ที่มา ประชาไท
Tue, 2012-08-28 14:09
ป.ป.ช. ลงมติยกฟ้องข้อกล่าวหาทักษิณ- สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
อดีตรมต.คมนาคม และผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 ราย
ข้อหาทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดในสุวรรณภูมิ เหตุหลักฐานอ่อนไป
28 ส.ค. 55 - คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง
ยกฟ้องข้อกล่าวหาการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด
และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง
โดยมีผู้ถูกกล่าวหาประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ข้าราชการระดับสูงใน บทม.
และบริษัทเอกชนหลายกลุ่มรวม 25 คน แต่
ป.ป.ช.เห็นว่าพยานหลักฐานทั้งหมดไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าว
หากระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง
โดยยืนยันไม่มีการเมืองกดดันการพิจารณา
ขณะเดียวกัน มีมติให้ไต่สวนต่ออดีตกรรมการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 6 คน
ซึ่งพบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวพันกัน ได้แก่ นายศรีสุข จันทรางศุ
พล.อ.สมชัย สมประสงค์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ
นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์
โดยมติครั้งนี้ เลื่อนมาจากการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 21
สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.
เปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องเลื่อนประชุม
เพราะต้องแปลเอกสารจากอัยการและหน่วยงานยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีประเด็นสำคัญต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ใบเสร็จ และหลักฐานการซื้อขาย
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังพบข้อมูลใหม่
ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ยังไม่ได้ตั้งประเด็นส่งมา
คือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าข้าราชการระดับสูงของรัฐ ประมาณ 7-8 คน
เกี่ยวข้องกับตัวแทนขายเครื่องซีทีเอ็กซ์ โดยข้อสรุปมี 2 แนวทาง คือ
หากเห็นว่าหลักฐานครบถ้วน
ก็จะดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ที่มีความเห็นไม่ส่งฟ้องมาก่อนหน้านี้
หรือหากเห็นว่าหลักฐานอ่อน ก็จะมีมติให้ยกคำร้อง
สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีนี้
มาจากคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ หรือ เอสอีซี
ตรวจสอบบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยีส์ อิงค์
และชี้มูลว่ามีความผิดในการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองไทย
เพื่อจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 35 ล้าน 8
แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ในราคาแพงกว่าปกติ จากเครื่องละ 1,400 ล้านบาท เป็น
2,600 ล้านบาท และไม่มีการประมูล จากนั้น คตส.เข้าตรวจสอบ
รวมทั้งระบุตัวผู้กระทำผิดตามสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและความผิดฐาน
เรียกรับสินบน โดยแยกผู้กล่าวหาเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักการเมือง ได้แก่
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข
อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 2 ได้แก่
คณะกรรมการ-พนักงานบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด หรือ บทม.
รวมทั้งคณะกรรมการ-พนักงานบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. 9 ราย
ซึ่งมีข้าราชการระดับสูงรวมอยู่ด้วย ส่วนผู้ถูกกล่าวหากลุ่มสุดท้าย
คือกลุ่มนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 13 ราย
หลังจากคตส.ชี้มูลผู้กระทำผิดและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อ
ส่งฟ้องคดี แต่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดในขณะนั้น
และยังเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วย มีความเห็นไม่ส่งฟ้อง
จนกระทั่ง คตส.หมดวาระ คดีจึงถูกโอนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ที่ตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุด เพื่อไต่สวนเพิ่มเติม
แต่ในที่สุดอัยการสูงสุดยืนยันไม่ส่งฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า คดีไม่สมบูรณ์
หลักฐานอ่อน
และไม่มีพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลที่จะเอาผิดเรื่องการทุจริตเรียกรับผล
ประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างได้
นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เอสอีซีของสหรัฐฯ
ที่เป็นผู้ตรวจสอบพบการทุจริต กลับส่งหนังสือมายืนยันในภายหลังว่า
ไม่พบร่องรอยการให้สินบน
หรือการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนใดๆในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000
ทำให้คณะกรรมการป.ป.ช.ต้องดึงสำนวนกลับมาเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการฟ้องคดี
เอง หรือยุติการฟ้องคดีตามความเห็นของอัยการ โดยภายใน
ป.ป.ช.เองก็มีความคิดเห็นขัดแย้ง เพราะบางส่วนเห็นว่า หลักฐานในคดีนี้อ่อน
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. เปิดเผยว่า
เมื่อพยานหลักฐานไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองเรื่องการทุจริตได้
ก็อาจมีการเอาผิดข้าราชการระดับรองลงไป เช่น กรณีอดีตคณะกรรมการของ
ทอท.และบทม. ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เดินทางไปตรวจเครื่องซีทีเอ็กซ์ที่สหรัฐฯ
โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งถือว่า ผิดกฎหมาย
ป.ป.ช.มาตรา 103 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกจากทรัพย์สินอันควรได้ตามกฎหมาย
ที่มา: เรียบเรียงจาก TNN, ผู้จัดการออนไลน์