ที่มา Thai E-News
ที่มา ข่าวประจำพระราชสำนัก
26 มกราคม 2553
เมื่อเวลา 17.44 น. วันที่ 25 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ตำแหน่งตุลาการ ศาลปกครองกลาง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ตุลาการศาลที่เข้าร่วมถวายสัตย์ปฏิญาณ ดังนี้
ในการปฏิญาณนั้นคนรักษา คือคนที่ต้องตัดสินอะไรที่ควรไม่ควร ที่ดี ไม่ดี ท่านที่ปฏิญาณมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ท่านต้องจัดการปัญหาในการปกครองของประเทศให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และท่านมีอำนาจที่จะตัดสิน ที่จะพิพากษา ซึ่งหมายความว่าท่านจะต้องชี้แจงว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เป็นงานที่ท่านต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประเทศชาติมีความเป็นธรรม
ความเป็นธรรมนี้ก็หมายความว่า ทำอะไรที่เป็นจริง ที่เรียบร้อย ที่จะทำให้ผู้ได้มีความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นงานของท่านก็มีความสำคัญไม่น้อย การพิพากษาเป็นงานของผู้เป็นสมาชิกของศาล จะต้องพิพากษาเพื่อความเป็นธรรม หมายความว่าเป็นอะไรที่เรียบร้อยที่ถูกต้อง ที่ทำให้ทุกสิ่ง ทุกอย่างดำเนินได้ด้วยดี
เพระาฉะนั้นท่านต้องมีหน้าที่สำคัญ และจะต้องทำตามคำพิพากษา คำปฏิญาณที่ท่านได้กล่าวในหน้าที่ของท่านต้องจำว่าท่านได้ปฏิญาณตนว่าจะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม อะไรที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ใช่ง่าย เพราะแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่าง
การมีความคิดแตกต่างก็มีการตัดสินคดี เพราะการมีคดี คือเป็นเรื่องของคนที่มีความคิดแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นท่านต้องมาพิจารณาว่า อะไรที่มีความคิดแตกต่างกัน และให้เห้นว่าอะไรที่ควรจะทำ ที่เป็นกลาง ที่เป็นความจริง ที่เป็นความยุติธรรม
ความยุติธรรมนี้หมายความว่า คน มีติ ใน ธรรม ตัดสินว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม บางเรื่องตัดสินไม่ง่าย เพราะแต่ละคนมีความคิดของตัว ถ้าใครมีทิฐิในทางของตัว ความยุติธรรมแท้จริงไม่ง่าย เพราะแต่ละคนมีความดีหรือที่เรียกว่ายุติธรรมแก่ตัว แท้จริงความยุติธรรมนั้นไม่ได้มีอันหนึ่งอันเดียว มีหลาย แล้วแต่ความต้องการ มีของแต่ละคน แต่ความต้องการของแต่ละคนต้องต่างกัน แต่ท่านจะต้องอยู่ตรงกลาง
บางทีท่านอาจถูกว่าถูกกล่าวว่าเป็นคนที่ไม่ดี เพราะว่า ไปตัดสินในสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่าย แต่ถ้าเราอยู่ตรงกลาง อันนี้คือข้อสำคัญของคนที่ทำหน้าที่รักษาความยุติธรรม ต้องเป็นกลาง ความเป็นกลางนี้ยากมาก เพราะว่าต้องมีความที่เป็นกลางนั้นเอง ท่านต้องไม่ลืมความเป็นกลาง ไม่ลืมความยุติธรรม
ถ้าท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่ของท่าน แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็เท่ากับท่านทรยศต่อความยุติธรรม การทรยศ ไม่มีใครอยากจะทำ ท่านอาจถูกมองทำ เป็นความไม่ดี เป็นความน่าเกลียด ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่า ท่านปฏิญาณว่าจะรักษาความยุติธรรม ก็ต้องทราบว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นอย่างไร แต่ละคดีก็มีความยุติธรรมของคดีนั้น ซึ่งถ้าท่านพิจารณา แล้วควรคิดว่าอะไรที่ยุติธรรม อะไรที่เป็นกลาง ท่านก็จะชนะในความจริง
ฉะนั้นท่านต้องรักษาความยุติธรรมนี้และปฏิบัติด้วยความกล้าหาญ เหนียวแน่น แต่ถ้าท่านไม่มีความกล้าหาญ ไม่ว่าจะประการใดก็ตาม จะเป็นเรื่องของความไม่ยุติธรรมในตัวท่าน หรือมีความโง่เขลา ควรทำด้วยความฉลาดและทำให้เป็นกลางแท้ๆ อย่างนี้ท่านก็จะได้ทำตามหน้าที่ที่ท่านได้เป็นผู้พิพากษาให้ศาล
ขอให้ท่านพิจารณาให้ดี ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ได้พิจารณา ตามที่ท่านได้ประสาทวิชาของท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านได้ตั้งใจปฏิญาณ ต้องให้ทำตรงๆ จะเป็นทางที่ได้ทำหน้าที่แท้จริงของท่าน ก็ขอให้ท่านปฏิบัติงานของท่านต่อไป ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความฉลาด ด้วยความสามารถที่จะรักษาความยุติธรรม
ก็ ขอให้ท่านมีความสำเร็จในกางานการตลอดที่ท่านทำงานและทุกเวลา ทุกเมื่อ จนกระทั่งจะสิ้นชีวิต ต้องรักษาความยุติธรรม ก็ ขอให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นการดีของแต่ละท่านและเป็นการดีของประเทศชาติทำให้ประเทศชาติมีความสงบสุขได้ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำเร็จ ตลอดไป อดทนในหน้าที่ของท่าน ทุกเมื่อจะต้องมีความยุติธรรมอยู่ในตัว ก็ขอให้ความยุติธรรมนี้นำท่านสู่ความสำเร็จ