ที่มา ประชาไท
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
อาจารย์
ผู้ที่วาดภาพหน้าตาของสังคมการเมืองไทยในอุดมคติกลับเป็นพระภิกษุ คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่เสนอทฤษฎี "ธรรมิกสังคมนิยม" และอาจกล่าวได้ว่าท่านพุทธทาสเป็นนักคิดไทยเพียงคนเดียวที่เสนอแนวคิดทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองต่างจากแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองอื่นๆ
ในหนังสือ "ธรรมะกับการเมือง" ท่านมองว่า "การเมืองคือการแก้วิกฤต" เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมทำให้เกิดวิกฤตหรือปัญหาต่างๆ ตามมา มนุษย์จึงหาทางแก้วิกฤตหรือปัญหาต่างๆ นั้นโดยใช้การเมือง
ดังนั้น ท่านพุทธทาสจึงนิยาม "การเมือง" ว่าหมายถึง "การจัดหรือการทำให้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ต้องใช้อาชญา"
จะจัดระบบระเบียบหรือทำอย่างไรจึงจะให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ใช้อาชญา?
ท่านพุทธทาสตอบว่า “ต้องทำการเมืองให้ถูกต้อง” ท่านมองว่า การเมืองแม้จะมีอยู่หลายระบอบ เช่น ราชาธิปไตย เผด็จการ ประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ แต่ระบบเหล่านั้นก็อยู่ในการเมืองตามความเป็นจริงเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ “การเมืองที่ถูกต้อง” กับ “การเมืองที่ไม่ถูกต้อง”
การเมืองที่ถูกต้อง คือ การเมืองที่มีศีลธรรม การเมืองที่ไม่ถูกต้องคือ การเมืองที่คดโกง แย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง
การเมืองที่ไม่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบอบเผด็จการ สังคมนิยม ประชาธิปไตย หรือระบอบอะไรก็ตาม ก็เป็นการเมืองที่สร้างวิกฤตหรือปัญหาทั้งนั้น ดังนั้น ทางออกจากวิกฤตจึงอยู่ที่ต้องทำการเมืองให้ถูกต้องในความหมายที่ว่าเป็น "การจัดการทำให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยใช้ธรรมะหรือศีลธรรม"
ท่านพุทธทาสนิยามการเมืองที่ถูกต้องด้วยด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การเมืองคือธรรมะ" โดยท่านกำหนดขอบเขตความหมายของ "ธรรมะ" ให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างว่า
1.ธรรมะคือธรรมชาติ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งรูปธรรมหรือนามธรรม มีชีวิตหรือไร้ชีวิต เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น (สังขตธรรม) เช่น ละอองธุลี ก้อนหิน ดิน ทราย พืช สัตว์ มนุษย์ โลก จักรวาล และสรรพสิ่ง สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (อสังเขตธรรม) เช่น นิพพาน ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติด้วยกันกัน
2.ธรรมะคือกฎธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่ควบคุมความเป็นไปของสิ่งต่างๆในธรรมชาติ กล่าวคือ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ควบคุมให้สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นไป สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ควบคุมให้สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นไป ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎธรรมชาติ พุทธศาสนาเรียกชื่อกฎธรรมชาตินั้นว่า "กฎอิทัปปัจยตา" คือ กฎแห่งการอิงอาศัยเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันของสรรพสิ่ง หรือกฎความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
3.ธรรมะคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยเฉพาะมนุษย์ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเพื่อ "ความรอด" ถ้าเป็นความรอดทางชีวภาพก็ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติทางชีวภาพ เช่น การกินอาหาร การใช้-ถ่ายเทพลังงาน การพักผ่อน ฯลฯ
ถ้าเป็นความรอดทางสังคมการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ (ทางสังคม) ที่เป็นเงื่อนไขของความอยู่รอดในการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก เช่น กฎแห่งการอิงอาศัยกันและกันบนพื้นฐานของความไม่เห็นแก่ตัว เมตตา เสียสละ ปฏิบัติต่อกันด้วยกาย วาจา ใจ ที่มุ่งประโยชน์สุขแก่กันและกันเป็นที่ตั้ง กล่าวอย่างรวมๆ ก็คืออยู่ร่วมกันอย่างมีศีลธรรมนั่นเอง
และถ้าเป็นความรอดทางจิตวิญญาณ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติทางจิตในด้านที่เป็นการขจัดกิเลสทำให้จิตมีอิสรภาพจากพันธนาการทั้งปวง
4.ธรรมะคือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ "ความรอด" ในด้านต่างๆ ที่เป็นผลของการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ
การเมืองคือธรรมะในความหมายที่ 3 เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และเป็นการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติซึ่งเป็นธรรมะในความหมายที่ 2 โดยหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของมนุษย์ซึ่งเป็นธรรมะในความหมายที่ 1 และเมื่อมนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติแล้ว ก็เกิดผลคือความรอดซึ่งเป็นธรรมะในความหมายที่ 4
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า การที่นักการเมืองหรือใครๆ เห็นว่าการเมืองเป็นคนละเรื่องกับธรรมะ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร ถ้ารู้จักธรรมะใน 4 ความหมายดังกล่าวแล้วก็จะเห็นได้ว่า "ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ" ยิ่งการเมืองยิ่งต้องเป็นธรรมะในความหมายของ "หน้าที่" ซึ่งเราทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อ "จัดหรือทำ" ให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างบรรลุประโยชน์สุขหรืออย่างสันติสุข
และที่ใครๆ ไม่สนใจการเมืองหรือบ่นว่า "เบื่อการเมือง" ก็เพราะเขามองการเมืองในมิติเดียว คือเห็นเฉพาะการเมืองตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ คือการเมืองที่คดโกง แย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์เพื่อตัวกูและพวกของกู
เขาไม่ได้เห็นการเมืองในอีกมิติหนึ่งคือ “การเมืองที่เป็นธรรมะ” หรือการเมืองที่เป็นหน้าที่ที่นักการเมืองและประชาชนทุกคนต้องช่วยกันจัดกันทำให้มนุษย์เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและสันติสุข
ท่านพุทธทาสเห็นว่า "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" และที่จริง "มนุษย์ทุกคนมีความเป็นนักการเมืองอยู่แล้วโดยความรู้สึก" เพราะแต่ละคนต่างดิ้นรนเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดี และต้องการจะอยู่ในสังคมที่ดี ดังนั้น ทุกคนควรร่วมกันสร้างการเมืองที่เป็นธรรมะหรือการเมืองที่มีศีลธรรม แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่มากก็ต้องมีความหวัง และต้องทำให้ได้ หากต้องการให้สังคมหรือโลกมีสันติภาพที่แท้
ผู้เขียนเห็นว่า ทรรศนะของท่านพุทธทาสเป็นหลักคิดที่ไม่ล้าสมัย ความขัดแย้งทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายต่างตกอยู่ใน "ภาวะวิกฤตความชอบธรรม" ซึ่งส่งผลให้สังคม "ปรองดอง" กันได้ยากอยู่ในขณะนี้ อาจเป็นเพราะ "เป้าหมาย" และ "วิธีการ" ในการต่อสู้ของแต่ละฝ่ายมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมทางศีลธรรม โดยเฉพาะ “ศีลธรรมแห่งสังคมประชาธิปไตย” ที่เรียกร้อง (requirement) การใช้เหตุผล การเคารพความเห็นต่าง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีหลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพูดความจริง
สังคมที่มีศีลธรรมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมที่สร้างวัฒนธรรมการตัดสินความจริงความถูกต้องบนหลักเกณฑ์ของความเป็นฝักฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างเปิดใจรับเฉพาะข้อมูลของฝ่ายตนเท่านั้นและยึดถืออย่างตายตัวว่าข้อมูลหรือความคิดความเชื่อของฝ่ายตนเท่านั้นเป็นความจริงและถูกต้อง ส่วนของฝ่ายอื่นผิดทั้งสิ้น แล้วก็ตั้งเป้าประณามกันและกันไม่สิ้นสุด
การเรียกร้องประชาธิปไตยจะบรรลุผลสำเร็จได้ ถ้าเราร่วมกันสร้างการเมืองที่ถูกต้อง เป็นการเมืองที่ "เป้าหมาย" และ "วิธีการ" ต้องเป็นธรรมะ หรือเป็นการเมืองที่มีศีลธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งมวลอย่างแท้จริง และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่พึงรังเกียจคำว่า “ธรรมะ” หรือ “ศีลธรรม” หากแต่ควรทำความเข้าใจความหมายที่ถูกต้องของคำดังกล่าวนี้ และใช้มันอย่างไม่บิดเบือน
หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความในชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายวัน 8 มีนาคม 2552 หน้า 5