาตุรนต์ เผยว่า ความตั้งใจของการเขียนหนังสือเล่มนี้มีมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน และมีการปรับรูปแบบการนำเสนอมาเป็นลำดับ จนออกมาเป็น 27 ประเด็นปัญหา 27 บทเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสะดวกต่อการอ่านมากขึ้น
“หนังสือเล่มนี้พยายามนำเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ ย่อยให้เป็นเรื่องง่ายๆ พยายามทำเป็นประเด็นๆ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะพบว่า สังคมไทยมีเรื่องต้องทำอีกหลายเรื่อง ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ไม่จบ เรายังได้เห็นว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่วัดไผ่เขียวคนก็มาเร็วกว่าปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้คลี่คลายให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด หนังสือเล่มนี้จึงได้พยายามจะบอกถึงปัญหารากเหง้า”
“การเมืองเป็นเรื่องน่าสับสน ยิ่งวันยิ่งรู้สึกว่ามีวิกฤติ สิ่งที่ผมพูดผมและคิด จึงน่าจะช่วยให้คนได้รับมุมมองอีกมุมหนึ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งในวิกฤติที่มีแนวโน้มจะเป็นวิกฤติไปอีกนาน สังคมไทยต้องการมุมมองที่กว้างขวาง เพื่อช่วยกันหาทางออก”
ต่อประเด็นเรื่องกระแสความต้องการปรองดอง สมานฉันท์ และ “หยุดทำร้ายประเทศไทย” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงเรื่องการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา นายจาตุรนต์กล่าวว่า ในหนังสือเล่มดังกล่าว ได้มีการวิจารณ์การเกิดขึ้นของคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นชุดของสถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งเห็นว่าจะไม่ใช่ทางออกของวิกฤตแต่อย่างใด เนื่องจากกรรมการชุดดังกล่าวนั้น หลายคนได้เลือกข้างไปแล้วค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามนายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงกรรมการชุดที่สภาตั้งขึ้นว่า หากดูจากการมีคณะกรรมการขึ้นมาหลังการสลายการชุมนุมเสื้อแดงก็มีแนวโน้มที่จะเป็นทางออกได้ แต่ครั้นความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเข้มข้นขึ้น ก็เริ่มตั้งเค้าแล้วว่ามีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ
“จะหวังว่าทุกอย่างจะง่ายนั้นไม่มีทาง และจะเกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีก” ทั้งนี้ยังได้วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจ เขียนขึ้นมาเพื่อวางระบบว่าอำนาจอธิปไตยควรจะอยู่ที่ใคร ซึ่งชัดเจนว่า อยู่ในบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ล้มนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนไปแล้วถึง 2 คน ทำลายพรรคการเมือง ซึ่งกลไกที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นแบบนี้ เป็นกลไกที่หักล้างอำนาจประชาชน มีองค์กรอิสระที่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้”
เขายังได้กล่าวด้วยว่า “การมีรัฐธรรมนูญ 17-18 ฉบับ เท่ากับว่าเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญจริงๆ เรามี 18 ฉบับได้ เพราะเราฉีกได้เป็นว่าเล่น การที่เรายอมให้ทำกันแบบนั้นได้เรื่อยๆ แสดงว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับกติกาสูงสุดร่วมกัน ไม่ยอมรับว่ากฎหมายอยู่เหนือคน แต่ไปยอมรับให้นายพลอยู่เหนือกฎหมาย”
เขายังขยายความต่อไปด้วยว่า ในอดีตการไม่เป็นนิติรัฐสะท้อนได้จากการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้มันสะท้อนอยู่ในกฎหมายอื่น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ประเทศใดก็ตามจะเป็นประชาธิปไตย จะต้องยึดหลักนิติรัฐ นี่เป็นหลักการที่ใหญ่มาก ที่ผ่านมาสังคมไทยพูดถึงนิติรัฐกันแต่ในฐานะที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดกฎหมายและใช้ตามกฎหมาย แต่เราไม่ได้พูดถึง การได้มาของกฎหมายซึ่งต้องชอบธรรม เป็นธรรม
“ผมยกตัวอย่างเรื่องการรัฐประหารในประเทศฟิจิไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งศาลของเขาได้ตัดสินให้การรัฐประหารและคณะทหารที่ยึดอำนาจผิด แม้ต่อมา คณะยึดอำนาจซึ่งไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญ และปลดศาลหลังคำพิพากษาไปแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ตุลาการของเขายึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรมอย่างไร ซึ่งการที่สังคมใดๆ จะถึงเวลาที่จะบอกกันว่า ‘ใครจะมายึดอำนาจไม่ได้’ การบอกนั้นก็ควรจะต้องเริ่มต้นโดยศาล”
หลังการตอบคำถามนี้ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ได้ถามต่อไปว่า “ฝันหวานไปไหม” นายจาตุรนต์ตอบว่า “เราต้องฝัน ถ้าสังคมไทยยังสนใจเรื่องประชาธิปไตย เราก็ต้องก้าวไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ เราต้องหยุดตุลาการภิวัตน์อย่างที่ทำกันอยู่ เพราะการกระทำที่ผ่านมาทำให้ตุลาการอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลยในวงการวิชาการต่างประเทศ ต้องหยุด ต้องถอยไปอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น แล้วมาพูดกันว่า สังคมไทยจะใช้ตุลาการตรวจสอบและคานอำนาจกับฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติอย่างไร นอกเหนือจากเรื่องการตรวจสอบตุลาการ ซึ่งต้องทำได้โดยประชาชน
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์บอกว่า เรื่องของคุณทักษิณและระบอบทักษิณนั้น มีคนกลัวมากกับคำๆ นี้ จึงได้เสนอไว้ในหนังสือว่า
“ต้องทำให้การต่อสู้เพื่อคุณทักษิณ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตราบใดที่คุณทักษิณยังมีชีวิต ท่านกับคนที่รักท่านก็จะต้องสู้ทางการเมือง แต่จะสู้เรื่องอะไร แน่นอนท่านเสียหายและได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นสิทธิที่ท่านจะสู้ สู้แบบไหน เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมก็แยกแยะกันไป แต่ถ้าสู้ด้วยอาวุธก็คงไม่ได้ แต่ถ้าสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างนี้ก็ต้องทำ ไม่ใช่พอสู้แล้วไปเข้าทางคุณทักษิณก็เลยถอย แล้วปล่อยให้ความไม่ยุติธรรมนั้นดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งการต่อสู้นั้น แม้แต่คนที่สู้เพื่อคุณทักษิณ ก็ต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะมาสู้เพื่อประชาธิปไตย”
“การต่อสู้เพื่อคุณทักษิณต้องลดลง หรือต้องทำให้คนรู้สึกน้อยลง หรือที่จริงต้องทำให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สู้เพื่อคนๆ เดียว มันเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้คนเสื้อแดงต้องการทิศทาง หลังเหตุการณ์เมื่อตอนสงกรานต์ มีคนเชื่อว่า คนเสื้อแดงจะเดินถนนไม่ได้ ซึ่งวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องต้องมองด้วย
“ที่จริงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเริ่มต้นด้วยความสงบ ไม่มีการเสนอหรือทางที่จะใช้ความรุนแรง บังเอิญมีการปิดถนน และเกิดเหตุที่พัทยาขึ้น สิ่งเหล่านี้คนเสื้อแดงก็ต้องรับผิดชอบ แต่การชุมนุมนั้นเริ่มต้นด้วยความสงบ จะมีผิดกฎหมายก็คือการปิดถนน ซึ่งก็เกิดขึ้นในวันหยุดยาวซึ่งการจราจรไม่ได้หนาแน่น แต่ก็ถูกสลายการชุมนุมโดยเริ่มต้นด้วยมาตรการที่เบาที่สุดคือใช้ปืน เอ็ม 16 ขณะที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาใช้แก๊สน้ำตา ต้องถูกดำเนินคดี แต่คนใช้ปืนกลายเป็นพระเอกได้รับการสรรเสริญเยินยอ”
ทั้งนี้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังได้ฝากถึงการต่อสู้ของ ‘คนเสื้อแดง’ อีกด้วยว่า ‘คนเสื้อแดง’ จะได้รับการยอมรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขาเสนออะไร
“เสื้อแดงต้องเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ เสื้อทุกสีต้องสู้เพื่อประชาธิปไตย” จาตุรนต์กล่าว
ในตอนท้ายของการสนทนา ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ยังได้ถามถึงเรื่องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการเมืองใหม่ของพันธมิตร ซึ่งนายจาตุรนต์บอกว่า เรื่องพันธมิตรฯ ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ ในชื่อบทว่า ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย : ศักยภาพแห่งหายนะ’ โดยกล่าวชื่นชมการบริหารจัดการการชุมนุม การจัดตั้ง และการเคลื่อนไหวของพันธมิตรซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของการการชุมนุมของประชาชน อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่อยู่ในข้อเสนอต่างๆ ของพันธมิตรฯ นั้นกลับเป็นหายนะ และพันธมิตรฯคือกองกำลังที่พร้อมจะติดอาวุธ และใช้ความรุนแรงได้ด้วย มีไว้สำหรับคุกคามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื้อเชิญการรัฐประหาร และทำให้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมจากประชาชนปกครองไม่ได้ และสิ่งที่พันธมิตรฯทำก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ซึ่งเป็นการบอกว่า “ใครมาเป็นรัฐบาล ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกับพันธมิตรฯและกองทัพ หากขึ้นมาได้ก็บริหารไม่ได้ และเป็นรัฐบาลต่อไม่ได้”
เขาและยังได้ขยายความไปให้เห็นถึงความสำคัญของพรรคการเมืองในฐานะเป็นที่มาของนโยบายเพื่อตอบสนองประชาชนตามความต้องการของประชาชน และวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า “แม้ขณะนี้จะมีสัญญาณความไม่ลงรอยกันของแกนนำพันธมิตรฯ บางคนกับกองทัพ ซึ่งก็อาจจะทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวกมากนัก แต่เชื่อว่า หากมีวิกฤตที่สะเทือนต่อผลประโยชน์ของพวกเขาอีก เขาก็จะไปทางเดียวกันอีก”
นอกจากนี้ยังได้พูดถึงบทเรื่ององคมนตรีในหนังสือว่า องคมนตรีเราสามารถวิจารณ์ได้ในตัวบุคคลหากมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และบทที่ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย 2575 หรืออีก 23 ปี ล้อกับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ซึ่งเสนอให้เป็นการถอยหลัง คือเป็นการเสนอให้ต่างกัน 100 ปี เพื่อชวนให้สังคมไทยมองไปข้างหน้าว่าอยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร
“สังคมไทยจะวิกฤตไปอีกนาน และนานกว่าที่ท่านคิด สังคมไทยจึงต้องรีบสร้างความเข้าใจ ถ้าสังคมไทยเชื่อและเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม จะเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุดที่จะเผชิญวิกฤตในอนาคตโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อรุนแรง เรายังมีทางออก ต้องช่วยกันผลักดันจริงจัง อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย ต้องเตรียมความคิด และทั้งหมดนี้คือที่มาของหนังสือเล่มนี้” จาตุรนต์ทิ้งท้ายเกี่ยวกับหนังสือ “ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” ซึ่งพิธีกรบอกว่า เริ่มทะยอยอยู่ในแผงหนังสือทั่วประเทศแล้วในสัปดาห์นี้