WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, May 8, 2009

ธเนศวร์ เจริญเมือง : วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2552 ผลพวงของระบอบรัฐในอดีต

ที่มา ประชาไท

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ประชาธิปไตยตกต่ำอีกครั้งเมื่อประเทศไทยเลี้ยวเข้าถนนสายวิบัติ

รัฐประหารที่ได้เกิดขึ้นอีกครั้งส่งผลให้ไทยกลับคืนสู่ยุคทหารปกครอง

Hannah Beech, นักข่าว, นิตยสาร Time

September 20, 2006

รัฐประหารอาจจะดูเข้าท่าในทางการเมือง แต่ผลประโยชน์ที่จะได้ในระยะสั้น

อาจจะสร้างผลเสียหายใหญ่หลวงยิ่งในระยะยาว

Bridget Welsh, ศาสตราจารย์

มหาวิทยาลัย จอห์นส ฮ้อปคิ่นส์

September 21, 2006

1.

วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นวิกฤตยืดเยื้อ ยังไม่เคยมีวิกฤตการเมืองครั้งใดในประเทศนี้ที่จะยืดเยื้อเท่าครั้งนี้

นับแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงก่อน 19 กันยา พ.ศ. 2549 รวม 74 ปี รัฐไทยเคยมีรัฐประหารแล้วรวม 17 ครั้ง เฉลี่ยราว 4 ปีต่อครั้ง มองจากคนทั่วๆไป โดยเฉพาะคนที่คุ้นชินกับการที่ไทยถูกหยอกล้อในต่างประเทศว่า ประเทศไทยมี 4 ฤดู ไม่ใช่ 3 ฤดูในแต่ละปี คือ นอกจากจะมีฤดูร้อน ฝน และหนาว (Cold season) ยังมีอีกฤดูหนึ่งคือ Coup season (Coup = รัฐประหาร) ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 2549 คนทั่วไปจึงไม่ค่อยประหลาดใจกันนัก

แต่สำหรับคนที่ติดตามการเมืองใกล้ชิดและหวังจะเห็นระบอบประชาธิปไตยของไทยมีเสถียรภาพและก้าวรุดหน้าเช่นอารยประเทศ ทุกคนต่างรู้ดีว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นและเริ่มห่วงใยตั้งแต่นั้นแล้วว่า จากนี้ไปสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากนานัปการ

วิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อเรื่อยมานับแต่นั้นจึงเป็นประจักษ์พยานอย่างดีของความห่วงใยนั้น

ที่ผ่านมา รัฐไทยมีความสัมพันธ์คุ้นเคยกับประเทศต่างๆ ที่อาจแบ่งได้เป็น 4 แบบใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (อเมริกาเหนือ-ยุโรปตะวันตก-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ออสเตรเลีย) 2. กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้านใต้และตะวันตกที่เคยเป็นอาณานิคม (ฟิลิปปินส์-มาเลย์-อินโดนีเซีย-อินเดีย) 3. กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้านอีสาน-ตะวันออกที่เคยเป็นสังคมนิยม (จีน-เวียดนาม-ลาว-กัมพูชา) และ 4. ประเทศที่มีลักษณะพิเศษคือ พม่า

แม้ทั้ง 4 แบบนี้จะมีระบอบการเมืองที่ต่างกัน แต่จุดร่วม 2 ประการที่ตรงกันชัดเจนมากคือ 1. เสถียรภาพทางการเมือง ประเทศเหล่านั้น แม้จะมีความขัดแย้งโดยเฉพาะแบบสุดท้ายที่มีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่างๆในประเทศ แต่ไม่มีมิตรประเทศรายใดของไทยเลย (ไม่ว่าใกล้หรือไกล) ที่ได้เผชิญวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อเช่นไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

และ 2. ประเทศเหล่านั้นเคยผ่านการปฏิวัติใหญ่ทางการเมืองมาแล้ว มีการต่อสู้หลั่งเลือดมาแล้วในอดีต พม่าอาจเป็นข้อยกเว้น นั่นคือ ได้ต่อสู้เพื่อเอกราชสำเร็จแล้ว แต่กลับสถาปนารัฐเผด็จการทหาร ย่ำยีชนชาติต่างๆที่หลากหลายที่เรียกร้องความเสมอภาค แต่เนื่องจากพม่ามิได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีเหมือนไทย และชนกลุ่มต่างๆมีมากเกินไปขาดเอกภาพ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่าจึงขาดความเข้มแข็ง ระบอบเผด็จการทหารของพม่าจึงมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก ผิดกับพลังต่างๆทางการเมืองในสังคมไทยที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหนัก มีการพลิกไปมาระหว่างรัฐประหาร, รัฐบาลทหาร, รัฐบาลเลือกตั้ง และประชาธิปไตยครึ่งใบตลอดช่วง 77 ปีที่ผ่านมา และนับวันจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

2.

ชีวิตของประเทศกับชีวิตของมนุษย์

ชีวิตของประเทศเป็นเหมือนชีวิตของคนเรา คือมีขึ้นมีลง ไม่มีชีวิตของใครที่รุ่งโรจน์ทุกวันทุกคืน ไม่เคยตกอับหรือเศร้าโศก ชีวิตของคนมีสุข-โศก สำเร็จ-ล้มเหลว สมหวัง-ผิดหวัง พบ-พราก หัวเราะ-ร้องไห้ แข็งแรง-เจ็บป่วย ก้าว-หยุด-ถอย มีเงิน-ขาดเงิน ฯลฯ สลับกันไป

แต่สังคมไทยในห้วงร้อยปีเศษที่ผ่านมามีการสั่งสอนให้คนไทยคิดอีกแบบหนึ่ง เช่น ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ผู้คนมีน้ำใจ มีความรักสามัคคี รู้จักให้อภัย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ฯลฯ

ประเทศอื่นๆจะประสบปัญหาอะไร เราก็พร่ำถึงถ้อยคำเยิรยอเหล่านั้น รวมไปถึงว่าบ้านเมืองโชคดี มีพระคุ้มครอง มีความมหัศจรรย์ต่างๆคอยปกป้องตลอดมา

ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีปัญหาขัดแย้งทางการเมือง แตกออกเป็นกลุ่มต่างๆ กระทั่งแบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ทำสงครามต่อสู้กันนานนับทศวรรษ การเข่นฆ่า ทิ้งระเบิดเกิดขึ้นในขอบเขตแทบทั่วประเทศนานนับสิบๆปี ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย อาคารบ้านเรือนพินาศ พืชผลเสียหาย ทำนาไร่ไม่ได้ บนผืนดินมีแต่ทุ่นระเบิดฝังไว้ จะไปไหนก็ลำบาก ฯลฯ

ประเทศของเราไม่เคยพานพบสิ่งเหล่านั้นแม้แต่น้อย ไม่เพียงแต่เป็นแดนสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ผู้คนร่ำรวยจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเสรี การสร้างเขื่อน ทางหลวง และการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน การจัดซื้ออาวุธและระบอบเผด็จการทหารในประเทศของตนทำให้ชนชั้นนำมีรายได้มหาศาลและไม่เคยมีการตรวจสอบ ไม่เพียงเท่านั้น การที่ไทยส่งทหารไปช่วยรบในประเทศเพื่อนบ้านดูเหมือนจะช่วยซ้ำเติมให้บ้านเมืองของเขาเสียหายมากขึ้นด้วย

แล้ววันนี้เป็นอย่างไรเล่า ประเทศของเราเต็มไปด้วยความแตกแยก มีแต่การกล่าวหาโจมตีกัน 4 ปีมานี้ ผู้นำประเทศจะไปไหนมีแต่คนบางกลุ่มไม่ต้อนรับ มีการเดินขบวนยืดเยื้อ การบุกเข้ายึดสถานที่สำคัญ การใช้อาวุธ การปะทะกันระหว่างสีเสื้อต่างๆ ฝ่ายหนึ่งโจมตีว่าบ้านเมืองมี 2 มาตรฐาน อีกฝ่ายว่าไม่มี ฝ่ายหนึ่งเรียกหาประชาธิปไตย อีกฝ่ายเน้นคุณธรรม

นี่หรือคือดินแดนแห่งรอยยิ้ม วันนี้ จะหาคนไทยคนไหนที่ยิ้มได้อย่างสบายใจ

ดูหน้าตาของนายกรัฐมนตรีสิ 3 ปีมานี้ นายกฯคนหนึ่งต้องหลบหนีไปต่างประเทศ จนถึงบัดนี้ก็ยังถูกรัฐบาลตามไล่ล่า นายกฯอีก 2 คนถูกปลดจากตำแหน่ง นายกฯอีกคนไปไหนก็มีรูปเขายายเที่ยงติดที่หน้าผาก นายกฯคนปัจจุบันจะเดินทางไปจังหวัดไหนก็ต้องคิดแล้วคิดอีก

3 ปีเศษที่ผ่านมา มีผู้นำฝ่ายบริหารถึง 5 คน แต่ไม่มีใครยิ้มได้สักคนโดยเฉพาะคนปัจจุบัน

วันนี้ มีรายงานผลการสำรวจทัศนคติของคนไทยที่มีแต่ความหดหู่ เศร้าใจที่บ้านเมืองมีแต่ความแตกแยกทางความคิด ครอบครัวทะเลาะกันเรื่องสี ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับได้ หลายคนเสียใจ งุนงง ไม่เข้าใจว่าเหตุใดสังคมไทยเป็นเช่นนี้

ก็ไหนว่ามีคนคุ้มครอง มีของดีช่วยปกปักรักษา เกือบ 4 ปีมานี้สิ่งดีๆหายไปไหนหมด

ก็เพราะเรามีทัศนะแบบด้านเดียว คิดว่าชีวิตของประเทศไม่เหมือนชีวิตของเรา ชีวิตคนเรามี 2 ด้าน แต่เรากลับคิดว่าประเทศจะต้องมีด้านเดียว คือด้านที่สวยงาม เป็นเลิศ จะไม่มีวันประสบปัญหาใดๆ เพราะมีแต่สิ่งดีๆช่วยคุ้มครอง แต่เกิดอะไรขึ้นในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา

ประเทศอื่นๆประสบปัญหามากมาย แต่พวกเขาก็ฝ่าฟันต่อสู้ตลอดมา แต่ประเทศของเราไม่เคยประสบปัญหา เราหลอกตัวเอง หรือถูกใครหลอก สุดท้าย คนไทยก็เจ็บปวด เพราะชีวิตของประเทศมีทั้งขึ้นและลง แต่เมื่อเราอยู่ในความฝัน มองเห็นแต่ความสำเร็จ ครั้นประเทศประสบปัญหา เกิดความแตกแยก การเมืองขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก บ้านเมืองไร้ทางออก เราจึงรับไม่ได้ เราไม่ยอมเข้าใจ ทั้งๆที่นั่นคือความจริง

ความจริงที่ว่าวันนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มี ทุกหนทุกแห่งมีแต่ฝักฝ่าย ดังนั้น คนไทยจะต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เร่งค้นหาสาเหตุและเร่งหาทางแก้ไข คนไทยจะต้องช่วยเหลือดูแลกันเอง ไม่มีใครช่วยได้

3.

วิกฤตการเมืองปัจจุบัน: ผลพวงของรัฐในอดีต

รัฐไทยไม่เหมือนรัฐเพื่อนบ้าน ขณะที่รอบบ้านของเราตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก เรายอมลงนามในสัญญาค้าขายกับตะวันตกทั้งๆที่เป็นสัญญาอันไม่เป็นธรรม ไทยจึงไม่ตกเป็นเมืองขึ้น แต่กลายเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น (Semi- colonial state) ต้องเสียเปรียบอย่างหนักเนื่อง จากสัญญาที่ยอมทำกับประเทศต่างๆถึง 14 ชาติ

การเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้นทำให้ผู้นำและรัฐบาลยังมีอำนาจต่อไป แต่อิสรภาพในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและกฎหมายหลายอย่างต้องหมดไป อยากจะแก้ไขหรือยกเลิกสัญญาดังกล่าวก็ทำไม่ได้ ต้องถูกเขาเอาเปรียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ

การเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น ล้อมรอบด้วยรัฐเมืองขึ้นที่ถูกยึดครองโดยประเทศตะวันตกซึ่งเป็นนักล่าเมืองขึ้นระดับสากล (International colonizers) แต่เนื่องจากในดินแดนแถบนี้ การก่อรูปรัฐสมัยใหม่กำลังเริ่มต้น รัฐกึ่งเมืองขึ้นเช่นไทยซึ่งมีอิสรภาพบางด้านจึงมีลักษณะเฉพาะ 2 ด้านที่แตกต่างจากรัฐเมืองขึ้นทั้งหลาย

ขณะที่รัฐเพื่อนบ้านที่ล้วนเป็นเมืองขึ้นมีลักษณะเดียวคือ รวมพลังกันต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราช ปลดปล่อยประเทศชาติจากการที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น ลักษณะเฉพาะ 2 ด้านของรัฐไทยคือ ด้านหนึ่ง เนื่องจากเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น ไม่มีการเปลี่ยนผู้นำและรัฐบาลเหมือนรัฐเมืองขึ้นรอบๆ ผู้นำของรัฐไทยจึงหวั่นไหวยิ่งนักกับปัญหาเอกราช เพราะหากตกเป็นเมืองขึ้น ตนเองก็จะสูญเสียอำนาจทุกอย่าง ปัญหาความมั่นคงของรัฐกับปัญหาความอยู่รอดของผู้นำจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ส่งผลให้รัฐไทยไม่สนใจปัญหาการพัฒนาการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สนใจแต่ความมั่นคงของรัฐ (และตนเอง) จึงเร่งพัฒนาความเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolutist state) ที่รวมศูนย์อำนาจการปกครองและการบริหาร เร่งพัฒนากองทัพและระบบกฎหมาย ตลอดจนเร่งพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างข้าราชการ ไม่ใช่สร้างพลเมือง ส่งเยาวชนไปเรียนต่อด้านการทหารและกฎหมายเพื่อกลับมาสร้างรัฐตามเป้าหมายที่กล่าวไว้

อีกด้านหนึ่ง รัฐไทยฉวยโอกาสท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้กันระหว่างนักล่าอาณานิคมที่อยู่รอบๆ ด้วยการแสดงบทบาทเป็นนักล่าอาณานิคมระดับภูมิภาค (Regional colonizers) รัฐไทยผนวกดินแดนล้านนา อีสาน และดินแดนมลายูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง, ยกเลิกฐานะประเทศราชของดินแดนเหล่านั้น และพยายามอย่างหนักที่จะรักษาดินแดนลาว เขมร และลุ่มน้ำสาละวินไว้ให้เป็นของตนเอง แต่ในที่สุดก็ต้องสูญเสียให้อังกฤษและฝรั่งเศส ดังจะได้เห็นการแสดงความโศกาอาลัยอย่างหนักของฝ่ายไทยในช่วงนั้น เป็นความโศกาอาลัยของวิธีคิดแบบนักล่าอาณานิคมที่อยากเห็นราชอาณาจักรไทยกว้างใหญ่ไพศาลครอบครองดินแดนให้มากที่สุด ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นของชนชาติใดก็ตาม เขมร มลายู และ เชียงตุง เชียงรุ่ง ลาว เวียดนาม เขมร มลายู และมะละกา ปีนัง มะริด ตะนาวศรี

จะเห็นว่าด้านที่สองสนับสนุนด้านที่หนึ่งเป็นอย่างดี ดังนั้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ (Centralized state) ด้วยพร้อมๆกัน เพราะการผนวกดินแดนเหล่านั้นทำให้ท้องถิ่นเหล่านั้นต้องสูญเสียอำนาจการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจให้แก่รัฐไทย เช่น การยกเลิกระบบเจ้าผู้ครองในดินแดนเหล่านั้น การโอนภาษีอากร ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดในท้องถิ่นให้ตกเป็นของส่วนกลาง ฯลฯ

นี่คือโอกาสของรัฐกึ่งเมืองขึ้นที่รัฐเมืองขึ้นไม่มี แต่รัฐกึ่งเมืองขึ้นกลับขาดอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐเมืองขึ้นมี แต่ตนเองไม่มี นั่นคือ การเรียนรู้และประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง

การที่รัฐเมืองขึ้นถูกประเทศตะวันตกกดขี่ข่มเหงสารพัด จึงเกิดประสบการณ์ทางการเมืองมีผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชที่โดดเด่น ประชาชนเกิดสำนึกในความรักชาติ และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่รัฐกึ่งเมืองขึ้นกลับไม่เคยเห็นคุณค่าของเอกราช เพราะถูกมอมเมาไม่ให้รู้ว่าประเทศของตนตกเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น ถูกหลอกให้ภูมิใจว่าประเทศของตนเป็นรัฐเอกราช จึงขาดความคิดแบบชาตินิยม ขาดจิตสำนึกทางการเมือง ไม่เคยสนใจและเรียนรู้ปัญหาต่างๆทางการเมือง ไม่เคยมีกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เช่นการรวมกลุ่ม การชุมนุม ขณะที่ผู้นำได้ใช้โอกาสนั้นรวมศูนย์อำนาจ เร่งพัฒนาระบบราชการ ใช้ระบบออกคำสั่ง ไม่สนใจพัฒนาระบอบการเมืองเพื่อขยายสิทธิและบทบาททางการเมืองของประชาชน สร้างคนให้เป็นเพียงราษฎร

รัฐรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 พัฒนาขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป (Over- centralized state) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากนโยบายของผู้นำคือต้องการให้เกิดความเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันในทุกๆด้านทั่วประเทศ ยิ่งทำให้ท้องถิ่นสูญเสียอำนาจมากขึ้น ศาสนาและการศึกษาต้องขึ้นต่อส่วนกลาง ภาษาพูดภาษาเขียนในท้องถิ่นถูกยกเลิก วัฒนธรรมประเพณี ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นถูกครอบงำโดยส่วนกลางมากขึ้นๆเป็นลำดับ

รัฐก็เหมือนร่างกาย รัฐที่เข้มแข็งแต่ส่วนบน แต่ส่วนรากฐานกลับอ่อนแอ ชุมชนท้องถิ่นไม่รู้จักตนเอง ไม่มีอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ไม่รู้แม้แต่ประวัติศาสตร์ของตน พูดภาษาแม่ของตนยังไม่ได้ เนื้อหาหลักสูตรการศึกษามีแต่เรื่องราวของส่วนกลาง รัฐแบบนี้จะยืนอยู่อย่างแข็งแกร่งได้อย่างไรในระยะยาว

การปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 แม้จะเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย และประสบผลสำเร็จ แต่เนื่องจากกำลังการปฏิวัติมีไม่มากนัก ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างยังอ่อนแอ ขาดจิตสำนึก ไม่เคยมีบทบาททางการเมืองก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ในที่สุด ระบอบประชาธิปไตยจึงถูกโค่นล้ม ขณะที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมสามารถขยายบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ แต่เนื่องจากคำว่าประชาธิปไตยเป็นคำที่มีความหมายดี แม้ประชาธิปไตยจะถูกทำลาย แต่ชื่อได้กลายเป็นถ้อยคำที่ใครๆก็ชอบใช้ ไม่มีก็ว่ามี มีเพียงน้อยนิด ก็หลอกว่ามีมาก

การสถาปนาระบบราชการแผ่นดิน 3 ส่วนคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2476 ทำให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสามารถเข้าครอบงำส่วนท้องถิ่นที่อ่อนแอได้อย่างสิ้นเชิง ขณะที่รัฐไทยตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2475 เป็นต้นมายังคงดำเนินนโยบายการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจที่มากเกินไปแบบสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อไป

คำถามหนึ่งที่วงการรัฐศาสตร์ไทยไม่เคยสนใจคือ ระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่อย่างไรในรัฐที่มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างหนัก ซึ่งในที่สุด ทุกอย่างก็เปิดเผยออกมาว่าฝ่ายไหนอยู่อย่างมั่นคง ฝ่ายไหนล้มลุกคลุกคลาน แล้วเห็นหรือยังว่าการไม่ยอมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นส่งผลอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตย

ผลพวงของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการสถาปนาองค์กรปกครองท้องถิ่นคือเทศบาล ในเขตเมือง (พรบ. เทศบาล พ.ศ. 2476) แต่เนื่องจากขาดการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคเมืองอย่างจริงจัง ระบบการศึกษายังคงเป็นแบบเก่าคือสอนให้คนเป็นข้าราชการ ไม่ใช่ให้เป็นพลเมือง นักธุรกิจจึงอ่อนแอ ขาดพลังอิสระ วัดถูกอำนาจรัฐครอบงำ ขณะที่ระบบราชการส่วนภูมิภาคควบคุมการบริหารทุกด้านในเขตทั้งจังหวัด เทศบาลจึงอ่อนแอ และไม่สามารถสร้างพลังประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นได้ ส่วนในชนบท ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยมีการส่งเสริมให้เกิดการปกครองตนเอง มีแต่การเลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่พอได้รับเลือก ก็ครองตำแหน่งแบบข้าราชการไปจนเกษียณ ประชาชนไม่เคยได้เรียนรู้และมีส่วนใดๆในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง

สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อปัจจัยภายนอกมีบทบาทอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) เมื่อสหรัฐขยายบทบาทเข้ามาสร้างรัฐไทยให้เป็นรัฐเผด็จการทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมาเพื่อต่อต้านการขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมในจีนและอินโดจีน ทำให้ระบอบเผด็จการทหารของไทยเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องนานถึง 26 ปี (พ.ศ. 2490-2516) ระบบราชการทหาร-ตำรวจและพลเรือนได้รับการพัฒนาให้เติบใหญ่เพื่อรับใช้นโยบายปราบคอมมิวนิสต์กลไกรัฐยิ่งเติบใหญ่เพื่อให้รับใช้ระบอบเผด็จการทหาร อันเกิดจากทั้งเงินช่วยเหลืออัดฉีดของสหรัฐและรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายอย่างหนัก ไม่มีการสร้างพรรคการเมือง ประชาชนไม่มีสิทธิชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือจัดตั้งชมรม องค์กร ไม่มีสภาผู้แทนที่เป็นปากเสียงของประชาชน ฯลฯ

รัฐไทยนับแต่เริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก้าวรุดหน้าในด้านเศรษฐกิจเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดโลก ภายใต้คำขวัญ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ มีทางหลวงกว้างขวาง มีเขื่อนขนาดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยถึง 3 แห่งเกิดขึ้นในต่างจังหวัด มีนางงามจักรวาล มีเยาวชนและข้าราชการไปศึกษาต่อและดูงานในประเทศตะวันตกทุกปี การลงทุนจากต่างประเทศขยายตัว มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ คนไทยดูเป็นคนทันสมัยและร่ำรวยแบบตะวันตก พวกเขามองเห็นลาว เขมร และเวียดนาม (ที่กำลังทำสงครามรบพุ่งกับสหรัฐ) เป็นประเทศล้าหลัง ไม่ทันสมัย บ้านเมืองมีแต่ความขัดแย้ง แตกแยกและความหายนะ สู้ไทยไม่ได้

แล้วก็ได้พิสูจน์ว่ารัฐไทยที่เป็นกลไกต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐก็เป็นได้เพียงรัฐที่เจริญทางวัตถุและการบริโภคสินค้าตะวันตก มหาวิทยาลัยก็ผลิตบัณฑิตให้เป็นข้าราชการและช่างเทคนิค แต่กล่าวโดยรวม รัฐไทยที่เป็นรัฐเผด็จการทหารและเสรีทางเศรษฐกิจกลับเต็มไปด้วยประชาชนที่เป็นราษฎรที่ส่วนใหญ่ขาดสำนึกทางการเมือง ไม่เข้าใจคำว่าเอกราชคืออะไร ไม่เคยรู้เลยว่าการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและการค้านั้นมีความหมายอย่างไร ขาดบทบาทในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และไม่เคยมีบทบาทและกิจกรรมทาง การเมืองอื่นๆ ขณะที่คนจีน-ลาว-เขมร-เวียดนามที่คนไทยดูถูกกลับเป็นคนที่เต็มไปด้วยประสบการณ์การต่อสู้กู้ชาติ-สร้างประเทศ เปี่ยมด้วยจิตสำนึกทางการเมือง กล้าสละแม้ชีวิตเพื่อเอกราชและประเทศชาติของตนเอง มีมานะอดทน ไม่กลัวความยากลำบาก

ในเมื่อรัฐเป็นเผด็จการทหารและรวมศูนย์อำนาจ การปกครองท้องถิ่นจึงอ่อนแอในทุกๆด้าน การปกครองท้องถิ่นเป็นเพียงสถาบันในนามที่มีไว้อวดเวลาต่างชาติมาเยี่ยมดูงาน ในความเป็นจริง นั่นคือแหล่งหารายได้เพิ่มของข้าราชการกระทรวงต่างๆโดยเฉพาะมหาดไทย เทศบาล สภาตำบล และอบจ. ถูกครอบงำโดยข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางอย่างเกือบสิ้นเชิง เช่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งจนมีอายุ 60 ปีควบคุมสภาตำบล, นายอำเภอเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโดยตำแหน่ง, นายกเทศมนตรีถูกครอบงำโดยนายอำเภอและผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯเป็นนายก อบจ. โดยตำแหน่ง บุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง มหาดไทย แทนที่จะได้รับการสอบคัดเลือกในท้องถิ่นและต้องขึ้นต่อท้องถิ่น ฯลฯ

ผลของระบอบเผด็จการทหารและการใช้ระบบราชการเป็นเครื่องมือทำให้รัฐรวมศูนย์อำนาจที่กล่าวข้างต้นยังคงอยู่เพื่อค้ำจุนซึ่งกันและกัน ที่เพิ่มเติมในยุคนี้คือ การจัดตั้งหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้นๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานส่วนกลางในต่างจังหวัด ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นแทบไม่เคยได้รับการพัฒนาใดๆ งบประมาณก็มีจำกัด

รัฐรวมศูนย์ของไทยนับแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมาจึงพัฒนาขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจที่แยกส่วน (Fragmentedly centralized state) หมายความว่าแต่ละกระทรวงต่างมีอำนาจของตนเองควบคุมสายงานของตนทุกระดับตั้งแต่ส่วนกลางถึงระดับหมู่บ้าน-ตำบล อำนาจอยู่ที่กรมซึ่งคุมงบประมาณทั้งหมดและโครงการต่างๆแต่ละปี เนื่องจากข้าราชการจากแต่ละกระทรวงมีฐานะเท่ากันในแต่ละจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าฯ แต่ละกรมจึงต่างคนต่างทำ ผู้ว่าฯที่ว่าเป็นพ่อเมือง ที่จริงเป็นเพียงชื่อ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่อาจแก้ไขปัญหาใหญ่ๆของจังหวัดได้เพราะงานแต่ละสายขึ้นอยู่กับแต่ละกระทรวง ไม่อาจบังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดกรมและกระทรวงอื่นๆ ประกอบกับการโยกย้ายข้าราชการทุกๆ 2-4 ปี การบริหารจังหวัดจึงไม่เคยมีงานต่อเนื่อง ปัญหาต่างๆของแต่ละจังหวัดจึงทับถมขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของปัญหา กระทั่งรูปแบบอาคารราชการและเมืองของแต่ละจังหวัดจึงเหมือนกันหมดเพราะทุกอย่างรวมศูนย์ขึ้นต่อส่วนกลางของประเทศ ข้าราชการมาแล้วก็โยกย้ายไป หรือที่อยู่นานก็ทำงานไปเรื่อยๆตามคำสั่ง ไม่ต้องสนใจฟังความคิดเห็นของท้องถิ่น ส่วนคนท้องถิ่นก็ไม่มีบทบาทใดๆในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง เพราะงานต่างๆรับผิดชอบโดยข้าราชการ ส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นก็มีอำนาจและบทบาทจำกัด

ในยุครัฐประหารและรัฐบาลทหาร ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความเห็น แต่ทุกครั้งที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประชาชนในต่างจังหวัดก็จะพากันเดินขบวนไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่หน้าทำเนียบหรือกระทรวงในกรุงเทพฯ ก็เพราะส่วนภูมิภาคเป็นเพียงมากินเงินเดือน ทำงานไปวันๆ แก้ไขปัญหาใดๆในท้องถิ่นไม่ได้เพราะการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ไปเรื่อยๆ อย่าสร้างปัญหา อีกไม่นาน ก็ย้ายไปกินตำแหน่งสูงขึ้นๆ ส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นเนื่องจากไม่มีอำนาจหรืองบประมาณมากนัก จึงไม่ได้เป็นความหวังของประชาชนในท้องถิ่น

ในช่วง 24 ปีหลัง พ.ศ. 2516 (2516-2540) ความตื่นตัวเพื่อประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาและความใส่ใจในระบบเศรษฐกิจต่างๆอันเป็นผลพวงของการต่อสู้ในเขตป่าเขาหลังกรณี 6 ตุลา 2519 ทำให้กระแสประชาธิปไตยของประชาชนเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และแสดงออกในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เกิดการรณรงค์เพื่อการกระจายอำนาจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการปฏิรูปการเมือง นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลไกด้านการบริหารประเทศเป็นแบบเดิม เผด็จการจึงกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2519 และครอบงำสังคมไทยด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยพล.อ. เกรียงศักดิ์ และพล.อ. เปรมเป็นนายกฯนานถึง 10 ปี (พ.ศ. 2521-2531) นั่นคือ มีการเลือกตั้งส.ส. มีสภาฯ แต่นายกฯ ต้องเป็นคนนอก คือผู้บัญชาการทหารบก สภาฯมีอำนาจจำกัด แต่อำนาจยังอยู่ในมือของข้าราชการประจำ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารหรือข้าราชการสายอื่นที่เป็นนายกฯและรัฐมนตรีทั้งหลายด้วยเหตุนั้น ระบบรวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วนและระบบราชการแต่ละระดับจึงยังคงเดิม ระบบการศึกษาก็ยังคงเข้มข้นที่ปริมาณและการสร้างพิธีกรรมต่างๆ การศึกษายังคงมุ่งสร้างข้าราชการและช่างเทคนิค ยิ่งเรียนสูงยิ่งห่างไกลความเป็นพลเมือง และห่างไกลประชาชน

การจัดตั้ง อบต. ขึ้นในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆต่อจากนั้น ติดตามด้วยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงในปี 2543 การเลือกตั้งนายก อบต. และนายก อบจ. โดยตรงทั่วประเทศ เริ่มในปี พ.ศ. 2546 แม้ว่าขณะนี้จะมีอายุได้ไม่ถึง 10 ปี แต่ก็ควรนับเป็นการปฏิวัติการเมืองการปกครองในเขตต่างจังหวัดครั้งใหญ่ของประเทศในรอบ 1 ศตวรรษ และด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ ระบบราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจึงถ่ายโอนภารกิจต่างๆให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเชื่องช้า โดยอ้างว่าท้องถิ่นไม่พร้อม ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ (ที่ส่วนกลางกำหนด) ฯลฯ แน่นอน ยังมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมแบบรวมศูนย์อำนาจที่ดำรงอยู่มายาวนานทำให้เกิดความรู้สึกดูถูกท้องถิ่น และดูถูกนักการเมืองท้องถิ่นในหมู่ข้าราชการหลายส่วน

ระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจึงยังคงเดิมเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา องค์กรปกครองท้องถิ่นได้รับงบประมาณเพียง 20 กว่า % ของงบประมาณทั้งประเทศ ทั้งๆที่ท้องถิ่นมีทั้งพื้นที่และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และเป้าหมายของ พรบ. กระจายอำนาจ อยู่ที่การกำหนดให้ท้องถิ่นทั่วประเทศได้รับงบประมาณ 35% ของงบประมาณทั้งประเทศ

กล่าวได้อีกอย่างว่า ปัญหาใหญ่ 2 ประการของระบบการเมืองการปกครองของประเทศนี้ก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตยและการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

และแล้วปัญหาก็กลับมาซ้ำเติมอีกครั้ง เมื่อมีรัฐบาลที่สามารถบริหารครบวาระ 4 ปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง (พ.ศ. 2544-2548) และชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 (6 กุมภาฯ 2548) ได้จำนวนที่นั่งมากถึง 377 ที่นั่งในสภาฯ สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้แทนที่จะทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมตระหนักว่า ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง และยอมรับกระแสประชาธิปไตยของสังคม (และทั่วโลก) ยอมรับกติกาและการต่อสู้ภายในระบอบประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ กลับทำลายล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และรื้อฟื้นระบอบเก่าขึ้นมาอีกครั้ง

ผลพวงของการเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจเสรีมานาน การได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในอารยประเทศที่มีระบบการเมืองแบบเปิด เคารพและส่งเสริมบทบาททางการเมืองของประชาชนการเติบโตของชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง และความปรารถนาของพวกเขาที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารงานตามนโยบายที่ได้หาเสียง มีวาระการทำงาน การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ ไม่ต้องการเห็นระบอบคณาธิปไตย ต้องการเห็นทหารอาชีพ หากต้องการเล่นการเมือง ก็ต้องลาออก ไม่ใช่แอบๆซ่อนๆหรือให้สัมภาษณ์แสดงฝักฝ่ายทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของข้าราชการไม่ว่ากรมกองใด

หากนักการเมืองทำผิด สภาฯ สื่อมวลชน องค์กรอิสระ ประชาชนวงการต่างๆ กระทั่งข้าราชการที่ถอดเครื่องแบบก็สามารถตรวจสอบได้ ถอดถอนได้ ฟ้องศาลได้ ทุกอย่างมีระเบียบและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่นำรถถังออกมาล้มด้วยการตัดสินใจลับๆ ของคนเพียงไม่กี่คน แล้วก็สร้างกฎหมู่ขึ้นใหม่โดยเรียกให้ไพเราะว่า รัฐธรรมนูญ เพียงเพื่อทำลายรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ สร้างความเสียหายยาวนาน และจะยิ่งเสียหายมากขึ้นในสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

ด้วยความเคยชินที่ปฏิบัติกันมาในอดีต การเข้าแทรกแซงระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ด้วยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจในกรณี 19 กันยา จัดตั้งรัฐบาลของคณะรัฐประหาร และใช้กลุ่มพลัง, กลไก และสถาบันที่หลากหลายล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 ชุดในปี 2550

ที่ซับซ้อนมากขึ้นก็คือการที่นักวิชาการ ข้าราชการระดับกลางและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนการโค่นระบบประชาธิปไตย โดยอ้างว่าประชาธิปไตยถูกทำลายไปแล้ว หรือมุ่งเน้นให้เห็นความผิดพลาดของตัวบุคคล การซื้อเสียง การเล่นพวก โดยคิดว่าการโค่นตัวบุคคลและการยุบพรรคการเมือง ด้วยกำลังของกองทัพและศาลจะทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นได้

แน่นอน ผลของการเตะตัดขาระบอบประชาธิปไตย กำจัดบุคคลและทำลายพรรคการเมือง พร้อมกับเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้สังคมไทยย้อนกลับไปสู่ระบอบรัฐแบบเก่าจะทำให้ลักษณะอำนาจนิยมและการรวมศูนย์อำนาจคงอยู่ต่อไป พร้อมกับการสืบทอดโครงสร้างอำนาจ อภิสิทธิ์ ทรัพย์ศฤงคารและเกียรติยศของคนในระบอบนั้น

คนที่ชื่นชมระบอบดังกล่าวจึงชอบพูดถึงลักษณะเฉพาะของประเทศ พูดถึงการปกปักรักษาความยิ่งใหญ่เหล่านั้น เน้นการทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง และพยายามที่จะบอกว่านั่นคือความภูมิใจและเกียรติภูมิที่ชาติใดก็ไม่มี

พวกเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือสร้างนิยายขึ้นมาเพื่อหลอกกันเองและหลอกคนอื่น นั่นเป็นประเด็นสำคัญหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป แต่ประวัติศาสตร์การคลี่คลายของทุกๆประเทศก็เป็นเช่นนี้ เพียงแต่วิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศที่เคยน่าอยู่ที่สุดแห่งนี้มีลักษณะสลับซับซ้อนมาก กว่าหลายเท่า ทั่วโลกจึงมีทั้งด้านที่พิศวงและด้านที่ติดตามอย่างไม่กระพริบตา

และหากวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะยืดเยื้อต่อไปอีก (และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น) ก็จะเกิดกรณีศึกษาที่โดดเด่นที่สุดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ว่าด้วยประเทศที่มีการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้า (Late revolutionizing country) - ประเทศที่ด้านหนึ่งเพียบพร้อมด้วยสินค้าและวิถีการบริโภคและการดำรงชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ แต่อีกด้านหนึ่ง กลับล้าหลังอย่างยิ่งในด้านการเมืองการปกครอง

โลกกำลังจับตาดูความยืดเยื้อนั้น แต่ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าโลกจะพร้อมเข้ามาเป็นมิตรกับประเทศนี้อีกต่อไปหรือจะผลักไสให้ต้องอยู่โดดเดี่ยวมีแต่คนรังเกียจแบบรัฐทหารที่เป็นเพื่อนบ้าน

แต่ที่แน่ๆในขณะนี้ ความสลับซับซ้อนและลักษณะที่ล้าหลังเหล่านั้นนับวันจะถูกเปิดเผยออกมาให้ทั่วโลกได้รู้มากขึ้นๆ ขณะที่ภายในประเทศนั้น ดูเหมือนว่าระบบการศึกษา, สื่อมวลชนและอำมาตยาธิปไตยเองมองไม่เห็น หรือไม่เข้าใจ ไม่อยากเข้าใจ และคงไม่อยากให้ใครรู้

30 เมษายน 2552