ที่มา ประชาไท
Tue, 2012-08-07 16:32
และหากไม่เสแสร้งหรือดัดจริตเกินไป เราย่อมมองเห็นตามเป็นจริงว่า สังคมเรามี “แม่ผู้ควรแก่การสดุดี” ดังกล่าวข้างต้นนี้มากขึ้นๆ ข้อพิสูจน์ก็คือมีลูกๆ ที่ถูกฆ่าเพราะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เสรีภาพ และความเสมอภาคเพิ่มมากขึ้นๆ ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งซ้ำซากด้วย “ปัญหาเก่าแก่” ที่ยืดเยื้อมาร่วม 80 ปี
เป็นความจริงว่า แม่ในทุกชนชั้นย่อมเป็นผู้มีพระคุณที่ลูกควรกตัญญู และผมก็คิดว่าความซาบซึ้งในพระคุณของแม่ของแต่ละคนในแต่ละชนชั้นย่อมแตกต่าง กันไป ตามประสบการณ์หรือพื้นเพที่ต่างกัน ผมเองเป็นคนชนบทอีสาน แม่ในความทรงจำของผมคือแม่ที่สู้ชีวิต สู้กับความทุกข์ยากสารพัดเพื่อให้ลูกๆ ได้มีชีวิตรอดและเดินต่อไปตามโชคชะตาของตนเอง ผู้หญิงชาวอีสานรุ่นแม่ผมจะแต่งงานช่วงอายุราว 16-18 ปี จากนั้นก็จะมีชีวิตอยู่เพื่อลูกมาตลอด ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตเพื่อหน้าตา ชื่อเสียง อำนาจทางสังคม ครอบครัวหนึ่งๆ จะมีลูกราวๆ 10 คน บวก-ลบเล็กน้อย ปัจจุบันผู้หญิงรุ่นแม่ของผมก็ยังมีชีวิตอยู่เพื่อหลานๆ อีกด้วย เนื่องจากลูกๆ ไปทำงานในเมือง หรือต่างประเทศ มีลูกแล้วก็ทิ้งให้ยายให้ย่าเลี้ยง บางคนมีปัญหาการหย่าร้างก็ทิ้งลูกให้ยายให้ย่าเลี้ยงอีกเช่นกัน
แม่ชาวชนบทอีสาน
หากมองถึงการทำหน้าที่ของแม่ตามที่พระสอนว่า
“ช่วยให้ลูกได้เรียนศิลปวิทยา” หรือพูดในภาษาปัจจุบันว่า
“ส่งเสียให้ลูกมีการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดี”
แม่ผมก็ไม่มีปัญญาทำหน้าที่นี้เลย เพราะยากจนเกินไป ตอนที่ผมจบ ป.4
(ความจริงตอนนั้นมี ป.6 รุ่นแรกๆ แต่แม่ให้ผมออกจากโรงเรียนมาเลี้ยงควาย)
ผมขอบวชเรียน แต่แม่บอกว่า “เรียนไปก็บ่ได้เป็นครูเป็นนายกับเขาดอก
เฮาบ่มีเส้นมีสาย” จนผมอายุ 14 ปี
บังเอิญมีปัญหาบางอย่างผมจึงหนีออกจากบ้านแม่ไปอยู่บ้านญาติ
ตั้งใจว่าจะเดินทางต่อไปเสี่ยงดวงหางานทำที่กรุงเทพฯ
เหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ ในเวลานั้น แต่ถูกยายจับบวชเณรเสียก่อน
จึงได้เรียนหนังสือต่อมาจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์
(ผมจึงเป็นหนี้บุญคุณวัดวาศาสนาอยู่มาก ที่วิจารณ์ปัญหาต่างๆ
ในแวดวงพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อตอบแทนบุญคุณนั่นแล)
นึกย้อนหลังไป ผมไม่เคยโกรธแม่เลยที่ไม่อนุญาตให้ผมบวชเรียน
ในเวลานั้นแม่ผมอาจคิดอะไรแบบ “สมจริง”
อาจเห็นว่าความฝันของผมที่อยากเรียนหนังสือ อยากเป็นครูบ้านนอกมัน
“โรแมนติก” เกินไป
เพราะในสายตาของแม่การเป็นครูบ้านนอกก็ดูเหมือนจะเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อม
แต่มีความทรงจำบางอย่างที่ผมไม่เคยลืมคือ ตอนที่ผมเป็นเณรสอบได้เปรียญ 3
ที่วัดในจังหวัดขอนแก่นแล้วจะเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่หาวัดอยู่ไม่ได้
เกิดความท้อแท้กลับไปหาแม่เพื่อจะบอกลาสึก แต่ยังไม่ทันได้บอก
ระหว่างสนทนากันด้วยเรื่องราวต่างๆ
ตอนหนึ่งแม่เล่าว่าพาพี่สาวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมแพ
ช่วงเช้าของวันถัดมาแม่นั่งร้องไห้อยู่คนเดียวที่ริมทางเข้าโรงพยาบาล
ญาติคนป่วยอื่นๆ ถามว่า “ลูกสาวป่วยหนักหรือยาย” แม่ผมตอบว่า
“ลูกสาวไคแนแล้ว แต่คึดฮอดลูกชายผู้เป็นเณรอยู่กรุงเทพฯ
ยืนเบิ่งเณรน้อยย่างบิณฑบาตไปตั้งไกลบ่มีไผใส่บาตรจักคน”
(ลูกสาวค่อยยังชั่วแล้ว แต่คิดถึงลูกชายที่เป็นเณรอยู่กรุงเทพฯ
ยืนมองเณรน้อยเดินบิณฑบาตผ่านไปตั้งไกลไม่มีใครใส่บาตรสักคน)
วันนั้นที่ผมคิดว่าจะไปบอกลาสึก ก็เป็นอันต้องล้มเลิกไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงที่มีคนเสื้อแดงมาชุมนุมก่อนเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552 ผมกลับไปเยี่ยมบ้าน เห็นแม่ตื่นแต่เช้าออกไปช่วยเพื่อนบ้านเรี่ยไรพลิกเขือเกลือปลาร้าไปสมทบ ช่วยคนในหมู่บ้านที่มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ผมเพิ่งเห็นแม่ทำแบบนี้ (มีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง) เป็นครั้งแรก ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ไปชุมนุมได้เงินหรือเปล่า เป็นไปได้ว่าอาจมีทั้งคนที่ได้และไม่ได้ ที่ผมทราบแน่ๆ คือมีแม่และผู้หญิงในหมู่บ้านวัยเดียวกับแม่จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับเงิน แต่เต็มใจบริจาคเงินของตนเองและเรี่ยไรสิ่งสิ่งของจำที่เป็นสนับสนุนเพื่อน บ้านที่มาชุมนุมทางการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจว่าแม่ผมมีส่วนร่วมต่อสู้ทางการเมือง แม่ผมอาจอธิบายความหมายของประชาธิปไตยอย่างแตกฉานไม่ได้ขี้เล็บของอาจารย์ มหาวิทยาลัย แต่แม่ทำอะไรบางอย่างด้วยสามัญสำนึกซื่อๆ ของตนเอง ผมเชื่อในสามัญสำนึกที่ซื่อตรงของแม่ และนี่จึงทำให้ผม “เกิดใหม่” อีกครั้ง ทำให้ผมเลิกใส่เสื้อเหลืองไปชุมนุมกับพันธมิตรอย่างถาวร เพราะแม่ทำให้ผมพบว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ “มนุษย์เครื่องมือ” ที่ถูกซื้อด้วยเงิน ไม่ใช่พวกกเฬวราก หรือควายแดงดังที่ถูกเหยียดหยามมาตลอด และจากนั้นผมจึงหันมาสนใจศึกษาคนเสื้อแดงอย่างจริงจังมากขึ้น
สิ่งที่ผมรับไม่ได้คือมุมมองแบบสื่อตัวแทนชนชั้นกลางในเมือง กวีธรรม หรือนักวิชาการที่ดูถูกคนชนบท มองปรากฏการณ์ที่คนชนบทคนต่างจังหวัดจำนวนมากออกมาต่อสู้อย่างหยาบๆ ว่าเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ถูกจ้างมา หรือมาเพราะความยากจน ต้องการปลดหนี้ ถูกแกนนำปั่นหัว เล่นไปตามบทที่แกนนำบนเวทีกำหนดให้เล่น และสารพัด “คำพิพากษา”
พอถึงตรงนี้นึกถึงคำถามใน “สารคดี 2475” ของ ThaiPBS ที่ว่า “ฤาประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือ?” เพื่อตอกย้ำวาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” ของการปฏิวัติสยาม 2475 และบอกเป็นนัยว่า “นักการเมืองเลวๆ ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งหรือเปล่า” แต่ผมอยากถามว่าคนไทยเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเลวๆ เท่านั้นหรือ ในประเทศนี้มีกฎหมายห้ามพูดความจริงด้านลบ หรือวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองไหม หากใครไม่ชอบนักการเมืองที่ใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ ก็น่าอัศจรรย์ว่า “หุบปาก” อยู่ได้อย่างไรกับการมีกฎหมายอย่าง ม.112 เป็นต้น ที่น่าเศร้าคือคนที่แสดงทัศนะทำนองนี้คือพวกที่พยามแสดงออกว่า “เป็นกลาง” แต่คนพวกนี้หาได้ตระหนักไม่ว่าระบบที่บังคับให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพ และเหตุผลวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะบางกลุ่มได้ต่างหาก คือระบบที่ยิ่งกว่าใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ
หรืออย่างพวกที่พยายามแสดงบท “เป็นกลาง” ซึ่งสมาทาน “ลัทธิประเวศ” ที่แสดงออกถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ “ด้านใน” ของมนุษย์ อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนา ศาสตร์บูรณาการ ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ สร้างจิตใหญ่ที่เข้าถึงความจริงทั้งหมด พูดซ้ำๆ เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ปัญหาคนเล็กคนน้อย ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปประเทศ กระจายอำนาจ อ้างว่านักการเมืองใช้อำนาจมากเกิน แต่ผู้เป็นกลางเหล่านี้กลับ “ไร้ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ที่จะแตะเรื่องปฏิรูปกองทัพ สถาบันกษัตริย์ แม้กระทั่งปัญหา ม.112 ที่ตัวกฎหมายเองนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ชัดเจน คนเหล่านี้ล้วนตัดสินว่าพวกเลือกข้างมีอคติ มีอวิชชาบังตา เอาพวกมากกว่าเอาหลักการ ไม่นึกถึงความสงบสุขของบ้านเมือง ล่าสุดเสนอผ่านบทความ “กลุ่มจิตวิวัฒน์” ในมติชนกระทั่งว่า ถ้าทุกฝ่ายมีจิตสำนึก “รู้รักสามัคคี” ความปรองดองที่แท้จริงกว่าปรองดองด้วยกฎหมายจึงอาจเป็นไปได้
แต่นักวิชาการชาวต่างชาติกลับมองอย่าง “มีกึ๋น” มากกว่า เช่น Duncan McCargo มองว่า คนเสื้อแดงคือ urbanized villagers หรือชาวบ้านที่กลายเป็นชาวเมืองที่มีคุณลักษณะเด่นๆ เช่น เลือกตั้งในต่างจังหวัด แต่ทำงานในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ไม่ใช่ชาวนายากจนแต่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง (น้องสาวผมทำนาและเข้ามาทำงานรับจ้างในเมืองเป็นครั้งคราว แต่ส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 คนแล้ว) มองทักษิณในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา มองว่าทักษิณและพรรคของเขาเป็นคนมีอำนาจจากกรุงเทพฯ กลุ่มแรกที่เข้าใจความต้องการของพวกเขา ต้องการนำทักษิณกลับมาโดยผ่านการเลือกตั้ง ต่อต้านรัฐประหารและระบอบอำมาตยาธิปไตย (bureaucratic rule) เป็นต้น (ฟ้าเดียวกัน,ม.ค.-มิ.ย.55 หน้า 28-29) มุมมองเช่นนี้ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ควรอภิปรายกัน ไม่ใช่เอาแต่ดูถูกชาวบ้านว่าถูกจูงจมูก หรือมีอคติมืดบอดด้วยอวิชชา
และความจริงอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนที่ออกมาร่วมชุมนุมในมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่คือ “เพศแม่” (ในมวลชนเสื้อเหลืองก็เช่นกัน) แม้ว่าบนเวทีผู้หญิงอาจไม่ได้มีบทบาทเป็น “ดาวเด่น” เท่าผู้ชาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากปราศจากมวลชนเพศแม่ที่มุ่งมั่นอดทน การต่อสู้ไม่มีทางเป็นไปได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดเราจะพบว่าพลังแห่งมโนสำนึกของผู้หญิงนั้นยิ่ง ใหญ่มาก
การชูป้าย “ดีแต่พูด” ของคุณจิตรา คชเดช ช่วยเปิดเปลือยให้เห็นธาตุแท้ของคนที่ดูดีมีหลักการอย่างล่อนจ้อนว่า คนเช่นนั้นไร้มโนธรรมสำนึกรับผิดชอบต่อ “ความตายของประชาชน” จากการใช้กำลังปกป้องอำนาจของตนเองและเหนือตนเองอย่างไร การเสียสละของ “น้องเกด” และการต่อสู้อย่างกัดไม่ปล่อยของ “แม่น้องเกด” นั้นสะท้อนให้เห็นพลังของเหตุผลและมโนสำนึกของผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งว่าเหนือว่านักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนมากนัก ความเด็ดเดี่ยวของเพศแม่อย่างดา ตอร์ปิโด อย่างภรรยาอากง ภรรยาคุณสุรชัย ภรรยาคุณสมยศ ภรรยาและแม่ของนักโทษมโนธรรมสำนึกอีกจำนวนมาก รวมทั้งภรรยาและแม่ของผู้สละชีวิต 98 ศพ ล้วนแต่ควรแก่การสดุดีอย่างยิ่ง เพราะพวกเธอคือแม่ที่เป็นแรงบันดาลใจเสียสละต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เสรีภาพ และความเสมอภาค
นางพะเยา อัคฮาด มารดา "น้องเกด - กมนเกด อัคฮาด"
พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53
สวมกวดนางรสมาลิน ภรรยาอากงนักโทษ 112 ที่เสียชีวิตในคุก
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Nithiwat Wannasiri)
ในยุคสมัยที่สังคมเราถูกบดบังด้วยมายาคติถูก-ผิด ดี-เลว อย่างสุดๆ
ชนิดที่ว่าหากเป็นนักการเมืองหรือคนธรรมดาก็อ้างศีลธรรม อ้างกฎหมาย
ใช้คำสาปแช่งประณามต่างๆ นานาเพื่อกดเหยียดให้ “เลวเกินจริง”
ได้อย่างไร้ขอบเขต
แต่หากเป็นฝ่ายอำมาตย์กลับไม่มีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ตรวจสอบ
พูดได้แต่ในทางสรรเสริญกันอย่างเดียว
โจมทีทุนการเมืองก็โจมตีราวกับว่าทุนการเมืองเป็นเผด็จการทรราชที่มีกฎหมาย
ห้ามวิจารณ์ตรวจสอบ และราวกับว่าอำมาตย์ปลอดจากทุนอย่างสิ้นเชิง นี่คือ
“โมหาคติ”
ที่ครอบงำบรรดาผู้คนที่รังเกียจเสื้อแดงและบรรดาพวกที่อ้างว่าตนเองเป็นกลาง
พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53
สวมกวดนางรสมาลิน ภรรยาอากงนักโทษ 112 ที่เสียชีวิตในคุก
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Nithiwat Wannasiri)
แต่ในยามเช่นนี้กลับมีผู้หญิงตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่งออกมาปฏิเสธการครอบงำนั้นอย่างตรงไปตรงมาและกล้ากระตุกแรงๆ ฉะนั้น หากเราไม่สดุดีเพศแม่ที่กล้าหาญชาญชัยเช่นนี้ จะสดุดีนักวิชาการเทวดาที่ไหนไม่ทราบ!
พูดก็พูดเถอะ หากเราจะเรียกบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากหญิงผู้ให้กำเนิดเราว่า “แม่” คนๆ นั้นควรเป็นสตรีที่อุทิศตนเพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคเท่านั้น ผมเห็นแรงงานพม่าตะโกนเรียก อองซาน ซูจี ว่า “แม่ซูจีๆ” ทุกๆ ที่ที่ซูจีไปเยี่ยมแรงงานพม่าในไทย ผมรู้สึกว่าแรงงานพม่าตะโกนออกมาจากหัวใจของพวกเขา (ไม่ใช่เปล่งเสียงพูดแค่เพียงเป็นพิธีการ) เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยความยากลำบากอย่างยาวนานของซูจีสมควรที่ เธอจะถูกชาวพม่าเรียกว่า “แม่” จากใจจริงของพวกเขา
เช่นเดียวกันหญิงไทยที่เป็นแม่ผู้สร้างชาติ คือแม่ที่เป็นไพร่ แม่ที่ตรากตรำงานหนัก แม่ที่เป็นคนชั้นล่างของสังคม แม่ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมบนพื้นฐานของเสรีภาพและความเท่าเทียม อย่างยายไฮ ขันจันทา จินตนา แก้วขาว ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต่อสู้ในกลุ่มสมัชชาคนจน ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และพลังมวลชนเพศแม่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การต่อสู้ของเพศแม่เหล่านี้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ “ผู้เต้นตามเพลงที่แกนนำบนเวทีหรือนักการเมืองพรรคการเมืองกำหนด” เท่านั้นดอก พวกเธอเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล มีมโนสำนึกเป็นของตนเอง แม้ความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยจะเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ก็ต้องเปลี่ยนไป และต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ก้าวหน้าขึ้นของประชาธิปไตยในอนาคต เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศแม่เหล่านี้แหละคือพลังสำคัญในประวัติศาสตร์การ เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครจะมองเห็น “ตัวตน” ของพวกเธอหรือไม่ก็ตาม
นึกถึงคำพูดของอาจารย์อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย (เสวนาที่เผยแพร่ในยูทูป) ที่ว่า “ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสก็ไม่ได้มีข้อมูลชี้ชัดว่าชาวฝรั่งเศสอ่านงานของรุสโซ กันมากขนาดไหน งานของรุสโซน่าจะถูกยกย่องในภายหลังมากกว่า” อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา สำทับอีกว่า “ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับ the great thinker มากกว่ากระจอก thinker นะ เพราะข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญๆ ในหลายประเทศ ไม่ได้เกิดจากนักคิดที่ยิ่งใหญ่ แต่เกิดจากคนธรรมดาที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง”
แน่นอนว่า ในบ้านเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนระดับชาวบ้านธรรมดาๆ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ก่อนนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ซึ่งหมายความว่าชาวบ้านมองเห็น “ปัญหารากฐาน” ของความไม่เป็นประชาธิปไตยก่อนนักวิชาการหรือไม่ พวกเขารู้ว่าต่อสู้กับอะไร ต้องเสี่ยงมากขนาดไหน แต่ก็กล้าเสี่ยง ลองย้อนไปดูภาพหญิงสาวเสื้อแดงที่ถือป้ายข้างบนสิครับ เรายอมรับไหมว่าเธอกล้าทำในสิ่งที่เธอเชื่อว่าถูกต้อง เธอคิดอะไรอยู่ สื่อและนักวิชาการควรใส่ใจรับรู้ความคิดของเธอไหม หรือเอาแต่นั่งเทียนตัดสินจากอคติของตนเอง (แต่มักกล่าวหาว่าคนอื่นๆ ล้วนมีอคติ)
พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว แม่ที่เป็นชาวนา กรรมกร โสเภณี ก็คือแม่ที่มี “ความเป็นมนุษย์” ที่สังคมนี้พึงเคารพยกย่อง และให้ความช่วยเหลือเพศแม่เหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งโดยรากฐานที่สุดแล้วก็ต้องเริ่มด้วยการสร้างระบบสังคมประชาธิปไตยที่ใช้ หลักการสากลและกติกาเดียวกันตรวจสอบทั้งอำนาจและทุนอำมาตย์ กับอำนาจและทุนธุรกิจการเมืองอ และบุคคลสาธารณะอื่นๆ อย่างเท่าเทียม การสร้างความเจริญด้านอื่นๆ ภายใต้หลักการตรวจสอบในมาตรฐานเดียวกันจึงอาจเป็นไปได้
ฉะนั้น เพศแม่ที่ตระหนักรู้ความจริงว่าสังคมไร้ความยุติธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนชั้นล่างถูกโกงอำนาจ แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย คือ “แม่ของแผ่นดินประชาธิปไตย” ที่สังคมนี้ต้องมองเห็น “ตัวตน” ของพวกเธอ และพึงสดุดีด้วยมโนสำนึกในบุญคุณอันล้นเหลือ!