ที่มา ประชาไท
Wed, 2012-08-08 21:37
สถานการณ์การสู้รบกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐ
ไทยในรูปแบบของสงครามจรยุทธ์ตลอดห้วงเวลาเกือบ 9 ปีมานี้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อสังคมโลกที่เคารพในหลักการ
สิทธิมนุษยชนและรักสันติภาพ ซึ่งมีท่าทีแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า
“ถึงเวลาแล้วที่สงครามที่นี่ต้องหยุด”
เพื่อให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตไปถึงเวลาแห่งความตายอย่างเป็นอิสระตาม
ธรรมชาติของวงจร “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”
เสียงตะโกนจากเหล่าผู้รักสันติภาพทั่วโลกดังกึกก้องมายังประเทศไทย
ว่า “หยุดสักทีเถิด วงจรการบังคับให้คนต้องตายเพื่อแลกกับคำว่าสันติภาพ”
ในนิยามที่เป็นคู่ขนานกันของความเป็นศัตรูของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช
ปาตานีกับรัฐไทย
แต่กระนั้นรูปร่างหน้าตาของคำว่า สันติภาพ
ตามความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไปนั้น
คือสภาพความเป็นอยู่อย่างมีความสุขของสังคมหรือประชาชนซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก
การ “หยุดสงคราม” ได้สำเร็จ
ซึ่งสำหรับภาพสันติภาพในอนาคตของชายแดนใต้หรือปาตานีนั้น จะมีลักษณะนิยามตามบริบทของการสู้รบ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
1.ลักษณะรูปร่างหน้าตาของสันติภาพ ซึ่งถูกวาดรูปหรือนิยามโดยรัฐไทย
ภาพที่เห็นคือ จะเป็นภาพที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ของโครงสร้างการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ การปกครองพิเศษ
หรือแม้กระทั่งการได้รับเอกราชของปาตานี
เนื่องจากผู้วาดนั้นเลื่อมใสในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวขยายอำนาจ
(expansionist nationalism) และ
อุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (conservative nationalism)
ซึ่งการที่อาณาจักรสยามมาทำสงครามกับอาณาจักรปาตานีในปี ค.ศ.1785
มาชนะในปี ค.ศ.1786
และทำการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสยามสำเร็จในปีค.ศ.1909
ด้วยสนธิสัญญา Anglo-Siamese Treaty
ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จของการใช้อุดมการณ์ชาตินิยมแนวขยายอำนาจของ
อาณาจักรสยามต่ออาณาจักรปาตานี
ชาตินิยมแนวขยายอำนาจนี้เป็นชาตินิยมในเชิงรุกหรือก้าวร้าว
(aggressive) เน้นการใช้กำลังทหาร (militaristic) และเน้นการขยายดินแดน
หรือขยายอำนาจไปครอบครองดินแดนอื่น (expansionist) ที่เห็นได้ชัดก็คือ
ชาตินิยมของรัฐมหาอำนาจยุโรปในปลายศตวรรษที่ 19
ซึ่งมีลักษณะของการแข่งขันกันล่าอาณานิคมเพื่อแสดงให้เห็นถึงเกียรติและความ
ยิ่งใหญ่ของชาติ ชาตินิยมแนวขยายอำนาจจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น
ลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism)
ส่วนอุดมการณ์ชาตินิยมแนวอนุรักษ์นั้นเกิดขึ้นหลังอุดมการณ์ชาตินิยม
แนวเสรีในครึ่งแรกของศตวรรษที่19
ทำให้นักอนุรักษ์นิยมมองอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยความหวาดระแวง
ความหวาดระแวงดังกล่าวนี้สมเหตุสมผล เพราะชาตินิยมในต้นศตวรรษที่19
เป็นชาตินิยมแนวเสรีที่มาพร้อมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส
ซึ่งเท่ากับเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมืองเก่าที่มีบทบาทอยู่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ดีในระยะหลัง
ชาตินิยมกับอนุรักษ์นิยมมีจุดร่วมกันที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทั้ง 2
อุดมการณ์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าประเพณีนิยม (traditionalism)
ประเพณีเป็นแนวคิดหลักของทั้งลัทธิอนุรักษ์นิยมและลัทธิชาตินิยมแนววัฒนธรรม
(cultural nationalism)
การผสมผสานระหว่างอนุรักษ์นิยมกับชาตินิยมแนววัฒนธรรม
จึงออกมาเป็นชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (conservative nationalism)
2.ลักษณะรูปร่างหน้าตาของสันติภาพซึ่งถูกวาดรูปหรือนิยามโดยขบวนการ
เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี
ภาพอนาคตที่เห็นก็จะเป็นภาพของการได้รับเอกราชของชาวปาตานีจากชัยชนะของการ
สู้รบกันกับจักรวรรดินิยมสยามหรือไทยมาอย่างยาวนานเป็นศตวรรษ
เนื่องจากผู้วาดนั้นเลื่อมใสในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวเสรี
(liberal nationalism) และแนวต่อต้านการล่าอาณานิคม (anticolonial
nationalism) ซึ่งชาตินิยมแนวเสรีเป็นรูปแบบของชาตินิยมในราวกลางศตวรรษ
ที่19 ของยุโรป ในภาคพื้นยุโรปกลางศตวรรษที่19 นั้น การเป็นนักชาตินิยม
หมายถึงการเป็นนักเสรีนิยมและในทางกลับกันการเป็นนักเสรีนิยม
ก็หมายถึงการเป็นนักชาตินิยม กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า
นักชาตินิยมกับนักเสรีนิยมเป็นคนๆเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมอิตาเลียน
เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของชาตินิยมแนวเสรีนี้
ในภาษาอิตาเลียนเรียกชาตินิยมแบบนี้ว่า “Risorgimento”แปลว่า
(เกิดใหม่/rebirth)
หัวใจของชาตินิยมแนวเสรีตั้งอยู่บนพื้นฐานคติที่ว่า
มนุษยชาติถูกแบ่งออกเป็นชนชาติต่างๆตามธรรมชาติ
ดังนั้นชาติจึงเป็นชุมชนที่แท้จริงและเป็นอินทรียภาพ
มิใช่ผลงานการสร้างของผู้นำทางการเมืองหรือชนชั้นปกครอง
ชาตินิยมแนวเสรีถือว่า
ชาติกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและเป็นเรื่องเดียวกัน
ซึ่งแนวคิดนี้มีต้นกำเนิดมาจาก รุสโซ มาสชินี
เป็นนักคิดที่เด่นที่สุดของชาตินิยมแนวเสรี
เขาต้องการให้รัฐต่างๆในอิตาลีปลดแอกจากออสเตรีย
ด้วยเหตุนี้ชาตินิยมแนวเสรีจึงชูหลักการอีกประการหนึ่ง
นั่นคือหลักการที่ว่า “ชาติควรมีอัตวินิจฉัย (national self
-determination)” หรืออีกนัยหนึ่งชาติควรกำหนดชะตาชีวิตของตนเองโดยอิสระ
อัตวินิจฉัยนี้จะทำให้ชาติสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็น “รัฐประชาชาติ”
(nation-state) ได้อย่างสมบูรณ์
นั่นคือความเป็นรัฐกับความเป็นชาติตรงกันจนกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกัน
ส่วนชาตินิยมแนวต่อต้านการล่าอาณานิคมนั้น
เป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในโลกที
เป็นชาตินิยมซึ่งเกิดจากการต่อต้านการปกครองอาณานิคมของเมืองแม่
ชาตินิยมแบบนี้จึงเหมือนกับเป็นดาบกลับไปทิ่มแทงเจ้าอาณานิคมผู้ซึ่งพัฒนา
ลัทธิชาตินิยมขึ้นมาก่อนนั่นเอง
ในเอเชียและแอฟริกาสำนึกของความเป็นชาติเป็นพลังทางอุดมการณ์ให้คนพื้นเมือง
ต้องการ “ปลดแอกชาติ” (national liberation)
ของตนให้พ้นจากอำนาจปกครองของเจ้าอาณานิคม
และถือได้ว่าภูมิศาสตร์การเมืองของโลกในศตวรรษที่ 20
ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวงก็ด้วยพลังของอุดมการณ์ชาตินิยมแนวต่อต้าน
การล่าอาณานิคมนี้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ
อินเดียต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1947
จีนถูกญี่ปุ่นเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 8 ปี
จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำสงครามปฏิวัติปลดแอกจีนจากการครอบงำของต่าง
ชาติได้เด็ดขาดในปี 1949 อินโดนีเซียใช้เวลา 3 ปี
ทำสงครามกับเนเธอร์แลนด์จนกระทั่งได้อิสรภาพในปี 1949
เวียดนามขับไล่ฝรั่งเศสจนต้องถอนตัวออกไปในปี 1954
แต่กว่าเวียดนามจะได้รับเอกราชสมบูรณ์ก็ต้องใช้เวลาสู้รบกับสหรัฐอเมริกา
อย่างหนักหน่วงถึง 14 ปี จนกระทั่งสามารถรวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน
พร้อมกับการถอนตัวออกไปอย่างสิ้นเชิงของกองทัพอเมริกันในปี 1975
และท้ายที่สุด
ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียด้วยการทำประชามติเมื่อปี 2002
ในแอฟริกาขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ดำเนินไปคล้ายกับที่เกิดในเอเชีย
ไนจีเรียได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1960
อัลจีเรียต้องต่อสู้ทำสงครามกับฝรั่งเศสอย่างยืดเยื้อกว่าจะได้เอกราชในปี
1962 เคนยาเป็นเอกราชในปี 1963 แทนซาเนียและมาลาวีเป็นเอกราชปี 1964
นามิเบียเป็นเอกราชเมื่อ ค.ศ.1990
ท้ายที่สุดคือซูดานใต้เป็นเอกราชจากประเทศซูดานด้วยการลงประชามติเมื่อปี
2011 นี้เอง
ในยุโรปนั้นหลายๆ
สำนักทางวิชาการรัฐศาสตร์ฟันธงว่าไม่มีทางที่ภูมิศาสตร์การเมืองยุโรปจะ
เปลี่ยนแปลงในท่ามกลางกระแสของประชาธิปไตยเสรีนิยมในศตวรรษที่ 21
และแล้วโคโซโวก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรจะมาต้านทานพลังของความต้องการ
อันแน่วแน่ของมวลมหาประชาชนได้
ในที่สุดโคโซโวหรือคอซอวอได้ประกาศเป็นรัฐเอกราชแบบเอกภาคีในวันที่ 17
กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชทั้งหลายในเอเชีย
แอฟริกา และแม้กระทั่งล่าสุดที่โคโซโวในยุโรปตะวันออกก็ดี คือ
การที่ชาติควรมีอัตวินิจฉัย (nation self-determination)
เช่นเดียวกับที่เคยเกิดแก่นักคิดชาตินิยมในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเมื่อปลาย
ศตวรรษที่ 18 ถึง ศตวรรษที่ 19 แต่สิ่งที่พิเศษสำหรับประเทศในแอฟริกา
เอเชีย และยุโรปตะวันออกคือประเทศเหล่านี้
“ต้องการเอกราชและต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในคราวเดียวกัน” ดังนั้น
การปลดปล่อยชาติหรือประเทศชาติจึงมิใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น
หากเป็นการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจด้วย
ในการแสวงหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ประเทศกำลังพัฒนาเลือกที่จะหันไป
หาลัทธิสังคมนิยมมากกว่าลัทธิเสรีนิยม ความข้อนี้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก
เพราะประเทศสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ต่างก็ต้องการเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่
ให้กับประเทศด้อยพัฒนา
เพราะสังคมนิยมเองก็มีประเทศเจ้าอาณานิคมเป็นศัตรูร่วมอยู่ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม
การที่ลัทธิชาตินิยมกับลัทธิสังคมนิยมจะจับมือกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
เพราะตามทฤษฎีแล้วชาตินิยมแบ่งความแตกต่างของมนุษย์ตามชาติ
ส่วนสังคมนิยมแบ่งตามชนชั้น
ส่วนที่สังคมนิยมกับชาตินิยมแบบต่อต้านเจ้าอาณานิคมเห็นพ้องต้องกัน
จึงอยู่ที่การช่วยกันต่อสู้กับจักรวรรดินิยมหรือประเทศทุนนิยมตะวันตกนั่น
เอง
สำหรับนักสังคมนิยมนั้นประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกคือ
หัวแถวของนายทุนซึ่งกดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมกรในขอบข่ายกว้างขวางทั่วโลก
แต่สำหรับนักชาตินิยมในประเทศกำลังพัฒนาหรือที่เรียกว่าประเทศโลกที่สาม
จักรวรรดินิยมตะวันตกคือ
นักล่าอาณานิคมที่ปล้นเอกราชและวัตถุดิบจากประเทศของตน
แต่ทว่าท่าทีการแสดงออกเพื่อหยุดสงครามที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปา
ตานีของสังคมโลก
ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนของขบวนการ
เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับตัวแทนของรัฐไทย
เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงสมัยของ พล.อ.สุรยุทธ์
จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2009
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
ซึ่งมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เป็นผู้ดำเนินการ
และมีองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้านสันติภาพชื่อว่า Humanitarian
Dialogue Center หรือเป็นที่รู้จักว่า HDC แปลว่า
ศูนย์การพูดคุยเพื่อมนุษยธรรม สำนักงานใหญ่อยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
และสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็น
ผู้ประสานงาน
ครั้งนั้น การพูดคุยก็ดำเนินการไประหว่างตัวแทน PULO (Patani United
Liberation Organization) กับตัวแทน สมช.
จนเกิดเงื่อนไขในการพิสูจน์ความจริงใจและพิสูจน์สถานะของตัวแทน PULO
ว่ามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่จริงหรือไม่ของ สมช.
ด้วยการเสนอให้มีการหยุดยิงเป็นเวลา 3 เดือน ทันใดนั้น วันรุ่งขึ้น
หลังจากข้อเสนอหยุดยิงได้ถูกรับปากโดยตัวแทน PULO ก็ได้เกิดเหตุระเบิดที่
จ.นราธิวาส
ต่อมาเมื่อปลายปี 2011 HDC
ก็ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้หรือปาตานีเข้าร่วมโต๊ะการพูดคุยด้วย
ด้วยเหตุผลที่แน่ชัดอย่างไรนั้น ผู้เขียนก็มิอาจทราบได้ แต่ดูเหมือนว่า
สมช.และ HDC
กำลังส่งสัญญาณไปยังกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อ
เอกราชปาตานีว่า เจตจำนงทางการเมืองหรือความต้องการที่ชอบธรรมนั้น
ไม่ได้อยู่ที่ตัวขบวนการฯ เท่านั้น
ภาคประชาสังคมและประชาชนคือคำตอบสุดท้ายของสันติภาพที่นี่
เพราะกระแสการเมืองโลกหลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา
ตัวชี้วัดการคลี่คลายความขัดแย้งในลักษณะทำสงครามต่อกันระหว่างรัฐกับ
ชนกลุ่มน้อย ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นรัฐกับรัฐอีกต่อไป
องค์กรนอกรัฐหรือภาคประชาสังคมที่ยึดมั่นและเคารพในหลักการประชาธิปไตยและ
สิทธิมนุษยชนต่างหาก คือตัวแปรชี้ขาดสันติภาพในศตวรรษนี้ เช่น
กรณีของอาเจะห์
เท่าที่ผู้เขียนได้รับรู้การเคลื่อนไหวของ HDC
ที่มีบทบาทคล้ายคนกลางที่คอยประสานงานอำนวยการจัดการให้ได้มีการพบปะพูดคุย
กันของทั้ง 3 ฝ่าย คือตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี
ตัวแทนรัฐไทย และตัวแทนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในวาระ
“จะร่วมกันสร้างสันติภาพที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีได้อย่าง
ไร?”ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2011 นั้น
มาถึงตอนนี้ก็ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง ในประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนรายละเอียดว่ามีข้อเสนอหรือเงื่อนไขอะไรบ้างจากการพูดคุยนั้น
ผู้เขียนเองก็คิดว่าน่าจะต้องมีบ้างเป็นปกติของการพูดคุย
แต่ผู้เขียนไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ไม่สำคัญเท่าท่าทีของ HDC
ในฐานะตัวแทนของสังคมโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย
หลักสิทธิมนุษยชนและรักสันติภาพ
มีความมุ่งมั่นที่จะพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจงได้
แน่นอนว่าตลอดการสู้รบกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี
กับรัฐไทยในห้วงเวลาเกือบ9 ปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างเหตุผลว่า
“หยุดสงคราม คือ เป้าหมายของการทำสงคราม”
แต่สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเล่า
จะมีส่วนร่วมในการหยุดสงครามได้อย่างไร?
ถ้าประชาชนรู้สึกว่าตัวเลขสถิติคนตายจากการสู้รบซึ่งปัจจุบันนั้นอยู่
ที่ 5,000 กว่าคน
มันมากเกินไปแล้วในการเดิมพันกับการพยายามหยุดสงครามเพื่อสร้างสันติภาพ
ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นสันติภาพในมุมของประชาชนต้องการหรือไม่
ก็น่าจะถึงเวลาได้แล้ว
ที่ประชาชน “ต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การทำสงคราม แต่เพื่อหยุดสงคราม”
เพราะในแง่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยเฉพาะ HDC นั้น
ตัวเลขคนตาย 5,000 กว่าคนนั้นมันมากเกินไปตั้งแต่ปี 2009 แล้ว
ปีที่เริ่มมีการทำงานร่วมกับ สมช. ด้วยการเปิดไฟเขียวของ พล.อ.สุรยุทธ์
จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ในการพยายามสร้างสันติภาพด้วยการเปิดพื้นที่การพูดคุยกับฝ่ายขบวนการเคลื่อน
ไหวเพื่อเอกราชปาตานี
อย่างไรก็ตาม
ในขณะที่ประชาชนกำลังคิดว่าจะทำอะไรเพื่อหยุดสงครามแล้วสถาปนาสันติภาพตาม
ความต้องการของตนเองหรือกำลังทำอยู่แล้วก็ตามแต่
ก็อย่าลืมเตรียมคำตอบให้ชัดๆ
ด้วยว่า “สันติภาพแบบไหนที่ประชาชนหรือประชาชาติปาตานีต้องการ?”
จะเป็นแบบรัฐไทยนิยาม คือ ปาตานีเป็นจังหวัดปัตตานีของประเทศไทยต่อไป
หรือ แบบขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีนิยาม คือ ปาตานีเป็นเอกราช?
เพราะตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น
ตัวแปรชี้ขาดอยู่ที่ประชาชนที่ต้องเลือกระหว่างสองตัวเลือกนี้
เพราะตัวเลือกที่สาม คือการปกครองตนเองนั้น
ส่วนใหญ่แล้วเป็นตัวเลือกที่มาจากผลลัพธ์ของการเจรจาหยุดสงครามระหว่างคู่
สงคราม
หรือมาจากการที่ประชาชนใช้สิทธิในการทำประชามติไม่ถึงเกณฑ์ที่วางไว้สำหรับ
ให้เป็นเอกราช
เพราะถ้าประชาชนไม่ได้เตรียมคำตอบของตัวเองเลย
ว่าสันติภาพแบบไหนที่ต้องการ
กลัวว่าสันติภาพที่เกิดหลังจากการหยุดสงครามนั้น
เป็นสันติภาพที่มาจากการถูกบังคับให้ต้องการด้วยความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย
คือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและรัฐไทย
สรุปแล้วสันติภาพที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีจะเกิดขึ้นช้าหรือ
เร็ว
ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพมากน้อยแค่
ไหนนั่นเอง