ที่มา ประชาไท
สุรพศ ทวีศักดิ์
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมวันวิสาขบูชาโลกซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายชาวพุทธจากทั่วโลกได้ออกปฏิญญากรุงเทพฯ 9 ข้อ โดยเนื้อหาสำคัญ คือให้ใช้หลักธรรมของพุทธศาสนามาแก้ปัญหาโลก ทั้งปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม
บรรดา ‘นักจัดประเภท’ ของแนวความคิด หรือภูมิปัญญาต่างๆให้เป็นแบบ ‘สากล’ และ ‘ไม่สากล’ ตามวิธีการจัดประเภทของฝรั่งคงไม่เห็นด้วยกับปฏิญญาเช่นนี้ หรือคนที่คิดอะไรแบบ ‘วิทยาศาสตร์จ๋า’ หรือ ‘เหตุผลนิยมจ๋า’ จนไม่หลงเหลือร่องรอยของศรัทธาในสมองหรือ ‘หัวใจ’ คงรีบปฏิเสธปฏิญญานี้ทันที
ประเด็นเรื่องสากล-ไม่สากล ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด? ปราชญ์ทางพุทธศาสนาอย่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่ามี 2 เกณฑ์ คือ ‘เกณฑ์โลกสมมติ’ กับ ‘เกณฑ์สัจธรรมตามกฎธรรมชาติ’ ตามเกณฑ์โลกสมมติ อะไรที่เป็นสากลก็มักจะเป็นไปตามที่ฝรั่งกำหนด เช่น สูทสากล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตามเกณฑ์สัจธรรมตามกฎธรรมชาติ ความเป็นสากลตัดสินจากความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ เช่น ความจริงตามกฎไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา อริยสัจ 4 ฯลฯ
ถ้าไปถาม มิเชล ฟูโก เราอาจได้คำตอบทำนองว่า ความเป็นสากลที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมันเป็นความเป็นสากลที่เป็น ‘การเมือง’ คือมันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดความเป็นสากล
ดังนั้น ถ้ามองตามนัยของฟูโก ประเด็นเรื่องความเป็นสากล-ไม่เป็นสากลที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาโต้แย้งว่าไม่ควรเสนอหลักธรรมของพุทธศาสนามาแก้ปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และถ้ามองตามนัยของพระพรหมคุณาภรณ์ ความจริงสากลตามกลธรรมชาติคือแนวทางที่ถูกต้องของการแก้ปัญหาทุกด้าน (คือไม่ว่ามนุษย์จะสร้างระบบ โครงสร้าง หรือแนวทางไหนๆขึ้นมา ระบบ โครงสร้าง หรืแนวทางนั้นๆจะต้องสอดคล้องกับสัจธรรมตามกฎธรรมชาติ เช่น หลักสาเหตุและผลของการแก้ปัญหาตามกฎอริยสัจ 4 เป็นต้น)
อีกประเด็นหนึ่ง ‘นักจัดประเภท’ มักคิดว่า เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลไม่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับสาธารณะ อย่างที่มักจะบอกว่า “พุทธศาสนาสอนให้เราดูกิเลสตนเอง ไม่ให้ดูคนอื่น” แต่ที่จริงความหมายที่ถูกต้องคือไม่ให้เรามัวแต่เพ่งโทษจับผิดผู้อื่น แต่ไม่ได้ห้ามเราสนใจผู้อื่นในทางสร้างสรรค์
จะว่าไปแล้วพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ หรือเป็นมิติปัจเจกเท่านั้น (ทั้งในเชิงความคิดและการกระทำ) แต่การปฏิบัติธรรมแสดงมิติการเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกกับบุคคลอื่นๆ (ส่วนรวมและสรรพสิ่ง) เสมอ เช่น การเจริญสติปัฏฐานซึ่งชาวพุทธไทยมักจะมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวล้วนๆ แต่ในพระไตรปิฎกยืนยันอย่างนี้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่าเราจักรักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาตนย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่นชื่อว่ารักษาตน....ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร ? ย่อมรักษาด้วยการสร้องเสพ ด้วยการเจริญด้วยการกระทำให้มาก (ซึ่งสติปัฏฐาน)....ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่นย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไร ? ย่อมรักษาด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความเอ็นดู...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน และเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่าเราจักรักษาผู้อื่น ดังนี้แล” (เสทกสูตร ที่1 มหา. สํ.759-762)
‘สติปัฏฐาน’ คือ ‘การกำหนดสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ’ จากพระพุทธพจน์ข้างบนนี้เท่ากับให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ‘การรักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่น การรักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน’ โดยที่ต้องฝึกฝนตนเองให้มีขันติธรรม ไม่เบียดเบียน มีจิตเมตตา หากเรานำสาระสำคัญแห่งพระพุทธพจน์นี้ไปเชื่อมโยงกับความจริงตามกฎธรรมชาติ คือ ‘กฎอิทัปปัจจยตา’ หรือกฎความจริงที่ว่าสรรพสิ่งเป็นเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันและกัน จนมองเห็นความจริงว่ามนุษย์เราต่างดำรงอยู่ในข่ายใยแห่งการอิงอาศัยกันและกัน เรากับคนอื่นๆก็ “เป็นดั่งดันและกัน” (วลีของท่าน ติช นัท ฮันห์) จะทำให้เราเห็นเหตุผลรองรับมโนสำนึกในปัจจุบันขณะที่ว่า “การรักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่น การรักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน”
มนุษย์เราเป็นศูนย์กลางของปัญหาด้านต่างๆของโลกหรือไม่? หรือว่ามนุษย์เราเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาหรือไม่? เป็นคำถามที่ถกเถียงกันได้ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือระบบอะไรก็ตามทีที่ตอบสนองความเป็นธรรมและสันติภาพในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
และแม้ว่าพุทธศาสนาจะมองว่าธรรมชาติด้านหนึ่งของมนุษย์นั้นคือการดิ้นรนและเบียดเบียนทำร้ายกันไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ทว่าเมื่อพิจารณาคำสอนสำคัญๆของพุทธศาสนาแล้วกลับแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในด้านที่ดีงามของมนุษย์อย่างยิ่ง คือศรัทธาที่ว่ามนุษย์เรามีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองให้ดีงามทั้งในเชิงปัจเจก ในฐานะสมาชิกแห่งสังคมและมนุษยชาติ จนกระทั่งสามารถบรรลุอิสรภาพจากพันธนาการของกิเลส ความทุกข์ และความชั่วร้ายทั้งปวง
หลักจริยธรรมของพุทธศาสนาซึ่งถือเป็น ‘วิถีชีวิตประเสริฐ’ หรือ ‘วิถีสังคมในอุดมคติ’ ที่เรียก ‘มรรคมีองค์ 8’ หรือ ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ ซึ่งสรุปลงเป็น ‘ไตรสิกขา’ หรือ หลักศีล สมาธิ ปัญญา นั้น โดยสาระสำคัญแล้วก็คือ หลักการพื้นฐานที่ประกันสันติภาพและอิสรภาพทั้งของปัจเจกบุคคลและสังคมนั่นเอง
หลักศีล (สีลสิกขา) คือหลักการพื้นฐานด้านสันติภาพทางสังคม หลักสมาธิ (จิตสิกขา) คือหลักสันติภาพทางจิตใจ และหลักปัญญาคือหลักอิสรภาพทางความคิด ความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งนำทางสันติภาพทางสังคมและทางจิตใจ ดังนั้น ข้อเสนอที่จะให้ใช้พุทธศาสนาแก้วิกฤตโลกของเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลก ก็คือการเสนอให้นำสาระสำคัญของหลักจริยธรรมพุทธดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับปัญหาด้านต่างๆของโลกนั่นเอง
ส่วนเมื่อนำไปประยุกต์ใช้แล้วจะเกิดบรรลุผลมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆที่ซับซ้อนตามความซับซ้อนของสังคมโลกาภิวัตน์ แต่อย่างน้อย ‘ปกิญญากรุงเทพฯ’ ในที่ประชุมวันวิสาขบูชาโลกปีนี้ น่าจะทำให้ชาวพุทธหันมาสำรวจตนเอง และมองหาคุณค่าอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาแล้วนำมาใช้ประโยชน์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่เมื่อนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธควรตระหนักคือ ควรนำเสนอในท่วงทำนองของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่นำเสนอคำตอบแบบ ‘สูตรสำเร็จ’ ที่เรียกร้อง (แกมบังคับ) ให้คนอื่นๆยอมรับ หรือเสนอราวกับว่าพุทธศาสนาเป็น ‘สิ่งสัมบูรณ์’ (absolute) ที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดของปัญหาทุกๆเรื่อง
อีกอย่างหนึ่ง การนำเสนอพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่ควรนำเสนอ ‘เหตุผล’ ให้คนพิจารณามากกว่าเสนอ ‘ความเชื่อ’ เพื่อเรียกร้องศรัทธา พระพุทธเจ้านั้นท่านยก ‘อำนาจ’ ให้กับความจริงความถูกต้องเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ไม่ได้ให้อำนาจแก่บุคคลหรือสถาบันเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ดังพระพุทธพจน์ก่อนปรินิพพานที่ว่า “หลังจากตถาคตล่วงลับไป พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาของชาวพุทธแทนพระองค์” หรือหลักกาลามสูตรนั้นก็คือหลักที่ให้แต่ละคนมีอิสรภาพทางปัญญาอย่างเต็มที่ในการวินิจฉัยตัดสินความจริงความถูกต้อง โดยใช้การ ‘ประจักษ์ด้วยตนเอง’ เป็นเกณฑ์ตัดสิน
ดังนั้น การนำเสนอหลักพุทธศาสนาเพื่อการประยุกต์แก้วิกฤตด้านต่างๆของสังคมและโลก จึงควรนำหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนามาสู่เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีเหตุผลกับภูมิปัญญาอื่นๆ ควรข้ามพ้นวัฒนธรรมการเผยแผ่พุทธศาสนาที่เชิดชูตัวบุคคลหรือให้อำนาจตัวบุคคลและสถาบันทางศาสนาเป็นมาตรฐานตัดสินถูกผิด หรือเป็นผู้ยึดกุมและสงวนว่าควรจะเลือกสอนหรือไม่สอนหลักธรรมส่วนไหนอย่างไร