ที่มา ประชาไท
Thu, 2012-08-30 21:15
(30 ส.ค.55) ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา
มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง
คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ
ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค.53
จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยวันนี้ มีพยาน 3
ปากได้แก่ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ
รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ตอบทนายว่า
เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า ยึดถนนราชดำเนิน นายกฯ
โดยการอนุมัติของ ครม. จึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส.
เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ
คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน เอ็ม 79
ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น
ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอัน
เป็นที่เคารพ หลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ
และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่
ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เม.ย.
พร้อมมอบหมายให้ตนเองเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย
คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข
และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง
สุเทพ กล่าวว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร
เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ ทั้งนี้
ยืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2
เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น
เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย
ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง
ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน
เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกฯ
สุเทพ อธิบายการผลักดันผู้ชุมนุมว่า ไม่ใช่การสลายการชุมนุม
ซึ่งเป็นการใช้กำลังบังคับโดยเจ้าหน้าที่ให้เลิกชุมนุม แต่คือ
การดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับการจราจร
สุเทพ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มีคำสั่ง 1/53 ศอฉ.
ที่ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนชัดเจน
โดยสาระสำคัญของการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9
ว่าด้วยกฎการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล
ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง
ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้
รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา "ลับมาก"
ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่
ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด
สุเทพ กล่าวว่า การจัดกำลัง แถวหน้าเป็นเจ้าหน้าที่ถือโล่และกระบอง
ถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง อย่างไรก็ตาม
อนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกินหน่วยละ 10 คน
สำหรับผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชน
กรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง
หากแต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า
และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 9
มาปฏิบัติการที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้านั้น
ทราบว่าเดินทางมาโดยรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียง
แต่ไม่มีการใช้อาวุธที่อยู่ในรถต่อประชาชน
เขาระบุว่า วันดังกล่าว เริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลา 13.00 น. และหยุดเมื่อ
18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำ จึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง
แต่ปรากฏมีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธเอ็ม 16
ปืนทราโว ไปจำนวนมาก แกนนำปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น
และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล
ศอฉ.จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ
เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่
สุเทพ กล่าวว่า ต่อมา เวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำ
ใช้อาวุธสงครามนานาชนิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย
เมื่อ ศอฉ.สั่งถอนกำลัง ปรากฏว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้เอ็ม 79
และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดชนิดขว้าง
ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ อย่างไรก็ตาม
ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียว
เนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและมีการปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้
มีตำรวจสายสืบของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1
รายโดยได้เครื่องยิงเอ็ม 79 มา ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.
มีการกำหนดมาตรการป้องกันการสูญเสียบาดเจ็บหลายอย่าง อาทิ
ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 เมตร
ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงตัว มีด่านตรวจที่มีที่กำบัง
สุเทพ ย้ำว่า ศอฉ.ไม่เคยสั่งการหรืออนุญาตให้มีการซุ่มยิง
เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน
การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์
โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย
เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน
โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน
ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัว
จากนั้น เมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง
จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่ม
รอบบริเวณไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้
กรณีการเสียชีวิตของพัน คำกอง จากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1
เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที 15 พ.ค.
มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร
เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือพัน คำกอง
เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของ
เจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง
นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่
ทนายแสดงภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง สุเทพระบุว่า ไม่ทราบว่าใครยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้
อัยการถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับชายชุดดำ สุเทพระบุว่า
ชายชุดดำปรากฏชัดเจนในช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่
โดยจากเหตุทั้งหมด มีที่จับกุมได้บางส่วนได้ส่งดีเอสไอ ดำเนินคดีก่อการร้าย
นอกจากนี้ หลังการเปิดคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้โดยช่างภาพของสำนักข่าวเนชั่น
ศาลถามว่าในคำสั่ง ศอฉ.เกี่ยวกับการใช้อาวุธ
ระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าว มีเสียงปืนอัตโนมัติ
ผิดหรือไม่ สุเทพ ตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิงและมีปืนกี่กระบอก
ได้ยินแต่เสียง อาจเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
เบิกความย้ำว่าไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุม
ก่อนการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่
รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยซึ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้
เนื่องจากการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้
มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น
อภิสิทธิ์กล่าวว่า
ไม่ทราบรายละเอียดวิธีปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง
มีการทำตามคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุมนุมในหลายประเทศ
ซึ่งสหประชาชาติให้ความสนใจถึงหลักการสลายการชุมนุม
ก็ไม่ได้ระบุว่าไทยมีการละเมิด
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย.
ขณะปฏิบัติการยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต
จนเมื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วงใกล้ค่ำ
มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อมและมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่
จึงมีรายงานความสูญเสียครั้งแรก นอกจากนี้ ตั้งแต่ 14 พ.ค.
มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบการชุมนุม
โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม
สาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนยังไม่มีข้อยุติ
แต่ยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดยบางกรณีมีความชัดเจนระดับหนึ่ง เช่น เสียชีวิตจากเอ็ม 79
ก็เสียชีวิตจากคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้เอ็ม79 ขณะที่กรณีสูญเสียชีวิตจากการยิง
ก็ต้องสอบสวน เพราะมีอาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกปล้นและนำไปใช้ ทั้งนี้
ทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุม จากคลิปวิดีโอ
มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่จำรายละเอียดไม่ได้
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม พยายามส่งคนไปเจรจากับแกนนำ
นปช. หลายครั้ง แม้กระทั่งประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา
เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
แต่แกนนำไม่ยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจาอยู่ตลอด
รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการ
ชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 52
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่สวนลุมเมื่อวันที่ 19
พ.ค. ไม่ทราบว่าใครสั่งเคลื่อนพล-ใช้กำลัง
พร้อมอธิบายว่า การใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความเป็นจริง
ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่า สลายการชุมนุม โดยขณะนั้น ขอคืนพื้นที่สวนลุม
การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้
แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น
อภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม
มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาก นสพ.ดิอินเพนเดนท์
ได้โทรประสานงานให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ แต่หน่วยพยาบาลกลับถูกซุ่มยิง
นอกจากนี้ยังมีการรายงานไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า
มีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุม มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้ด้วย
พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น
เบิกความว่า หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ.
โดยในการประชุม ศอฉ. มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ
ศอฉ.นั่งอยู่ด้วยทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ตำรวจมีการหาข่าวตลอด
ทั้งโดยตำรวจนอกและในเครื่องแบบ
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในช่วงแรก มีกำลังของตำรวจ ช่วย ศอฉ. 70
กองร้อยๆ ละ 155 คน ขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค.
มีการเปลี่ยนนโยบาย มาขึ้นตรงต่อ ศอฉ.
เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่กองทัพภาคที่ 1
มีอำนาจเฉพาะในกรุงเทพฯ จึงให้ ศอฉ.คุมกำลังแทน
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10
เม.ย.53 ไม่ทราบว่าใครควบคุมการเข้าสลายการชุมนุม
ทราบแต่ว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยปกติการจัดกำลังจะแบ่งเป็น 3
ชั้น กำลังตำรวจอยู่ชั้น 2 และ 3 ส่วนด้านหน้าเป็นหน่วยงานอื่น ทั้งนี้
ตนเองไม่ทราบรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ
เนื่องจากดูแลด้านนโยบายเท่านั้น ต่อมา ที่ราชประสงค์ ศอฉ.
มีนโยบายจำกัดพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเพิ่มกำลัง
เนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจอยู่ที่ชั้น 2-3
เหมือนเดิม
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย.
ตำรวจมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น ไม่มีอาวุธอื่น ต่อมา
ช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิตที่ สีลม 2 นาย
จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นายและเอ็ม 79 1 นาย นอกจากนี้ ศอฉ.
ให้เจ้าพนักงานใช้ปืนลูกซอง และปืนเล็กยาว เพื่อป้องกันตนเองได้
โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัตินี้ตลอด
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิตของประชาชน
รวมถึงพัน คำกอง บริเวณราชปรารภ ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท ทั้งนี้
โดยทั่วไป เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น
พนักงานสอบสวนในพื้นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยเร็ว กรณีพัน
คำกอง พนักงานสอบสวนเข้าไม่ได้ เพราะติดแนวลวดหนาม และมีการปะทะกันอยู่
แต่ต่อมาตำรวจก็ได้ไปโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งมีการตั้งศพไว้
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า หากมีการกระทำใดๆ
เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยตำรวจ ตนเองในฐานะ ผบ.ตร.และ ผช.ศอฉ.
ต้องได้รับการรายงาน โดยที่ผ่านมา
ไม่พบกรณีที่เจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำเกินกว่าเหตุ ในฐานะผู้บังคับการตำรวจ มองว่า
เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำการต้องรับผิดชอบ
อนึ่ง การไต่สวนการตายของ "พัน คำกอง" เสร็จสิ้นแล้วในวันนี้
โดยศาลอาญานัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 9.00น.
โดยนับเป็นการไต่สวนการตายคดีแรกที่ศาลจะมีคำสั่ง