WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, August 28, 2012

1 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ “สอบตก” แก้ปัญหาที่ดิน-โครงสร้างภาคเกษตร

ที่มา ประชาไท

 
ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจวกข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาไม่คืบ แถมในพื้นที่ปัญหาขัดแย้งระอุ เกษตรกรย้ำ “รับจำนำข้าว-พักชำระหนี้-บัตรเครดิตเกษตรกร” ไม่ตรงเป้าการแก้ปัญหา นักวิชาการเผยตัวเลขความเหลื่อมล้ำ คน 10 % ครอบครองพื้นที่มีโฉนด 80 %

 
 
วันนี้ (27 ส.ค.55) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย นำโดย นางอำนวย สังข์ช่วย ชาวบ้านหาดสูง สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งประสบปัญหาที่ดินทำกินทับ ซ้อนเขตป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า แถลงข่าวครบรอบ 1 ปี การทำงานของรัฐบาลกับนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินและคนจน ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติต่อสภาว่าจะปฏิรูปการจัดการที่ดิน โดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมถึงจะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล
 
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 1 ปีผ่านไป การบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้เกษตรกรเกือบ 800,000 ครอบครัวยังอยู่ในภาวะไร้ที่ดินทำกิน เกษตรกรเกือบ 2 ล้านครองครัวอยู่ในภาวะมีที่ดินไม่เพียงพอ ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกปล่อยท้องร้างถึง 48 ล้านไร่ ในขณะที่เกษตรกรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ประสบปัญหาหนี้สิน และที่ดินของเกษตรกรกว่า 38 ล้านไร่ อยู่ในสภาพหนี้ NPL และกำลังจะถูกขายทอดตลาด ประกอบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและต้นทุนการผลิตสูงในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 4 ล้านครอบครัว อยู่ในภาวะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
 
ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร การแทรกแซงราคายางพารา โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง และโครงการรับจำนำข้าว กำลังตกเป็นข่าวและถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่ม ในขณะที่เกษตรกรอาจจะได้รับผลประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้จริงสมกับเม็ดเงินที่ รัฐบาลกำลังทุ่มลงไป ขณะที่ข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยให้รัฐบาลปฏิรูปโครง สร้างที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยแนวทางโฉนดชุมชน การใช้กลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินด้วยแนวทางธนาคารที่ดิน กลับไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด
 
“สะท้อนให้เห็นว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างความนิยม ซึ่งให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรเพียงในระยะสั้น แต่ละเลยการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร การลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน และการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรอย่างยั่งยืน” นางอำนวย กล่าว
 
สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย นางอำนวยกล่าวว่า รัฐบาลควรปรับปรุงนโยบาย และการดำเนินงานของรัฐบาลในปีที่ 2 ด้วยการตระหนักในความเดือดร้อนของเกษตรกร และดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ตามนโยบายที่ได้เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาอย่างเร่งด่วน เพื่อยืนยันและเป็นหลักประกันกับเกษตรกรทั่วประเทศว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาทางโครงสร้าง ที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนาน ให้สมกับคำแถลงนโยบายอันเป็นความหวังของเกษตรกร
 
 
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาวิชาการ “1 ปี รัฐบาลกับการแก้ไขปัญหาที่ดินและโครงสร้างภาคเกษตร คืบหน้าหรือถอยหลัง” จัดโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน โดยมีนักวิชาการและตัวแทนชาวบ้านร่วมนำเสนอข้อมูลและประเมินการทำงานของ รัฐบาลในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีความเห็นให้รัฐบาลสอบตกในการแก้ปัญหา
 
น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า รัฐบาลสอบตกในประเด็นการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน  เนื่องจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ได้ทำในสิ่งที่เขียนไว้อย่างสวยหรูในถ้อยแถลงต่อรัฐสภาเลยแม้ แต่ข้อเดียว โดยเฉพาะการปฏิรูปและการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นโครง สร้างสำคัญในการแก้ปัญหาปากท้อง รวมทั้งการแก้ปัญหาโครงสร้างภาคการเกษตรด้วย
 
 
ชาวบ้านร้องข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาไม่คืบ ขณะในพื้นที่สวนยางใต้ถูกปราบปรามหนัก
 
 
นางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการให้ข้อมูลว่าว่า จากปัญหาที่ดินกระจุกตัว ชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินจึงมีการผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง และในรัฐบาลที่แล้วก็มีการดำเนินการไปแต่ยังไม่มาก เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้มีการนำไปแถลงเป็นนโยบายต่อสภา แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งในเรื่องการจัดทำโฉนดชุมชน หรือการแก้ปัญหาคดีโลกร้อน ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องประสบปัญหาถูกข่มขู่คุกคาม ทำลายทรัพย์สิน ดังตัวอย่างชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดที่ถูกตัดฟันต้นยางเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ของปู่ย่า-ตายาย
 
นางกันยา กล่าวด้วยว่า งบประมาณ 50 ล้านบาท ที่รัฐบาลมอบให้กรมอุทยานฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อใช้ปราบปราบนายทุน เจ้าของรีสอร์ทที่บุกรุกป่า กลับถูกนำมาใช้เพื่อปราบปรามชาวบ้านเกษตรกรรายย่อย ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่สร้างปัญหาความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในวันนี้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินของตนเอง โดยต้องทำหลุมพรางเป็นกับดัก และจับมีดพร้าเข้าไปเฝ้าระวังในสวนยางเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่เข้ามาตัดฟัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียหากมีการเผชิญหน้ากัน
 
ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน นางกันยา ให้ข้อมูลว่า วันนี้ชาวบ้านจากเทือกเขาบรรทัดส่วนหนึ่งได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อแม่ทัพ ภาค 4 เพื่อขอกำลังทหารเข้าคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราว ระหว่างรอ มติ ครม.เพื่อแก้ปัญหาที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง เข้าไปตัดฟันต้นยางของชาวบ้านในพื้นที่
 
 
เกษตรกรชี้ “รับจำนำข้าว-พักชำระหนี้-บัตรเครดิตเกษตรกร” ไม่ตรงเป้าการแก้ปัญหา  
 
                                             
นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง แต่กลับทำให้ปัญหาหนี้สินหนักขึ้น ชาวนาถูกยึดทรัพย์ขาดทอดตลาด ทุกวันนี้ปัญหาการสูญเสียที่ทำกินลุกลามมาถึงที่อยู่อาศัย ทำให้อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่เป็นทางเลือกของลูกหลานอีกต่อไป
 
สำหรับนโยบายรับจำนำข้าว จากราคาประเมิน 15,000 บาท ปัจจุบันเกษตรกรได้รับ 13,000 บาท แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องเวลาที่จะได้รับเงิน และรายจ่ายที่สูงขึ้น ของแพง แม้ชาวนาจะรู้สึกดีที่ได้เงินก้อนใหญ่แต่สุดท้ายต้องถูกใช้จ่ายไปกับหนี้สิน และต้นทุนการผลิตอื่นๆ อื่นสูงขึ้นตามมา จึงเท่ากับว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ในส่วนการพักชำระหนี้ก็ให้เฉพาะกับลูกหนี้ชั้นดี ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรที่กำลังจะถูกยึดที่ดิน และกรณีบัตรเครดิตเกษตรกรนั้นเมื่อรูดเงินมาแล้วหากผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ก็เท่ากับเกษตรกรต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเท่านั้น
 
“เอาเงินก้อนใหญ่ใส่ในมือชาวนา ทำให้ต้องเลือกเพื่อจะได้เงิน แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด” นางกิมอังกล่าวถึงวิธการแก้ปัญหาของเกษตรกรที่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำอยู่
 
นางกิมอัง กล่าวด้วยว่า กฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นกฎหมายที่เขียนไว้ดี แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล เกษตรกรต้องรวมตัวกันชุมนุมถึง 4 รอบ กว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อตั้งคณะกรรมการแล้วกลับไม่มีการประชุมเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหา จนทำให้เกษตรกรต้องรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเตือน จึงจะได้เริ่มนัดประชุม
 
“รัฐบาลควรแก้ปัญหาที่ปัจจัยการผลิตก่อน อย่าเอาหนี้มาเพิ่มให้กับเราเรื่อยๆ” นางกิมอังกล่าว โดยให้ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาว่า ควรมีการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเพื่อทำการเกษตร และทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตแล้วอยู่ได้อย่างยั่งยืน
 
 
เผยตัวเลขความเหลื่อมล้ำ คน 10 % ครอบครองที่ดิน 80 % ของพื้นที่มีโฉนด
 
 
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาถึง งานวิจัยการกระจุกตัวความมั่งคั่งในสังคมไทย นำเสนอข้อมูลการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลใน ประเทศไทยว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) หรือค่าจีนี เพื่อแสดงค่าความเหลื่อมล้ำการกระจายการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 โดยหากตัวเลขเข้าใกล้ 0 หมายถึงสังคมมีความเหลื่อมล้ำที่ต่ำ แต่เข้าใกล้ 1 หมายถึงการมีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก พบว่าในปี 2555 ภาพรวมทั้งประเทศมีค่าจีนีสูงถึง 0.941 แสดงว่ามีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก ขณะที่รายจังหวัดมีค่าจีนีอยู่ในช่วง 0.7 – 0.9 ขณะที่การกระจายรายได้จากการเก็บข้อมูลปี 2552 มีค่าจีนี 0.485 ซึ่งน้อยกว่า แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งอยู่
 
ผศ.ดร.ดวงมณี ให้ข้อมูลต่อมาว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของการถือครองที่ดินอยู่ที่ 13.97 ไร่ โดยบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศเป็นนิติบุคคล ถือครองที่ดินจำนวน 2,853,859 ไร่ และเมื่อแบ่งผู้ถือครองที่ดินทั้งประเทศออกเป็น 5 กลุ่ม พบว่ากลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก ถือครองที่ดินเฉลี่ย 0.086 ไร่ ขณะที่กลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่มากที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ท้าย ถือครองที่ดินเฉลี่ย 6.3 แสนไร่ ซึ่งมีความต่างกันประมาณ 729 เท่า
 
อีกทั้งยังพบว่า ผู้ถือครองที่ดินทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีคน 10 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองที่ดินเป็นจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มีโฉนด และคนที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มีโฉนดที่เหลือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก โดยตัวเลขดังกล่าวหากรวมผู้ที่ไม่มีที่ดินถือครองจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ที่มากขึ้นไปอีก
 
นักวิชาการด้านคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวการแก้ปัญหาของรัฐบาลว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และธนาคารที่ดิน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มาตรการทางภาษีจะช่วยเพิ่มต้นทุนในการถือครองที่ดิน เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และช่วยให้มีการนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนธนาคารที่ดินจะช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงที่ดินได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องที่ดินไม่สามารถแก่ไขได้โดยใช้มาตรการในมาตรการหนึ่งแต่เพียง อย่างเดียว
 
 
ชี้ 4 ประเด็นปัญหา ที่รัฐบาลนี้ (และที่ผ่านมา) แก้ไม่สำเร็จ
 
 
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายการจัดการที่ดินถูกละเลยอย่างต่อเนื่องในแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องเผชิญปัญหามายาวนาน โดยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย พร้อมอธิบาย 4 ประเด็นปัญหานโยบายรัฐว่า ประกอบด้วย 1.ปัญหาพื้นฐานในการเข้าไม่ถึงสิทธิถือครองที่ดินโดยถูกกฎหมาย ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ถึง 1.5 ล้านครอบครัว โดยไม่มีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ชัดเจน ส่วนนโยบายโฉนดชุมชน กองทุนธนาคารที่ดิน ซึ่งต้องมีความเกี่ยวเนื่องกันก็ยังไม่เดินหน้า ทำให้ไม่เห็นความชัดเจนในการปฏิรูปเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงที่ดิน
 
ทั้งนี้ การปฏิรูปที่ดิน จาก สปก.ที่มีอยู่เดิมก็เป็นเพียงการนำที่ดินของรัฐซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมมาแจก ไม่ได้มุ่งปรับโครงสร้างการถือครองที่ดิน หรือทำให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างแท้จริง
 
2.ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดิน เนื่องจากไม่มีการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อป้องกันการเก็งกำไร ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดิน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้  
 
3.ความไม่มั่นคงในชีวิตของภาคเกษตร ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมคือผู้ใช้แรงงานและการมีชีวิตอยู่ในภาคเกษตรเพียง อย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนอยู่ได้ ทิศทางในการพัฒนาเกษตรจึงเป็นสำคัญ ดังนั้นการแจกที่ดินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงได้ ต้องมีนโยบายอื่นๆ ประกอบ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายในส่วนนี้ที่ชัดเจน
 
4.ความขัดแย้งเฉพาะหน้า ซึ่งมีทั้งกรณีที่เกิดความรุนแรง และกรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยข้อเสนอคือหากยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลควรชะลอการดำเนินการใดที่กระทบต่อชีวิต แล้วควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดิน ส่วนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ควรใช้เงินกองทุนยุติธรรมเข้าให้ความช่วยเหลือในการประกันตัวและต่อสู้คดี ทั้งนี้
 
ในตอนท้าย รศ.สมชาย แสดงความเห็นว่า การดำเนินการบางส่วนของรัฐบาลอยู่ที่ความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่ และผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องคิดแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างสันติ นอกจากนี้ตัวเลขจากงานวิจัยการถือครองที่ดินน่าจะช่วยทำให้สังคมมองเห็นความ ไม่เป็นธรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการให้เกิดขึ้นได้ อย่างจริงจัง
 
 
“คดีโลกร้อนกับคนจน” ชาวบ้านดันเต็มที่ แต่ผู้มีอำนาจไม่รับลูกต่อ
 
 
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีชาวบ้านถูกกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ฟ้องร้องในคดีโลกร้อน จากตัวเลขเดิมที่มีอยู่คือ 34 ราย 19 คดี ซึ่งอาจมีผู้ต้องคดีได้ต่อไปอีกถึง 2,000 ราย สะท้อนปัญหาโครงสร้างป่าไม้ที่ดินไทยซึ่งอยู่บนความเชื่อผิดๆ ว่าคนที่อยู่กับป่าคือผู้กระทำผิด ทั้งที่ความจริงที่เกิดขึ้นมีกรณีของกฎหมายป่าไม้ที่บุกรุกขับไล่คนออกจาก พื้นที่ และกรณีของการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออกตามนโยบายของรัฐบาล แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้บุกเบิกที่รัฐเคยส่งเสริมต้องกลายมาเป็น ผู้บุกรุกที่รัฐต้องจับกุมในปัจจุบัน
 
ดร.บัณฑูร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านและได้ร่วมกับนักวิชาการ 16 คนซึ่งตนเองเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวด ล้อมซึ่งใช้ในการฟ้องคดีโลกร้อนว่ามีวิธีคิดคำนวณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้แก้ไขแบบจำลองดังกล่าว ทั้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุายชนแห่งชาติ และต่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ ชาวบ้านพยายามอย่างเต็มที่ ทำทุกทางเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล
 
ในส่วนของข้อเสนอ ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ควรยุติการใช้แบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมด้งกล่าว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ อีกทั้งให้มีการพัฒนาแบบจำลองใหม่โดยหน่วยงานทางวิชาการ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือสภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เท่าที่ติดตามยังไม่เคยเห็นการฟ้องคดีโลกร้อนกับนายทุนรายใหญ่ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัญหาจากกระบวนการตรวจวัดผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำให้ชาวบ้านต้องตกเป็นเป้าหมายเพื่อสร้างผลงานเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ สามารถจัดการกับนายทุนได้
 
 
รัฐบาลสอบตกแก้ปัญหาเกษตรกร เหตุทุ่มงบอัดประชานิยม
 
 
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวถึง การทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่ดินในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า ไม่มีความก้าวหน้า ทั้งในส่วนของการขยายเขตการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทาน การจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ การปฏิรูปการถือครองที่ดิน การจัดให้มีโฉนดชุมชน การสนับสนุนให้มีการตัดตั้งธนาคารที่ดิน การคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการฟื้นฟูคุณภาพดิน
 
ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกษตรเป็นนโยบายที่รัฐละเลยและให้ความ สำคัญในระดับต่ำ และนโยบายทุ่มเทไปกับการยกระดับราคาและแทรกแซงกลไกตลาดของพืชบางชนิดอย่าง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือก ซึ่งนโยบายการแทรกแซงกลไกตลาดของพืชบางชนิดในระดับสูงนี้ได้สร้างผลกระทบต่อ โครงสร้างการผลิตพืชของไทย ขณะที่นโยบายด้านการเสริมสร้างและพัฒนากลไกตลาด และโครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าถูกละเลย จะนำมาซึ่งความสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเกษตรไทย
 
รศ.สมพรกล่าวด้วยว่า นโยบายเกษตรของรัฐมีภาพไม่ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเพื่อความ มั่นคงทางอาหารของชุมชน และการก้าวไปสู่การเป็นครัวโลก
 
ทั้งนี้ หากจะให้คะแนนรัฐบาลระยะสั้นเต็มสิบถือว่าสอบผ่าน หรือให้หก แต่ถ้ามองภาพรวมในระยะยาวถือว่าสอบตก การที่รัฐบาลมุ่งทำประชานิยมมากเกินไปจะเกิดผลเสียตามมา เป็นความเสียหายหลายแสนล้าน ขณะที่เงินหลายแสนล้านรัฐสามารถนำมาพัฒนาด้านอื่นๆ ได้
 
นักวิชาการสถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวส่งท้ายถึงข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเร่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินในภาคเกษตร การคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม การจัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินในรูปของโฉนดชุมชน และควรเร่งให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตอาหาร รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข
 
อีกทั้งควรมีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร ใหม่ โดยเฉพาะในส่วนแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรของชุมชน และสร้างกลไกมาตรการทางภาษีเพื่อการปฏิรูปการถือครองที่ดินจำนวนมาก