ที่มา ประชาไท วัฒนธรรมอำมาตย์ในที่นี้หมายถึง แบบแผนความคิดและการกระทำของหมู่คน ที่ถือตนว่าเป็นผู้ดีมีคุณธรรม เป็นผู้ผูกขาดปกป้องและชี้ทางสว่างแก่บ้านเมือง พวกเขา เท่านั้นที่เป็นผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง และมีภารกิจที่จะต้องปกครองอาณาประชาราษฎรทั้งหลายที่ไม่ประสีประสาและมักหลงผิดคิดชั่วออกนอกแบบแผนดั้งเดิม ให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรมตามที่ผู้กุมอำนาจกำหนด วัฒนธรรมอำมาตย์ก็ควรคู่กับอำมาตย์ แต่เหตุไฉนมันกลับระบาดไปอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในหมู่คนที่ประกาศตนว่าทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับราษฎร/ชาวบ้าน นั่นก็คือบรรดา NGOs ไทยใหญ่น้อยทั้งหลาย ดังที่เราเห็นได้จากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่พวกเขาออกมาเป็นคู่หางเครื่องสนับสนุนฝ่ายอำมาตย์ และได้กลายพันธุ์ไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อเหลืองอย่างภาคภูมิ เราอาจเริ่มต้นที่วาทกรรมที่ถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อในหมู่ NGOs นั่นคือ “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งโดยเนื้อแท้มีความต่างจาก “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ที่ยังพอมีการศึกษาและโต้แย้งในแวดวงนักวิชาการอยู่บ้าง ในแวดวงวิชาการหลายสำนักค่อนข้างมีความเห็นร่วมกันว่า”วัฒนธรรมชุมชน”หมายถึงการต่อสู้ทางการเมืองในอีกมิติหนึ่ง ขยายความก็คือการมองว่า ชาวบ้านโดยปกติไม่อยู่ในความคุ้นเคยที่จะปกป้องผลประโยชน์ตนเองตามวิถีการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่พวกเขาจะมีการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น ติฉินนินทา การคว่ำบาตร การใช้พิธีกรรม ฯลฯ รวมความแล้ววัฒนธรรมก็คือการต่อสู้อย่างหนึ่ง ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ แต่ถ้าเราไปดูต้นแบบ วาทกรรม“วัฒนธรรมชุมชน” (จากงานเขียนของ ฉัตรทิพย์, บำรุง ,ประเวศ,นิพจน์ และอภิชาติ) เราก็จะพบกับวัฒนธรรมชุมชนที่สุดแสนโรแมนติค ที่ปลอดจากการต่อสู้ทางการเมือง วัฒนธรรมชุมชน-ตามแนวคิดสำนักวัฒนธรรมชุมชนนิยม-จึงกลายเป็น “คุณค่า/สิ่งจริงแท้” ที่ติดตัวชาวบ้านมาแต่กำเนิด มีอยู่แต่ดั้งเดิมในอดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลายไม่มีที่มาที่ไป ชุมชนชาวบ้านเต็มไปด้วย “น้ำใจ” ความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประหนึ่งว่า “ชาวบ้าน/ชุมชน” เป็นกลุ่มคนที่มีสายพันธุ์พิเศษที่สืบทอดทางสายเลือดมาแต่บุพกาล เมื่อแนวคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติ – จากต้นฉบับที่ฟอกความเป็นการเมืองออกไปแล้ว- แน่นอนว่าก็ถูกตีความออกไปหลากหลาย ตามแต่คน/องค์กรที่นำไปปฏิบัติ แต่ผลอย่างหนึ่งที่มาจากต้นแบบวัฒนธรรมชุมชนแบบโรแมนติค ที่เราจะเห็นได้เหมือนกันๆในงานพัฒนาของพวกเขาก็คือ การทำให้การพัฒนาเป็นเรื่องที่ปลอดจากมิติทางการเมือง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การลดทอนความเป็นการเมืองจากการพัฒนา ดังนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยกลุ่มก้อนที่แตกต่าง ความขัดแย้ง การต่อสู้แข่งขัน ทั้งภายในหมู่บ้านเองและกับภายนอก – ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และความจริงชุมชนก็มีกระบวนการของตนเองในการจัดการปัญหาเหล่านั้น ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นศักยภาพอีกด้านหนึ่ง- แต่กลับถูกพวก NGOs มองข้ามหรือกลบเกลื่อนด้วยการพยายามมองหาแต่ด้านความร่วมไม้ร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูล หรือวัฒนธรรมประเพณีเชิงรูปแบบที่สวยงามน่าประทับใจเพียงด้านเดียว หรือแม้กระทั่งเราจะได้ยินพวกเขาพูดเรื่อง “สิทธิชุมชน”- ซึ่งประเด็นสิทธิ เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ระหว่างรัฐกับชุมชน ที่เป็นประเด็นทางการเมืองอย่างยิ่ง – แต่ด้วยภาษาที่ปลอดจากการเมือง ทำให้เหลือเพียงแค่ขอให้รัฐเข้าอกเข้าใจ เห็นใจ และก็ยอมรับให้มีสิทธิชุมชนมากขึ้น หรือในกรณีที่ตลกยิ่งกว่าก็คือ ประเด็นอะไรก็ได้แต่ขอเรียกเป็นสิทธิชุมชนเอาไว้ก่อนตามสมัยนิยม การลดทอนความเป็นการเมืองเมื่อตกทอดผ่านการทำงานจากรุ่นสู่รุ่น ได้เกิดอาการขยายตัวไปสู่อีกขั้นหนึ่งก็คือ การรังเกียจการเมือง เพราะพวกเขามองว่าสังคมชาวบ้านคือสังคมที่สะอาดบริสุทธิ์ สื่อใส ตรงไปตรงมา และสิ่งที่ทำให้สังคมชาวบ้านมีมลทินก็คือ “การเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องของเล่ห์เหลี่ยมคดโกง เป็นเรื่องที่ชักนำชาวบ้านไปในทางเสียหาย เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่ควรเข้าไปยุ่ง การรังเกียจการเมือง ยังถูกแวดล้อมและกระพืดพัดด้วยวาทกรรม “การเมืองเรื่องสกปรก” ของเหล่าเสนาอำมาตย์ ซึ่งมีคำอธิบายว่าการเมืองเป็นอาณาบริเวณของความสกปรก เป็นเรื่องของนักการเมืองสันดานชั่ว ต่างจากอาณาบริเวณ”เหนือการเมือง”ที่มีบรรดาอำมาตย์เป็นผู้ปกปักรักษา และเชื่อว่าปัญหาต่างๆในบ้านเมืองเกิดจากราษฎรทั้งหลายหลงผิด หรือหย่อนยานศีลธรรม ดังนั้นชาวบ้านก็ควรจะต้องได้รับการกระตุ้นเตือนให้ตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีพวกเขาเป็นแบบอย่าง ผลลัพธ์ของการรังเกียจการเมือง บวกกับการเมืองเรื่องสกปรก ก็คือการเห็นว่าชาวบ้านเข้าที่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ผู้หลงผิด หลงลืมละทิ้งวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม เมื่อชาวบ้านหลงพลาดไป หน้าที่ของพวกเขาก็คือการดึงชาวบ้านกลับมาอยู่ในทำนองคลองธรรมอีกครั้ง พวกเขาต้องการการกระตุ้นเตือนให้คิดถึงศีลธรรมอันดีงามหรือสิ่งดีๆที่เคยมีอยู่แต่ดั้งเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “แท้จริงแล้วพวกเขาไม่เคยเชื่อมั่นในสติปัญญาของชาวบ้านเลย ในกรอบการรับรู้อันคับแคบของพวกเขาก็คือ ชาวบ้านจะต้องถูกพัฒนา ถูกทำให้ฉลาดขึ้น รู้จักพึ่งตัวเอง รู้จักเลือกสิ่งที่ถูกที่ควร รู้จักพอเพียง ตามรอยพ่อ.....เท่านั้น!!!” ณ จุดนี้เองที่ความรู้สึกนึกคิดคิดของ NGOs กับอำมาตย์มาซ้อนทับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน!!! ความคิดเช่นนี้คือที่มาของปฏิกิริยาที่พวกเขามีต่อชาวบ้านรอบๆตัว สำหรับชาวบ้านเสื้อแดง พวกเขาจะมองว่าเป็นพวกที่หลงผิด ถูกซื้อ ลืมตน ในขณะที่เมื่อมองไปที่ไหนพวกเขาก็พบว่าชาวบ้านเหล่านี้ยิ่งมีมาก แต่เมื่อเป็นชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ ชาวบ้านที่โง่งมเห็นแก่ได้ไร้ศักดิ์ศรีเหล่านี้จึงไม่ถูกนับรวมอยู่ในภาคประชาชนอันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา แต่อนิจจาการขุดคุ้ยค้นหาภาคประชาชนที่บริสุทธิ์เชื่องเชื่อน่าสงสารเพื่อนำมาบรรจุไว้ในโครงการขอเงินทุนของพวกเขาช่างเป็นสิ่งที่ยากเย็นขึ้นทุกวัน... เหตุแห่งการสมสู่ของคู่รักต่างเผ่าพันธุ์นี้เป็นไปได้อย่างราบรื่นไม่เกิดความตะขิดตะขวงใจด้วยธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของบรรดาขาใหญ่ NGOs ที่มีสำนึกอยู่เสมอว่าพวกตนก็คือผู้รัก ห่วงใย และเข้าใจชาวบ้านมากที่สุด และเขาก็เป็นพี่ใหญ่ที่อุปถัมภ์พวกน้องๆ NGOs กันมาตลอด หรือพูดง่ายก็คือพวกเขาก็คืออำมาตย์ในแวดวง NGOsอยู่แล้ว ดังนั้นอำมาตย์ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถร่วมหอลง”โลง”กันได้อย่างปรีด์เปรม และในฐานะที่พวกเขาสามารถใกล้ชิดศูนย์อำนาจ ทำให้พวกเขามีความสามารถเข้าถึงงบประมาณรัฐได้ง่ายดายกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงเกิดระบบพรรคพวกเส้นสายเอื้ออำนวยงบประมาณให้แก่พวกพ้องตัวเองจนเกิดกรณีอื้อฉาวมาแล้วทั้งทางภาคเหนือ และสดๆร้อนในภาคอีสาน หรือตัวอย่างของการอุปถัมภ์อุ้มชูผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารองค์กรที่เป็นพวกพ้องโดยไม่แบ่งแยกผิดถูกดังกรณีการคุกคามทางเพศเจ้าหน้าที่สตรีในสำนักงานของผู้บริหารNGOsด้านสิทธิองค์กรหนึ่ง ก็ยังเป็นเรื่องที่เล่าขานกันอย่างไม่สร่างซา ในท้ายสุดแล้วประเทศเราจึงมีนักพัฒนาที่กลายเป็นอำมาตย์ และอำมาตย์ที่กลายเป็นนักพัฒนาอยู่จนมากมายเกลื่อนกราด หากแต่ยิ่งทำงานพัฒนาพวกเขากลับยิ่งยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเกิดกลุ่มก้อนผูกขาดผลประโยชน์ในแวดวงนักพัฒนามากยิ่งขึ้นและท้ายที่สุดพวกเขาก็เป็นได้แค่เพียงลิ่วล้อของระบบอำมาตย์ที่คอยไต่เต้าสร้างสร้างฐานะและหากินกับภาษีของประชาชนไปวันๆ เท่านั้นเอง.