ที่มา thaifreenews
ที่มา บางกอกทูเดย์
จีที 200-สนิฟเฟ็กซ์-อัลฟ่า 6 เครื่องตรวจมหัศจรรย์ หรือ ไม้ล้างป่าช้ากายสิทธิ์
โดย ผศ.ดร. (ว่าที่ร้อยตรี) เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
นักวิชาการอิสระ
วันที่ 8 ตุลาคม 2552 เสียงระเบิดกึกก้องกลางตลาดในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้ปลุกกระแสจิตสำนึกของผู้ที่เชื่อมั่นในความถูกต้องของวิทยาศาสตร์ให้ออกมาถกเถียง แลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นที่อาจจะพลิกโฉมหน้าวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จำเลยหลักที่ถูกกล่าวหากับการระเบิดที่สุไหงโกลก คือ เครื่องตรวจหาวัตถุระยะไกลจีที 200 (GT 200) เครื่องมือมหัศจรรย์ที่ได้เคยเผยโฉมให้ประชาชนคนไทยเห็นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในการค้นหาวัตถุระเบิด ยาเสพติด ของต้องสงสัย หรือแม้กระทั่งซากศพ ภาพที่เราได้เห็น คือ การที่เจ้าหน้าที่ถือเครื่องมือนี้เข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างเช่น การประท้วงของพันธมิตรฯ หรือเพลิงไหม้ซานติก้าผับ
ความมหัศจรรย์ของจีที 200 คือ เมื่อถือเครื่องนี้เดินเข้าไปในที่เกิดเหตุ พร้อมกับใส่แผ่นการ์ดระบุชนิดของสารที่ต้องการตรวจ ซึ่งมีหลายสิบชนิด ทั้งสารระเบิด สารเสพติด สารพิษ หรือแม้แต่แบงค์ปลอม เจ้าเสาหนวดกุ้งที่ยื่นยาวอยู่หน้าเครื่องก็เหมือนจะหมุนได้เอง ชี้เป้าไปในทิศที่สงสัยว่าจะมีสิ่งของนั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ว่าจะมีอยู่ปริมาณน้อยนิดเป็นพิโคแกรม (เศษหนึ่งส่วนล้านล้านกรัม) หรืออยู่ห่างไกลไปหลายร้อยเมตร โดยอ้างว่าเป็นผลจากแรงแม่เหล็กดูด/ผลัก (dia/para magnetic) ที่เกิดจากไฟฟ้าสถิตในตัวผู้ใช้ และไม่มีอะไรจะขวางกั้นการตรวจของเครื่องได้ แม้แต่ตะกั่วที่เอาไว้กั้นรังสีนิวเคลียร์
ข่าวความสำเร็จในการใช้เครื่องจีที 200 ก่อให้เกิดความศรัทธาอย่างยิ่งในวงการความมั่นคงของรัฐ จนมีการสั่งซื้อมาใช้กันขนานใหญ่ในหลายองค์กร เครื่องยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งอ้างหลักการทำงานแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเครื่องสนิฟเฟ็กซ์ (Sniffex) เครื่องอัลฟ่า 6 (Alpha 6) ก็พลอยได้รับความนิยมไปด้วย และถูกนำไปใช้กันทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในชายแดนภาคใต้เท่านั้น
แต่ข่าวความสำเร็จ ก็เป็นเพียงแค่ด้านสว่างด้านเดียวของดวงจันทร์ มีหลายต่อหลายครั้งที่เครื่องมือทำนองนี้ได้ให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการที่เครื่อง “บอกว่ามี แต่กลับไม่มี (false positive)” ทำให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกปรักปรำว่าเกี่ยวข้องกับสารระเบิด จนถึงนำตัวไปกักขังสอบสวน หรือ “บอกว่าไม่มี แต่กลับมี (false negative)” จนทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตาย ดังเช่นกรณีที่สุไหงโก-ลก หรือล่าสุดที่จังหวัดยะลา ในระหว่างที่นายกฯมาเลเซียมาเยือนประเทศไทย (วันที่ 9 ธันวาคม)
คำตอบที่ได้รับฟังจนเหมือนแผ่นเสียงตกร่องจากผู้รับผิดชอบก็มีเพียงแค่ว่าเครื่องมือยังมีประสิทธิภาพดีอยู่ ไม่ได้เสียหายบกพร่อง ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดใดๆ น่าจะมาจากเจ้าหน้าที่ผู้น้อยที่ใช้เครื่องผิดวิธี ฝึกมาไม่ดีพอ พักผ่อนน้อยไป ร่างกายอ่อนแอ ขาดสมาธิและศรัทธาในการใช้เครื่อง ทำให้กระแสไฟฟ้าในร่างกายน้อยลง ประสิทธิภาพของเครื่องก็น้อยลงไปด้วย เพราะเครื่องไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
คำชี้แจงแบบวิทยาศาสตร์เทียม (pseudo-science) เช่นนี้ ทำเอานิสิตนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และผู้สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ แทบจะกรีดร้องออกมา เครื่องมือมหัศจรรย์ราคากว่าล้านบาทที่เคยคิดกันว่าน่าจะมีระบบอิเล็กโทรนิกส์ซับซ้อน มีเซนเซอร์พิเศษตรวจจับสสารด้วยนาโนเทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วประมวลผลอยู่ภายใน คล้ายกับอุปกรณ์จมูกเทียม (electronic nose) ที่โด่งดังอย่างเครื่องไฟโด (FIDO) ของทหารอเมริกัน กลับการเป็นแค่ “ลวดเดาว์ซิง (Dowsing rod)” หรือ “ไม้ล้างป่าช้า” เท่านั้นเอง
แม้แต่เด็กก็รู้จักไม้ล้างป่าช้ากายสิทธิ์นี้จากการ์ตูนโดเรมอนตอนที่โดเรมอนเอาเครื่องมือหาบ่อน้ำออกมา ดูแล้วหน้าตาก็เหมือนกับเครื่องจีที 200 และพี่น้องของมันเปี๊ยบเลย แถมทำงานเหมือนกันด้วย เวลาที่โนบิตะถือเครื่องที่เป็นแท่งลวดงอในมือหลวมๆ แล้วเดินไปเรื่อยๆ ปลายแท่งก็จะชี้ไปหาแหล่งน้ำใต้ดินได้อย่างปาฏิหาริย์
ความเชื่อเรื่องลวดเดาว์ซิงมีมานานมากในประเทศทางยุโรป ทั้งใช้หาแหล่งน้ำ แหล่งแร่ หรือศพในป่าช้า ผู้ที่งมงายศรัทธาในไม้ล้างป่าช้าพวกนี้ มักจะนำเอาหลักการผลัก/ดูดแม่เหล็กมาอ้างเป็นคำอธิบายเสมอ แม้ว่าจะถูกพิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า ลวดเดาว์ซิงเป็นเรื่องลวงโลกแหกตา (bogus) แรงแม่เหล็กที่ว่าก็ไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะดูดลวดในมือให้หมุนได้ ถ้าจะให้ทำได้จริง ก็ต้องใช้ขดลวดสร้างแม่เหล็กไฟฟ้าตัวใหญ่เท่าห้อง ถึงจะพอดึงแค่เข็มนาฬิกาให้เคลื่อนได้
ที่เครื่องไม้ล้างป่าช้าพวกนี้ยังขายได้อยู่ ก็เพราะมันให้ผลการชี้ทิศทางที่กำกวม ไม่ได้ระบุเป็นตัวเลขแต่อย่างใด เมื่อค้นหาในพื้นที่เสี่ยง โอกาสที่จะชี้แล้วหาวัตถุระเบิด อาวุธ หรือยาเสพติดเจอก็มีสูงเป็นธรรมดา แต่ถ้าชี้แล้วไปหาไม่พบ ก็อ้างได้ว่าเครื่องมีความไวสูงจนชี้บริเวณที่ปนเปื้อนวัตถุที่ค้นหาเพียงเล็กน้อย หรือผู้หาหาไม่เจอเอง (ไม่นับรวมที่โบ้ยว่าผู้ใช้เครื่องพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย)
แล้วที่เสาอากาศของเครื่องหันได้เองล่ะ ก็ถ้าไม่ได้ตั้งใจเอนเครื่องเล็กน้อยให้เสาชี้ไปปรักปรำใคร เพราะตั้งธงไว้ก่อนแล้วว่าโรงเรียนนี้หมู่บ้านนี้มีผู้กระทำผิดอาศัยอยู่ ก็จะเกิดจากการเคลื่อนไหวของตัวผู้ใช้เครื่องเองด้วย “จิตใต้สำนึก” สั่งการว่ากำลังสงสัยใครหรือบริเวณใดอยู่ ตามปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Ideomotor effect แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อเล่นผีถ้วยแก้ว เมื่อแก้วเคลื่อนที่เองได้โดยทุกคนปฏิเสธว่าไม่ได้ดัน แต่จริงๆ แล้วดันไปโดยไม่รู้ตัว
จากความงมงายในลวดเดาว์ซิง ซึ่งอย่างมากก็ใช้ต้มตุ๋นหลอกคนว่าจะหาแหล่งน้ำแหล่งแร่ให้ ไม่มีใครบาดเจ็บหรือเป็นอะไร แต่ความเชื่อมั่นในเครื่องตรวจระเบิดที่อาศัยหลักการเดียวกัน กลับเหมือนกับเอาชีวิตผู้ใช้ไปแขวนไว้บนเส้นด้าย เอาผู้บริสุทธิ์มาเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่เอาชื่อเสียงเกียรติยศที่ทำมาทั้งชีวิตไปเสี่ยง แม้ว่าจะเป็นความบกพร่องโดยสุจริตก็ตาม
องค์กรใดที่ใช้ชื่อว่า “วิทยาศาสตร์” แต่เอาเครื่องมือที่เป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” เช่นนี้มาใช้ หรือรับรองการันตีว่าเครื่องมือพวกนี้เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์อันทรงประสิทธิภาพ องค์กรนั้นควรจะมีความละอายแก่ใจ สำนึกต่อความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่เช่นนั้นก็เปลี่ยนชื่อไปเป็นองค์การ “ไสยศาสตร์” เสียดีกว่า
เครื่องตรวจระเบิดลวงโลกพวกนี้ไม่ได้มีใช้อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วแม้แต่ประเทศเดียว แต่กลับแพร่หลายอยู่ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาการก่อการร้ายและความมั่นคง มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่าย รวมทั้งยังคงมีประชาชนที่หลงไหลศรัทธาในไสยศาสตร์มากกว่าที่จะยึดมั่นในความจริงทางวิทยาศาสตร์
ยอมรับอย่างน่าเศร้าใจว่า ไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อนร่วมชะตากรรมของเราไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก อินเดีย หรืออิรัก (ไม่เกี่ยวกับทหารอเมริกัน) ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไม้ล้างป่าช้าพวกนี้ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตให้รัฐบาลแต่ละชาติตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดตามมาหรือเกิดขึ้นแล้วจากการใช้เครื่องตรวจแบบลวดเดาว์ซิง แต่ก็ไม่เป็นผล จะด้วยผลประโยชน์มหาศาลหรือทิฐิมานะที่มี หรือกลัวว่าจะต้องถอดหัวโขนตัวเองออกมาแสดงตัวตนที่แท้จริง ก็ไม่อาจจะทราบได้
หรือจะอ้างว่ามีเครื่องมืออย่างนี้ย่อมดีกว่าไม่มี จะได้ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเกราะป้องกันตัวเองบ้าง แต่ถ้าเกราะที่เคยคิดว่าจะป้องกันตัวได้ชิ้นนี้ แท้จริงกลับกลายเป็นระเบิดฆ่าตัวตายที่พร้อมจะทำงานทุกครั้งที่เครื่องตรวจไม่เจอว่ามีระเบิด ทั้งที่จริงๆ มีซ่อนอยู่ จะไม่เจ็บปวดใจกันบ้างเลยหรือ คิดไม่ออกเลยว่าจิตใจของคนที่ยังสั่งการให้ใช้เครื่องพวกนี้อยู่นั้นทำด้วยอะไร ทั้งๆ ที่รู้ว่ากำลังหยิบยื่นความตายให้กับผู้น้อยในแนวหน้า
หรือว่าคนไทยเรายังขาดกระบวนการคิดไตร่ตรองหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ อาศัยแค่ความศรัทธาจากที่เคยใช้เครื่องนี้ได้สำเร็จมาครอบงำจิตใจ จนลืมสงสัยเวลาที่เครื่องผิดพลาด เอาแต่เชื่อในสเป็กเครื่องกับเครดิตของฝรั่งที่มาสาธิตให้ดู ทำไมไม่ลองทำการทดสอบแบบ “ตาบอดสองทิศ (double-blind test)” ที่ผู้ค้นหาต้องไม่รู้ที่ซ่อน ไม่พบหน้าผู้ซ่อนของเลยตลอดการทดลอง และทดลองหลายสิบครั้งเพื่อลดโอกาสในการเดาถูก
ความจริงแล้ว เครื่องจีที 200 และญาติพี่น้องของมัน ก็ได้เคยถูกเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ที่เครื่องควอโดร แทรกเกอร์ (Quadro Tracker) ถูกเปิดโปงว่าเป็นเครื่องลวงโลกโดยอัยการของสหรัฐอเมริกา และถูกเอฟบีไอดำเนินคดีไปแล้ว ต่อมาปี ค.ศ. 2007 เครื่องสนิฟเฟ็กซ์ซึ่งมีใช้ในบ้านเราเหมือนกัน ก็ถูกทางกองทัพเรือสหรัฐพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้ผลดีอย่างที่อ้าง ใช้ได้แค่ 50:50 เท่านั้น หรือเทียบเท่ากับโยนเหรียญหัวก้อยเอง
ส่วนเครื่องโมล (M.O.L.E.) ที่ทำจากบริษัทเดียวกับเครื่องจีที 200 นั้นก็เคยถูกพิสูจน์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐแล้วว่าลวงโลกเช่นกัน บริษัทผู้ผลิตก็หนีออกไปเปิดใหม่ที่ประเทศอังกฤษ แล้วสร้างเครื่องจีที 200 ออกมาขายประเทศด้อยพัฒนาแทน ทำเอากระทรวงกลาโหมอังกฤษเดือดร้อนต้องออกแถลงการณ์ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเคยเอาเครื่องจีที 200 มาใช้เลย
เรื่องโอละพ่อของ "ไม้ล้างป่าช้า" ก็มาถึงจุดสรุป เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐออกคำเตือนในเอกสารแนวทางการเลือกซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดของทั้งประเทศว่า ห้ามซื้ออุปกรณ์ตรวจระเบิดแหกตา (bogus explosive detector) ตระกูลที่ใช้หลักการลวดเดาว์ซิงนี้ทุกยี่ห้อ ขณะที่ก็มีการตั้งรางวัลอย่างงามจาก นายเจมส์ แรนดี นักจับผิดเรื่องลวงโลกชื่อดังถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้ามีใครพิสูจน์ได้ว่าเครื่องพวกนี้สามารถตรวจหาระเบิดได้จริง ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ารับคำท้า
ใครหลายคนอาจจะคิดว่าไม้ล้างป่าช้าราคาตัวละหลายแสนนี้เป็นเรื่องไกลตัว เป็นปัญหาเฉพาะกับคนที่อยู่ชายแดนใต้ แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศรณรงค์กวาดล้างยาเสพติดขนานใหญ่ด้วยการส่งเครื่องอัลฟ่า 6 ลูกพี่ลูกน้องของจีที 200 ออกไปประจำการทั่วทุกอำเภอทั่วทั้งประเทศ บาปบริสุทธิ์ครั้งใหญ่กำลังจะเป็นภัยร้ายส่งตรง “ดีลิฟเวอรี่” ถึงตัวท่าน ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะหมดสนุกเมื่อถึงคราวซวย ขับรถผ่านด่านต่างจังหวัด แล้วโดนอัลฟ่า 6 ชี้ว่ามียาซ่อนอยู่ในรถ ถ้าโชคดีหาไม่เจอแต่พูดกันเข้าใจ ก็ปล่อยตัวไป แต่โชคร้ายพูดกันไม่รู้เรื่อง ได้ไปสอบสวนต่อที่โรงพัก หรือค้างแรมฟรีในห้องขังสักคืนสองคืน
ถึงเวลาหรือยังที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะละเลิกทิฐิมานะในตัวตน แล้วหันมาพูดจากัน ยอมรับข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ด้วยความจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ถึงเวลาหรือยังที่จะหยุดยั้งการสูญเสียของกำลังพลในแนวหน้า และสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในท้องถิ่น ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปจากการใช้ “ไม้ล้างป่าช้ากายสิทธิ์” ที่แอบอ้างตนเป็นเครื่องตรวจมหัศจรรย์นี้ ถึงเวลาหรือยังที่ภาครัฐจะทุ่มเทงบประมาณไปจัดซื้อเครื่องตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง (ดังเช่น เครื่องไฟโด ฯลฯ) ทุ่มเทงบไปที่การข่าวและการฝึกกำลังพลสุนัขตำรวจสุนัขทหารเพิ่มเติม
มีคำกล่าวเตือนใจทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ว่า “คนเอียง วิทยาศาสตร์ไม่เอียง” ประเด็นไม้ล้างป่าช้าลวงโลกในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างคลาสสิกที่สุดสำหรับคติพจน์ดังกล่าว เพราะชัดเจนว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้เอียงเข้าข้างใคร ไม่ว่าจะโด่งดังหรือยิ่งใหญ่แค่ไหน อะไรที่ไม่ถูก อะไรที่ใช้ไม่ได้ อะไรที่เป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” ย่อมถูกเปิดโปงในที่สุด
ส่วนคนที่ยึดติดกับหัวโขนตัวเองกับทิฐิมานะตัวเอง หรือแอบอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์ คนผู้นั้นแหล่ะที่ “เอียง”