ที่มา ประชาไท
นักปรัชญาชายขอบ
“(พันธมิตร - เสื้อแดง) ด้านที่เป็นแนวร่วมเป็นด้านใหญ่ด้วย ก็คือความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ถ้าเราตัดการเถียงกันเรื่องสถาบันไปได้ ผมคิดว่าความร่วมกันจะมีมากขึ้น และถ้าเราตัดเรื่องทักษิณออกไปได้ ด้านร่วมกันคือความไม่เป็นธรรมจะมีมากขึ้น...”
(คำให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ของ พิภพ ธงไชย ซึ่งประชาไทนำมาเผยแพร่ต่อเมื่อ 3/5/2552)
...
“จริงๆ แล้ว โดยส่วนตัวผม ผมไม่ได้รังเกียจการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ขึ้นอยู่ว่าคุณจะปฏิวัติรัฐประหารไปเพื่ออะไร ถ้าคุณปฏิวัติรัฐประหารเพื่อสมบัติผลัดกันชม เหมือนสมัยที่ คมช.ทำ ผมไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคุณปฏิวัติรัฐประหารเพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองดีขึ้น ผมเห็นด้วย
ถ้าฟังให้ดี ผมบอกว่า ถ้าทหารออกมา ผมไม่ขัดข้อง แต่ถ้าทหารปฏิวัติเพื่อตัวเอง ผมจะสู้
จริงๆ จุดยืนของผมกับเสื้อแดง ไม่ต่างกันหรอก ถ้าทหารออกมาปฏิวัติเพื่อตัวเอง ผมจะสู้ แต่ถ้าปฏิวัติเพื่อล้มล้างทุกอย่าง จุดนี้ระหว่างผมกับเสื้อแดง ต่างกันแล้ว
ต่างกันตรงที่ว่า ผมมองว่า สถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นต่อสังคมไทย ยังมีความจำเป็นอยู่ จุดยืนผมตรงนี้ชัด แต่เสื้อแดงไม่ชัดนี่ มันก็เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างปรัชญาที่ว่า คุณเชื่อประเทศไทยจะเดินต่อไปด้วยโครงสร้างสังคมแบบไหน
สำหรับผม ผมยังเชื่อว่าโครงสร้างสังคมที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นโครงสร้างที่ดีที่สุด ซึ่งข้อแตกต่างของผมกับเสื้อแดงอยู่ตรงนี้
สิ่งที่เสื้อแดง กับผม เห็นพ้องต้องกัน คือ ปฏิวัติสังคมมิใช่หรือ”
(คำให้สัมภาษณ์ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ในเนชันสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่เสาร์ที่ 2 พ.ค.2552)
...
จากคำให้สัมภาษณ์ของพิภพ จุดร่วมของเหลือง - แดง คือ “ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” จุดต่างคือ “เอา-ไม่เอาทักษิณ” กับ “เอา-ไม่เอาสถาบัน” จากคำให้สัมภาษณ์ของสนธิ จุดร่วมของเหลือง - แดง คือ “การปฏิวัติสังคมไทย” แต่จุดต่างคือ “เอา-ไม่เอาสถาบัน”
ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ทุกฝ่ายเห็นว่าความไม่เป็นธรรมคือปัญหาหลักของสังคมไทย และต้องสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมด้วยการปฏิวัติสังคมไทย
แต่มีประเด็นที่ควรตั้งข้อสังเกตดังนี้
1. ประเด็น “เอา-ไม่เอาทักษิณ” มีความเห็นจากฝ่ายเสื้อแดงบางส่วนเสนอว่าประเด็นหลักของการต่อสู้ในวันนี้ได้ก้าวเลยเรื่อง “เอา-ไม่เอาทักษิณ” มาแล้ว แต่ต้องการประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการกำกับของอำมาตยาธิปไตย สังคมที่เป็นธรรม หรือรัฐสวัสดิการ
2. ประเด็น “เอา-ไม่เอาสถาบัน” เสื้อแดงส่วนใหญ่ยืนยันมาตลอดว่าต้องการ “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือ ประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรม หรือ อยู่เหนือความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างแท้จริง
3. ประเด็น “การปฏิวัติสังคม” ขณะที่เสื้อเหลือง (อย่างน้อยก็แกนนำคนสำคัญอย่างสนธิ) ไม่รังเกียจการปฏิวัติของทหาร (ถ้าทำเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น) แต่เสื้อแดงรังเกียจ (ในทุกกรณี?) และเรียกร้อง “การปฏิวัติโดยประชาชน”
ข้อที่น่าพิจารณา
ประเด็นที่ 1 เสื้อแดงควรแสดงจุดยืนให้คุณทักษิณพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรม และคอยตรวจสอบว่ากระบวนการยุติธรรมดำเนินการกับคุณทักษิณอย่างเที่ยงธรรมหรือไม่ รัฐบาล และอำมาตย์เข้ามาแทรกแซงหรือไม่ (ถ้าไม่เป็นธรรมหรือมีการแทรกแซงต้องแสดงหลักฐานและเหตุผลต่อสาธารณะ ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ)
ประเด็นที่ 2 เสื้อเหลืองควรเลิกกล่าวหาแบบเหมาเข่ง หรือสร้างกระแสว่าเสื้อแดงไม่เอาสถาบัน (ถ้ามีการไม่เอาสถาบันเป็นรายบุคคลก็ให้ว่ากันเป็นรายบุคคลโดยต้องมีหลักฐานไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ)
ประเด็นที่ 3 ความเห็นของคุณสนธิที่ว่า “ถ้าคุณ (ทหาร) ปฏิวัติรัฐประหารเพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองดีขึ้น ผมเห็นด้วย” นั้น เป็นความเห็นที่ดูมีเหตุผล ถ้าอ้างอิงการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่ทหารมีบทบาทอย่างสำคัญในการยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การทำรัฐประหารโดยทหารหลังจากนั้น รวมทั้งเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ก็เป็นอย่างที่คุณสนธิว่าคือเป็นเรื่องของ “สมบัติผลัดกันชม” ดังนั้น สังคมจึงไม่อาจวางใจต่อการปฏิวัติรัฐประหารโดยทหารได้อีกต่อไปว่าพวกเขาจะไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวก ฝ่ายเสื้อเหลืองจึงจำเป็นต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่า “ต่อต้านการปฏิวัติโดยทหาร” อย่างสิ้นเชิง และหันมาสนับสนุน “การปฏิวัติโดยประชาชน” แต่ต้องไม่ใช่วิธี “ลงใต้ดิน” ดังที่เสื้อแดงบางคนเสนอ
ปัญหาหลักจึงอยู่ที่ว่า จะปฏิวัติสังคมอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งโดยกำลังทหารและการต่อสู้ใต้ดิน? นี่คือคำถามท้าทายทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง-แดง และฝ่ายอื่นๆ ที่เรียกร้องสันติวิธี
คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า เสื้อเหลือง-แดง ต้องชัดเจนใน “จุดร่วม” เรื่อง “ความไม่เป็นธรรม” และ “การปฏิวัติสังคม” (ซึ่งจุดร่วมดังกล่าวนี้ฝ่ายที่เรียกร้องสันติวิธีและคนส่วนใหญ่ในสังคมก็เห็นด้วยอยู่แล้ว) และเดินหน้าต่อในการขับเคลื่อนประเด็นความไม่เป็นธรรมและการปฏิวัติสังคมให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้ภาระการปฏิวัติสังคมเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็น “ภาระของคนทุกภาคส่วนในสังคม” อย่างแท้จริง
ถ้าทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วย ไม่ว่าอำนาจใดๆ ก็ไม่อาจต้านทานได้ !
ด้วยความเคารพ ผมเชื่อว่ามวลชนเหลือง-แดงมีศักยภาพเหลือล้นที่จะปฏิวัติสังคมไทย ไม่จำเป็นต้องแสดงละครจับมือจูบปากกัน หรือเรียกร้องความปรองดองสมานฉันท์ใดๆ เพียงแต่แสดงความชัดเจนใน “จุดร่วม” เลิกการเสียดสีโจมตีกัน (แต่ควรวิพากษ์กันด้วยเหตุผล) แล้วมุ่งหน้าเปิดประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรม และเสนอแนวทางปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ววัน !