ที่มา ประชาไท
ยังมีแต่ คือถ้าทักษิณชนะ ประเทศนี้ก็จะเละตุ้มเป๊ะ!
แหม หลอกกองเชียร์เสี่ยแม้วให้ดีใจซะยังงั้น (ฮา)
ไม่ต้องบอกก็รู้มั้งว่าผมจงใจแยกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ของคนชั้นกลาง liberal และคนชนบท ออกจากการต่อสู้ของทักษิณ (หรือ 3 เกลอ) ถึงแม้มันจะแยกไม่ค่อยออกก็เหอะ เพราะทักษิณเป็น subset ของเสื้อแดง ภาษาพี่จรัล ดิษฯ เรียกว่าเป็นแผลเป็นแต่กำเนิด ทักษิณมีทั้งด้านที่ไม่ชอบธรรมและด้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นทั้งตัวถ่วงและพลังขับเคลื่อนการต่อสู้ แต่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะแยกออกอย่างไร จำต้องไปด้วยกันอย่างครึ่งบกครึ่งน้ำ แล้วไปหาคำตอบเอาข้างหน้าในการพัฒนาของสถานการณ์
ทักษิณและเสื้อแดง ถูกบีบบังคับให้ทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” ในต้นปีนี้ แม้ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่านี่เป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคงไม่ชี้ขาดกันแค่คดียึดทรัพย์ หรือตัวทักษิณ แต่ผลแพ้ชนะใน “สงคราม” ครั้งนี้ก็จะส่งผลสะเทือนอย่างสูง
โดยที่ผมค่อนข้างเชื่อว่า ทักษิณจะแพ้เสียด้วยสิ เพียงแต่หวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่แพ้ไปกับทักษิณ
ทำไมถึงเชื่อว่าทักษิณจะแพ้ ก็เพราะฝ่ายอำมาตย์บีบทักษิณให้ต้องเอาชนะด้วยการ “โค่นล้มระบบ” ซึ่งยังมองไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร ถ้าสมมติทักษิณมีทหารอยู่ในมือ ก็พูดได้ว่า ต้องเอาชนะด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ทักษิณไม่ได้มีกำลังอย่างนั้น
จุดแข็งของทักษิณอยู่ที่การเลือกตั้ง ซึ่งฝ่ายอำมาตย์รู้ดี จึงตรึงสถานการณ์ไม่ให้ยุบสภา อีกด้านก็รุกใช้ตุลาการภิวัตน์เป็นลิ่มตอกอกทักษิณ เมื่อคุณถูกตอกอกด้วยอำนาจศาล คุณไม่มีทางดิ้นหลุดได้ จะรอให้ชนะการเลือกตั้งแล้วมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมรึ แก่ตายก่อน ฉะนั้นถ้าไม่ “โค่นล้มระบบ” ก็ต้องยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามโค่นล้มระบบเพื่อตีโต้ เช่น ที่ยุให้รอง ผบ.ทบ.ก่อรัฐประหาร
คำว่า “ทักษิณชนะ” ของผมข้างต้น จึงไม่ได้หมายความว่าชนะด้วยการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย (ซึ่งก็เหลือแค่ครึ่งใบ จากการใช้รัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำ) แต่หมายถึงว่า “ถ้า” ทักษิณชนะด้วยการโค่นล้มระบบ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากจนถึงน้อยมั่กๆ
สถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายอำมาตย์กุมกองทัพไว้แน่นหนา วางทายาทสืบทอดอย่างน้อย 3 รุ่น แม้จะมีทหารแก่ตบเท้าเข้าพรรคเพื่อไทย และแม้จะมีความหวังเล็กๆ ว่าอาจมีทหารฝ่ายที่ไม่พอใจแก๊ง “บูรพาพยัคฆ์” แต่โอกาสพลิกมีริบหรี่
ส่วนจะหวังให้เกิดการ “ปฏิวัติประชาชน” เรอะ สุมาเต๊อะ ฝันกลางวัน! การลุกขึ้นสู้ของประชาชนไม่มีวันประสบความสำเร็จ ถ้าไม่เกิดความขัดแย้งในชนชั้นปกครองอย่าง 14 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ บทเรียนเมื่อสงกรานต์แสดงให้เห็นแล้ว ถ้ามีรอบใหม่ ฝ่ายอำมาตย์ก็บอกแล้วว่า ตายซัก 4-5 คนจบ (ที่เหลือเติมเลขศูนย์)
โอกาสเดียวที่เป็นไปได้ คือรอให้เกิดความปั่นป่วน เกิดความขัดแย้งรุนแรง ในการเปลี่ยนผ่านของอำนาจระดับสูง นั่นแหละความหวังของทักษิณ แต่ทักษิณอาจไม่สามารถรอถึงวันนั้น
หลายวันก่อนผมคุยกับรุ่นพี่ที่อยู่เสื้อแดง เขาวิเคราะห์ว่าโอกาสที่ทักษิณจะ “ชนะ”ได้คือใช้การลุกขึ้นสู้ของมวลชน พร้อมกับใช้กำลังทหารที่มีอยู่หยิบมือ ซึ่งล้วนเป็นผู้สันทัดกรณีใน “สงครามนอกแบบ” เช่นบิ๊กจิ๋ว พัลลภ เสธแดง ฯลฯ แล้วก็หวังตอกลิ่มความขัดแย้งในกองทัพ ในขั้วอำนาจระดับสูง
ซึ่งตัวเขาก็ไม่แน่ใจหรอกว่าเป็นไปได้ แต่พอถามว่าถ้าเกิดโชคลาภฟลุกๆ เอาชนะได้แบบนั้น แล้วจะเป็นไงต่อ เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน มันคงเละน่าดู แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ผมก็ไม่ทราบว่าอย่างนี้หรือเปล่าที่เรียกว่า “การปฏิวัติประชาชน” แต่นอกจากแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นไปมันก็เละตุ้มเป๊ะ นัวเนีย ชุลมัน พัลเก เสียเลือดเนื้อ แล้วยังมั่วไปหมด
ทักษิณจึงแทบไม่มีโอกาสชนะ ในวิถีทางที่ถูกขีดให้เดินโดยความเขี้ยวลากของอำมาตย์
หันมามองด้านกลับกัน ถ้าเสื้อแดงแพ้ แล้วใครชนะ ไม่ได้หมายความว่าพันธมิตรชนะ แต่แพ้ทั้งคู่ครับ เพราะเสื้อแดงเสื้อเหลืองเป็นปฏิภาคกัน เป็นขั้วบวกขั้วลบที่ผลักสังคมอยู่คนละด้าน เสื้อแดงแพ้ พธม.ก็เป็นนั่งร้าน อำมาตย์จะยึดครองสังคมส่วนใหญ่ไป เหลือแค่นั่งร้านให้ขายข้าวสาร (ฮา-ขนาดนั้นยังขัดผลประโยชน์กัน)
เห็นป้ายโฆษณาต้านไฟเหลืองไฟแดงของประกิตโฮลดิ้งไหมล่ะ “โฆษณาเพื่อสังคม” ที่บอกว่า “ชาตินี้ไม่ต้องไปไหน เพื่อพ่อ ให้ชาติไปต่อเถอะครับ” มันเป็นป้ายที่ “โดนใจ” คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ “คนเป็นกลาง” “พลังเงียบ” ที่รักในหลวง รักสงบ รักเด็ก รักธรรมชาติ รักหลินปิง รักเคอิโงะ ฯลฯ ซึ่งเบื่อหน่ายและอึดอัดกับเสื้อเหลืองเสื้อแดง
เสียงสะท้อนของ “พลังเงียบ” ที่อยากเห็นความสงบ อยากทำมาหากิน อยากดูละครหลังข่าวอย่างมีความสุข ฯลฯ ไม่ใช่เสียงสะท้อนที่ไม่มีเหตุผลนะครับ เพราะด้านหนึ่ง ม็อบทั้งสองสีก็ radical จนทำให้คนเป็นกลางที่ไม่ค่อยสนใจการเมืองเกิดความเบื่อหน่าย รู้สึกมันไร้สติ ไร้เหตุผล เหลืออดเหลือทน เมื่อไหร่จะหยุดเสียที
ด้านหนึ่งก็ต้องเข้าใจและเห็นใจว่า คนส่วนใหญ่ในสังคม เขาเดือดร้อนกังวลกับการต่อสู้ที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางไม่เดินตามกฎกติกา (เสื้อแดงอาจโวยว่าไม่ยุติธรรมเพราะเสื้อเหลืองทำก่อน จนคนหน่ายล้า แต่คุณรู้เช่นนั้นก็ต้องรู้จักปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธี)
แต่อีกด้านหนึ่ง นักเคลื่อนไหวทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองและสองไม่เอา ก็ต้องต่อสู้ทางความคิดกับพวก “หน่อมแน้ม” ว่าจะปล่อยให้การต่อสู้ทางสังคมจบลงแบบ “สามานย์” หยวนๆ ยอมๆ กันไปไม่ได้ เพราะถ้าจบแบบนี้สังคมไทยจะไร้ความหวัง กลายเป็นสังคมที่ไร้อนาคต
พวกอำมาตย์น่าจะเข้าใจ “นิสัยคนไทย” เป็นอย่างดี พวกเขาจึงดึงสถานการณ์ให้ยืดเยื้อ บีบให้คนไทยที่มีนิสัยหยวนๆ ยอมๆ เกิดความเบื่อหน่าย เรียกหาความสงบ แม้จะรู้ว่าเกิดความไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน การเมืองเก่า น้ำเน่า ชั่ว โกง ไม่เห็นมีอะไรดีไปกว่าเดิม แต่คนไทยเราก็อยู่กันได้ อยู่กันมาอย่างนี้ และจะอยู่กันต่อไปอย่างนี้ ฉะนั้นเลิกเหอะ
เสรี วงศ์มณฑา กุนซือใหญ่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของระบอบอำมาตยา เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเปลี่ยนใจคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพราะคนเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแล้ว มีแต่ต้องดึงคนกลางๆ มาเป็นพวก สถานการณ์หนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น
วันนี้เสื้อแดงจึงไม่ได้สู้กับเสื้อเหลืองเป็นหลัก หากสู้กับอำมาตย์และ “นิสัยคนไทย” ที่บ่มเพาะมาในสังคมอุปถัมภ์ แม้เสื้อเหลืองก็เช่นกัน ถ้าเป็นพันธมิตรจริง ไม่ใช่อีแอบ สาวก ปชป. ถ้ามีอุดมการณ์ต่อต้านคอรัปชั่นจริงอย่างปากพูด ถ้าต้องการเห็น “การเมืองใหม่” จริงอย่างปากพูด คุณก็จะยอมให้จบลงอย่างหยวนๆ ยอมๆ เช่นนี้ไม่ได้ ยอมให้ตัวแทน “การเมืองเก่า” อย่างรัฐบาลโอบามาร์คปากห้อยเสวยอำนาจ ยอมให้ขั้วอำนาจระดับสูง และขั้วอำนาจในกองทัพ ถ่ายโอนเปลี่ยนผ่าน แล้วครอบงำสังคมการเมืองไทยต่อไป จากขั้วอำนาจเก่ารุ่นเก่า สู่ขั้วอำนาจเก่ารุ่นใหม่ ไม่ต้องลากยาวมากมาย เอาแค่เลือกตั้งปลายปีหน้า “พรรคการเมืองใหม่” ก็เป็นได้แค่ขี้หมาโหล่ยเท่านั้นแหละครับ จะเหลือทำยาซักกี่เม็ด
ที่พูดนี่ไม่ได้ตีขลุมให้เสื้อเหลืองเสื้อแดงจับมือกัน มันจับไม่ได้หรอก แต่ต่างฝ่ายต่างต้องสู้กับความคิด “แล้วกันไป” กระนั้นต้องยอมรับด้วยนะว่า “คนเป็นกลาง” ก็มีส่วนถูก คนสุดขั้วต่างก็มีส่วนผิด ขณะที่ฝ่าย “สองไม่เอา” ต้องแตกต่างจาก “คนเป็นกลาง” คือต้องมองว่าทั้งสองข้างต่างมีทั้งด้านที่ถูกและผิด ปฏิภาคของทั้งสองด้านคือแรงผลักที่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า อันไหนผิดก็ว่าผิด แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า “แล้วกันไป” หรืออยู่เปล่าๆ
ผมไม่ได้หวังให้ใครชนะ เสื้อเหลือง เสื้อแดง เพื่อไทย ปชป. เพียงแต่ไม่ต้องการให้อำมาตย์ยึดครองชัยชนะ ระบอบอุปถัมภ์ยึดครองชัยชนะ เพราะมันจะเป็นการจบลงอย่างสามานย์และเสื่อมทรามที่สุด บนความพ่ายแพ้ของประชาชน ประชาธิปไตย ความยุติธรรม หรือแม้แต่คุณธรรมจริยธรรมที่ระบอบอุปถัมภ์ชอบอ้าง
ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้จบลงอย่างหยวนๆ ยอมๆ กันไปเหอะ สังคมไทยจะเหลือความเชื่อถือศรัทธาอะไรให้ยึดถือ ในเมื่อการต่อสู้ครั้งนี้ดึงเอาแทบทุกองค์กรสถาบันเข้ามาแปดเปื้อน แม้แต่สถาบันตุลาการที่ไม่เคยต้องกระโจนเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมือง
ปูชนียบุคคล รัฐบุรุษ ราษฎรอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ พระ ครู หมอ สื่อ ผู้ดีรัตนโกสินทร์ ผู้ร้ายรัตนโกสินทร์ แหลกยับไปหมดแล้วกับการเลือกข้าง
มนุษย์มีมโนสำนึกที่ตระหนักถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรม ถ้าเหตุการณ์นี้ผ่านไปอย่างหยวนยอม มรดกที่จะตกทอดไปยังคนรุ่นหลังคือ ปรัชญาแห่งการเอาตัวรอด และสยบยอมต่ออำนาจ เพราะบทเรียนที่ผู้คนได้รับ แม้ไม่พูด ไม่เอ่ยปาก ผู้คนก็จะรู้ว่าสังคมเส็งเคร็งนี้ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรม ขึ้นกับใครยึดอำนาจได้ ใครฉวยโอกาสได้ และใคร “มีเส้น”
ฉะนั้นมีประโยชน์อะไรที่จะไปเรียกหาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ถ้าความเชื่อทางคุณค่าของสังคมพังทลายแล้วโดยสิ้นเชิง เรามีแต่ต้องสอนลูกหลานให้ทำมาหากิน เอาตัวรอด หาผลประโยชน์ใส่ตัว หาเส้น วิ่งเต้น หาที่พึ่งพิง ฝากลูกหลานเข้าทำงาน ฝากลูกหลานเข้าโรงเรียน
ซึ่งความจริงคนชั้นกลางก็คุ้นเคยกับวิถีชีวิตเช่นนี้อยู่แล้ว แต่มันจะยิ่ง “ทราม” ลงไปอีก
พวกเสื้อเหลืองอาจจะเถียงว่าอย่างน้อย ทักษิณก็ได้รับกรรมสนองตาม “กฎแห่งกรรม” แต่คุณจะตอบคำถามอย่างไรถ้าลูกหลานมันถามว่า “แล้วเนวินล่ะ” คุณจะสอนให้ลูกหลานเชื่อในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมันเห็น 2 มาตรฐานตำตา มันก็จะเชื่ออย่างที่คนจำนวนมากเชื่อว่า ขับรถผ่าไฟแดง ตำรวจไม่เห็นก็ไม่ผิด หรือถ้ามีเส้นก็ไม่โดนใบสั่ง (ครั้งนี้มันเห็นยิ่งกว่าตำรวจ)
ศีลธรรมจริยธรรมในสังคมไทยน่ะผุกร่อนมานานแล้ว เพราะศีลธรรมมีอยู่แต่ในหนังสือหลวงพ่อชา ท่านพุทธทาส ท่านปยุต หรือท่าน ว.วชิรเมธี (เหาะได้) แต่ไม่อยู่ในการเมืองการปกครอง การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ หรือกติกาจัดการผลประโยชน์ ตรงข้ามศีลธรรมบางข้อ (เช่นความสามัคคี) กลับถูกใช้มอมเมาให้สยบยอมต่ออำนาจ เราจึงเป็นสังคมที่แก่งแย่งช่วงชิงฟาดฟันกันอย่างไร้กติกา ขับรถแซงซ้ายป่ายขวา แต่วันพระทำบุญตักบาตร เสาร์อาทิตย์ไปบวชชีพราหมณ์ หรือไปนั่งสมาธิในที่ดินรุกป่า
ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ จบลงอย่างสามานย์ ถูกช่วงชิงชัยชนะโดยระบอบอุปถัมภ์เหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ประเทศนี้ก็สิ้นหวัง “ชาตินี้ไม่ต้องไปไหน” เลิกคิดถึงการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ความเป็นธรรม ความโปร่งใส ขจัดคอรัปชั่น
แต่อาจจะเป็นโชคดีจังหวะดีก็ได้ ที่ระบอบอุปถัมภ์ต้องเผชิญ “ภัยธรรมชาติ” จนถูกสั่นคลอนครั้งยิ่งใหญ่
ปัญหามีเพียงการวิเคราะห์ว่า “สงครามครั้งสุดท้าย” จะอยู่ในช่วงไหนจึงเหมาะสม ที่เป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้ายของทักษิณ ซึ่ง timing ต่างกัน ทำอย่างไรถ้าสมมติทักษิณแพ้แล้ว “เสื้อแดง” ในจิตวิญญาณที่แท้จริงไม่แพ้ ต่อสู้ต่อไปอย่างอดทน เป็นปฏิภาคกระหนาบอำมาตย์อยู่กับ “เสื้อเหลืองการเมืองใหม่” (ที่คงมีอะไรเฮๆ ให้เห็นอีกเยอะ ดูอย่างกรณีมาบตาพิษที่ใครจะคิดว่ากลายเป็นหอกข้างแคร่กลับไปทิ่มรัฐบาลอำมาตย์อุ้มสม)
อำมาตย์ขีดเส้นให้ทักษิณเดิน แต่ไม่สามารถขีดเส้นให้ฝ่ายประชาธิปไตยเดิน ณ วันนี้ฝ่ายอำมาตย์ต่างหากที่อยากทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” เพราะเวลามีจำกัด ถ้าไม่ใช่โปรแกรมหน้าก็ Coming Soon ประชาชนอาจไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือ แต่ก็มีมากกว่าและยังเลือกจังหวะก้าวได้ ไม่จำเป็นต้อง “ครั้งสุดท้าย” “รอบสุดท้าย” โดยสุ่มเสี่ยง
ยกตัวอย่างง่ายๆ จะไปกลัวอะไรละครับกับคดียึดทรัพย์ทักษิณ ถ้าถูกยึด ก็ชั่งหัวทักษิณเหอะ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในมวลชนเสิ้อแดงจะร้อนแรงและลุกฮือ หรือถ้าไม่ถูกยึด ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเสื้อเหลืองการเมืองใหม่เค้าร้อนแรงลุกฮือ
นี่คือการเป็นปฏิภาคกระหนาบที่ไม่ว่าจะออกหัวออกก้อยก็เจอทั้งขึ้นทั้งล่อง น่าสนุกออก