ที่มา ประชาไท
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานปฐมนิเทศนักเรียนทุนการศึกษารัฐบาลมาเลเซีย ปีการศึกษา 2552
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรม บีพี สมิหลา บีช แอนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา นายประดิษฐ์ ระสิตานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 8 เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศนักเรียนทุนการศึกษารัฐบาลมาเลเซีย ปีการศึกษา 2552 และผู้ปกครอง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ได้จัดสรรทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสำหรับนักเรียนไทยจากเขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 11 เขต ประกอบด้วย จ.นราธิวาส 15 คน จ.ปัตตานี 18 คน จ.ยะลา 18 คน จ.สตูล 5 คน และ จ.สงขลา 4 คน ที่ได้รับการจัดสรรทุนการศึกษาจากรัฐบาลมาเลเซีย ประจำปี 2552 ภายใต้ความร่วมมือไทย-มาเลเซีย จำนวน 60 ทุน เป็นเวลา 6 ปี เพื่อเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสอนศาสนา Kajang ประจำรัฐ Selangor และโรงเรียนสอนศาสนา Labu ประจำ Negeri Sembilan ทั้งนี้จากการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกับกระทรวงศึกษาธิการไทย
สำหรับปีนี้เป็นที่สองของโครงการมีนักเรียนสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก โดยดำเนินการคัดเลือกระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับกระทรวง จนได้นักเรียนทุนครบจำนวน 60 คน ซึ่งเป็นนักเรียนมุสลิมจาก 11 เขตพื้นที่การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางการมาเลเซียได้กำหนดคุณสมบัติและสอบสัมภาษณ์ด้วยตนเองโดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. มีสัญชาติไทยและอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 1
3. มีผลการเรียนดี โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
4. มีความสามารถในการเขียนภาษาอารบิกและทักษะทางด้านอัลกุรอาน
5. มีประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร
6. มีทักษะความเป็นผู้นำ
7. ครอบครัวของผู้รับทุนที่มีรายได้น้อยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
การจัดการวันนี้นั้นต้องยกความดีให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูลเต็มๆเพราะ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำเนินการปฐมนิเทศนักเรียนทุนรัฐบาลมาเลเซีย โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ส่ง ตวน ฮัจญี ฮาเลล รองผู้อำนวยการกองกิจการโรงเรียนประจำและคณะมาร่วมเป็นวิทยากรในการปฐมนิเทศในครั้งนี้ด้วย
ในระหว่างรอพิธีเปิดอย่างเป็นทางการผู้เขียนได้เห็นบรรยากาศของความดีใจของผู้ปกครองซึ่งบางคนขนญาติๆทั้งบ้านมาร่วมในพิธีในวันนี้
นายสะปิอี บ่าวเต๊ะและนางสุใบเด๊าะ บ่าวเต๊ะผู้ปกครองของเด็กชายมูฮัมหมัดอามีน นักเรียนโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ จังหวัดสงขลา ให้ทัศนะด้วยความดีใจและตื้นตันใจพอสรุปใจความสำคัญได้ว่า
เขาหวังจะส่งลูกชายคนโตคนนี้เข้ามาเลเซียเมื่อ 6 ปีที่แล้วไม่นึกเลยว่าความฝันของพวกเราเป็นจริงและการไปครั้งนี้ไปในนามของประเทศไทย เราคิดว่าน้องอามีนจะไม่ทำให้เราผิดหวังและอินชาอัลลอฮ์เมื่อเขาเรียนจบเขาจะกับมาพัฒนาสังคมและเป็นกำลังสำคัญของสังคมบ้านเราต่อไปแต่ก็ยังกังวลลึกๆว่าไม่รู้ลูกจะอยู่ที่มาเลซียได้หรือเปล่าเพราะเขาไม่เคยห่างจากผู้ปกครอง
สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลมาเลเซีย ทั้ง 60 คนจะออกเดินทางไปศึกษาที่ประเทศมาเลเซียในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2552 นี้ก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมถึงแม้ภาคเรียนที่ 1 ของมาเลเซียจะเริ่มเดือนมกราคมปีหน้าโดยมีตัวแทนจกเขตพื้นที่การศึกษา 11 เขตเดินทางไปส่งและดูแลอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้เด็กมีขวัญและกำลังใจในการศึกษาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีความกังวล
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ แต่ทางภาครัฐและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ไม่เคยละทิ้งพี่น้องชาวมุสลิมโดยมอบทุนให้ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาแนวหน้า ยอดนิยมระดับประเทศของมาเลเซีย เพื่อหวังนำการศึกษาพัฒนาเด็กมุสลิมชาวไทยให้มีความรู้ ความสามารถและศักยภาพที่เท่าเทียมนานาประเทศที่เจริญและสามารถบูรณาการระหว่างหลักสูตรศาสนาและสามัญในขณะเดียวกันสามารถทันยุคทันสมัย อยู่ร่วมสังคมอย่างสันติตามแนวทางของหลักศาสนาอิสลามและวิถีชาวมุสลิม
เมื่อสองปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่โรงเรียนสอนศาสนา Kajang ประจำรัฐ Selangor ซึ่งนักเรียนของเราจะไปเรียนนั้นพบว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มาตรฐานมากไม่ว่าวิชาการทั้งศาสนาและสามัญ เป็นที่รวมของครูชั้นยอด นักเรียนระดับเกรดเอ มีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยแต่ไม่ทิ้งรากเหง้าของความเป็นมุสลิม
ผู้เขียนมั่นใจว่า มันจะสามารถเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาและต่อไปเมื่อนักเรียนเหล่านี้จบกลับมา พวกเขาอาจจะมีแนวคิดหรือแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองที่เหมาะสม บูรณาการได้กับวิถีไทยมลายูท้องถิ่น หลักการศาสนาอิสลามและปรับเข้ากันอย่างกลมกลืนกับโลกาภิวัตน์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เด็กเหล่านี้ จะไม่หลีกหนีจากกระแสการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ และกล้าที่จะสนทนาแลกเปลี่ยน (Dialoque) ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดอย่างสันติกับทุกกลุ่มของลัทธิโลกาภิวัตน์ซึ่งแน่นอนที่สุดเยาวชนเหล่านี้ต่อไปจะนำความรู้นำมาปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนมุสลิมเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐ สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และศูนย์การเรียนของมัสยิดที่สามารถปลูกฝังแนวคิด ทัศนคติ และค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กตลอดจนผู้ใหญ่
และท้ายสุดจะสามารถทำให้คนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยวิถีไทยมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถเผชิญกับกระแสการก่อการร้าย การปะทะทางวัฒนธรรม และสังคมทุนนิยมของโลกยุคโลกาภิวัตน์
ไม่เพียงทุนระดับมัธยมศึกษาเท่านั้นที่ทางการมาเลเซียมอบให้แต่ยังมอบทุนแก่นักศึกษาต่างชาติ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกในหลักสูตรต่างๆมากมาย เช่น 1.บริหารธุรกิจ และการเงิน 2.วิทยาศาสตร์และวิศวกรรม 3.วิทยาศาสตร์เกษตรกรรม 4.สังคมวิทยา และภาษาศาสตร์ โดยต้องมีคุณสมบัติของผู้สมัคร ดังนี้ 1.จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยเกรดการเรียนที่ดี 2.เป็นผู้ที่ผ่านงานด้านกิจกรรมและอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม 3.เข้าขอรับทุนตามหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดรับ และมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ 4.มีสุขภาพที่ดี มีใบรับรองแพทย์ 5.อายุไม่เกิน 21 ปี สิทธิประโยชน์ของทุนการศึกษาที่จะได้รับ 1.ตั๋วเครื่องบินไประหว่างประเทศผู้รับทุนกับประเทศมาเลเซีย 2.ฟรีค่าเล่าเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับผิดชอบ 3.ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 4.ค่าตำราเรียนและค่าเดินทางภายในประเทศ 5.การฝึกงานตามหน่วยงานที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ เอกสารประกอบการสมัครขอรับทุน 1.สำเนาระเบียนทางการศึกษา 2.สำเนาพาสปอร์ตของผู้สมัคร 3.หลักสูตรที่ต้องการขอรับทุน 4.ภาพถ่ายขนาดติดสมุดเดินทาง จำนวน 2 ใบ 5.ใบรับรองแพทย์ 6.แผนงานการวิจัย (สำหรับระดับปริญญาโท) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Scholarship Division Ministry of Higher Education Malaysia Level 4, Block 1, PjH Tower Precint 2 Federal Government Administration Centre 62100, Putrajaya Malaysia |