ที่มา ประชาไท
Wed, 2012-08-08 23:14
เรื่องราวของศาลกับเสื้อแดงที่จะเกิดขึ้นจากการพิพากษาว่าแกนนำเสื้อแดง ควรจะอยู่ในคุกนั้น ความจริงอาจไม่ใช่เรื่องราวง่ายๆ ระหว่างศาลกับเสื้อแดงหรอกครับ
แต่อาจจะเป็นเรื่องระหว่าง สื่อ กับ เสื้อแดง หรือเปล่า?
โดยหลักวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์เชิงวิพากษ์ ได้มีการพูดถึงเรื่องราวของ "กระบวนทัศน์ของสื่อที่มีต่อการชุมนุมประท้วง" (protest paradigm) เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยพิจารณาเรื่องการนำเสนอข่าวในฐานะการผลิตข่าวด้วยกรอบ-แนวดำเนินเรื่อง บางประการ (framing)
พูดง่ายๆว่าสื่อไม่ได้รายงานข่าวอย่างเดียว แต่อาจจะสร้าง-ผลิตข่าวด้วย
กรอบแนวคิดหรือกระบวนทัศน์นี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้รับสาร เข้าใจข้อมูล โดยที่ผู้ผลิตข่าวนั้นทำหน้าที่คัดสรร เบียดขับ หยิบเน้น และขยายความข้อมูลต่างๆ
อาทิการระบุปัญหา การอธิบายเหตุผล-ที่มาที่ไป นำเสนอการตัดสินถูกผิด หรือแม้กระทั่งการนำเสนอทางออก
กล่าวง่ายๆ ก็คือ สื่อไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกว่า เกิดอะไรขึ้น แต่สื่อบอกเราว่าเราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเมื่อเรื่องราว-ตัวแสดงที่อยู่ในสื่อนั้นถูกผลิต-บอกเล่าผ่านกระบวน ทัศน์ ก็จะนำไปสู่การเลือกโดยประชาชนว่าใครคือคนที่ควรจะถูกกล่าวหาสำหรับปัญหาที่ เกิดขึ้น
โครงเรื่องหลักของการรายงานการประท้วงนั้น อาจจะมีหลายแบบ อาทิ โครงเรื่องว่าด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งเน้นเรื่องของความถูกต้อง ชั่วดี โครงเรื่องว่าด้วยความเห็นอกเห็นใจ โครงเรื่องว่าด้วยเรื่องของการสร้างความชอบธรรม หรือ ลดความชอบธรรมที่มีต่อผู้ประท้วง ซึ่งจำนวนมากมักเป้นเสียงส่วนน้อยของสังคม หรืออาจจะมีโครงเรื่องว่าด้วย
การตรวจสอบค้นหาผู้ที่มีความรับผิดชอบ และ ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายสาธารณะด้วย
จากการศึกษาเรื่องของการรายงานข่าวประท้วงในโลก เขาพบว่า ข่าวที่ถูกผลิตโดยสื่อนั้นจะเน้นเรื่องการประท้วงในฐานะที่เป็นพฤติกรรมที่ เบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมปรกติ รวมถึงเรื่องของความรุนแรง และเรื่องของการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประท้วง
ทั้งที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่นั้นมาประท้วงในลักษระที่ไม่เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงและมีลักษระสันติวิธี
การเน้นการผลิตข่าวในแบบดังกล่าวนี้นำไปสู่การสร้างความคลุมเครือให้กับ ปัญหาขั้นพื้นฐานที่นำมาสู่การประท้วง และกลายเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับผผู้ประท้วง รวมไปถึงอาจเป้นไปได้ที่จะทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนการประท้วงในท้ายที่สุด
ดังนั้นในทางกลับกัน หากจะมีการชุมนุมและต้องการเป็นมิตรกับสื่อ ที่มีฐานันดรของตัวเอง รวมทั้งอยากได้รับการสนัยวนุนจากสังคม ผู้ชุมนุมก็จะต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า fame resonance หรือความพร้อมเพรียง-คล้องจอง-กึกก้องในการเปล่งเสียงออกมาขององค์ประกอบสาม ประการ
นั่นคือ ประสบการณ์ตรงในการดำเนินชีวิตของผู้คน ความเชื่อของชุมชน และ การใช้ภาษาของสื่อ
ยิ่งในกรณีที่ความเชื่อของชุมชนนั้นถูกกล่อมเหลามาอย่างยาวนานด้วยเรื่อง ราวบางอย่าง และสื่อเองไม่ได้มีฐานะ(และฐานันดร) เดียวกับผู้คนจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องยากนะครับที่การเคลื่อนไหวจะได้รับการสนับสนุน เพราะอย่างน้อยก็ไม่ผ่านด่านการเล่าเรื่องโดยสื่ออย่างที่แกนนำต้องการ หรืออย่างที่ปัญหามันเกิดขึ้นขริงๆนั่นแหละครับ
ดังนั้นผมจึงไม่ได้จบบทความนี้อย่างง่ายๆแค่ว่า ต้องการโทษสื่อ หรือเชื่ออย่างหลับหูหลับตาว่าการมีสื่อทางเลือก จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะเราคงต้องฝ่าหันเรื่องของกระบวนทัศน์ของสื่อที่ว่าด้วยการประท้วงไปให้ ได้ก่อนครับผม