ที่มา uddred
คมชัดลึก 26 สิงหาคม 2555 >>>
กลับมามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้งสำหรับ "โภคิน พลกุล" ในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้องของพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ตามมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง
จากประสบการณ์ความรู้ด้าน "กฎหมายมหาชน" ทำให้ "โภคิน" ถูกเลือกให้มาทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่ารัฐบาลจะผ่านด่าน "ศาลรัฐธรรมนูญ" มาได้ โดยมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ถ้าจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ ควรให้ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน
ขณะที่รัฐบาลเองก็ยังไม่กล้าตัดสิน "หักดิบ" เดินหน้าลงมติวาระ 3 ตั้ง "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) และทำประชามติหลังได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นทางเดิมที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ แต่เนื่องจากกระแสสังคมเกิดความระแวงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำเพื่อ พวกพ้องและช่วยเหลือ "ทักษิณ ชินวัตร" รัฐบาลจึงตัดสินใจชะลอการลงมติวาระ 3 ไปก่อน
พร้อมกับหาทางออกโดยการตั้ง "คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550" โดยมี "โภคิน พลกุล" อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธาน
ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ประชุมไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าโดยที่ประชุมได้มอบหมายให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไป ศึกษาแนวทางทำประชามติ พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจถึงสาเหตุจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะไม่ได้ร่างโดยประชาชน แต่มาจากคณะบุคคลและเนื้อหาขัดหลักนิติธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย
โดยมาตราที่ "โภคิน" เห็นว่าแย่ที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ มาตรา 309 ที่ระบุว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง กับกรณีดังกล่าวไม่ว่า ก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐ ธรรมนูญ”
"นั่นหมายความว่ากฎหมายที่ออกโดยสภา และทรงลงพระปรมาภิไธยอาจจะขัดรัฐธรรมนูญได้ใช่หรือไม่ แต่กฎหมายรัฐประหารไม่ขัด เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าให้การกระทำนั้นชอบหมด อย่างนี้เราจึงทนอยู่ได้ผมไม่เข้าใจ กฎหมายรัฐประหารรุ่น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีค่าเท่ารัฐธรรมนูญ นี่แย่แล้ว ยังบอกอีกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ให้ถือว่าชอบเช่นเดียวกัน"
"โภคิน" ได้ยกตัวอย่างกรณี กฎหมาย ป.ป.ช. มาตราหนึ่งระบุว่าต้องทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม ถ้าไม่ทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรมจะถูกลงโทษโดนอาญา ขณะเดียวกัน ถ้า ป.ป.ช. ไม่ทำหน้าที่โดยเที่ยงธรรม แต่ได้ทำหน้าที่ตามประกาศของ คปค. ก็คงไม่มีใครไปทำอะไรได้ เพราะถือว่าการกระทำชอบโดยรัฐธรรมนูญ ทำให้สงสัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญแบบนี้จึงอยู่ได้
ส่วนกลุ่มที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพราะเห็นว่าถ้ายกเลิกมาตรานี้ก็จะส่งผลต่อคดีต่างๆ ที่ "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ" (คตส.) สมัยรัฐบาลไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอันโมฆะทั้งหมด และเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด "โภคิน" มองว่า การเข้าไปแก้ไขมาตรา 309 ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคนยึดอำนาจ
"ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างโดยประชาชนเป็นเกราะ การมายึดอำนาจทำยาก ถ้าหาวิธีเขียนบางมาตราให้ดีๆ แนะศาลว่าถ้าใครมาทำจะนิรโทษกรรมตัวเองไม่ได้และไม่มีผลผูกพันในอนาคต ผมมีเทคนิคบางอย่าง ถ้าศาลไม่คล้อยตาม ระบบรัฐประหารเกิดไม่ได้ ถ้ารัฐประหารพ้นจากอำนาจเมื่อไหร่ศาลวินิจฉัยว่า มาตรา 309 ขัดต่อหลักนิติธรรมจะไม่มีใครกล้ายึดอำนาจอีก การสถาปนาอำนาจรัฐประหารไม่ควรมีอยู่"
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง "โภคิน" กล่าวว่า การปรองดองมี 3 เรื่อง มีการตั้งสมมุติฐานจากรายงานของรัฐสภา และจากรายงานของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า บ้านเมืองถ้าจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากรัฐประหาร และสถาปนาระบบนิติธรรมขึ้นมา ถ้าจะให้บ้านเมืองกลับไปปกติต้องคืนความชอบธรรม แต่มีการรังแกไปแล้วจะทำอย่างไร คนที่กำลังจะถูกรังแกและคนที่อาจจะถูกรังแกจะทำอย่างไร ต้องคืนความชอบธรรม และกลับมาสู่หลักนิติธรรมใหม่ตามกระบวนการปกติ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปหารือกันในสภาคงบอกรายละเอียดไม่ได้
"คนอาจมองว่าเป็นการช่วยคุณทักษิณ ผมจึงอยากถามว่าถ้าช่วยคืนความเป็นธรรมให้คุณทักษิณผิดตรงไหน อย่ายกชื่อคุณทักษิณมา เพราะเรากำลังถามอารมณ์ความชอบ ไม่ชอบเป็นหลักมากกว่าการยึดหลัก ถ้าตั้งองค์กรพิเศษมาตัดสินคนแม้ตัดสินถูกคนก็ไม่รับ แต่ถ้าใช้องค์กรปกติตัดสินแม้ตัดสินผิดมันก็ต้องจบแบบนั้น"
ส่วนเรื่ององค์กรอิสระในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งที่ถูกมองว่าถูกแทรกแซง "โภคิน" กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นองค์กรอิสระในสมัยรัฐบาลทักษิณไปแกล้งใครชนิดที่ที่เรียกว่า เห็นชัดๆ เหมือนทักษิณโดนแกล้ง และองค์กรอิสระในวันนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปเกลียดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วออกไปต่อว่าเขาทุกวันแล้วไปนั่งสืบสวนสอบสวนยังไม่เห็นถึงขนาดนั้น
"ป.ป.ช. ชุดนี้ตั้งโดยรัฐประหารทั้งหมด และยังตั้ง คตส. ซ้อนอีก แล้วก็ขึ้นอยู่กับ คตส. ว่าจะเลือกนำคดีไหนมาทำบางอันดึงของ ป.ป.ช. มาทำ บางอันทำแล้วดึงกลับมาใหม่ก็มี (ทำไม ป.ป.ช. ขณะนั้นไม่ทำหน้าที่แทน คตส.) ผมไม่ทราบ ป.ป.ช. ใหม่ชุดนี้เกือบเป็นชุดที่ตั้งโดยรัฐประหารทั้งหมดยกเว้นคนที่มาแทนคนเกษียณ แล้วตั้ง คตส. ซ้อน ป.ป.ช. เพื่อมาเล่นงานทักษิณโดยตรง ถ้าเริ่มต้นไม่ถูกท้ายก็ต้องไม่ถูก ถือว่าทักษิณถูกรังแกโดยระบบนิติธรรม"
สำหรับคดีที่ดินรัชดาฯ ถ้าไม่มีปฏิวัติการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เซ็นชื่อยินยอมให้คุณหญิงพจมาน ภรรยาไปซื้อที่ดินในมุมมองนักกฎหมายเห็นว่าการตัดสินคดีนี้ถูกต้องหรือไม่ "โภคิน" บอกว่า ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรมเรื่องนี้ประหลาดที่สุด คุณหญิงพจมาน ซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูจากการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผู้ซื้อกับผู้ ขาย ทักษิณเพียงแค่เซ็นยินยอมอนุญาตภรรยาให้ไปซื้อจึงไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นเรื่องจริยธรรมขัดกันระหว่างผลประโยชน์บุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม คือสรุปว่า ถ้าทุจริตคือราคาควร 100 บาท ไปซื้อในราคา 50 บาท ไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทำราคาให้ต่ำ ไม่ประมูล ซึ่งเรื่องนี้ไม่มี ถ้ามีแบงก์ชาติก็ต้องผิดหมด เพราะคนซื้อฝ่ายเดียวทำให้ผิดปกติไม่ได้ต้องคนขายร่วมมือด้วย ตอนหลังศาลยังบอกคุณหญิงพจมานก็ไม่ผิด ศาลบอกทักษิณผิดคนเดียว เพราะไปอนุญาตให้ภรรยาซื้อ กระบวนการนี้ถือว่าไม่ถูกหลักนิติธรรม
แม้จะวิพากษ์องค์กรอิสระในขณะนี้แต่ "โภคิน" ก็ยังเห็นว่าองค์กรอิสระควรยังมีอยู่ แต่ผิดเพี้ยนเพราะตัวคนมีปัญหา ต้องแก้ไขเรื่องที่มาและอำนาจ โดยในส่วนที่มานั้นไม่ควรให้ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพราะยิ่งให้ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องมากทำให้สถาบันศาลได้รับผลกระทบมาก ภาพลักษณ์จะเสียหาย
"โภคิน" ชื่นชมนายกฯ ที่อดทนไม่มีความก้าวร้าว ไม่โต้ตอบทำให้เรื่องจบ และเห็นว่าวันนี้ต้องลดอารมณ์ความเกลียดชังต่างๆ ลงไป วันนี้ไม่ใช่ปัญหาของทักษิณ ไม่ใช่ปัญหาของสนธิ (ลิ้มทองกุล) แต่เป็นปัญหาที่สังคมตกหลุมดำ การใช้อารมณ์ทำให้หลุมดำขยายไปทุกวัน เราต้องหยุดแล้วถอย ไม่ใช่อารมณ์มาพูดกัน ต้องก้าวข้ามหลุมดำนี้
“ในความเห็นผม รัฐบาลแม้จะเจ็บปวด จะกัดฟันเท่าไหร่ก็ต้องทน เป็นวิธีเดียวเท่านั้น เมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้ หลุมดำก็จะตื้นขึ้น เราจะก้าวข้ามไปทันทีไม่ได้ แต่ทำให้หลุมมันตื้นขึ้นจนไม่มีหลุมได้ ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่นั้นตอบไม่ได้”
สำหรับข่าวลือว่าถูกวางตัวให้ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย หรือรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูงานด้านกฎหมายให้แก่รัฐบาล "โภคิน" บอกว่า ไม่ใช่ว่าต้องไปตรงนั้นถึงจะช่วยได้ แค่ช่วยพรรคในระดับนี้ก็เต็มใจแล้ว จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง เพราะเป็นมาหลายตำแหน่งแล้ว และทุกตำแหน่งก็ทำเต็มที่